• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ชาเขียวมีดีอะไร

ชาเขียวมีดีอะไร

ที่จั่วหัวไว้อย่างนี้เพราะว่าเดี๋ยวนี้หันไปทางไหนเป็นต้องเจอผลิตภัณฑ์แปรรูปจากชาเขียวมากมาย ทั้งของกินของใช้ (ตั้งแต่ขนมปัง ขนมเค้ก คุกกี้ ทอฟฟี่ ไอศกรีม เจลลี เมล็ดฟักทอง โลชั่นทาผิว แชมพู ครีมนวดผม ครีมกันแดด น้ำหอม ฯลฯ)
ที่สำคัญสินค้าเหล่านี้ขายดิบขายดี ถูกอกถูกใจ ผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย ด้วยสรรพคุณที่ผู้ขายบอกกับผู้ซื้อง่ายๆ ว่า "ชาเขียวมีประโยชน์มาก"

ชาเขียวมีดีอะไร ผู้ผลิตทั้งหลาย จึงนำเอาพืชสมุนไพรชนิดนี้มาชูธงเป็นจุดขายสินค้าของตัวเอง นั่นเป็นสิ่งที่เราจะไปค้นคว้าหาคำตอบ เดี๋ยว จะไม่ทันโลก ไม่ทันสมัย

แหล่งผลิตชา
ต้นชามีชื่อเรียกทางพฤกษศาสตร์ว่า คาเมลเลีย ไซเนนซิส (Ca-mellia Sinensis) ถิ่นกำเนิดดั้งเดิม ของชาอยู่ในทวีปเอเชีย บนเขตที่ราบ สูงบริเวณรอยต่อระหว่างพม่า อินเดีย และจีน ดังนั้นแหล่งผลิตและส่งออก ชารายใหญ่ที่สำคัญของโลกคือ ประเทศจีน อินเดีย และรัฐอัสสัม ซึ่งนอก จาก ๓ แห่งนี้แล้ว ก็ยังมีการผลิตชาในอีกหลายประเทศ อาทิเช่น อินโดนีเซีย (ที่เกาะชวา) รัสเซีย เคนยา ยูกันดา พม่า และไทย เป็นต้น แต่ชาเหล่านั้นมีคุณภาพสู้ชาจีน ชาดาร์จิลิ่ง ชาอัสสัม และชาซีลอนไม่ได้ส่วนประเทศญี่ปุ่นแม้จะผลิต ชาเขียวที่มีคุณภาพและรสชาติดี เป็น ที่รู้จักและนิยมดื่มกันอย่างแพร่หลาย แต่ก็ส่งออกขายน้อย เพราะประชาชน ภายในประเทศนิยมดื่มชาเขียวกันมาก

ต้นชาเป็นไม้ยืนต้นที่สูงได้ถึง ๑๐ เมตร แต่ชาวไร่ชานิยมตัดแต่งให้เป็นพุ่มเตี้ย เพื่อความสะดวกในการเก็บยอดอ่อน ชาได้ชื่อว่าเป็นพืชที่อ่อนไหวต่อสิ่งแวดล้อมที่สุด อากาศ ที่ชื้นและอุณหภูมิที่เหมาะสมเป็นเงื่อนไขพื้นฐานของการเพาะปลูกชาให้ได้ผล แต่รู้ไหมว่าความแตกต่างใน เรื่องนี้แม้เพียงเล็กน้อย ก็ส่งผลต่อรสชาติของใบชาที่เก็บเกี่ยวแม้จะเป็น ใบชาจากต้นเดียวกันก็ตาม หากเก็บต่างฤดูต่างเวลา หรือขนาดเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน ก็ให้รสชาติที่แตกต่างกันได้

พูดง่ายๆ คุณภาพหรือรสชาติของชา แปรเปลี่ยนอย่างว่องไวต่อความชื้น อุณหภูมิของอากาศ แสงแดด ลม และสภาพของดิน ดังนั้น  แม้ว่าการทำไร่ชาจะได้ขยายไปยังส่วน ต่างๆ ของโลก แต่ดินแดนอมตะแห่ง ชาก็ยังคงเป็นจีน อินเดีย และซีลอนอยู่ดี

ชาชั้นดี ที่จะนำมาผลิตเป็นใบชาแห้งนั้น จะเลือกเด็ดเฉพาะยอดตุ่มกับใบอ่อนสองใบแรกท่านั้น ส่วน ใบชาที่ปลิดยอดยาว ติดใบชามาสี่ หรือห้าใบ ถือกันว่าเป็นชาชั้นเลว ส่วน ชาชั้นเลิศของจักรพรรดินั้น ว่ากันว่าจะเด็ดเฉพาะยอดชาสั้นๆ เฉพาะตุ่มยอดและใบอ่อนหนึ่งใบ อีกทั้งต้องคำนวณจังหวะลมและแดดที่เหมาะสมด้วย ไม่ใช่เก็บเมื่อไหร่ก็ได้

