• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ของเล่น...อันตราย

การเล่นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเด็ก
"การเล่นเป็นกระบวนการที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของพัฒนาการในวัยเด็ก ผู้ใหญ่ต้อง เข้าใจและเห็นคุณค่าการเล่นของเด็ก"Ž
การเล่นที่ให้ความสนุกสนาน เพลิดเพลิน กระตุ้นการเรียนรู้ ค้นคว้า ท้าทาย จะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับเด็ก กระตุ้นให้เด็กมีพฤติกรรมรักการเรียนรู้ด้วยตนเอง การแสวงหาประสบการณ์ใหม่ การค้นคว้า ทดลอง

กระบวนการเล่นเป็นกระบวนการที่กระตุ้นระบบ ประสาทสัมผัสทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัส การมอง การได้ยิน กระบวนการเล่นยังมีผลอย่างมากต่อ พัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ มัดเล็ก และการประสานงานของกล้ามเนื้อเหล่านั้น นอกจากนั้นการเล่นยังช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางภาษา การสื่อสาร
กระบวนการเล่นยังสร้างความคิดสร้างสรรค์แก่ เด็ก (creative play) ฝึกการแก้ไขปัญหา การใช้เหตุผล (cognitive play) ตอบสนองต่อจินตนาการในวัยเด็ก (imaginative play) นอกจากนั้นการเล่นยังทำให้เด็กผ่อนคลาย ลดความเครียด เด็กสามารถระบายความ เครียดที่อยู่ใต้จิตสำนึกที่ไม่สามารถบอกออกมาเป็นคำพูดได้ โดยใช้การเล่นแบบจินตนาการ หรือแบบบทบาทสมมุติ (role play) ตัวอย่างเช่นเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่มีความรุนแรง เด็กที่สูญเสียคนที่รัก หรือเด็กที่ตกอยู่ในสถานการณ์น่ากลัวรุนแรงต่างๆ

ของเล่นเป็นเครื่องมือในการเล่นของเด็ก
ของเล่นคือเครื่องมือที่จะนำเด็กไปสู่กระบวน การเล่นของเล่นมีหลายชนิด สามารถแบ่งออกได้ตามวัตถุประสงค์ของการเล่น เช่น ของเล่นเพื่อการพัฒนากล้ามเนื้อ ของเล่นเพื่อสร้างความคิด เป็นต้น

ของเล่นที่ดีไม่จำเป็นต้องเป็นของแพง แต่จะต้องเป็นของเล่นที่ปลอดภัย เหมาะสมกับอายุเด็ก และมีวัตถุประสงค์ชัดเจนในการกระตุ้นพัฒนาการเด็กด้านใดด้านหนึ่ง ตัวอย่างของเล่น เช่น ตุ๊กตา รถจำลอง เครื่องดนตรีจำลอง เครื่องกีฬา เครื่องมือศิลปะ เกมต่างๆ หรือแม้แต่ทราย ก็จัดเป็นของเล่นของเด็กๆ ได้

อันตรายจากของเล่น
จากการวิจัยในเรื่องอุบัติเหตุในเด็กของโครง-การวิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยในเด็ก ภาควิชา กุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กต้องบาดเจ็บ มารับการตรวจรักษาในห้องฉุกเฉินคือการพลัดตกหกล้ม การจราจร บาดเจ็บจากการถูกทิ่มแทง บาด การบาดเจ็บจากการถูกกระแทกชน การบาดเจ็บจากสัตว์กัด และการบาดเจ็บจากความร้อน
กลุ่มเสี่ยงที่เกิดการบาดเจ็บในเด็กส่วนใหญ่เป็น กลุ่มเด็กอายุน้อยกว่า ๕ ขวบ ร้อยละ ๔๕ ของการบาดเจ็บในเด็กเกิดขึ้นที่บ้าน ร้อยละ ๒๓ เกิดบน ถนน และร้อยละ ๑๘ เกิดที่โรงเรียน

ผลิตภัณฑ์อันตรายที่พบว่าเป็นสาเหตุของการบาดเจ็บได้บ่อย คือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับโครงสร้างบ้านและเฟอร์นิเจอร์หลัก ยานพาหนะ สัตว์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งสุนัข) และของเล่น

