• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บนเส้นทางหนังสือ (๑)

บนเส้นทางชีวิตของผมส่วนที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการอ่านหนังสือ ทั้งนี้เกิดขึ้นโดยการบังเอิญ แต่ก็มีส่วนกำหนดเส้นทางชีวิตของผมต่อมา คนไทยมีวัฒนธรรมพูด แต่ไม่มีวัฒนธรรมการเขียนและอ่าน ทั้งนี้ก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ เราอยู่ในเขตร้อน เวลาอากาศร้อนคนจะอยู่นอกบ้าน เมื่อผมไปเมืองจีนครั้งแรก เมื่อกว่า ๒๐ ปีมาแล้ว เป็นเดือนกรกฎาคมอากาศร้อนจัด คนจีนออกมาเดินตามถนนเต็มไปหมด จนดึกเมื่ออากาศเย็นลงจึงเข้าบ้าน ในเขตอากาศหนาวที่มีฤดูหนาวยาวนาน คนจะต้องใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในบ้าน เมื่ออยู่ในบ้านนานๆ ก็ต้องคิด ต้องเขียน ต้องอ่าน มิฉะนั้น จะบ้าตาย เขาจึงมีวัฒนธรรมการเขียน การอ่าน การใช้เวลานอกบ้านจะไปเขียนไปอ่านก็ไม่ได้ ต้องพูดกัน คนไทยจึงพูดเก่ง แต่เขียนและอ่านน้อย ขณะนี้ต่อประชากรประมาณ ๖๓ ล้านคน หนังสือดีๆ ที่พิมพ์ออกมาจะขายได้ ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ เล่มเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก
ที่กล่าวเช่นนั้น ก็เพราะขณะนี้สังคมเปลี่ยนแปลงไปจากโบราณมาก มีเรื่องยากๆ และสลับซับซ้อนเต็มไปหมด เรื่องที่ซับซ้อนถ้าไม่อ่านจะไม่เข้าใจ เพียงแต่ดูและฟังไม่สามารถทำให้เข้าใจเรื่องยากๆ ได้ ถ้าเราไม่เข้าใจความเป็นจริงที่ซับซ้อน เราจะแก้ปัญหาไม่ได้ ทำให้ปัญหาขยายตัวไปสู่สภาวะวิกฤติ เช่น ความรุนแรงใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จริงมีปัญหาอีกมากที่สังคมไม่เข้าใจ ฉะนั้น เพื่อให้เราสามารถเผชิญกับความซับซ้อนและความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน การส่งเสริมการอ่านเป็นระเบียบวาระแห่งชาติที่สำคัญอย่างหนึ่ง

ย้อนหลังกลับไปเกือบ ๗๐ ปี ในสังคมบ้านนอกในจังหวัดกาญจนบุรีที่ผมเติบโตขึ้น ก็ไม่มีวัฒนธรรมการอ่านแต่อย่างใด หนังสือหนังหาก็ไม่มี ในบ้านไม่มีหนังสือสักเล่ม พวกเราคนจนไม่มีสตางค์แม้แต่จะกินขนม อย่าว่าแต่ไปซื้อหนังสือเลย ท่ามกลางสภาพเช่นนั้นจึงถือว่าการอ่านของผมเกิดขึ้นโดยบังเอิญ ผมเริ่มเรียนหนังสือในปี พ.ศ.๒๔๘๐ เมื่ออายุได้ ๖ ขวบ สภาพที่เราอยู่เป็นห้องแถวเล็กๆ ติดกัน ๙ ห้อง ที่มีหลังบ้านทะลุถึงกัน เดิมปู่ย่าผมทำไร่อยู่ที่ริมแม่น้ำแควน้อยหน้าวัดถ้ำมังกรทอง เมื่อปู่ตาย ย่าจึงพาลูกเข้ามาอยู่ในเมืองเพราะกลัวโจร ย่ามีลูก ๙ คน จึงสร้างตึกแถว ๙ ห้อง ให้ลูกอยู่ห้องละคน พ่อผมมี ๒ ห้อง คงจะไปซื้อของน้องที่ตายเพิ่มมา ๑ ห้อง ย่าอยู่ห้องที่ ๑ เมื่อเล็กๆ เวลาถูกแม่ตี แม่ผมเป็นคนดุ ผมจะร้องไห้วิ่งไปหาย่า จำได้ว่าย่ายิ้มๆ และพูดว่า "ถูกนังยักษ์ตีมาเหรอ!"Ž

