• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วันเบาๆ ของสตรี

วันเบาๆ ของสตรี

ถาม : อะไรเป็นสาเหตุของการปวดประจำเดือน 
อาการปวดประจำเดือน เป็นสิ่งที่พบบ่อยในสตรีวัยเจริญพันธุ์ (ทั้งวัยรุ่นและวัยทำงาน) เชื่อกันว่า มากกว่าร้อยละ ๕๐ หรือกว่าครึ่งหนึ่งของสตรีวัยนี้ มีอาการปวดท้องน้อยเมื่อรอบเดือนมา ความรุนแรงของอาการปวดจะมากหรือน้อยในแต่ละคนไม่เท่ากัน อย่างไรก็ตาม มีถึงร้อยละ ๑๐ ของกลุ่มที่มีปัญหาการปวดประจำเดือน ที่มีอาการมากถึงขั้นต้องหยุดเรียนหรือลางาน 
 
สาเหตุของการปวดประจำเดือนเกิดจากมีสารจำพวกพรอสตาแกลนดิน (prostaglandins) หลั่งออกมามาก สารพวกนี้ทำให้มีการหดตัวของหลอดเลือดร่วมกับการหดเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ ซึ่งเป็นต้นเหตุให้เกิดอาการปวด พบว่าสารพรอสตาแกลนดินจะมีปริมาณมากในช่วง 1-3 วันแรกของการมีรอบเดือน และโดยทั่วไปแล้วอาการปวดจะเริ่มก่อนมีประจำเดือนหลายชั่วโมง ทั้งนี้ขึ้นกับปริมาณพรอสตาแกลนดินที่หลั่งออกมา และเมื่อระดับของสารนี้กลับสู่ปกติอาการปวดก็จะหายไป

ถาม : ทำไมบางคนปวด บางคนไม่มีอาการปวด แบบไหนถือว่าผิดปกติ 
มีสตรีกว่าครึ่งที่ปวดประจำเดือน ส่วนที่เหลือไม่ปวด ทั้งสองกลุ่มถือว่าปกติทั้งคู่ เนื่องจากการปวดประจำเดือนไม่ใช่โรค เป็นภาวะปกติของร่างกายที่บางคนมีอาการตอบสนองต่อกระบวนการเปลี่ยนแปลงในร่างกายมากกว่าคนอื่น ถึงแม้ไม่ได้รักษา อาการดังกล่าวก็จะเป็นอยู่เพียงชั่วเวลาหนึ่ง แค่ ๑-๓ วันแรกของการมีรอบเดือน แล้วจะหายไปเอง เว้นแต่ถ้าไม่สามารถทนต่ออาการปวดนั้นได้ ก็อาจจะต้องหาวิธีการทุเลาความปวด โดยการกินยาหรือปฏิบัติตนเพื่อลดความปวด ที่สำคัญคือ ถ้าเดิมไม่เคยปวด แล้วมาปวดหรือปวดรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม หรือมีอาการอื่นๆ สมทบเพิ่มขึ้น อาจไม่ใช่อาการปวดประจำเดือนธรรมดา จำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ เช่น อาจเป็นซีสต์ (cyst) ในมดลูก มีเนื้องอก หรือมีการติดเชื้อ เป็นต้น

ถาม : ทำไมจึงมีอาการไม่สบายตัวก่อนที่จะมีรอบเดือน เช่น เมื่อยตัว ปวดหลัง ปวดเอว ท้องเดิน คลื่นไส้ หรือปวดศีรษะ 
การปวดประจำเดือนนั้นไม่ได้มีเฉพาะอาการปวดแต่เพียงอย่างเดียว บางคนมักมีอาการอื่นๆ พ่วงตามมาด้วยไม่มากก็น้อย ทั้งนี้เป็นเพราะสารพรอสตาแกลนดินนั้นพลัดเข้าสู่ระบบการไหลเวียนของเลือด สู่อวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย ทำให้มีอาการอื่นๆ นอกเหนือไปจากอาการปวดท้องน้อย อาการต่างๆ ที่พบบ่อยคือ คลื่นไส้ อาเจียน (พบร้อยละ ๙๐) เมื่อยตัว (พบร้อยละ ๘๕) ปวดหลัง ปวดเอว (พบร้อยละ ๖๐) ท้องเดิน (พบร้อยละ ๖๐) ปวดศีรษะ (พบร้อยละ ๔๕) นอกจากนี้ยังพบอาการเป็นลม วิงเวียน หงุดหงิด ได้ในบางราย

ถาม : มีวิธีใดบ้างที่สามารถบรรเทาอาการปวดประจำเดือน 
มีแนวทางในการใช้ยาอยู่ ๒ ประการสำหรับการบรรเทาอาการปวด

ประการแรก คือ การกินยาขัดขวางการสร้างพรอสตาแกลนดิน ซึ่งเป็นต้นตอสาเหตุของอาการปวดประจำเดือน ยากลุ่มนี้ทางการแพทย์เรียกว่า เอ็นเสด (NSAIDs หรือ non-steroidal anti-inflammatory drugs) เช่น กรดมีเฟนนามิก (mefenamic acid), อินโดเมทาซิน (indomethacin), ไพรอกซิแคม (piroxicam), ไอบูโพรเฟน (ibuprofen) หรือยาในกลุ่มแอสไพริน (aspirin) เป็นต้น ยาที่นิยมและได้ผลดีในการบรรเทาอาการปวดประจำเดือน คือ กรดมีเฟนนามิก (mefenamic acid)