ชามีกี่ชนิด
โดยทั่วไปความรู้พื้นๆ ของคน คิดว่าชามีเพียง ๒ ชนิด คือชาจีนที่มีลักษณะเป็นใบนำมาชงดื่มต่างน้ำ และชาฝรั่งที่มีลักษณะเป็นชาผง หรือชาสับที่กินผสมกับนม แต่ความจริงแล้วชาที่มีขายอยู่มากมายในท้อง ตลาดนั้น แบ่งออกเป็น ๓ ประเภท ใหญ่ๆ ตามกรรมวิธีการผลิต จึงได้ชาที่มีกลิ่น รส และสีสันที่ต่างกัน ดังนี้คือ
๑. ชาเขียว (green tea) คือยอดอ่อนของชาที่ถูกนำไปอบ (หรือคั่ว) แห้งทันที โดยไม่มีการนวดหรือ หมักเลย จึงทำให้ใบชายังคงสีเขียวเอาไว้ได้ เพราะฉะนั้น ชาเขียวจึงให้รสชาติใกล้เคียงใบชาธรรมชาติมากที่สุด ซึ่งชาวจีนและชาวญี่ปุ่นจะนิยม ดื่มชาเขียวกันมาก
๒. ชาดำ (black tea) คือยอดอ่อนของชาที่ถูกนำมานวดอย่างเต็มที่ แล้วหมักจนได้กลิ่นหอมซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะ จากนั้นจึงนำมาทำให้แห้งด้วยการอบ ทำให้ใบชาที่ได้มีสีเข้มและมีรสขมปนฝาดมากขึ้น เนื่องจากปฏิกิริยาทางเคมีของสารแทนนินในใบชา ชาที่ฝรั่งส่วนใหญ่ดื่มก็คือชาดำ ซึ่งมีหลายชนิด และที่คนทั่วไปรู้จักกันดีก็คือ ชาอัสสัม ชาซีลอน และชาดาร์จิริ่ง
๓. ชาแดงหรือชาอูหลง (red tea or Oolong) คือยอดอ่อนของชาที่ถูกนำมานวดพอให้ผิวนอกช้ำ เพื่อกระตุ้นสารแทนนิน จากนั้นจึงอบให้แห้ง เพื่อหยุดยั้งปฏิกิริยาทางเคมี ดังนั้น สีและรสของชาแดงจึงอยู่กึ่งกลางระหว่างชาดำกับชาเขียว เหมาะสำหรับดื่มเปล่าๆ ต่างน้ำ (ไม่ใส่นม)

เพราะฉะนั้นที่เข้าใจกันว่าชา แบ่งเป็น ชาจีน ชาญี่ปุ่น และชาฝรั่งจึงไม่ค่อยถูกต้องนัก เพราะชาจีนมีทั้งชาเขียวและชาแดง และชาญี่ปุ่น ก็จัดเป็นชาเขียวชนิดหนึ่งเท่านั้น ซึ่งภูมิปัญญาในการผลิตชาทั้ง ๓ ชนิดนี้เป็นของคนจีนมาแต่โบราณ ชาวจีน สามารถผลิตทั้งชาเขียว ชาแดง และชาดำ มาก่อนที่ชาวตะวันตกจะมาทำการค้าขายด้วย

ปัจจุบันมีการนำเอาดอกไม้ ผลไม้แห้ง หรือน้ำมันที่สกัดได้จากสมุน ไพรต่างๆ มาผสมกับใบชาทั้ง ๓ ประเภท ทำให้ชามีกลิ่นและรสต่างๆ หลาก หลายขึ้น ที่รู้จักกันเป็นอย่างดีก็คือ ชามะลิ (จีน) และชาเอิร์ลเกรย์ (Earl Gray) ของอังกฤษ เป็นต้น

ประโยชน์ของชา
ในตำนานการดื่มชาของชาวจีน เล่ากันว่า ชาวจีนไม่ได้ชงชาเป็นเครื่อง ดื่มแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังได้ใช้ชาเป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการรักษาโรคอีกหลายชนิดด้วย โดยเฉพาะสรรพคุณในการรักษา อาการท้องเสียนั้น เป็นภูมิปัญญาที่รับรู้กันมาตั้งแต่โบราณ