พวกเราเด็กจนๆ ไม่มีการซื้อของเล่นใดๆ ทั้งสิ้น แต่ก็เล่นสนุกกันเกรียวอยู่แถวหน้าบ้านบ้าง แถวที่ลุ่มหลังบ้านไปจดหัวตลิ่งลำน้ำแควใหญ่บ้าง เล่นสารพัดอย่าง เช่น ลูกหิน ทอยกระเบื้อง ร่อนรูป ดีดยาง ไม้หึ่ง เป็นต้น คราวหนึ่งผมดีดยางแล้วยางดีดกลับมาโดนตาตัวเองปวดมาก วิ่งไปหาย่า ย่าบอกว่าเดี๋ยวข้าจะเอาเปราะดำมาหยอดตาให้ เปราะดำเป็นพืชชนิดหนึ่ง

ย่าผมอ่านหนังสือไม่ออก แต่ชอบฟังนวนิยาย เมื่อเห็นผมวิ่งเล่นอยู่แถวนั้น และผมพออ่านหนังสือออกบ้างแล้ว ย่าก็เรียกมาอ่านนวนิยายให้ย่าฟัง ตรงนี้ก็จะเห็นเป็นความประจวบเหมาะของเหตุปัจจัย คือพี่คนโต ซึ่งเป็นผู้หญิงก็ต้องช่วยแม่ทำงาน พี่ชาย ๒ คน เขาก็คงไปได้ไกล น้องผมก็ยังอ่านหนังสือไม่ออก เหลือผมซึ่งอยู่ใกล้และเริ่มอ่านหนังสือออก ย่าจึงเรียกมาอ่านหนังสือให้ฟัง นี้จะเห็นว่าอะไรที่จะเกิดมีเหตุปัจจัยอันละเอียดอ่อนมากมายที่ทำให้เกิด ที่ทางพระเรียกว่าอิทัปปัจจยตา ภาษาอังกฤษว่า co-arising ไม่มีอะไรเกิดขึ้นลอยๆ