ในบรรดาการบาดเจ็บที่เกิดจากของเล่นพบว่า การบาดเจ็บที่รุนแรง มักเกิดจากเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น ของเล่นที่ใช้ยิง (เช่น ปืนอัดลม ปืนลูกดอก) ของเล่นที่ทำให้เคลื่อนที่ได้เร็ว (เช่น รถหัด เดิน จักรยาน) ของเล่นทารก (เช่น กุ๊งกริ๊ง) ของเล่นชิ้นเล็กที่อาจทำให้เกิดการอุดตันทางเดินหายใจเด็ก ของเล่นมีสายยาวซึ่งอาจรัดพันคอเด็ก และของเล่นมีคมทั้งหลาย เป็นต้น

อันตรายจากเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น
จากการศึกษาของโครงการวิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยในเด็ก พบว่าการบาดเจ็บจากเครื่องเล่นต่างๆ ในสนามเด็กเล่นคิดเป็นร้อยละ ๑.๔๗ ของการบาดเจ็บทั้งหมดในเด็กอายุน้อยกว่า ๑๕ ปีที่มารับการตรวจที่ห้องฉุกเฉิน
เมื่อประมาณการทั้งประเทศคาดว่าจะมีเด็กบาดเจ็บจากเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่นปีละ ๓๔,๐๗๕ ราย
การบาดเจ็บชนิดนี้มักเกิดขึ้นในเด็กอายุ ๕-๑๒ ขวบ สาเหตุร้อยละ ๔๔ เกิดจากกระดานลื่น ร้อยละ ๓๓ เกิดจากชิงช้า นอกจากนั้นเกิดจากเครื่องปีนป่าย ม้าหมุน และอื่นๆ

การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นการบาดเจ็บ ของแขนขา ใบหน้า และศีรษะ การบาดเจ็บที่รุนแรงที่พบบ่อยคือกระดูกหักของแขนหรือข้อมือ และการบาดเจ็บศีรษะ
สถานที่ที่เกิดการบาดเจ็บมักเกิดในบริเวณโรงเรียน หมู่บ้านหรือในเขตชุมชนที่เด็กอาศัยอยู่ บางครั้งเกิดในสนามเด็กเล่นในสวนสาธารณะ
ในปี พ.ศ.๒๕๔๕-๒๕๔๗ มีการรายงานการเสียชีวิตของเด็ก ๖ รายในโรงเรียนในเวลาใกล้เคียงกัน ซึ่งมีสาเหตุมาจากเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น เป็น การตายจากชิงช้าล้มทับศีรษะ ๔ ราย เครื่องเล่น ปีนป่ายล้มทับ ๑ ราย และลูกโลกซึ่งเป็นเครื่องเล่นชนิดหมุนล้มทับเกิดการบาดเจ็บช่องท้อง เสียชีวิต ๑ ราย ทั้ง ๖ รายพบว่าเครื่องเล่นไม่ได้รับการยึดติดฐานรากพื้นสนามแข็งไม่ดูดซับพลังงาน ผู้เล่นไม่เล่นตามวิธีที่ควรจะปฏิบัติ และไม่มีผู้ดูแลขณะเล่น

การป้องกันการบาดเจ็บจากเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น จะต้องประกอบด้วยเครื่องเล่นที่ปลอดภัย พื้นสนามที่ดูดซับพลังงานได้ดี การติดตั้งที่ ถูกวิธีไม่ล้มทับเด็ก การทะนุบำรุง และการฝึกอบรมผู้ติดตั้งและผู้ดูแลเด็กขณะเล่น

