• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กินอย่างไร ช่วยลดสัดส่วนให้สมวัย

ในคนที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานหรือที่เรียกว่าอ้วนนั้น มักมีความต้องการที่จะลดน้ำหนักให้น้อยลง วิธีการที่ใช้กันมากที่สุดก็คือการลดหรือจำกัดอาหารร่วมกับการออกกำลังกาย

สำหรับผู้ใหญ่ที่อ้วน ก็คงสามารถจะจำกัดอาหารได้ตามถนัด แต่ ในเด็กที่อ้วนการจำกัดอาหารเป็นวิธีที่ต้องทำด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากร่างกายและสมองของเด็กนั้นกำลังเจริญเติบโต การจำกัดอาหาร อย่างไม่ถูกวิธีอาจจะทำให้เกิดผลกระทบต่อการพัฒนาระบบต่างๆ ของเด็กได้

สารอาหารสำคัญที่สุดต่อการเจริญเติบโตของเด็ก

สำหรับเด็กทั่วไปสิ่งที่สำคัญที่สุดในการกินอาหารที่จะต้องปฏิบัติเป็นประจำคือการกินอาหารให้ได้สารอาหารครบ ๕ หมู่ ได้แก่
หมู่ที่ ๑ โปรตีน ได้จากอาหารประเภท เนื้อสัตว์ต่างๆ ไข่ นม และถั่ว อาหารประเภทนี้ช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโตและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ
หมู่ที่ ๒ คาร์โบไฮเดรต ได้จากอาหารประเภท ข้าว แป้ง เผือก มัน และน้ำตาล อาหารประเภทนี้ให้พลังงานแก่ร่างกาย
หมู่ที่ ๓ พืชผักต่างๆ ให้สารอาหารประเภทวิตามิน แร่ธาตุ และใยอาหาร ช่วยเสริมสร้างการทำงาน ของร่างกาย และช่วยในการขับถ่าย
หมู่ที่ ๔ ผลไม้ต่างๆ ให้สารอาหารประเภทวิตามิน แร่ธาตุ และใยอาหาร รวมทั้งให้พลังงานเพราะในผลไม้มีน้ำตาล
หมู่ที่ ๕ ไขมัน ทั้งจากสัตว์และพืช ให้พลังงานและกรดไขมันที่จำเป็นแก่ร่างกาย

สารอาหารเหล่านี้ช่วยให้เด็กเจริญเติบโตได้สมวัย ถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่งสิ่งที่จะตามมาคือความบกพร่อง ของร่างกายและสติปัญญา เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ดังนั้นในทุกมื้ออาหารผู้ปกครองควรจะดูแลให้เด็กๆ กินอาหารครบถ้วน พอเพียง และหลากหลาย

การจำกัดอาหารในเด็กเล็ก
หากว่าเป็นเด็กเล็กที่มีความอ้วนมากเกินไป จนเกิด โรคแทรกซ้อน เช่น หายใจลำบาก กระดูกพิการ เป็นต้น มีความจำเป็นที่จะต้องลดน้ำหนัก การจะลดอาหารจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากเด็กในช่วงอายุ ๒ ขวบ เป็นช่วงสำคัญที่สมองกำลังเจริญเติบโต
รศ.พญ.อุมาพร สุทัศน์วรวุฒิ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้คำแนะนำว่า

"ในกรณีที่เป็นเด็กอายุน้อยกว่า ๒ ขวบ และเพิ่งเริ่มอ้วนหรืออ้วนเพียงเล็กน้อย เราแนะนำว่าให้กินอาหารเท่าเด็กปกติ คือเด็กที่อ้วนมักกินอาหารมากกว่าธรรมดา เมื่อเราให้เขากลับมากินอาหารเท่าเด็กปกติ แล้วเขาสูงขึ้น ซึ่งเด็กช่วง ๒ ขวบปีแรกจะสูงได้ค่อนข้างเร็ว จะทำให้ความอ้วนของเขาลดลง
ยกเว้นในกรณีที่อ้วนมากจนเกิดผลแทรกซ้อน เช่น หายใจลำบาก ขาดออกซิเจน อย่างนี้เราจะต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาลและดูแลอย่างใกล้ชิด ต้องจำกัดอาหารที่ให้พลังงานสูง เช่น แป้ง น้ำตาล น้ำมัน กะทิ เนย เพื่อให้เด็กที่อ้วนมากจนมีโรคแทรกได้รับพลังงานจากอาหารน้อยกว่าเด็กปกติที่สูงเท่ากัน แต่ไม่น้อยเกินไปจนเกิดอันตราย"Ž