คนจีนเชื่อว่าใบชามีสารบางอย่างที่มีสรรพคุณในการชะล้างไขมัน กลิ่นคาว และเมือกต่างๆ ได้ แม้กระทั่งกากใบชาที่ชงแล้วก็ยังนำไปใช้ ล้างถ้วยชาม หม้อ ไห กระทะ เพื่อขจัดคราบมันได้ ด้วยความเชื่อที่สืบทอดมายาวนาน เราจึงเห็นผู้คนดื่มชาหลังกินอาหารมันๆ เพื่อแก้เลี่ยนกันไม่ใช่น้อย หรือบางคนอาจเคยเห็น ภัตตาคารอาหารทะเลบางแห่งนำ น้ำชาใส่อ่างหรือกะละมังวางไว้ เพื่อให้ลูกค้าล้างมือดับกลิ่นคาว

ในคนที่มีอาการท้องเสีย ชาวจีนแนะนำให้ดื่มชาแก่ๆ ๑-๒ ถ้วย เพื่อชะล้างเชื้อโรคและสิ่งสกปรกที่อยู่ในกระเพาะอาหารและลำไส้ ให้ขับออกมาพร้อมอุจจาระ หลังจากนั้นอาการท้องเสียจะค่อยๆ ดีขึ้น ซึ่ง การศึกษาวิจัยในภายหลังพบว่าสารที่ มีคุณสมบัติดังกล่าวคือ สารแทนนิน (tannin) ที่มีอยู่ในใบชานั่นเอง แต่ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของชาแต่ ละชนิดด้วย ชาจีนจะมีฤทธิ์แรงกว่าชาฝรั่งถึงเท่าตัว เพราะในช่วงการหมัก ชาฝรั่ง (ชาดำ) สารสำคัญจะถูกทำลาย ไปมากกว่า เพราะฉะนั้น ถ้าจะใช้ชาบรรเทาอาการท้องเสีย ควรต้มใบชานานๆ เพื่อให้รสฝาดออกมามาก เพราะยิ่งฝาดยิ่งดี

อินเดียเป็นอีกชาติหนึ่งที่นิยมดื่มชาไม่น้อยกว่าจีน และมีความเชื่อ เกี่ยวกับสรรพคุณของชาในทำนองเดียวกัน คือเชื่อว่าชามีสรรพคุณในการล้างกระเพาะอาหาร ช่วยย่อยธาตุ บางชนิด ที่เป็นสาเหตุของโรคเกาต์ และนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
การดื่มชาของคนอินเดียมักนิยมใส่เครื่องเทศอย่างกระวาน การบูร ขิง หรือน้ำมันพิมเสนลงไปด้วย เพราะนอกจากจะทำให้มีกลิ่นหอม และมีรสชาติแปลกออกไปแล้ว เชื่อกันว่าชาผสมเครื่องเทศมีสรรพคุณรักษาอาการจุกเสียด แน่นท้อง และระงับอาการปวดศีรษะได้ด้วย

กล่าวกันว่าเมื่อเริ่มแรกที่รู้จักชานั้น ชาวยุโรปไม่นิยมดื่มชาเท่าใดนักจนต้นศตวรรษที่ ๑๗ จึงเริ่มมีการดื่มชากันมากขึ้น โดยเฉพาะชาวดัตช์ ที่ดื่มชาในแง่ที่สนใจว่าชาเป็นสมุนไพรมากกว่าเรื่องของกลิ่นและรส จึง ได้ทำการวิจัยทางเคมีเกี่ยวกับชาอยู่หลายชิ้น ซึ่งการศึกษาดังกล่าวสามารถอธิบายสรรพคุณในการรักษาโรคได้อย่างชัดเจน จนทำให้ความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของชาเริ่มเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง

ชาเขียวดีกว่าชาชนิดอื่นอย่างไร
มีการศึกษาเบื้องต้น พบว่ามีสารสำคัญตัวหนึ่งในชาที่สามารถป้องกันมะเร็งได้สารกลุ่มนั้น เรียกว่า โพลีฟีนอลส์ (polyphenols) ซึ่งเป็นฟลาโวนอยด์ชนิดหนึ่ง (ฟลาโวนอยด์เป็นสารประกอบทางเคมีที่พบมากในผักและผลไม้ มีสรรพคุณเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ดี ซึ่งเชื่อกันว่าช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งบางชนิดได้) และในบรรดาชาทั้ง ๓   ประเภท ชาเขียวมีสารโพลีฟีนอลส์มากที่สุด เพราะชาเขียวไม่ผ่านการหมัก สารสำคัญที่มีประโยชน์จึงมีอยู่ครบถ้วน
สารเคมีตัวหนึ่งในกลุ่มโพลีฟีนอลส์ที่ถูกกล่าวถึงมาก คือ epigallo- catechin-3-gallate เรียกย่อๆ ว่าEGCG หรือคาเทชินส์ (catechins) ซึ่งสารตัวนี้จะถูกสกัดหรือละลายออก มากับความร้อนขณะที่ชงชา และจากงานวิจัยต่างๆ เกี่ยวกับชาเขียวที่ มีมานานกว่า ๒๐ ปี มีข้อมูลที่อาจเชื่อได้ว่า การดื่มชาเขียวเป็นประจำ จะมีผลดีต่อสุขภาพ เช่น