นวนิยายเรื่องแรกที่ย่าให้อ่านชื่อ "ซิยิ่นกุ้ย" เป็นนวนิยายจีนที่ลงในหนังสือพิมพ์สมัยนั้น ผมยังเด็กและไม่เคยอ่านหนังสือพิมพ์ จึงไม่ทราบว่าเขาลงเรื่องอะไรกันบ้าง แต่เข้าใจว่านวนิยายจีนจะได้รับความนิยม เพราะ สิ่งที่อ่านเป็นตอนๆ ในกระดาษที่ตัดมาจากหนังสือพิมพ์ ผมอ่านไปตามตัวหนังสือยังเข้าใจความไม่หมด เช่น ตอนหนึ่งย่าหัวเราะคิกๆ และพูดว่า "มันแก้เผ็ดกัน" ผมยังไม่เข้าใจคำว่า "แก้เผ็ด" แปลว่าอะไร เมื่ออ่านไปๆ ก็สนุก คราวนี้ถึงย่าไม่ใช้ก็อ่านเอง ที่ว่าอ่านเองนี้จะไปเอาหนังสือที่ไหนอ่าน พอดีอีกเหมือนกันที่ลูกของป้าเป็นคนรุ่นสาว และเขาพอมีสตางค์ เขาซื้อนวนิยายต่างๆ มาอ่านเยอะ และกองทิ้งไว้ ที่เรือนหลังบ้าน ผมจึงเข้าเสพหนังสือเหล่า นั้นอย่างสบาย ที่บนเรือนหลังดังกล่าวมีเปลญวนแขวนอยู่ ผมก็นอนบนเปลญวนอ่านนวนิยายเป็นชั่วโมงๆ หรือตั้งแต่เช้า จดเย็น เราเด็กๆ นุ่งแต่โสร่งไม่ใส่เสื้อ โสร่งไม่มีเข็มขัดก็หลุดง่าย บางทีก็ต้องสะพายแล่ง ผู้ใหญ่ก็จะกระเซ้าว่า ไอ้เด็กคนนี้มันนุ่งโสร่งนอนอ่านหนังสือบนเปลญวน เผยให้เห็นอวัยวะใหญ่น้อย คำว่า "อวัยวะใหญ่น้อย" นี้ ผมเอาสำนวนมาจากพระไตรปิฎกนะครับ คือในพระวินัยปิฎกตอนหนึ่ง ว่ามีพระภิกษุรูปหนึ่งนอนหลับโดยไม่ปิดประตูกุฏิ และว่า "ลมรำเพยมาเผยให้เห็นอวัยวะใหญ่น้อย!" แล้วก็มีเรื่องขึ้น เพราะมีผู้หญิงคนหนึ่งเดินผ่านมาเห็นเข้า พระศาสดาจึงทรงบัญญัติว่า ภิกษุนอนต้องปิดประตูกุฏิพระวินัยทุกข้อที่บัญญัติเพราะมีเรื่องเกิดขึ้นทั้งนั้น เช่น แต่เดิมพระก็ฉันข้าวเย็น แต่มีเรื่องเกิดขึ้นจึงทรงบัญญัติวินัยเลิกฉันเวลาวิกาล เรื่องที่เกิดขึ้น หนึ่งคือ ภิกษุไปบิณฑบาตเวลาเย็นแล้วเดินไปตกหลุมงู อีกเรื่องหนึ่งคือมีหญิงชาวบ้านกำลังทำอาหารเย็นอยู่ในครัว เวลานั้นโพล้เพล้ แล้วมีพระมาโผล่บิณฑบาตที่หน้าต่างเห็นตะคุ่มๆ หญิงคนนั้นตกใจตะโกนด่าแม่พระว่า "โยมของท่านตายเสียแล้ว" ก็ทำนองว่า "แม่งตายโหง" ทำนองนั้นแหละ พระศาสดาทรงเห็นว่าเมื่อลำบากอย่างนี้ จึงทรงบัญญัติห้ามพระภิกษุฉันอาหารในเวลาวิกาล เมื่อวินัยข้อนี้ออกมาใหม่ๆ พระคร่ำครวญกันมากว่า "อะไรที่กินอร่อยกินดีก็มื้อเย็นนี่แหละ พระสุคตก็มาห้ามเสียได้"Ž

ก็เลยเล่าออกไปเสียไกล เพราะหนังสือมีเรื่องสนุกๆ เยอะ ย้อนกลับมาที่เล่าค้างไว้ว่าผมเข้าเสพนวนิยายต่างๆ มีซิยิ่นกุ้ย เจ็งฮองเฮา จอยุ่ยเหม็ง ห้องสินไต้ ชั่นบ้อเหมา เป็นต้น ในหนังสือเรื่องจีนจะมีตัวละครที่เป็น ตงฉินและกังฉินแยกจากกันชัดเจน ในนวนิยายจะสรรเสริญความซื่อสัตย์สุจริต ความกตัญญู ความขยันหมั่นเพียร เช่น ความบากบั่นจนสอบได้เป็นจอหงวน เป็นต้น

เด็กเล็กอยู่ที่เมืองกาญจน์อันมีภูเขาล้อมรอบ และมีการคมนาคมน้อย วิทยุ โทรทัศน์ไม่มี การรับรู้จึงจำกัด แต่การอ่านนวนิยายจีนขยายจิตสำนึกไปกว้างไกล เช่น เรื่องเมือง "เชียงอาน" (ซีอาน) เมืองหลวงของราชวงศ์ถัง เรื่องหลีซิบิ๊น (หลี่ซื่อหมิน) หรือพระเจ้าถังไท่จงฮ่องเต้ กษัตริย์องค์ที่ ๒ ของราชวงศ์ถัง เมื่อผมไปเมืองจีนครั้งแรก ในการสนทนา ณ โต๊ะอาหารคนจีนเขาคุยกันว่า ถังไท่จงฮ่องเต้เป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ถัง ผมเถียงเขาว่า ไม่ใช่ ปฐมกษัตริย์ชื่อพระเจ้าถังเกาจงฮ่องเต้ รุ่งขึ้นพบกันอีกเขาบอกว่า เขาไปเช็กมาแล้ว ผมถูก ถังไท่จงเป็นองค์ที่ ๒ นี้มาจากความทรงจำตั้งแต่วัยเด็ก

