• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ขนมขบเคี้ยว : ศัตรูของฟันเด็กไทย

โรคฟันผุ เป็นปัญหาทันตสุขภาพที่สำคัญในประชาชนไทยโดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก แม้จะมีความพยายามในการพัฒนา มีมาตรการส่งเสริมป้องกันใน กลุ่มเด็กมาโดยตลอด กลับพบแนวโน้มของปัญหาโรคฟันผุในเด็กกลุ่มนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง

จากการสำรวจสภาวะทันตสุขภาพแห่งชาติซึ่ง ดำเนินการสำรวจทุก ๕ ปี พบว่าเด็กกลุ่มอายุ ๓ ปี  มีอัตราฟันน้ำนมผุเฉลี่ยกว่าร้อยละ ๖๐ ขณะที่กลุ่ม อายุ ๕-๖ ปีพบอัตราฟันน้ำนมผุเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจนจากร้อยละ ๗๗.๔ ในปี พ.ศ.๒๕๒๗ เป็นร้อยละ ๘๗.๖ ในปี พ.ศ.๒๕๔๓-๒๕๔๔ อีกทั้งทวี ความรุนแรงของโรคเพิ่มสูงขึ้น จากค่าผุถอนอุดเพิ่มจาก ๔.๙ ซี่ต่อคนในปี พ.ศ.๒๕๒๗ เป็น ๖.๑ ซี่ต่อคนในปี พ.ศ.๒๕๔๓-๒๕๔๔

อาหารมีความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับการเกิดโรคฟันผุโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตซึ่งแบคทีเรียสามารถเปลี่ยนเป็นกรดได้  การศึกษาในต่างประเทศได้รายงานแนวโน้มของการบริโภคน้ำตาลในประเทศกำลังพัฒนาที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีน อินเดีย และประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทุกประเทศมีการบริโภคเครื่องดื่มจำพวกน้ำหวานน้ำอัดลมเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในเขตชุมชนเมือง มีการกินขนม ลูกกวาด และของขบเคี้ยวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ทำให้แนวโน้มของปัญหาฟันผุเพิ่มสูง ขึ้นในอนาคต

สำหรับประเทศไทย พัฒนาการของรูปแบบขนมขบเคี้ยวประเภทต่างๆ ที่เป็นแป้งปรุงสำเร็จได้เริ่มทวีจำนวนชนิดเพิ่มสูงขึ้นมากอย่างรวดเร็ว ยังผลให้ปริมาณการบริโภคขนมเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กอายุ ๐-๑๒ ปี

ผลงานวิจัยชิ้นหนึ่งภายใต้การสนับสนุนของเครือข่ายวิจัยสุขภาพ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เรื่อง"  เกณฑ์แบ่งระดับความเสี่ยงของขนม ที่เชื่อมโยงกับการเกิดโรคฟันผุในเด็กไทย " โดย ทพ.ญ.สุณี วงศ์คงคาเทพ และคณะ ได้ทำการสำรวจและทดสอบค่าความเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุในเด็กนักเรียน อาสาสมัคร ซึ่งพบผลการศึกษาที่น่าสนใจอันเกี่ยวข้องกับระดับความเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุของขนมประเภทต่างๆ ที่วางขายในร้านค้าทั่วไปซึ่งเด็กนิยมกิน
 

ขนมแบบไหนที่เด็กไทยชอบ?
เมื่อเปรียบเทียบร้อยละกลุ่มขนมที่จำหน่ายในร้านค้าปลีก กับร้อยละกลุ่มขนมตามความนิยมบริโภคของเด็ก พบแนวโน้มไปในทางเดียวกัน คือ ขนมแป้งกรอบเป็นกลุ่มขนมที่เด็กและร้านค้านิยมมากที่สุด โดยร้านค้าทั้ง ๑๒ ร้านไม่มีขนมไทยและ ผลไม้จำหน่าย ในขณะที่เด็กนิยมบริโภคขนมไทยรองลงมา นอกจากนี้ยังมีกลุ่มขนมปัง และกลุ่มเครื่อง ดื่มต่างๆ ส่วนกลุ่มผลไม้ เด็กนิยมบริโภคน้อยที่สุด 