ป้องกันการเป็นมะเร็ง ต้องเน้นว่าช่วยป้องกันไม่ใช่รักษา คาเทชินส์มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่ดีมาก เชื่อว่าดีกว่าวิตามินอีถึง ๒๐ เท่า จึงช่วยป้องกันเซลล์ไม่ให้ได้รับอันตราย ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดโรคร้ายอื่นๆ อย่าง มะเร็ง โรคหัวใจ เบาหวาน และความแก่ (ก่อนวัย) สารปฏิชีวนะในชาเขียว มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียในปาก และช่วยลดอัตราการเกิดฟันผุได้ จึงนิยม ดื่มชาหลังอาหารเพื่อให้ปากสะอาดสดชื่น

นอกจากนี้ชาเขียวยังช่วยลดการอักเสบของผิวหนังและการเกิดสิวได้ด้วย ดังที่เราเคยทราบกันดีว่าชามีฤทธิ์ฝาดสมาน ช่วยให้แผลหายเร็ว ทำให้เลือดหยุดไหล ใช้ล้างแผลสด แก้กลิ่นอับ ช่วยบำรุงผิว ฯลฯ ปัจจุบันจึงมีบริษัทเครื่องสำอางหลาย ยี่ห้อออกผลิตภัณฑ์ประทินผิวที่ผสมชาเขียวมาจำหน่าย (โดยอาศัยกระแสความนิยมขายสินค้า)

สรรพคุณของชาเขียวอีกประการหนึ่ง ซึ่งได้รับการเผยแพร่ในวารสาร American Journal of Clinical Nutrition คือช่วยลดน้ำหนัก โดยคาเทชินส์ในชาเขียว ทำให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานได้มากขึ้นจึงทำให้น้ำหนักตัวลดลง โดยไม่มีผลกระทบต่ออัตราการเต้นของหัวใจ

อย่างไรก็ตาม แม้ชาเขียวจะปลอดภัยกว่าสมุนไพรชนิดอื่นๆ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าการกินสมุนไพรตัวใดตัวหนึ่งนานๆ ก็เหมือนกับการกินยาที่อาจมีผลข้างเคียงได้ และการออกกำลังกายเป็นประจำก็ยังเป็นที่ต้องปฏิบัติ เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง (และรูปร่างที่สมส่วน)

ในประเทศจีนตอนนี้มีการแยกสารโพลีฟีนอลส์จากใบชา นำไปผลิตเป็นยารักษาโรคไตอักเสบ ตับอักเสบเรื้อรัง และมะเร็งเม็ดเลือด ขาวแล้ว ขณะที่ญี่ปุ่นก็มีรายงานว่าแพทย์กำลังทดลองแยกสารขมออกจากชา เพื่อนำมาใช้รักษาโรค

ดื่มชาเขียวปริมาณเท่าใด จึงได้ประโยชน์
จะต้องดื่มชาเขียววันละกี่ถ้วยจึงจะมีผลในการป้องกันโรค เรื่องนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน บ้างก็ว่าวันละ ๓-๔ ถ้วย บ้างก็ว่า ๑๐ ถ้วยจึงจะเห็นผล โดยทั่วไปสำหรับผู้ที่จะดื่มชาเขียวเพื่อเสริมสุขภาพ ก็คือวันละ ๓ ถ้วย เป็นอย่างน้อย
ชาเขียวมีกาเฟอีนต่อถ้วยน้อยกว่ากว่ากาแฟประมาณ ๒-๓ เท่าตัวซึ่งคงจะเคยทราบกันมาบ้างที่แพทย์ ส่วนใหญ่แนะนำว่าหากดื่มกาแฟวันละไม่เกิน ๒๐๐ มิลลิกรัม จะไม่มีผล เสีย ตรงข้ามกลับจะทำให้ร่างกายตื่นตัว ตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้เร็วขึ้นและในชาเขียว ๕ ออนซ์ ก็มีปริมาณกาเฟอีนอยู่ ๑๕ มิลลิกรัมเท่านั้นเอง