ในวัยเด็กเมื่อรับอะไรเข้าไปครั้งแรกจะเป็น "รองรอย" เกิดขึ้นในสมอง ประดุจเมื่อฝนตกครั้งแรกแล้วน้ำฝนไหลไปทางไหนจะเกิดเป็นร่องรอยไว้ ฝนตกครั้งต่อๆ มาน้ำฝนก็จะไหลไปตามร่องเดิม ฉะนั้น ในช่วงเด็กการได้รับรู้อะไรจึงเกิดร่องรอยหรือโปรแกรมในสมองอันยากที่จะลบออก การอ่านนวนิยายจีนได้ฝากร่องรอยไว้ในสมองผมในเรื่องเกลียดคนโกงอย่างเข้ากระดูกดำ นอกจากนั้น การอ่านนวนิยายยังทำให้เกิดจินตนาการกว้างใหญ่ไพศาล จินตนาการจะพัฒนาสมองเด็ก

เด็กเมื่อยังอ่านหนังสือไม่ออกควรจะได้ฟังนิทานดีๆ และเมื่ออ่านหนังสือออกแล้วก็ควรจะได้อ่านเอง ควรมีการรวบรวมและแต่งนิทานดีๆ ให้เด็กได้มีโอกาสฟังและอ่านให้มาก

พูดถึงการส่งเสริมการอ่านผมอยากกล่าวถึงคน ๒ คน ที่พยายามเคลื่อน ไหวทำงานเรื่องนี้อย่างมาก ท่านหนึ่งคือ ดร.ถนอมวงศ์ ล้ำยอดมรรคผล แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีกท่านหนึ่งคือ คุณพรอนงค์ นิยมค้า ผู้ซึ่งมีผลงานแปลเกี่ยวกับญี่ปุ่นหลายเล่ม ทั้ง ๒ ท่านนี้พยายามเคลื่อนไหวส่งเสริมการอ่านอย่างมาก รัฐบาลจะเอามาทำเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ และสนับสนุนเชิงนโยบาย เช่น
๑. ทำให้หนังสือราคาถูกลง
๒. มีห้องสมุดทุกหนทุกแห่ง
๓. มีการแต่งและการแปลหนังสือดีๆ ให้มาก
๔. ให้ทุกครอบครัวที่มีเด็กเกิดใหม่มีหนังสือที่เหมาะแก่เด็กปฐมวัย
๕. มีชมรมรักการอ่านทุกพื้นที่
๖. มีการประกวดการอ่าน ทั้งในพื้นที่และในระดับชาติ
๗. มีคณะกรรมการการอ่านแห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ส่งเสริมการอ่าน
ดังนี้เป็นต้น
ต่อไปจะเป็นการหยิบเอาหนังสือต่างๆ ขึ้นมาพูดคุยกันไปเรื่อยๆ ตามแต่จะเหมาะสม โดยไม่ได้เรียงตามกาลเวลาหรือประเภท เล่มแรก คือ

THE ART OF HAPPINESS
A Handbook for Living
โดย
His Holiness The Dalai Lama
Howard C. Cutler, M.D.