เครื่องเล่นที่ปลอดภัย มีหลักเกณฑ์เบื้องต้นดังนี้ 
- อุปกรณ์เครื่องเล่นสนามต้องได้รับการออก แบบให้เหมาะสมกับอายุและพัฒนาการเด็ก โดยแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม คือ เด็กก่อนวัยเรียน (อายุ ๒-๕ ขวบ) และเด็กในวัยเรียน (อายุ ๕-๑๒ ขวบ)
- เพื่อป้องกันการบาดเจ็บจากการตกและก่อ ให้เกิดการบาดเจ็บที่รุนแรงของศีรษะและสมอง ระยะความสูงจากพื้นสนามถึงพื้นยกระดับของเครื่องเล่นสนาม สำหรับเด็กก่อนวัยเรียนไม่ควรเกิน ๑.๒๐ เมตร และสำหรับเด็กวัยเรียนไม่ควรเกิน ๑.๕๐ เมตร
- ในกรณีเครื่องเล่นสำหรับวัยก่อนเรียน มีความสูงของพื้นยกระดับที่มีความสูงมากกว่า ๕๐ เซนติเมตร หรือเครื่องเล่นสำหรับเด็กวัยเรียนที่มีความสูงมากกว่า ๗๕ เซนติเมตร จะต้องมีราวกันตก หรือผนังกันตก
- การออกแบบบันได และราวบันไดชนิดต่างๆ ต้องคำนึงถึงระยะก้าว ระยะโหน การกำมือเพื่อยึดเหนี่ยวของเด็กในวัยต่างๆ 
- เพื่อป้องกันศีรษะติดและกดการหายใจ ช่องต่างๆ ต้องเล็กเกินกว่าศีรษะจะลอดเข้าไปได้ หรือใหญ่พอที่ศีรษะไม่เข้าไปติดค้าง คือช่องต้องมีขนาดน้อยกว่า ๙ เซนติเมตร หรือมากกว่า ๒๓ เซนติเมตร 
- เพื่อป้องกันเท้าหรือขาเข้าไปติด พื้นที่เดินหรือวิ่งจะต้องมีช่องว่างไม่เกิน ๓ เซนติเมตร เพื่อไม่ให้ เท้าหรือขาเข้าไปติด
- เพื่อป้องกันนิ้วเข้าไปติด โดยการแหย่หรือลอด จะต้องไม่มีช่องว่างที่อยู่ขนาด ๐.๕ เซนติเมตร ถึง ๑.๒ เซนติเมตร
- เพื่อป้องกันการบาดเจ็บจากการชนกระแทก อุปกรณ์เคลื่อนไหวเช่น ชิงช้า ที่นั่งต้องทำด้วยวัสดุที่ไม่แข็ง
- นอต-สกรูที่ใช้ในการยึดเครื่องเล่นสนาม จะเป็นระบบกันคลาย ต้องออกแบบให้ซ่อนหัวนอต หรือปลายตัดหัวมนที่มีส่วนยื่นไม่เกิน ๘ มิลลิเมตร
- วัสดุที่ใช้ต้องไม่เป็นพิษและมีสารโลหะหนักเจือปนไม่เกินกว่าค่ามาตรฐานในของเล่น

พื้นสนามปลอดภัยมีหลักเกณฑ์เบื้องต้นดังนี้
- พื้นสนามเป็นปัจจัยความปลอดภัยที่สำคัญ มากที่สุด พื้นสนามที่ดีต้องประกอบด้วยวัสดุอ่อนนิ่ม ดูดซับพลังงานได้คือทราย โดยที่พื้นทรายต้องมีความ หนาไม่น้อยกว่า ๒๐ เซนติเมตร สำหรับเครื่องเล่นสูงไม่เกิน ๑.๒๐ เมตร หากเครื่องเล่นสูงเกินกว่าที่กำหนด พื้นทรายต้องมีความหนาไม่น้อยกว่า ๓๐ เซนติเมตร นอกจากนั้นพื้นสนามที่ดีอาจทำด้วยยางสังเคราะห์ หรือวัสดุอื่นที่มีการทดสอบแล้ว พื้นสนาม ที่เป็นพื้นแข็ง เช่น ซีเมนต์ อิฐสนาม ก้อนกรวด ยางมะตอย ทรายอัดแข็ง พื้นหญ้าธรรมดา จะมีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บศีรษะรุนแรง 
- พื้นที่ปลอดภัย ต้องคำนึงถึงการวางผังความ หนาแน่น พื้นที่ว่าง ทิศทางของเครื่องเล่นและการ ใช้งาน ระยะห่างของเครื่องเล่นและชนิดของเครื่องเล่น 
- การออกแบบพื้นที่ปลอดภัย ต้องคำนึงพื้นที่ การตก ระยะว่างอิสระ และพื้นที่การสัญจร 
- พื้นที่การตก ต้องไม่มีสิ่งกีดขวางอันจะก่อให้เกิดอันตรายเมื่อเด็กตกจากเครื่องเล่น ระยะปลอดภัยคือ ๑.๕๐ เมตร โดยรอบเครื่องเล่นที่มีพื้นยกระดับสูงเกินกว่า ๖๐ เซนติเมตร จะต้องไม่มีสิ่งกีดขวางใดๆ