ข้อควรระวังในการดื่มชา
ถึงแม้ว่าชาเขียวจะมีประโยชน์ แต่ชาที่เข้มข้นก็อาจจะไม่เหมาะกับคนบางคน เช่น
๑. ผู้ป่วยโรคไทรอยด์ ซึ่งจะมี อาการกระสับกระส่าย ใจเต้นเร็ว มือสั่นอยู่แล้ว ดังนั้น การดื่มชาคงไม่ได้ผลดีนัก
๒. คุณแม่ตั้งครรภ์ ยิ่งควรงดเพราะการดื่มชาจะส่งผลกระทบถึงลูกในท้องได้
๓. ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ ควรงดดื่มชา เพราะกาเฟอีนจะทำให้หัวใจทำงานไม่ปกติ คือเต้นเร็วขึ้น (ถ้าหากชอบดื่มชาก็อาจเลือกชาชนิดที่สกัดกาเฟอีนออกแล้วก็ได้)
๔. คนที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร อักเสบ ควรเลี่ยงการดื่มชา เพราะ ว่าชาจะกระตุ้นให้ผนังกระเพาะอาหาร หลั่งน้ำย่อย ซึ่งมีสภาวะเป็นกรดออก มามากกว่าปกติ ทำให้อาการอักเสบยิ่งรุนแรงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร แต่ เลิกดื่มชาไม่ได้ การเติมนมก็มีประโยชน์ เพราะนมจะยับยั้งแทนนินไม่ให้ออกฤทธิ์กระตุ้นน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร

ไม่ควรดื่มชาแทนอาหารเช้า การเติมนมสดหรือน้ำตาลอาจเพิ่มคุณค่าได้บ้าง แต่ควรกินอาหารที่มีประโยชน์ชนิดอื่นร่วมด้วย
การดื่มชาเข้มข้นในปริมาณ มากๆ จะทำให้เกิดอาการท้องผูก และ นอนไม่หลับได้
ไม่ควรดื่มชาที่ร้อนจัดมากๆเพราะจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อทางเดินอาหาร ระคายเคืองต่อ เซลล์ ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นมะเร็งได้สูง

ในกรณีที่ดื่มชาเพื่อต้องการเสริมสุขภาพและป้องกันมะเร็ง การเติมนมในชาจะไม่ได้ผล เพราะฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระเกิดจากสารแทนนินแต่นมจะจับสารแทนนินไม่ให้ออกฤทธิ์
ถึงตรงนี้เราคงได้ความรู้เกี่ยวกับชา (เขียว) กันพอสมควร ทั้งแง่บวกและแง่ลบ ซึ่งจะเป็นทางเลือกหนึ่งในการบริโภคอาหารในชีวิตประจำวัน ความจริงความรู้ในด้านโภชนาการยังคงมีให้เราได้ทำความรู้จักและเรียนรู้อีกมากมาย และต้องไม่ลืมว่าอาหารทุกชนิดมีประโยชน์ เมื่อกินในปริมาณที่พอเหมาะ และไม่ควรกินอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งซ้ำ ซากมากเกินไป แต่ควรกินให้หลากหลายชนิด เพื่อร่างกายจะได้รับวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ อย่างครบถ้วน

ชาเขียวในความเห็นของนักวิชาการ
ผศ.ดร.วลัยทิพย์ สาชลวิจารณ์ ภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
"ชาเขียวเป็นชาชั้นดีของญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นดื่มกันมานานแล้ว ส่วนที่มีประโยชน์ของชาเขียวคือ คลอโรฟีลล์ ซึ่งคลอโรฟีลล์นี้เป็นสารตั้งต้นที่ร่างกายจะเอาไปสร้างเป็นสารชีวเคมีอื่นๆ อีกมากมายกว่า ๖๐๐-๗๐๐ ชนิด จากตัวนี้ตัวเดียวมันก็สร้างตัวอื่นๆ เรื่อยไป แต่ที่นี้ไม่ใช่ว่าพอมีแล้ว ร่างกายจะเอาไปใช้ได้นะ ขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละคนอีกเหมือนกัน อย่างฟีนอลส์ก็เป็นสารตั้งต้นของสารอื่นๆ สารตั้งต้นหมายถึงร่างกายเอาไปสร้างอย่างอื่นได้อีกเยอะ เหมือน เรามีเงิน เราอยากได้อะไร ก็เอาเงินนั้นไปซื้อของที่เราต้องการ

ความจริงสรรพคุณของชาเรารู้จักกันมานานแล้ว แม้แต่ญี่ปุ่นเองก็รับเอาวัฒนธรรมนี้มาจากจีน ในเมืองไทยปีสองปีมานี่คนสนใจเรื่องชาเขียวกันมาก เพราะสรรพคุณที่นำมาโฆษณาว่ารักษาโรคร้ายต่างๆ ได้สารพัด ซึ่งถ้าเป็น ชาเขียวแท้ๆ นี่มีส่วนนะ อย่างถ้าเป็นชาเขียว สีและกลิ่นหรือรสชาติต้องบอกแล้วว่าใช่ อย่างไอศกรีมชาเขียว สีนี่จะเขียวเพราะเขาใส่เยอะ คือรสชาติจะบอก เลย ไม่ใส่สีอย่างบ้านเรา หรือบอกว่าชาเขียวแต่สีไม่ใช่

