• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เคล็ด (ไม่) ลับรักษาเบาหวาน

เคล็ด (ไม่) ลับรักษาเบาหวาน


"ดิฉันป่วยเป็นโรคเบาหวานมา ๑๐ กว่าปี  รักษาที่โรงพยาบาล ได้ยาเบาหวานมากินตลอด ระยะหลังๆ นี้ น้ำตาลสูงอยู่เรื่อยๆ ทางโรงพยาบาลจัดให้พบหมอคนใหม่ หมอได้ปรับเพิ่มยาให้ ลองอยู่หลายครั้ง ก็ยังไม่ได้ผล หมอบอกว่ามีอยู่หนทางเดียวคือ ต้องฉีดยาเบาหวานแทน ดิฉันกลัวเข็มฉีดยา และรู้สึกว่ายุ่งยากมากที่จะต้องฉีดยาทุกวัน ก็ได้แต่บ่ายเบี่ยงมาตลอด ทุกครั้งหมอจะขู่ว่าถ้าไม่ฉีดยา ขืนปล่อยให้น้ำตาลสูงแบบนี้ เดี๋ยวก็ตาบอด ไตวาย หรือไม่ก็เป็นโรคหัวใจ หรืออัมพาตแทรกซ้อนตามมา บางครั้งหมอแสดงอาการโกรธเคืองที่เห็นว่าดิฉันดื้อรั้น ถึงกับพูดว่า หากไม่ยอมเชื่อฟังก็จะให้ไปรักษากับหมออื่น ดิฉันจึงอยากปรึกษาว่าควรจะทำอย่างไรดี" คุณแดงเพื่อนบ้านวัยร่วม ๖๐ ปี ปรับทุกข์กับผมเกี่ยวกับปัญหาที่เผชิญอยู่

ตามหลักทฤษฎี การที่ระดับน้ำตาลในเลือดจะสูงต่ำขึ้นกับเหตุปัจจัย ๔ อย่าง ได้แก่ อาหารการกิน การออกกำลังกาย ความเครียด และยารักษาเบาหวาน กล่าวคือ ถ้ากินหวานหรือกินอาหารมาก น้ำตาลสูง ถ้ากินหวานน้อยกินอาหารน้อย น้ำตาลต่ำ ถ้ามีการใช้แรงกายมาก น้ำตาลต่ำ ถ้าใช้แรงกายน้อย น้ำตาลสูง ถ้ามีจิตใจเครียด น้ำตาลสูง ถ้าจิตใจไม่เครียด น้ำตาลต่ำ ถ้ามีการใช้ยาเบาหวานขนาดน้อย น้ำตาลสูง ขนาดมาก น้ำตาลต่ำ ทั้ง ๔ ปัจจัยนี้จะต้องปรับให้ได้สมดุล โดยจะต้องรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้มีค่าระหว่าง ๘๐-๑๒๐ หน่วย (มิลลิกรัมต่อเลือด ๑๐๐ มิลลิลิตร) ถ้าต่ำไป คนไข้จะมีอาการเป็นลม ใจหวิว หิวง่าย เหงื่อออก เรียกว่า "ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ" ต้องรีบกินน้ำตาลหรือของหวานๆ แก้ หากแก้ไขไม่ทัน อาจเป็นลมหมดสติ เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ แต่ถ้าน้ำตาลในเลือดสูงเกิน ๑๒๐ หน่วยต่อเนื่องกันนานเป็นปีๆ ก็อาจมีโรคแทรกซ้อนตามมา เช่น ประสาทตาเสื่อม (ตามัว ตาบอด) โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ อัมพฤกษ์ อัมพาต ไตวาย เท้าเป็นแผลเน่า (ต้องตัดนิ้วเท้า หรือข้อเท้า) เป็นต้น

