• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปราณยามะ ๗ ความเชื่อ VS ข้อเท็จจริง

ปราณยามะ 7  ความเชื่อ VS ข้อเท็จจริง


 เราได้พูดถึงรายละเอียดของปราณยามะมาพอสมควรแล้ว ฉบับนี้ เราลงตารางเปรียบเทียบ ระหว่าง ปราณยามะกับการหายใจทั่วไป เพื่อให้เราเข้าใจปราณยามะได้ดียิ่งขึ้นไปอีก



เมื่อทำความเข้าใจกับหลักต่างๆในการฝึกปราณยามะแล้ว จะเห็นได้ว่า ปราณยามะไม่ใช่การเพิ่มออกซิเจนให้กับร่างกายอย่างที่หลายคนเข้าใจ  ตรงกันข้ามเลย ปราณยามะเป็นการลดอากาศ เพื่อลดการหายใจ อันเป็นการนำผู้ฝึกไปสู่สภาวะความสงบของจิต

เทคนิคการฝึก อุจจัย Ujjai

ลักษณะเด่น  เป็นการหายใจเข้า ออกช้าๆ โดยทำให้มีเสียงเกิดขึ้นในลำคอ

วิธีทำ  นั่งในท่าขัดสมาธิ ท่าไหนก็ได้ที่เราถนัด  เก็บคางลงชิดทรวงอกพอประมาณ เกร็งตึงบริเวณลำคอเล็กน้อย  หายใจเข้า ทำให้ลมไหลผ่านบริเวณลำคอไม่สะดวก เพราะลมไหลผ่านไม่สะดวกนี่เอง ทำให้ลมหายใจของเราช้าลงกว่าปกติ นอกจากนั้น ยังเกิดเสียงซือออเบาๆ ในลำคอด้วย หายใจออกก็เช่นกัน หายใจช้า พร้อมๆกับการเกิดเสียงซือออเบาๆ ในลำคอ ใน ๑ ครั้งของการฝึก ทำประมาณ 10 รอบ นอกจากนี้ อุจจัยยังสามารถฝึกทำได้ตลอดเวลา ในวิถีชีวิตประจำวัน เช่น ระหว่างขับรถขณะรถติด ฯลฯ

สิ่งสำคัญ เป็นการหายใจที่ช้า ซึ่งเอื้อต่อความสงบของอารมณ์ ความนิ่งของจิต ผู้ฝึกต้องใส่ใจอยู่กับเสียงเบาๆ ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ทำให้เกิดสมาธิขึ้นทันทีที่เริ่มปฏิบัติ

ข้อพึงระวัง อย่าเกร็งจนเกินไป พึงระลึกว่า ทุกเทคนิคของโยคะต้องทำอย่างสบายๆ พอเหมาะพอดี อย่าไปใส่ใจว่าทำถูกหรือยัง สิ่งที่เราต้องการคือ เสียงที่สม่ำเสมอ เป็นเวลานาน  ขอเพียงแค่นี้เอง ในตอนฝึกทำใหม่ๆ ไม่ชำนาญ เสียงอาจดังไป (ทำได้ไม่นาน) หรือเสียงอาจเบาไป (เสียงขาดหายเป็นช่วงๆ) เมื่อฝึกมากขึ้น ก็ค่อยๆ ดีขึ้นเอง

ประโยชน์ เป็นการทำให้เกิดสมาธิ  หลายคนนิยมทำอุจจัย เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนฝึกสมาธิ เป็นเครื่องมือในการควบคุมอารมณ์ที่มีประสิทธิภาพ ฝึกทำขณะเริ่มมีอารมณ์ขุ่นมัว หงุดหงิด โมโห จะช่วยลดความรุนแรงของอารมณ์ลงได้ หากฝึกสม่ำเสมอ นอกจากจะลดความรุนแรงของอารมณ์แล้ว ผู้ฝึกจะสังเกตพบว่าตนเองเริ่มสามารถป้องกันตัวเองจากอารมณ์ขุ่นมัว ก่อนที่มันจะเกิดได้ ซึ่งเป็นการยืนยันว่า เป้าหมายของเทคนิคปราณยามะนั้น อยู่ที่การควบคุมอารมณ์ อยู่ที่การควบคุมจิต 

ชื่ออุจจัย หมายถึง ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ กล่าวคือ สำหรับโยคะแล้ว ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์ ก็คือ การควบคุมอารมณ์ตนเองให้ได้นั่นเอง

ข้อมูลสื่อ

295-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 295
พฤศจิกายน 2547
โยคะ
กวี คงภักดีพงษ์