คนที่เป็นโรคกระดูกพรุนจะดื่มได้ไหม? เรื่องนี้ยังไม่มีคำตอบชัดเจน แต่ที่ ทราบคือชาเขียวมีกาเฟอีนน้อยมาก จากงานวิจัยพบว่า กาเฟอีนที่จะขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมได้นั้นจะต้องมีปริมาณกาเฟอีนตั้งแต่ ๑๕๐ มิลลิกรัมขึ้นไป ถ้าเป็นกาแฟก็ประมาณ ๓ แก้ว แต่ชาเขียวมีไม่ถึง กาเฟอีนในชาแก่ๆ จะเยอะ กว่ากาแฟ แต่ว่าชาแก่ๆ เราไม่ค่อยดื่มกันใช่ไหมคะ เราดื่มมากไม่ได้ เพราะท้องผูก
มีงานศึกษาวิจัยของนักศึกษาปริญญาโทของภาควิชาที่เขาทำ พบว่าชาเข้มข้นและจำนวนมากจะขัดขวางการดูดซึมของแร่เหล็ก แต่ว่าปริมาณที่ดื่มต้อง เยอะมาก มีความเข้มข้นมาก
ถึงแม้ว่าชาจะมีประโยชน์ แต่ถ้าไม่มีความมุ่งหมายในเชิงพาณิชย์ มันก็เหมือนอาหารอื่นๆ ที่มีประโยชน์ในตัวมันเองŽ

ดร.วรรณี คูสำราญ  นักวิจัยเกี่ยวกับพืชและสมุนไพร สถาบันมะเร็งแห่งชาติ
"ที่เราไม่ทำวิจัยชาเขียว เพราะต่างประเทศทำกันเยอะ เขาทำไปถึงขั้นทางระบาดวิทยาว่าสามารถป้องกันมะเร็งบางชนิดได้ โดยเฉพาะมะเร็งปอด มะเร็ง กระเพาะอาหาร มะเร็งตับ มะเร็งหลอดอาหาร ก็ทดลองกันจนค่อนข้างจะยืน ยันได้ว่า ในสัตว์ทดลองก็ป้องกันได้ ในคน ระบาดวิทยาก็ค่อนข้างจะมีผล ซึ่งนอกจากโรคมะเร็งแล้ว ก็โรคหัวใจ คือความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจลดน้อย ลง อายุยืนขึ้น นี่เป็นการวิจัยทางระบาดวิทยาของประเทศญี่ปุ่น
การศึกษาเขาทำกันมากและค่อนข้างชัดเจน ซึ่งเราไม่สามารถทำได้ แต่ต้อง ดื่มเยอะ คือวันละ ๑๐ แก้ว จึงจะเป็นการป้องกันมะเร็งที่เห็นผลชัดเจน แต่คนไทยส่วนใหญ่จะดื่มน้อยอยู่แล้ว เพราะเราอยู่เมืองร้อน นอกจากคนบางกลุ่มเท่านั้นที่ชอบจริงๆ ถึงจะดื่มได้ ๑๐ แก้วต่อวัน"