ขนมแบบไหนเสี่ยงฟันผุ?
เมื่อวิเคราะห์ระดับความเสี่ยงของขนมแต่ละชนิดที่ทดสอบ พบว่าขนมกลุ่มโปรตีนอบแห้งและมะละกอเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ กลุ่มเครื่องดื่ม นม และน้ำผลไม้เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงปานกลาง  ขณะที่กลุ่มลูกอม หมากฝรั่ง ช็อกโกแลต ผลไม้ใส่น้ำตาล ถั่วเคลือบ กลุ่มแป้งกรอบ ขนมปังนิ่ม และ ขนมไทยต่างๆ เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงเป็นส่วน ใหญ่ โดยเฉพาะถั่วที่เติมน้ำตาล ขนมปังกรอบทั้งเคลือบและสอดไส้น้ำตาล รวมทั้งขนมไทยหลายชนิดล้วนเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงมาก
กลุ่มที่เสี่ยงต่ำ ได้แก่ เมล็ดทานตะวัน ปลาหมึกอบแห้ง ปลาเส้นอบแห้ง ๒ ยี่ห้อ และมะละกอสุก ซึ่งถือว่าเป็นขนมที่แนะนำบริโภค และกลุ่มที่เสี่ยงสูงมาก ได้แก่ ขนมปังสอดไส้น้ำตาลหรือเคลือบน้ำตาล ถั่วเคลือบแป้ง ขนมไทยต่างๆ ซึ่งควรทำความสะอาดช่องปากทันทีเมื่อบริโภคแล้ว

ขนมที่มีความเสี่ยงสูงถึงสูงมาก ส่วนใหญ่มักเป็นขนมที่มีความสามารถในการเกาะติดค้างอยู่ในช่องปาก มีลักษณะติดฟัน ซึ่งช่วยให้แบคทีเรียในช่องปากเกาะติดได้ง่ายขึ้น ความสามารถนี้ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของอาหารดังนี้คือ 
๑) คุณสมบัติ  ทางกล ได้แก่ ความแข็ง นิ่ม เปราะ ความสามารถ ในการรวมตัวกัน ความข้น ความหนืด และความเหนียวของอาหาร 
๒) ขนาดและรูปร่างของอนุภาค อาหารเหล่านั้น 
๓) ปริมาณน้ำหรือปริมาณไขมันใน อาหาร ถ้ามีปริมาณสูงทำให้มีคุณสมบัติลื่นไม่เกาะติดฟัน
โดยภาพรวมขนมที่ทดสอบ ๔๙  รายการ เป็นขนมที่มีความเสี่ยงสูงถึงสูงมากรวม ๓๓ รายการ คิดเป็นร้อยละ ๖๗.๓๕

ปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่มีแนวโน้มลดความนิยมใน การบริโภคทั้งขนมไทยและผลไม้ หันมานิยมบริโภค ขนมที่ผลิตในภาคอุตสาหกรรมสูงขึ้น ในลักษณะแป้งกรอบปรุงสำเร็จ ทั้งนี้จากเหตุปัจจัยด้านการตลาด ความสะดวกในการจัดซื้อจัดเก็บ การโฆษณา และรสชาติที่เด็กรุ่นใหม่ชอบ

ผลการศึกษานี้สามารถทดสอบขนมได้เพียง ๔๙ ชนิด ผู้วิจัยเสนอว่าควรมีการขยายฐานการศึกษาในเรื่องนี้ให้ครอบคลุมกลุ่มขนมและชนิดให้มากขึ้น เนื่องจากขนมในบริบทสังคมไทยมีความหลากหลายสูงมาก และปัญหาฟันผุในกลุ่มเด็กมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน  ควรมีระบบติดตาม สถานการณ์การบริโภคขนม และปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเกิดฟันผุโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก ๐-๓ ปีอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง การให้ความรู้เรื่องขนมต่อการเกิดโรคฟันผุเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ควรมีการให้ความรู้กับพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู และผู้มีบทบาทในการเลี้ยงดูเด็กอย่างเป็นรูปธรรมและสอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของคนไทย ตลอดจน การผสมผสานการให้ความรู้เกี่ยวกับอาหารเพื่อสุขภาพช่องปากที่เชื่อมโยงกับสุขภาพทั่วไป โดยมีจุดเน้นที่วิธีการเลือกบริโภคที่เหมาะสม เช่น ควรเลือกอาหารที่มีไขมัน และ นํ้าตาลต่ำ เป็นต้น

สำหรับมาตรการสนับสนุนเชิงระบบแล้ว ควรมีระบบการรับรองความปลอดภัยต่อสุขภาพฟันในขนม เช่น การใช้สัญลักษณ์ฟันยิ้ม (tooth friendly) ดังที่นิยมใช้ในต่างประเทศ แม้จะไม่ใช่ ข้อบังคับสำหรับผู้ผลิตทุกราย แต่จะเป็นการสนับสนุนให้ผู้ผลิตหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพฟันของผู้บริโภคมากขึ้น

ข้อมูล: จากงานวิจัยเรื่องพัฒนาการเกณฑ์แบ่งระดับความเสี่ยงของขนมที่เชื่อมโยงกับการเกิดโรคฟันผุ โดย ทพ.ญ.สุณี วงศ์คงคาเทพ, ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย,  ทพ.ญ.สุปราณี ดาโลดม,  ทพ. วรวิทย์ ใจเมือง กองทันตสาธารณสุข  กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

ข้อมูลสื่อ

287-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 287
มีนาคม 2546
อารยา ถาวรวันชัย