คุณหมอเน้นย้ำว่าเด็กที่อ้วนตั้งแต่เล็กๆ จะต้องอยู่ ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

"ในกรณีเด็กเล็ก การจำกัดอาหารเองอาจจะไม่ปลอดภัย ที่ว่าไม่ปลอดภัยก็คือมีผลเสียต่อการเติบโตและสมอง ในช่วงอายุ ๒-๔ ขวบเซลล์สมองของเด็กมีโอกาสเติบโตได้อีก ดังนั้นจึงควรระวังไม่ให้เด็กที่มีปัญหาเรื่องอ้วนเกิดการขาดสารอาหารจากการรักษา แต่ถ้าเผื่อว่าเขาต้องจำกัดอาหาร ก็จะต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กไม่ขาดโปรตีน ไม่ขาด วิตามิน ไม่ขาดแร่ธาตุ เช่น เหล็ก สังกะสี แคลเซียมหรือสารอาหารอื่นๆ ที่จะมีผลต่อสมองและการเจริญเติบโตของเด็ก ควรมีการดูแลที่มั่นใจว่าเด็กถูกจำกัดอาหารเฉพาะพลังงานแต่อย่างอื่นครบ อาจจะต้องมีการเสริมวิตามินรวมถ้าจำกัดอาหารมาก"Ž


ถ้าเป็นเด็กอายุมากขึ้น คือเด็กวัยรุ่นหรือเด็กโตแล้ว ถ้าเผื่ออ้วนเล็กน้อย ควรแนะนำให้เขากลับมากินอาหารเท่าเด็กปกติ เพื่อให้น้ำหนักไม่เพิ่มหรือเพิ่มช้าแต่สูงขึ้นตามวัย ทำให้รูปร่างได้สัดส่วน แต่ถ้าเป็นเด็กที่อ้วนปาน-กลางหรืออ้วนมาก ก็จะต้องให้อาหารที่มีพลังงานน้อยกว่าเด็กปกติ คุณหมอแนะนำต่อว่า

"ในกรณีที่เด็กอ้วนมีอายุมากกว่า ๒ ขวบ ควรจะให้ดื่มนมที่มีไขมันต่ำ หรือนมพร่องมันเนย เพราะนมพร่องมันเนยให้สารอาหารที่มีประโยชน์ไม่ต่างจากนมธรรมดา ยกเว้นไขมันต่ำ เหมาะสำหรับเด็กอ้วนที่เราต้องการจะจำกัดไขมันในอาหารอยู่แล้ว แต่ควรเป็นนมพร่องมันเนยที่มีรสจืดด้วย เพราะถ้าเป็นนมพร่องมันเนยที่มีรสหวานก็ให้พลังงานไม่น้อย

เพิ่มผัก...เพิ่มพลังลดความอ้วน
รายการอาหารที่จะเป็นพระเอกในการช่วยเหลือคนที่จะลดความอ้วนหนีไม่พ้นอาหารประเภทผัก แต่สำหรับเด็กๆ แล้ว ผักเป็นเหมือนยาขมที่เขาไม่ชอบกิน คุณหมออุมาพรกล่าวว่า

"เด็กอ้วนส่วนหนึ่งจะไม่กินผัก เพราะฉะนั้นจึงแนะนำให้เพิ่มผัก และควรแนะนำให้เอาผักมาทำอาหารที่ไขมันไม่มาก เช่น แกงจืด สลัดน้ำใส หรือผัดกับน้ำหรือน้ำมันเพียงเล็กน้อย เป็นต้น ไม่ใช่บอกให้กินผัก ก็ไปกินผัดผักเอาน้ำมันมาราดข้าว"Ž