แนวทางที่สองในการใช้ยาบรรเทาอาการปวดประจำเดือน คือ การกินยาคุมกำเนิดชนิดผสมระหว่างเอสโตรเจนกับโปรเจสติน แต่วิธีนี้จะไม่เหมาะกับผู้ที่รอการตั้งครรภ์ และมีข้อเสียตรงที่ต้องกินยาทุกวัน  และสำหรับรายที่ปวดไม่มาก การกินยาแก้ปวดพาราเซตามอล (paracetamol) ก็สามารถบรรเทาอาการลงได้

นอกเหนือจากที่กล่าวแล้ว การนวดบริเวณท้องน้อยเบาๆ การประคบน้ำอุ่น เช่น วางถุงน้ำร้อนบริเวณหน้าท้อง การออกกำลังกายเบาๆ ไม่หักโหม หรือการยืดเส้นยืดสาย รวมทั้งการพักผ่อนให้พอเพียง ก็จะช่วยบรรเทาอาการปวดลงได้ ส่วนในตำรับยาแผนโบราณ มีแนะนำให้กินตังกุย หรือใช้ดอกคำฝอยชงดื่ม เป็นยาบำรุงเลือด บำรุงประจำเดือน และบรรเทาอาการปวดประจำเดือนได้ สำหรับสตรีบางคน การอดนอน ความเครียด และการดื่มกาแฟ อาจทำให้อาการปวดรุนแรงขึ้น ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงปัจจัยดังกล่าวนี้

ถาม : ยาแก้ปวดประจำเดือนจะออกฤทธิ์ภายในเวลาเท่าใด ควรกินบ่อยแค่ไหนและนานเท่าไร 
วิธีหนึ่งที่นิยมของการบรรเทาอาการปวดประจำเดือนคือ การกินยาแก้ปวดประจำเดือน ยาเหล่านี้ส่วนใหญ่จะออกฤทธิ์ภายในครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมงหลังจากกินยา และมักจะมีฤทธิ์อยู่นาน ๔-๖ ชั่วโมง ดังนั้น ถ้ายังมีอาการปวดอยู่ก็สามารถกินยากลุ่มนี้ได้ทุก ๔-๖ ชั่วโมงตามระยะเวลาออกฤทธิ์ของยา แต่ส่วนใหญ่แล้วจะไม่เกิน ๑-๓ วัน อาการก็จะหายไปเอง จึงไม่มีการกำหนดชัดเจนว่าต้องกินยานานเท่าใด จะให้ใช้ยาเท่าที่มีอาการ แต่ก็ควรจะสัมพันธ์กับมื้ออาหารด้วย เพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้ มียารุ่นใหม่บางชนิด อาจมีระยะเวลาที่ออกฤทธิ์นานขึ้น ถ้าสงสัยไม่แน่ใจ ให้สอบถามอีกครั้งจากเภสัชกรผู้จ่ายยา

ถาม : ผลข้างเคียงของการกินยาแก้ปวดประจำเดือนคืออะไรบ้าง 
ยาในกลุ่มเอ็นเสดมีผลข้างเคียงคล้ายๆ กัน คือระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดอาการปั่นป่วนท้อง หรือคลื่นไส้ อาเจียนได้ ป้องกันได้ด้วยการกินยาพร้อมอาหาร และดื่มน้ำมากๆ ตามหลังกินยา ส่วนผลข้างเคียงอื่นๆ พบไม่บ่อยนัก ดังนั้นในผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร หรือมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ จึงต้องระวังการใช้ยากลุ่มเอ็นเสดนี้

ถาม : ยาแก้ปวด เช่น ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือยาอื่นๆ มีผลดีผลเสียอย่างไร 
ยาคลายกล้ามเนื้อนั้นไม่ค่อยนิยมใช้เนื่องจากแก้ที่ปลายเหตุ ส่วนยาอื่นๆ เช่นยาคุมกำเนิดก็มีข้อเสียตรงที่ต้องกินทุกวัน ซึ่งไม่ค่อยสะดวกนัก

ถาม : เมื่อมีอาการเกร็งกล้ามเนื้อและมีเลือดออกมาเป็นลิ่ม มีสาเหตุอะไรและวิธีรักษาทำอย่างไร 
ปกติแล้วประจำเดือนจะเป็นสีแดงคล้ายเลือดตามปกติของเรา อาจมีสีคล้ำบ้างเล็กน้อย โดยเฉพาะในช่วง ๑-๒ วันแรก แต่จะไม่เป็นลิ่มเลือด หากมีอาการเลือดออกเป็นลิ่ม หรือมีเลือดออกมากผิดปกติ และมีอาการปวดเกร็งที่ท้องน้อยมาก ให้ไปพบแพทย์ เพราะอาจจะไม่ใช่อาการปวดประจำเดือนทั่วไป อาจจะมีสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดอาการปวดในขณะมีรอบเดือนมา เช่น เนื้องอกในมดลูก ผนังมดลูกหนาตัวผิดปกติ การติดเชื้อภายใน เป็นต้น

ข้อมูลสื่อ

293-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 293
กันยายน 2547