หมอจำนวนมากทั่วโลกเชื่อว่า การใช้ยาลดไขมันในเลือดที่ชื่อว่า "statins" ปลอดภัยกว่ายาลดไข้อย่างแอสไพริน แอสไพรินมีผลข้างเคียงทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร แต่แอสไพรินยังคงเป็นยาลดไข้ที่ได้ผลดีมากและยังใช้รักษาโรคอีกบางชนิด) ทำให้โฆษณากัน ในสื่อต่างๆ มากมาย ว่าเป็นยาวิเศษ ใช้ป้องกันโรคหัวใจได้ โดยเฉพาะแพทย์รักษาโรคหัวใจที่พากันเห็นพ้องต้องกันว่า ผู้ใหญ่ควรใช้ยาชนิดนี้ไม่ว่าจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจหรือไม่ก็ตาม
อย่างไรก็ตาม การวิจัยทดลองยาชนิดนี้ในกลุ่มผู้หญิงมีน้อยมาก (น้อยกว่าหนึ่งในสามของการทดลองที่ผ่านมาทั้งหมด) ทั้งนี้เพราะผู้หญิงอายุต่ำกว่า ๗๕ ปี (ในประเทศตะวันตก) มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองน้อยกว่าผู้ชาย แต่เร็วๆ นี้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทบทวนผลการวิจัยทดลองยา "statins" เพื่อป้องกันโรคหัวใจ พบว่า การวิจัยเพียง ๒ จาก ๕ ชิ้นเท่านั้นที่รายงานผลข้างเคียงของยาชนิดนี้ และที่น่าตกใจยิ่งกว่านั้นก็คือ ผลการทดลองไม่พบว่า "statins" ยืดอายุของทั้งผู้ชายหรือผู้หญิงแม้แต่น้อย ทั้งยังมีผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยาชนิดนี้อีกด้วย ซึ่งผลข้างเคียงนี้ถูกละเลยไม่นำมาเปิดเผยให้สาธารณชนรับรู้
วารสารการแพทย์ที่มีชื่อเสียงมากของโลกชื่อจามา (JAMA) ซึ่งเป็นวารสารการแพทย์ของสมาคมแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา ฉบับเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๗ ได้นำเสนอผลการทบทวนงานวิจัยทดลองใช้ยา "statins" กับผู้หญิงที่มีระดับไขมันในเลือดสูง ซึ่งพบว่า
ในผู้หญิงที่ไม่ป่วยด้วยโรคหัวใจ การใช้ยา "statins" ไม่ได้ช่วยลดอัตราตายจากโรคหัวใจแม้แต่น้อย
สำหรับผู้หญิงที่ป่วยด้วยโรคหัวใจ ยาชนิดนี้ก็ไม่ได้ลดอัตราตายจากโรคหัวใจเช่นกัน แต่อาจช่วยลดการเกิดอาการทางหัวใจที่ไม่ทำให้เสียชีวิตได้บ้าง
ผลข้างเคียงที่สำคัญของยาชนิดนี้ก็คือ การทำลาย ตับและกล้ามเนื้อ แต่น่าเสียดายที่วารสารดังกล่าวไม่ได้หยิบยกประเด็นเรื่องประสิทธิผลของการใช้ยา "statins" ที่ชัดเจนให้สาธารณชนทราบ อีกทั้งไม่ได้รายงานเรื่องผลข้างเคียงจากยาที่อาจเกิดขึ้นทำให้ผู้ป่วยที่ไม่ตายจากโรคหัวใจแต่อาจตายจากตับวายได้...ก็เลยเป็นช่องให้เกิดการโฆษณาและชักชวนให้หมอทั้งหลายใช้ยาชนิดนี้ลดไขมันในเลือด เสียเงินเสียทองกันทั้งผู้ป่วยและประเทศชาติไปมากมาย...ทั้งๆ ที่ถ้าศึกษากันให้ลึกซึ้งแล้ว การออกกำลังกาย การดูแลอาหารให้เหมาะสม และลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น เลิกสูบบุหรี่ เลิกดื่มเหล้า และฝึกการคลายเครียด
พูดง่ายๆ ก็คือ ใช้วิธีธรรมชาติในการดูแลตนเอง น่าจะได้ผลดีกว่าต้องเสี่ยงกับการใช้ยาราคาแพงเป็นไหนๆ
นี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการที่ผู้บริโภคไม่รู้เท่าทัน และขาดกลไกในการเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนรับรู้อย่างทั่วถึง ข้อมูลถูกกักเก็บเปิดเผยเฉพาะในส่วนที่จะเกิดประโยชน์ต่อผู้ที่แสวงประโยชน์ เช่น บริษัทผู้ผลิตยา แพทย์ผู้รักษาซึ่งนิยมใช้ยา หรือแม้แต่ผู้ป่วยที่ไม่อยากเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเอง เพราะใช้ยาแล้วง่ายกว่า สิ่งเหล่านี้นำมาซึ่งความสูญเสีย (ทั้งสุขภาพอาจถึงกับชีวิต ด้วยผลข้างเคียง และการสูญเสียอื่นๆ เช่น เสียเงินทอง เพราะยาราคาแพงมาก) ต่างๆ ที่ยังไม่มีใครประเมินว่าเท่าไร แต่ที่แน่ๆ ผู้ผลิตและผู้ขายยาชนิดนี้ร่ำรวยขึ้นทันตาเห็น
- อ่าน 27,962 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้