ต่อไปนี้คือวิธีการประกอบอาหารแบบที่ง่ายและเหมาะสมสำหรับที่จะลดความอ้วน

ผัดผัก (ด้วยน้ำ)
เอาน้ำพอสมควรตั้งไฟให้เดือด แล้วใส่เนื้อไม่ติดมัน ลงไป เนื้อที่ไม่ติดมันนี้ก็ยังมีน้ำมัน อาจจะเคยสังเกตว่าเวลาเราเอาเนื้ออกไก่หรือว่าเนื้อหมูเนื้อสันในใส่ลงไปในน้ำจะมีมันออกมา เพราะว่าในเนื้อไม่ติดมันประมาณ ๒ ช้อนโต๊ะ จะมีน้ำมันประมาณ ๑ ช้อนชา ที่เรามองไม่เห็น เพราะฉะนั้นพอเราเอาเนื้อที่ไม่ติดมันใส่ลงไปในน้ำที่ร้อนจัด ใส่ผักสดลงไป ผัดจนสุก ปรุงรสพอสมควร อย่าให้หวาน ก็จะได้อาหารอร่อยแต่มีพลังงานต่ำ

นอกจากรายการนี้แล้วยังมีอาหารจานอื่นๆ ที่หลีกเลี่ยงไขมันได้ เช่น แกงจืด เกาเหลา ต้มจับฉ่าย สุกียากี้ สลัดน้ำใส ยำ รายการเหล่านี้ทุกจานเน้นผัก
คุณหมอกล่าวว่า ในอาหารทุกมื้อควรจะมีผักสักหนึ่งทัพพี จึงจะเหมาะสม นอกจากนั้นจะต้องปฏิบัติดังนี้คือ

"อาหารอย่างอื่นคือพวกข้าวและแป้ง ควรลดลง ปกติเด็กโตและผู้ใหญ่จะกินข้าวมื้อละประมาณ ๒-๓ ทัพพี เด็กอ้วนอาจจะกินมื้อละ ๑-๒ ทัพพี แล้วแต่ความสูง ต้องลดอาหารที่มีการทอด ผัด หลีกเลี่ยงอาหารที่ ใช้กระทะ อาหารที่ทำจะต้องไม่หวาน ใช้รสธรรมชาติ พยายามที่จะไม่ให้มีรสจัด ไม่ว่าจะหวานจัด เค็มจัด สำหรับเนื้อสัตว์ต้องย้ำว่าให้กินเป็นประจำ แต่ละมื้อ ให้มากพอเพียงกับความต้องการ เช่น มื้อละประมาณ ๒-๔ ช้อนโต๊ะ และดื่มนมวันละประมาณ ๒ แก้วทุกวัน
ขอย้ำว่า เด็กที่ลดความอ้วนโดยผิดวิธีจะไม่ได้ผล เช่น กินแต่ผลไม้ทั้งวัน ซึ่งจริงๆ แล้วผลไม้มีน้ำตาล ยิ่งกินมากก็ยิ่งอ้วน จึงควรกินอาหารครบทุกหมู่ ผลไม้ไม่ควรกินมาก อาจจะวันละสัก ๒ ครั้งหรือ ๓ ครั้ง ครั้งละประมาณ ๑ ทัพพีเท่านั้นก็พอ นอกจากนี้ไม่ควรอดอาหารเป็นมื้อๆ เพราะจะขาดอาหารหรือหิวมากในมื้อถัดไปหรือปวดท้อง"Ž


นี่คือวิธีปฏิบัติที่ไม่ยากสำหรับการลดความอ้วนในเด็ก เพียงแต่ผู้ปกครองจะต้องมีความระมัดระวังในเรื่องอาหารการกิน ตั้งแต่สิ่งที่เด็กกินไปจนกระทั่งถึงกรรมวิธีที่ใช้ในการปรุงอาหาร และถ้าจะให้ดีที่สุด ควรที่จะปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการจำกัดอาหาร ของบุตรหลานที่เป็นโรคอ้วน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลข้างเคียงอันเป็นอันตรายต่อการเจริญเติบโตของสมองและร่างกายของเด็ก


 

ข้อมูลสื่อ

311-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 311
มีนาคม 2548