• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กฎแห่งครึ่งหนึ่งของโรคความดันเลือดสูง

เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ผมพานักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ ๓ กลุ่มหนึ่งไปฝึกงานในหมู่บ้านของตำบลเต่าเล่า อำเภอบางซ้าย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
นักศึกษากลุ่มนี้ได้ลองทำการสำรวจโรคความดันเลือดสูง โดยตรวจวัดความดันเลือดของประชาชนตามบ้านต่างๆ ในวันเดียวตรวจพบผู้ที่เป็นความดันเลือดสูง (มีค่าความดันตัวบนตั้งแต่ ๑๔๐ มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป หรือความดันตัวล่างตั้งแต่ ๙๐ มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป) ๒๘ คน จากจำนวน ๕๕ คนที่ทำการตรวจวัด
พบว่ากลุ่มคนสูงอายุ จะมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่ากลุ่มคนอายุน้อย และกลุ่มคนที่มีกรรมพันธุ์เป็นความดันสูงจะเป็นโรคนี้มากกว่ากลุ่มที่ไม่มีประวัติทางกรรมพันธุ์ การค้น

พบนี้เป็นไปตามทฤษฎีที่นักศึกษาได้เรียนมา แต่เมื่อได้มาลองพิสูจน์ด้วยตัวเองก็มีความเข้าใจซาบซึ้งยิ่งขึ้น
ที่ตรงกับการศึกษาวิจัยที่เคยทำกันมาก่อน ก็คือผู้ที่เป็นโรคนี้มีเพียงส่วนน้อย (๕ คนจาก ๒๘ คน) ที่มีความรู้สึกว่าตัวเองมีอาการปวดศีรษะหรือเหนื่อยง่าย
มีเพียงประมาณครึ่งหนึ่ง (๑๕ คน จาก ๒๘ คน) ที่มีการติดตามรักษากับแพทย์และกินยาอย่างสม่ำเสมอ
มีเพียงส่วนน้อย (๕ คน จาก ๒๘ คน) อีกเช่นกันที่สามารถควบคุมระดับความดันเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าโรคนี้ไม่มีอาการแสดง เมื่อรู้สึกสุขสบายดี ก็มักจะคิดว่าโรคความดัน "หายแล้ว" บางคนจึงไม่ยอมไปหาหมอตามนัด หรือไม่ยอมกินยาที่หมอให้มา และบางคนไม่ยอมปฏิบัติตามคำแนะนำของหมอ (เช่น อย่ากินเค็ม อย่าสูบบุหรี่ อย่าดื่มเหล้า)

นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ป่วยเกือบทั้งหมดไม่ทราบว่าค่าความดันปกติควรเป็นเท่าใด แม้กระทั่งค่าความดันที่หมอทำการตรวจวัดให้ก็จำไม่ได้
ด้วยเหตุผลต่างๆ เหล่านี้ จึงทำให้ผู้ป่วยส่วนมากควบคุมระดับความดันเลือดไม่ได้ และเมื่อปล่อยไว้นานปีเข้าก็มักจะเกิดโรคแทรกซ้อนตามมา เช่น อัมพาต โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหัวใจวาย ไตวาย เป็นต้น

ในวงการแพทย์ทั่วโลก มีการกล่าวถึง "กฎแห่งครึ่งหนึ่ง (rule of half)" ของการดูแลรักษาโรคความดันเลือดสูงในชุมชน กล่าวคือ สำหรับประเทศที่ยังด้อยพัฒนา ถ้ามีการสำรวจประชาชนทั้งหมดในชุมชน กลุ่มที่ตรวจพบว่ามีค่าความดันเลือดสูง จะมีเพียงไม่ถึงครึ่งหนึ่งของคนเหล่านี้ ที่เคยทราบว่าตัวเองเป็นโรคนี้ (จากการตรวจรักษาของหมอมาก่อน) อีกนัยหนึ่งก็คือ มากกว่าครึ่งหนึ่งจะไม่เคยทราบว่าตัวเองเป็นโรคความดันสูง เนื่องเพราะไม่มีอาการแสดง และไม่เคยได้รับการตรวจวัดมาก่อน
สำหรับกลุ่มคนที่เคยทราบว่าเป็นโรคความดันสูงมาก่อน ก็มีไม่ถึงครึ่งหนึ่งที่ติดตามรักษากับแพทย์อย่างสม่ำเสมอตลอดมาตามที่หมอนัด โดยไม่เข้าใจว่าโรคนี้ถึงแม้ไม่มีอาการ ก็จำเป็นต้องรักษากับหมอไปจนตลอดชีวิต เนื่องเพราะเป็นโรคที่ไม่แสดงอาการ เปรียบเสมือน "นักฆ่าเงียบ (silent killer)" จะรู้ว่าความดันเป็นอย่างไรต้องคอยตรวจวัด และจำเป็นต้องกินยาลดความดันควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ปกติตลอดเวลา