ตำนานการดื่มชา
ตำนานเล่าขานเรื่องการดื่มชาของชาวจีนนั้น บอกว่าชาจีนถูกค้น พบอย่างบังเอิญ โดยจักรพรรดิ เฉินหนุง โดยมีใบชาตกลงมาในหม้อน้ำเดือด เมื่อทรงจิบดื่มปรากฏว่าน้ำนั้นมีรสดี จึงเผยแพร่ออก ไปสู่ราษฎรทั่วไป
บางตำราบอกว่า ต้นกำเนิด ชามาจากการเกิดอหิวาตกโรคขึ้นที่ตำบลหนึ่งของประเทศจีน เกี้ยอุยซินแสพบว่า สาเหตุใหญ่ของการเกิดโรคมาจากการที่คนดื่มน้ำสกปรก   จึงแนะนำให้ชาวจีนต้มน้ำดื่ม และเพื่อให้ชาวบ้านเชื่อ จึงได้ไปเสาะหาใบไม้มาอังไฟให้หอม เพื่อใส่ลงไปในน้ำต้ม ปรากฏว่าใบไม้นั้นกลิ่นหอมมากเป็นพิเศษ มีรสฝาดเล็กน้อย และแก้อาการท้องร่วงได้บ้าง ต่อมาจึงทราบว่าใบไม้นั้นก็คือใบชานั่นเอง
บุคคลที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้รู้เรื่องชามากที่สุด คือพระจีนที่ชื่อ ลูยู้ ซึ่งเป็นผู้เขียนตำราเกี่ยวกับชาชื่อว่า "ชาชิง" (Cha Ching) เมื่อราวปี พ.ศ. ๑๓๒๓ หรือกว่า ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว และถือกันว่าเป็นตำราว่าด้วยชาเล่มแรกของโลก ที่กล่าวถึงชาไว้อย่างละเอียดทุกแง่ทุกมุม
ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ การดื่มชาจึงได้แพร่หลายไปสู่ประเทศทางตะวันตก และประเทศต่างๆทั่วโลก จนเป็นเครื่องดื่มยอดนิยม (รองจากกาแฟ) มาถึงทุกวันนี้ กล่าวได้ว่าชาเป็นเครื่องดื่มอมตะของจีนที่มีประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่อย่างที่หลายคนคาดไม่ถึง โดยเกี่ยวพันกับเศรษฐกิจการเมืองของประเทศมหาอำนาจของโลกหลายครั้ง เช่น เป็นชนวนให้เกิดสงครามฝิ่นระหว่างอังกฤษกับจีน หรือสงครามอิสรภาพระหว่างอังกฤษกับอเมริกาในเวลาไล่เลี่ยกันในช่วงปลายศตวรรษที่ ๑๘

วัฒนธรรมการดื่มชา มีมาแต่โบราณ
แม้ชาเขียวจะเพิ่งมาโด่งดังในบ้านเราเมื่อไม่กี่ปีนี้ก็ตาม แต่วัฒนธรรมการดื่มชามีมานานนับเป็นพันปีแล้ว โดยจีนเป็นชนชาติแรกที่รู้จักการดื่มชา ผลิตชา และทำไร่ชามาก่อนชาติอื่นใดมากกว่า ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว
คงเพราะชาเกี่ยวข้องกับมนุษย์มานาน จึงมีตำนานเล่าขานมากมายเกี่ยวกับชาและประเทศต่างๆ ในเวลาต่อๆ มา
การดื่มชาของคนในเอเชียถือเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง เพราะการคัดเลือกการผลิต การชิม และวัฒนธรรมที่เกิดจากการดื่มชานั้น ซับซ้อนไม่น้อยไปกว่าการดื่มไวน์ของคนชาติตะวันตกเลย ในวัฒนธรรมชาของคนจีน ชาเป็นสัญลักษณ์ของมิตรไมตรี และการต้อนรับด้วยความยินดีเมื่อมีแขกมาเยือนถึงบ้าน ด้วยชาร้อนหนึ่งถ้วย ซึ่งถือเป็นมิตรไมตรีอันอบอุ่นจากเจ้าของบ้านที่จะขาดเสียมิได้ ในอดีตเรามีร้านอาหารและร้านค้ามากมายที่แสดงไมตรีต่อลูกค้าโดยการเสิร์ฟชาให้ดื่ม แต่ปัจจุบันธรรมเนียมปฏิบัติเหล่านี้ แทบจะหาดูได้ยาก
นอกจากชาวจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี ซึ่งดื่มชาต่างน้ำแล้ว ประเทศทางตะวันออกกลางอย่าง ตุรกี อิรัก อียิปต์ ซีเรีย จอร์แดน ฯลฯ ก็ดื่มชากันมากเหมือนกัน ส่วนทางตะวันตกประเทศที่นิยมดื่มชากันมากที่สุดคือ อังกฤษและไอร์แลนด์ ขณะที่ชาวอเมริกันและฝรั่งเศสดื่มชาน้อยมาก แต่ดื่มกาแฟเป็นหลัก