คนไข้เบาหวาน นอกจากใช้ยาตามขนาดที่แพทย์สั่งแล้ว จะต้องดูแลตนเองในเรื่องอาหารการกิน การออกแรงกาย การคลายเครียด ควบคู่กันไปอย่างเคร่งครัดและสม่ำเสมอทุกวัน เพื่อรักษาดุลของระดับน้ำตาลในเลือดให้แกว่งขึ้น-ลงอยู่ในช่วง ๘๐-๑๒๐ หน่วย อย่าให้ต่ำหรือสูงกว่านี้ คนไข้เบาหวาน จึงต้องดำเนินชีวิตเหมือนนักกายกรรมไต่ลวดที่จะต้องรักษาดุล อย่าให้แกว่งมากจนตกจากลวด อาศัยความรู้จักมักคุ้นในฐานะที่เป็นเพื่อนบ้านกันมานานปี ผมจึงได้ใช้เวลาพูดคุยซักถามถึง "การไต่ลวด" ของคุณแดง คุณแดงมีฐานะดี มีการศึกษาดี และมีครอบครัวที่อบอุ่น ทุกเช้าจะชวนสามีไปออกกำลังกายที่สวนสาธารณะ กินยาเบาหวานที่หมอให้มาไม่เคยขาด กินกาแฟก็ใช้น้ำตาลเทียมใส่แทนน้ำตาลทรายตามที่หมอแนะนำ จิตใจก็ไม่มีเรื่องทุกข์ร้อนอะไร(ยกเว้นกลัวที่จะถูกฉีดยาและเครียดที่ถูกหมอว่า) อาหารก็กินไม่มากจนรูปร่างสมส่วนดี น้ำหนักตัวไม่มากเกิน ดูไปแล้วคุณแดงมีการดูแลตนเองที่ดีทีเดียว หมอคนไหนที่รักษาคุณแดงก็จะต้องคิดว่าเหตุที่น้ำตาลสูง ก็เนื่องเพราะยังปรับยาไม่เพียงพอ หรือเป็นเพราะดื้อยา (การกินยาเบาหวานมานานเป็น ๑๐ ปี ก็มักจะมีปัญหาการดื้อยาตามมา) จึงต้องปรับขนาดยาให้เต็มที่ หรือไม่ก็เปลี่ยนไปใช้ยาฉีด ผมเกือบจะลงความเห็นเป็นเช่นข้างต้น หากแต่ได้ทิ้งคำถามสุดท้ายว่า "ถามจริงๆ เถอะ คุณแดงปกติชอบกินอะไรเป็นพิเศษบ้าง?" คุณแดงและสามี (ที่แสนดีและน่ารักคอยดูแลให้กำลังใจอยู่ตลอด) ก็ช่วยกันบอกเล่าว่า คุณแดงกินอาหารไม่มาก บางวันมีอาการเบื่ออาหาร แต่ชอบกินน้ำผลไม้สำเร็จรูป ชอบกินผลไม้หวาน รวมทั้งกินขนม (เช่น คุกกี้ เค้ก พาย) ที่ลูกๆ นำมาฝาก

ผมจึงได้มาถึงบางอ้อว่า อาหารโปรดของคุณแดงพวกนี้นี่เองเป็นต้นตอของปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำผลไม้สำเร็จรูป จะมีการใส่น้ำตาลผสมอยู่มาก ผมจึงแนะนำคนไข้ว่า "ถ้าไม่อยากฉีดยา ขอให้กินยาเหมือนเดิม แต่ต้องช่วยงดน้ำผลไม้ ผลไม้หวาน และขนมหวานทั้งหมด" พร้อมกับบอกให้บันทึกลักษณะและปริมาณอาหารที่กินตั้งแต่เช้าจนเข้านอนทุกวัน ส่วนพฤติกรรมอื่นๆ ก็ให้คงไว้เหมือนเดิม เพียง ๓ วัน หลังจากนั้น ก็ได้ตรวจเลือด พบว่า น้ำตาลลดเหลือ ๙๐ หน่วย (ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ดูบันทึกอาหารที่กินทุกวัน (สามีและลูกๆ ช่วยกันจด) ก็มีความเหมาะสมดีมาก

คุณแดงเล่าว่า "ดิฉันเลิกกินน้ำผลไม้ และผลไม้หวาน ลูกๆ ก็ไม่ได้ซื้อขนมมาฝากอีกเลย ทุกวันดิฉันจะซื้อมะขามป้อมจากแม่ค้าที่สวนสาธารณะปั่นกินวันละ ๖ ผล โดยไม่เติมน้ำตาล กินแล้วรู้สึกชุ่มคอดี...ที่กินมะขามป้อมก็เพราะนึกถึงคำพูดของคุณหมอว่า ไม่ให้กินผลไม้หวานๆ ดิฉันเลยหันมากินผลไม้ฝาดแทน"เมื่อเห็นว่าน้ำตาลในเลือดลดลงดี จึงได้แนะนำให้คนไข้ลดขนาดยาลงบางส่วน เพราะที่ผ่านมาเกิดผลข้างเคียงจนคนไข้มีอาการเบื่ออาหาร ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน หลังปรับขนาดยาลง อาการข้างเคียงดังกล่าวก็หายไปดังปลิดทิ้ง และระดับน้ำตาลในเลือดก็ยังอยู่ในเกณฑ์ดีตลอดมา

"ดิฉันรู้สึกดีใจและมีความสุขที่สามารถควบคุมโรคนี้ได้ดี เมื่อก่อนมัวแต่คิดพึ่งยาจากคุณหมอถ่ายเดียว หารู้ไม่ว่า น้ำผลไม้และผลไม้หวานจะเป็นสิ่งแสลงต่อโรคเบาหวาน ดูๆ ไปเหมือนเส้นผมบังภูเขาเสียจริงๆ" คุณแดงสรุปบทเรียนทิ้งท้าย

ข้อมูลสื่อ

295-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 295
พฤศจิกายน 2547
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