สำหรับกลุ่มคนที่ติดตามรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง ก็มีไม่ถึงครึ่งหนึ่งที่สามารถดูแลรักษาจนสามารถควบคุมความดันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติและปลอดภัย
โดยรวมจะพบว่าใน ๘ คน ที่ตรวจพบว่าเป็นความดันสูงมีไม่ถึง ๑ คนที่สามารถดูแลอย่างจริงจัง จนความดันเป็นปกติ ซึ่งการศึกษาวิจัยหลายคณะในบ้านเรา ก็ยืนยันว่าเป็นไปตามนี้จริง

ในบ้านเราคาดว่า มีผู้ที่เป็นความดันสูงอยู่ในราว ๖ ล้านคน ถ้าคิดตาม "กฎแห่งครึ่งหนึ่ง" ดังกล่าวจะมีคนไม่ถึง ๑ คือในราว ๗๕๐,๐๐๐ คน ที่สามารถดูแลรักษาจนความดันเป็นปกติ และมีมากกว่า ๕,๒๕๐,๐๐๐ คน ที่เป็นโรคความดันสูงที่ควบคุมค่าความดันไม่ได้
คนจำนวนมากเหล่านี้ จะกลายเป็นโรคแทรกซ้อนตามมาในระยะยาว จนกลายเป็นภาระของครอบครัวและสังคม

"กฎแห่งครึ่งหนึ่ง" นี้เป็นผลมาจากเหตุปัจจัย ๒ ประการ
ประการแรก เกิดจากธรรมชาติของโรคความดันเลือดสูงที่มีลักษณะไม่แสดงอาการ (นักฆ่าเงียบ) เมื่อเป็นแล้วต้องอาศัยการดูแลรักษาอย่างจริงจังและต่อเนื่องตลอดชีวิต ธรรมชาติของโรคนี้จึงยากที่ประชาชนจะเข้าใจได้
ประการที่สอง เป็นเพราะระบบบริการสาธารณสุขของเรายังขาดประสิทธิภาพและการกระจายตัว ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงบริการ และขาดความตระหนักรู้ในโรคนี้อย่างถ่องแท้
ความจริงโรคนี้มีวิธีการวินิจฉัยและการรักษาที่ง่ายๆ เพียงแต่ผู้ป่วยและญาติจะต้องมีความตระหนักรู้ หาหนทางติดตามการรักษากับหมออย่างต่อเนื่อง และรู้จักปฏิบัติตัวที่ถูกต้องควบคู่กันไป

หากท่านหรือญาติป่วยเป็นโรคความดันเลือดสูง ขอแนะนำให้หาหนังสืออ่าน หรือสอบถามหมอให้รู้เรื่อง และหมั่นติดตามรักษาที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน (เช่น คลินิกแพทย์ ศูนย์บริการสาธารณสุข สถานีอนามัย ศูนย์สุขภาพชุมชน) อย่างจริงจัง
เชื่อว่า หากผู้ป่วยมีความตื่นตัวในเรื่องนี้กันทั่วหน้า สักวันหนึ่งเราจะสามารถแหก "กฎแห่งครึ่งหนึ่ง" ออกไปได้

ข้อมูลสื่อ

311-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 311
มีนาคม 2548
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