ที่เลือกเอาเรื่องนี้ขึ้นมาก่อนก็เพราะว่าขณะนี้คนไม่มีความสุขกันเป็นอันมาก น่าจะรู้จักศิลปะสร้างความสุข ที่จริงความสุขเป็นที่ต้องการของทุกคน แต่เราไม่เรียนวิชาความสุขกันเลย เรียนแต่เรื่องอื่นๆ ในสหรัฐอเมริกาเมื่อท่านทะไล ลามะ ปาฐกถาเรื่องความ สุข จะมีคนฟังเป็นหมื่นคน ท่านทะไล ลามะ เป็นผู้นำชาวพุทธที่ตะวันตกให้ความสนใจมากที่สุด เราน่าจะลองมาดูกันบ้างว่าเขาพูดคุยกันว่าอย่างไร มีวิธีคิดอย่างไร
เป็นเรื่องที่กลับหัวกลับหางอย่างยิ่ง ที่ท่านทะไล ลามะ ซึ่งทรงเป็นคนบ้านแตกสาแหรกขาด ต้องอพยพหลบภัยจากทิเบตอันเป็นบ้านเมืองของพระองค์ กลับเป็นผู้สอนเรื่องความสุขให้แก่คนอเมริกันผู้มั่งคั่ง ท่านทะไล ลามะ เป็นผู้มีเสน่ห์บารมี มีพระพักตร์ยิ้มละไม หรือหัวเราะอยู่เป็นนิจ ใครเข้าใกล้ก็รู้สึกอบอุ่นและมีความสุขไปด้วย
"ท่านมีความสุขหรือ" มีผู้ทูลถาม
"yes" ทรงตอบ
ท่านมีวิธีคิดแบบชาวพุทธ ที่ฝรั่งทึ่ง เพราะฝรั่งมีวิธีคิดต่างกัน
Howard C. Cutler เป็นจิตแพทย์อยู่ที่เมืองฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนา เขาพบท่านทะไล ลามะ ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.๑๙๘๒ แล้วก็ติดตามฟังปาฐกถาของท่าน สัมภาษณ์และนำมาเรียบเรียง โดยผ่านการตรวจสอบความถูกต้องจากท่านทะไล ลามะ เขาพยายามเขียนเรียบเรียงให้ฝรั่งเข้าใจวิธีคิดแบบพุทธ ซึ่งครั้งแรกๆ เขาก็ติดขัดอยู่เหมือนกัน
คัตเลอร์เล่าว่า วันหนึ่งในปี ค.ศ.๑๙๙๓ ท่านทะไล ลามะ ไปแสดงปาฐกถาต่อหน้าคน ๖,๐๐๐ คนที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐแอริโซนา ก่อนปรากฏพระองค์บนเวที เขาพบท่านนั่งรออยู่ในห้องเก็บของของผู้เล่นบาสเกตบอล กำลังจิบชาอยู่อย่างสงบ เมื่อได้รับเชิญ ทรงลุก ขึ้นยืนและเดินไปท่ามกลางผู้สื่อข่าว นักศึกษา ผู้แสวงหา ผู้อยากรู้ รวมถึง ผู้ยังไม่เชื่อ ทรงยิ้มและทักทายกับผู้คนไปตลอดทาง จนขึ้นไปยืนอยู่บนเวที โค้ง ประสานมือและยิ้ม ผู้คนต้อนรับด้วยการปรบมือเสียงดังกึกก้อง ท่านยืนสงบพิจารณาผู้ฟัง ส่งกระแสความอบอุ่น และปรารถนาดีไปยังเขาเหล่านั้น

ท่านเริ่มพูดโดยกล่าวว่า แม้ท่านจะพบผู้ฟังเกือบทั้งหมดเป็นครั้งแรก แต่ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนเก่าหรือเพื่อนใหม่ ก็ไม่มีอะไรแตกต่างกัน เพราะเราทั้งหมดเป็นมนุษย์เหมือนกัน จริงอยู่มีความแตกต่างกันทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต ความเชื่อ ผิวสี แต่เราเป็นมนุษย์ประกอบด้วยกายและใจ เมื่อข้าพเจ้าพบปะผู้คน ข้าพเจ้าคิดเสมอว่ากำลังพบเพื่อนมนุษย์อีกคนหนึ่งที่เหมือนตัวเราเอง ถ้า คิดอย่างนี้เราจะสื่อสารกันได้ดี แต่ถ้าไปคิดอย่างเฉพาะเจาะจงว่าเราเป็นทิเบต เราเป็นพุทธ จะเกิดความแตกต่างขึ้นทันที แท้ที่จริงการเป็นนั่นเป็นนี่เป็น สิ่งไม่สำคัญ ถ้าเราทิ้งความแตกต่างไปเสีย เราก็จะพูดคุยกันได้อย่างฉันมิตร แลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์กัน

