• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การปรับพฤติกรรมเพื่อหลีกจากไมเกรน

การปรับพฤติกรรมเพื่อหลีกจากไมเกรน

ดิฉันมีอาการปวดศีรษะไมเกรนมาหลายปีแล้วค่ะ ช่วงแรกจะเป็นบ่อยๆ ใช้ยาค่อนข้างมากและ มีราคาแพง แต่พอช่วงหลังๆ ดิฉันมีความรู้มากขึ้นก็เลยเปลี่ยนวิธีปฏิบัติตัว

ดิฉันเริ่มเป็นไมเกรนตั้งแต่มาเรียนที่กรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๓ ตอนนั้นน้องชายเสียชีวิต ดิฉันปวดศีรษะมาก ไม่ค่อยได้พักผ่อน เรียนก็ หนัก (ดิฉันเรียนทางด้านวิสัญญี ซึ่ง เป็นวิชาที่เครียดมากค่ะ) พอกลับมาบ้านจะมีอาการปวดมากขึ้น กินยาพาราเซตามอลก็ไม่หาย ต้องลุกไปอาเจียน ปวดชนิดที่เรียกว่า "กะโหลกร้าว" เลยค่ะ เคยไปหาคุณหมอที่คลินิกเล่าถึงอาการปวดให้ฟัง คุณหมอก็ฉีดยาให้ ๑ เข็ม และให้ยารักษาไมเกรนมากินเมื่อ มีอาการปวด หลังจากนั้นถ้าปวดศีรษะอีก ดิฉันก็จะกินยานี้เรื่อยมา โดยเฉพาะช่วงที่พักผ่อนน้อย หรือเครียดจะปวดศีรษะบ่อยมาก

ปกติดิฉันจะทำงานด้านศัลยกรรมไม่ได้คลุกคลี กับงานอายุรกรรม จึงได้ปรึกษากับเภสัชกรที่โรง พยาบาลว่า ยาตัวนี้กินมากๆ มีผลข้างเคียงมากไหม ถ้าไม่กินได้หรือไม่ เภสัชกรที่โรงพยาบาลบอกว่า ถ้าปวดมากๆ ต้องกิน เพราะเวลาที่ปวดนั้นกินยาพาราเซตามอลไม่หาย

สมัยก่อนเวลาปวดดิฉันจะไม่ชอบกินยา เพราะกลัวผลข้างเคียง ต้องรอให้ปวดถึงขั้นปวดตุ๊บๆ ที่ขมับทั้ง ๒ ข้าง จนทนไม่ไหวแล้วถึงจะกิน คือจะให้ยาช่วยบรรเทา แต่พอได้ฟังอาจารย์สุรเกียรติ อาชานานุภาพ บรรยายว่าไมเกรนเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม และต้องมีสิ่งเร้า ก็พยายามนึกว่า ตัวเองมีสิ่งเร้าอะไรไหม แสง สี เสียง ก็ไม่มี นึกอีกทีคงจะเป็นเพราะความคิดความเครียดที่คอยกระตุ้นเป็นสิ่งเร้า และพักผ่อนน้อย เพราะช่วงนั้นนอนดึก อยู่เวรถี่มาก จึงปวดศีรษะบ่อยมาก

อาจารย์แนะนำว่า ถ้ารู้ว่าเริ่มจะมีอาการปวดศีรษะให้รีบกินยาพาราเซตามอลทันที อย่า รอให้เป็นมากแล้วค่อยกินจะไม่ได้ผล ดิฉันจึงพกยาพาราเซตามอลติดตัวเสมอ พอเริ่มรู้สึกว่าจะมีอาการปวดศีรษะก็จะกินยาพาราเซตามอล ๒ เม็ด แล้วพักผ่อนก็จะดีขึ้น และดิฉันพยายามออกกำลังกายด้วยการวิ่งซึ่งช่วยได้มาก เมื่อก่อนไม่เคยทำ  เลย เพราะต้องอยู่เวร และลูกยังเล็ก ตอนนี้อายุ ๔๘ ปีแล้ว หลังจากเลิกอยู่เวรเมื่อ ๘ ปีก่อน อาการ ปวดก็น้อยลง

สำหรับดิฉันทราบว่าความ เครียดและการพักผ่อนน้อยเป็นปัจจัยเสริมจึงพยายามหลีกเลี่ยง เพราะกลัวมาก เนื่องจากปวดแต่ละครั้งจะทรมานมาก ปวดจนอาเจียน ค่ะ ดังนั้นจึงพยายามป้องกันและหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ ปวด  ส่วนยาพาราเซตามอลก็พยายามไม่กินบ่อย เพราะทราบว่ามีอันตรายต่อตับ

การออกกำลังกาย การพักผ่อน และพยายามหาสิ่งที่ตัวเองชอบทำ เป็นการช่วยผ่อน คลายความเครียด สามารถช่วยให้อาการปวดศีรษะ บรรเทาไปได้ค่ะ

ข้อมูลสื่อ

286-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 286
กุมภาพันธ์ 2546
จารุนันท์ จตุรพร