งานศึกษาวิจัยเบื้องต้น
ได้มีการศึกษาวิจัยเบื้องต้นเกี่ยวกับชาออกมาไม่น้อย โดยเฉพาะคณะวิจัยชาวญี่ปุ่นที่ได้ค้นคว้าพบว่าสารให้รสขมที่มีอยู่ในชาเขียว อาจสามารถป้องกันการเกิดโรคมะเร็งและมะเร็งเม็ดเลือดขาว (ลิวคีเมีย) ได้
อาจสงสัยกันว่าการดื่มชาต่างน้ำของชาวจีนนั้น จะทำให้ร่างกายได้รับสารกาเฟอีนเป็นจำนวนมากหรือไม่ คำตอบคือ ปริมาณของกาเฟอีน จะมากหรือน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับชนิดของชา กระบวนการผลิต และการชงชาเป็นสำคัญ คนจีนนั้นนิยมดื่มชาจีน ดังนั้น เวลาชงชา กาเฟอีนจะแตก ตัวและละลายในน้ำชาน้อยกว่าชาดำหรือชาฝรั่งประมาณร้อยละ ๓๐-๔๐
ชาจีน (คือชาเขียวและชาอูหลง) นอกจากจะมีสารกาเฟอีนในปริมาณที่ต่ำแล้ว ก็ยังมีสารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายอีกมากมาย อาทิ กรดแทน-นิน ฟลูออไรด์ วิตามินเอ วิตามินบี ๑ วิตามินบี ๒ โปรตีน และแร่ธาตุต่างๆ อีกหลายชนิดที่ทำให้ร่างกายสดชื่น และเชื่อว่าน่าจะช่วยลดความเครียด ช่วยลดความดันเลือด ป้องกันหลอดเลือดตีบตัน ทำให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น ช่วยละลายไขมันและลดโคเลสเตอรอล ช่วยขับปัส-สาวะ ช่วยขยายหลอดลม ช่วยต้านอนุมูลอิสระ และโรคที่เกิดจากความเสื่อมในวัยชรา (ซึ่งมีสาเหตุจากอนุมูลอิสระ)
นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ชาวอินเดียยังค้นพบว่า สารแทนนินในชามีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และสามารถช่วยควบคุมไวรัสโรคหวัด มิให้เติบโต รวดเร็ว รวมทั้งยังช่วยยับยั้งเชื้อไวรัสที่ก่อโรคเริมด้วย ดังจะเห็นได้ชัดว่า การดื่มชาบ่อยๆ ขณะเป็นหวัด จะช่วยให้หายจากโรคได้เร็วขึ้น

วิธีชงชาให้ได้รสชาติ
การชงชาจีน
ขั้นตอนแรกคือการอุ่นภาชนะที่จะชงชา ไม่ว่าจะเป็นถ้วยหรือกาน้ำชา ด้วยการเทน้ำร้อนลงไปกลั้วในภาชนะให้ทั่ว แล้วเทน้ำนั้นทิ้งไป
จากนั้นนำใบชาใส่ลงไปในภาชนะ ประมาณ ๑ ช้อนชาต่อ ๑ ถ้วย แต่ ถ้าชงเป็นกา ก็เพิ่มปริมาณใบชาเป็น ๒-๓ ช้อนชา หรือตามความชอบ แล้ว เทน้ำร้อนลงไปให้ท่วมเพื่ออุ่นใบชา และเป็นการล้างฝุ่นผง และทำให้ใบชาคลี่ใบเสียก่อนแล้วเทน้ำทิ้งไป
เทน้ำร้อนลงในกาน้ำชาตามปริมาณที่ต้องการ แล้วปล่อยทิ้งไว้ ๓-๕ นาที หรือขึ้นอยู่กับความต้องการ ว่าชอบความเข้มของชามากน้อยเท่าใด จากนั้นเอาใบชาออกแล้วรินน้ำชาดื่ม (ก่อนรินใช้ช้อนคนน้ำชาในกาก่อน)
การชงชาฝรั่ง
วิธีการก็เหมือนกับการชงชาจีน แต่การชงชาฝรั่งไม่ต้องทิ้งน้ำ (ชา) ร้อน กาแรก เพราะชาฝรั่งส่วนใหญ่เป็นชาสับหรือเศษชา สารชาจึงละลายตัวได้เร็วกว่าชาจีน ซึ่งเป็นใบชา ความแตกต่างของการชงชาฝรั่งที่ควรทราบคือการชงชาฝรั่งนั้นต้องชงด้วยน้ำที่เดือดจัด ซึ่งจะทำให้ได้รสและกลิ่นของชาอย่างเต็มที่
นอกจากวิธีชงชาแล้ว ชนิดของน้ำที่ใช้ก็มีส่วนสำคัญ
น้ำที่นำมาชงชา ควรเป็นน้ำสด สะอาด ไร้ กลิ่น และเป็นน้ำอ่อน (ที่ไม่ใช่น้ำกระด้าง) คือ ควรใช้น้ำเย็นมาต้ม จะให้รสดีกว่าน้ำร้อนจาก กระติกที่ต้มไว้นานจนกลายเป็นน้ำตาย (เพราะเสียออกซิเจนไปมากแล้ว) บางคนก็แนะนำว่าไม่ควรใช้น้ำแร่มาชงชา เพราะ แร่ในน้ำจะทำปฏิกิริยากับชาจนเสียรส

 
 

ข้อมูลสื่อ

279-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 279
กรกฎาคม 2545
กองบรรณาธิการ