ก่อนหน้านั้นในปี ค.ศ.๑๙๘๒ คัตเลอร์เคยไปเยี่ยมท่านทะไล ลามะ ที่ธรรมศาลา ซึ่งอยู่ตีนเขาหิมาลัยตอนเหนือของอินเดีย อันเป็นที่พักพิงของ ท่านและคณะหลังจากลี้ภัยออกมาจากทิเบตเมื่อ ๔๐ ปีก่อน ที่นั่นเป็นที่เงียบ สงบ คัตเลอร์ว่าท่านทะไล ลามะ มีคุณลักษณะพิเศษที่สามารถสร้างความอบอุ่น ให้แก่ผู้ที่ท่านพูดคุยด้วย ทำให้คู่สนทนาสบายใจและเกิดการสานสัมพันธ์กันด้วยความเป็นมนุษย์ คัตเลอร์รู้สึกว่าได้พบจิตวิญญาณอันยิ่งใหญ่ที่ไม่ธรรมดา
แต่เราต้องระลึกรู้ไว้อย่างหนึ่งว่าจิตแพทย์อเมริกันกับท่านทะไล ลามะมีฐานคิดที่ไม่เหมือนกัน ฐานคิดตะวันตกมีกรอบทางวิทยาศาสตร์ที่ค่อนข้าง ตายตัว ส่วนท่านทะไล ลามะ มาจากฐานคิดแบบพุทธบนหลักอิทัปปัจจยตา ที่เปิดกว้างอย่างไม่มีที่สุด
คำว่าที่สุด หรือส่วนสุด ซึ่งในภาษาบาลีใช้คำว่า อันตะ หรืออันตานั้น ปรากฏบ่อยมากในคำสอนของพระพุทธเจ้า เช่น ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร หรือพระปฐมเทศนา ภายในไม่กี่ประโยคต้นๆ ก็มีความดังนี้
เทฺว เม ภิกฺขเว อนฺตา
คำแรกอ่านว่า ทเว แปลว่าสอง เหมือนทวิ อันตา = ส่วนสุด
แปลความว่า "ส่วนสุดทั้งสองภิกษุไม่ควรเสพ"Ž
เป็นการเริ่มต้นที่ทรงปฏิเสธส่วนสุด หรือสภาวะสุดโต่ง ๒ ข้าง และจึง ทรงสอนทางสายกลาง หรือมัชฌิมาปฏิปทา แต่พวกเรามักคิดแบบตายตัวโดยไม่รู้ตัว จึงไม่เข้าใจความหมายของทางสายกลางจริงๆ มักจะคิดเอาโดยอัตโนมัติว่าคือตรงกลางหรือส่วนเฉลี่ยของ ๒ ข้าง คำว่า ตรงกลาง ก็จะมีความหมายเชิงตายตัวอีก
มัชฌิมาปฏิปทาคือ ความเป็นเหตุปัจจัย หรืออิทัปปัจจยตาแบบเป็นพลวัต (dynamic) ไม่มีจุดตั้งต้น ไม่มีจุดสิ้นสุด จึงใช้คำว่า ไม่มีที่สุด ดังกล่าวข้างต้น
เราถูกการคิดแบบตายตัวบีบคั้นเราอยู่ จึงไม่มีความสุข ถ้าเราเข้าใจสภาพ ความเป็นจริงของธรรมชาติที่เป็นกระแสของเหตุปัจจัยอันไม่มีที่สิ้นสุด เราจะประสบอิสรภาพและความสุข

