• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กะปาละบาติ

เรายังคงอยู่ในเรื่องเทคนิค "อื่นๆ" ของโยคะ ดังที่ได้เน้นเสมอว่า โยคะไม่ใช่การออกกำลังกายชนิดหนึ่ง และเทคนิคของโยคะก็ไม่ได้มีแค่อาสนะ อย่างที่เรามักรับรู้กัน ทั้งหมดของโยคะเป็นการพามนุษย์ไปสู่โมกษะหรือความหลุดพ้น ซึ่งต้องอาศัยกายที่สมดุล มีมัสเซิลโทนดี (อาสนะ) ต้องการอารมณ์ที่มั่นคง โดยการฝึกให้หายใจช้าลง (ปราณายามะ) อย่างไรก็ตาม คนจำนวนหนึ่งไม่พร้อม จึงต้องมี "กริยา" เทคนิคการชำระล้าง เพื่อเตรียมโยคีให้พร้อมต่อการฝึกปราณายามะ

กริยามี ๖ ประเภท ได้อธิบายถึงตาตระกะและเนติไปแล้ว ฉบับนี้เรามาพูดถึงกะปาละบาติ
กะปาละบาติ เป็น ๑ ใน กริยา ๖ ชนิด ที่ระบุอยู่ในตำรา หฐโยคะ กะปาละ มาจากคำว่า กบาล หรือศีรษะ บาติ หมายถึง การเปล่งประกาย กล่าวคือ ชื่อของมันบ่งบอกถึงผลที่ผู้ฝึกได้รับจากเทคนิคนี้คือความรู้สึกสว่างโล่งทั่วบริเวณศีรษะ ทั่วบริเวณหน้าผาก
Rapid performance of Rechaka (exhalation) and Puraka (inhalation) Like (emptying and filling up of ) the bellows of a blacksmith is Kapalabhati, well-known as the destroyer of disorders caused by phlegm.
หายใจออก หายใจเข้า อย่างรวดเร็ว เหมือนกับการปั๊มลมของช่าง ตีเหล็ก คือกะปาละบาติ อันเป็นที่รู้กันทั่ว ว่าสามารถกำจัดปัญหา ที่มีสาเหตุมาจาก กผะ*
อ้างอิง : Hathapradipika, Second Edition, Kaivalyadhama, 1997:51

กผะ มีหน้าที่ ๕ ประการคือ ๑. รักษาสมดุลของของเหลว ๒. ทำให้อาหารในทางเดินอาหารเปียกและนุ่ม ๓. รับรู้รส ทำหน้าที่แยกแยะ และ ทำหน้าที่รับรู้ ๔. บำรุงอวัยวะ ที่ทำหน้าที่รับสัมผัสทั้งหลาย ๕. ดูแลการทำงานของข้อต่อ ดังนั้น กะปาละบาติ จึงช่วยดูแลให้กลไกที่ว่านี้ทำงานได้ตามปกติ ทำให้เรามีสุขภาพดี

การฝึกกะปาละบาติ

กะปาละบาติ คือการหายใจออกอย่างเร็ว ไม่ใส่ใจกับการหายใจเข้า (ปล่อยให้เกิดขึ้น เป็นไปเองตามธรรมชาติ)
เราฝึกกะปาละบาติในท่านั่งสมาธิที่เราถนัด การนั่งที่ถนัดคือกุญแจสำคัญในการนั่งให้นิ่ง เราแอ่นอกเล็กน้อย ปล่อยให้หน้าท้องเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ (ซึ่งสำคัญมากในตอนที่ร่างกายทำการหายใจเข้า)
หายใจออก เป็นการตั้งใจหายใจออกที่สั้น แรง ลมหายใจออก อย่างสมบูรณ์ โดยการแขม่วท้องอย่างแรง ทำโดยเร็ว ปั๊มลมออกทางจมูก ใช้เฉพาะกล้ามเนื้อหน้าท้อง
หายใจเข้า เราปล่อยให้การหายใจออกเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เป็นธรรมชาติ โดยเราไม่ออกแรงเพื่อหายใจเข้าเลย การหายใจเข้าจะเกิดต่อจากลมหายใจออกทันที วิธีทำคือผ่อนคลายกล้ามเนื้อหน้าท้อง ปล่อยให้กล้ามเนื้อส่วนนี้คืนตัวกลับสู่ตำแหน่งเดิมด้วยตัวเอง บางคนอาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องยาก ที่จะไม่ตั้งใจหายใจเข้า โดยเฉพาะผู้เริ่มต้นฝึก เราควรค่อยๆ ฝึกช้าๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป

การปล่อยให้กล้ามเนื้อหน้าท้อง ผ่อนคลายอย่างสิ้นเชิง โดยเร็วคือปัจจัยสำคัญในการฝึกกะปาละบาติให้ได้ผล เบื้องต้นอาจกำหนดความคิดไว้ว่า กะปาละบาติคือการฝึกหายใจออกด้วยกล้ามเนื้อหน้าท้องเท่านั้น ก็สามารถช่วยได้ เพราะเราไม่ได้ทำอะไรกับการหายใจเข้าเลย

การฝึกกะปาละบาติมีหลัก ๓ ประการคือ จำนวนครั้ง แรง และจังหวะความเร็ว
๑. จำนวนครั้ง เริ่มทำ ๑๐-๑๕ ครั้งต่อการฝึก ๑ รอบ จากนั้นก็พักด้วยการหายใจลึกๆ รอจนลมหายใจ สม่ำเสมอ แล้วจึงเริ่มฝึกรอบต่อไป ฝึกทำวันละ ๓ รอบ ค่อยๆ เพิ่มจำนวน ครั้ง สัปดาห์ละ ๕ ครั้ง เป้าหมายสูงสุดสำหรับผู้ชำนาญคือ ๑๒๐ ครั้งต่อรอบ
๒. ความแรง พยายามหายใจออกอย่างแรง เร็ว และเสร็จสิ้นทันทีโดยไม่เกร็ง ตั้งใจหายใจเอาลมออกจากปอดประมาณร้อยละ ๗๐ ในเวลาน้อยกว่า ๑ วินาที
๓. ความเร็ว กำหนดจังหวะของการหายใจออกให้สม่ำเสมอ เสมือนจังหวะของเข็มวินาที เริ่มด้วยการหายใจออก ๑ ครั้ง ต่อ ๑ วินาที จนกระทั่งเราคุ้นชินกับจังหวะที่เราฝึกทำ เมื่อฝึกได้ ๑ สัปดาห์ ค่อยๆ เพิ่มจังหวะจนสุดท้ายเป็นการหายใจออก ๒ ครั้ง ต่อ ๑ วินาที โดยคงจังหวะให้สม่ำเสมอ

เทคนิคการฝึก
๑. นั่งให้มั่นคง หลังตรง และผ่อนคลาย
๒. มือทั้ง ๒ ข้าง วางไว้บนเข่า ยกทรวงอกขึ้นเล็กน้อย
๓. ตั้งใจหายใจออกทางจมูก อย่างแรง ทำให้ช่องท้องแขม่วเข้าโดยเร็ว
๔. คลายบริเวณช่องท้อง ปล่อยให้การหายใจเข้า เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
๕. ทำซ้ำ ต่อเนื่อง เป็นจำนวนครั้งตามที่กำหนด
 

                

หมายเหตุ :

- เมื่อเกิดความรู้สึกอึดอัดที่บริเวณช่องท้องขณะฝึก ให้พัก ห้ามฝืน 
- ตลอดเวลาที่ฝึกทำ ทรวงอกอยู่นิ่ง

(ผู้อ่านสามารถอ่านรายละเอียดการฝึกเพิ่มเติมได้จากฉบับที่ ๒๙๔ ตุลาคม ๒๕๔๖)
* กผะ Kapha คือ ๑ ใน ธาตุทั้ง ๓ ได้แก่ วาตะ (ลม) ปิตะ (ไฟ) กผะ (น้ำ) กผะ ยังหมายถึง เสมหะด้วย ตามตำราอายุรเวท อันเป็นตำราแพทย์แผนโบราณของชาวอินเดีย กผะ รับผิดชอบทางด้านโครงสร้างของร่างกาย คือ ทำหน้าที่ยึดหน่วยย่อยของร่างกาย (เซลล์ต่างๆ) เข้าไว้ด้วยกัน เป็นกล้ามเนื้อ ไขมัน และกระดูก

 


 

ข้อมูลสื่อ

310-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 310
กุมภาพันธ์ 2548
โยคะ
กวี คงภักดีพงษ์