ตั้งแต่คำว่า "ไม่มีที่สุด" ลงมาเป็นคำอธิบายของผมเอง ในการเล่าถึงหนังสือแต่ละเล่ม ผมจะไม่แปลมาทุกคำหรือทั้งหมด แต่จะจับความบางตอน มาเล่า และแทรกด้วยคำอธิบายของตัวเอง เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นหรือกว้างขึ้น
บทที่ ๑ ของหนังสือเล่มนี้ ชื่อว่า "สิทธิที่จะมีความสุข"Ž
มนุษย์แสวงหาความสุขนั้นแน่นอน
"ท่านมีความสุขหรือ" คัตเลอร์ทูลถาม
"ใช่ แน่นอน" ท่านทะไล ลามะ
"มันเป็นไปได้หรือ" คัตเลอร์
"ได้ มนุษย์มีความสุขได้จากการฝึกจิต" ท่านทะไล ลามะ
พุทธศาสนาเน้นการเป็นผู้ฝึกได้หรือควรฝึก ภาษาบาลีใช้คำว่า ทมะ อดีตพระธรรมปิฏก (ป.อ.ปยุตฺโต) หรือพระพรหมคุณาภรณ์ ในปัจจุบันได้กล่าวถึง ทมะ หรือการฝึกตนไว้โดยพิสดาร

ตรงที่จิตแพทย์อเมริกันคัตเลอร์กับทะไล ลามะ คุยกันดังข้างต้นนั้น ควรจะเข้าใจความแตกต่างระหว่างจิตเวชศาสตร์ (Psychiatry) ตะวันตกกับพุทธศาสนา จิตเวชศาสตร์นั้นถือว่าคนที่มีปัญหาทางจิตเวชนั้น เช่น มีความทุกข์ ความบีบคั้น พฤติกรรมเบี่ยงเบนนั้น เป็นคนที่จิตตกต่ำไปจากคนปกติทั่วๆไป ต้องรักษาให้ "กลับมาปกติ" (ดูตามรูป)



ทางพุทธศาสนานั้นถือว่าปุถุชนเพราะขาดปัญญา กล่าวคือมีอวิชชาถูกครอบงำด้วยอกุศลมูล จึงมีความทุกข์และก่อทุกข์ให้ผู้อื่น ต้องยกระดับจิตให้สูงขึ้น สู่อิสรภาพและความสุขที่แท้จริง อิสรภาพสูงสุดคือนิพพาน

คัตเลอร์จึงถามท่านทะไล ลามะ ว่า ที่ว่ามนุษย์จะมีความสุข (คงหมายถึงสุขสมบูรณ์) จะเป็นไปได้หรือ เพราะปุถุชนก็สุขๆ ทุกข์ๆ เพราะเขาคิดอยู่ ที่ระดับคนปกติธรรมดาทั่วไปหรือปุถุชน ท่านทะไล ลามะ ตอบว่าได้ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ ฝึกให้ขึ้นไปสูงกว่าระดับปุถุชนคนธรรมดาทั่วๆ ไปได้

เมื่อพูดถึงการฝึก "จิต" คัตเลอร์ก็พบว่ามีปัญหาอีก เพราะจิตตะวันตกมักหมายถึง ความรู้ ความฉลาด ท่านทะไล ลามะ อธิบายว่าที่ท่านว่าฝึกจิต หรือ Training the mind นั้น คำว่า mind ของท่านไม่ได้หมายถึงความรู้ ความฉลาด ในภาษาทิเบต เรียกว่า เซ็ม (Sem) ซึ่งหมายถึงความรู้สึกนึกคิดและจิตวิญญาณ แล้วมาดูว่าอะไร
ทำให้ทุกข์ อะไรทำให้สุข แล้วค่อยๆ ขจัดสิ่งที่ทำให้ทุกข์และเพิ่มสิ่งที่ทำให้สุข

คราวนั้นท่านอยู่ที่แอริโซนา ๑ สัปดาห์ เช้าวันหนึ่งหลังจากการบรรยาย ท่านเดินกลับมายังที่พักที่โรงแรม มีผู้คนเดินตามมา พบหญิงพนักงานทำความ สะอาดโรงแรมยืนอยู่ใกล้ลิฟต์ ท่านหยุดคุยกับเขา ถามว่าเขามาจากไหน หญิงผู้นั้นชะงักไป เพราะผู้ถามหน้าตาเป็นเอเชีย อยู่ในอาภรณ์ที่แปลก และมีคนเดิน ตามมาเป็นพรวน เสร็จแล้วเธอยิ้มอย่างอายๆ ตอบว่า "มาจากเม็กซิโก" ท่านคุยกับเธอเล็กน้อยแล้วก็เดินต่อไป หญิงผู้นั้นมีประกายแห่งความสุขปรากฏขึ้นบนใบหน้า วันต่อๆ มามีพนักงานโรงแรมมาคอยพบท่านที่หน้าลิฟต์มากขึ้นเรื่อยๆ ท่านก็หยุดคุยกับเขาด้วยความอบอุ่นเป็นกันเอง จำนวนคนที่มีความสุขจึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

การให้เกียรติผู้อื่น การทำตนเสมอ มีปิยวาจา มีน้ำใจ ยังให้เกิดความสุข
ลองทบทวนชุดธรรมะที่เรียกว่า สังคหวัตถุ ๔ หรือธรรมะ เพื่อการอยู่ร่วมกันด้วยความสุข สังคหวัตถุ ๔ ประกอบด้วย ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา สมานัตตตา ทาน คือการให้ ปิยวาจา คือพูดดี อัตถจริยา คือการประพฤติที่ประกอบด้วยประโยชน์ สมานัตตตา คือทำตนเสมอไม่เบ่งใส่ผู้อื่น จริยวัตรขององค์ทะไล ลามะ ที่คัตเลอร์บรรยายไว้นั้นก็สอดคล้องกับสังคหวัตถุ ๔ จึงก่อให้เกิดความสุขแก่ผู้ที่ได้พูดคุยหรือพบท่าน

เกิดคำถามขึ้นอีกว่า "เอ๊ะ ถ้าคนเราจะแสวงหาความสุข ไม่เป็นการเห็นแก่ตัวมากไปหรือ" คัตเลอร์อธิบายว่าไม่เป็นเช่นนั้น จากการศึกษาสำรวจพบว่าคนไม่มีความสุขนั้นมักจะหมกมุ่นอยู่กับตัวเอง ไม่สนใจสังคม อยู่ในอารมณ์ขมขื่น หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อสังคม ตรงข้ามคนที่มีความสุขมักจะเป็นคนที่เปิดตัว สนใจสังคม ยืดหยุ่น และอดทนต่อเหตุการณ์อันไม่พึ่งปรารถนามากกว่าคนที่ไม่มีความสุข มักจะรักและให้อภัยผู้อื่นได้ง่ายกว่าคนไม่มีความสุข การฝึกให้เป็นคนมีความสุขจึงไม่ใช่ความเห็นแก่ตัว

มีการวิจัยหลายเรื่องที่แสดงให้เห็นว่าคนที่มีความสุขมีความโน้มเอียงจะช่วยเหลือผู้อื่นมากกว่าคนไม่มีความสุข รวมทั้งเราอาจทำการทดลองด้วยตัวเองก็ได้ เช่น สมมุติว่าเราขับรถกำลังติดแหง็กอยู่ในการจราจรที่หนาแน่น เมื่อรถเริ่มเคลื่อน มีใครบางคนทำไฟกะพริบขอแซงเข้ามาในเลนของเราโดยขึ้นหน้าเรา ถ้าเรากำลังอารมณ์ดีก็อาจจะขับช้าลง และยอมให้เขาแซงขึ้นหน้าไปก่อน แต่ถ้าเรากำลังอารมณ์ไม่ดี เราอาจเร่งเครื่องขึ้นไปไม่ยอมให้แซง
 
ในบทที่ ๑ ของหนังสือเล่มนี้จึงว่าด้วยวัตถุประสงค์ของมนุษย์นั้นคือ ต้องการความสุข และมนุษย์ควรเรียนรู้ว่าความสุขเกิดขึ้นได้อย่างไร และในการทำตนให้มีความสุข ไม่ได้มีประโยชน์เฉพาะตน แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อครอบครัว และต่อสังคมเป็นส่วนรวมอีกด้วย
นั่นคือบทที่ ๑ ต่อไปบทที่ ๒ จะว่าด้วยเหตุปัจจัยของความสุข
 

 

ข้อมูลสื่อ

310-018
นิตยสารหมอชาวบ้าน 310
กุมภาพันธ์ 2548
ศ.นพ.ประเวศ วะสี