การติดตั้งเครื่องเล่นสนามนั้นต้องสามารถ รับแรงสูงสุดที่กระทำต่อตำแหน่งที่ออกแบบสำหรับใช้งาน ต้องไม่เกิดการพลิกคว่ำ เอียง เลื่อน หรือเคลื่อนตัวได้ ความแข็งแรงในการยึดหรือฝังฐานของเครื่องเล่นสนามถือเป็นหัวใจสำคัญในการติดตั้ง เครื่องเล่นสนามแต่ละชนิดจะถูกออกแบบฐานรากที่มีขนาดความลึกที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับน้ำหนักและแรงที่กระทำในเครื่องเล่นสนามนั้นๆ

การตรวจสอบและบำรุงรักษา ให้มีการตรวจ สอบสนามเด็กเล่นและอุปกรณ์เครื่องเล่นสนามทุกวัน และตรวจสอบพร้อมบันทึกเป็นหลักฐานทุก ๓ เดือน โดยเจ้าหน้าที่ในสถานที่ที่ทำการติดตั้ง และมีเจ้าหน้าที่ที่มีความชำนาญทางวิศวกรรมตรวจสอบและบันทึกเป็นหลักฐานทุก ๑ ปี ควรเป็นระเบียบปฏิบัติในส่วนการปกครองท้องถิ่น

ผู้ดูแลเด็ก ต้องมีการฝึกอบรมผู้ดูแลเด็กให้มีความรู้ในการเล่น การใช้เครื่องเล่น การระวังการบาดเจ็บ และการปฐมพยาบาล สัดส่วนผู้ดูแลเด็กกับจำนวนเด็กเล็กเท่ากับ ๑:๒๐ และผู้ดูแลเด็กกับจำนวนเด็กโตเท่ากับ ๑:๕๐

อันตรายจากของเล่นชนิดปืน
ของเล่นชนิดปืนมีหลายประเภท เช่น ปืนอัดลม ปืนลูกดอก ปืนเหรียญ ปืนลูกบอล เป็นต้น ของเล่นเหล่านี้อาจเป็นอันตรายต่อตาได้ การบาดเจ็บที่ตาเกิดได้จากแรงกระสุนกระแทกที่ลูกตาทำให้เกิดเลือดออกในช่องลูกตา ซึ่งต้องรับการรักษาและการหยุดการเคลื่อนไหวในระยะแรก เพื่อป้องกันการมีเลือดออกมากขึ้น ในบางรายอาจก่อให้เกิดต้อกระจก ตามมาหลังการกระแทก บางรายกระสุนอาจทะลุเข้าฝังในลูกตาหรือกล้ามเนื้อตา บางรายเกิดการแตกของลูกตาและต้องผ่าตัดควักลูกตาทิ้งไป
ในประเทศพัฒนาได้มีความพยายามที่จะควบคุมของเล่นอันตรายโดยได้ออกมาตรฐานของเล่นที่เป็นลักษณะปืนที่ใช้ยิงได้ (ปืนอัดลม ปืนลูกดอก ปืนลูกบอล) โดยได้กำหนดความแรงไว้ไม่ให้เกินมาตรฐานความปลอดภัยที่จะเป็นของเล่นได้ เช่น ในมาตรฐานยุโรปกำหนดให้กระสุนที่นิ่ม ยืดหยุ่นได้มีความแรงไม่เกิน ๐.๕ จูล ส่วนกระสุนแข็งต้องมีความแรงไม่เกิน ๐.๐๘ จูล มาตรฐานที่สองคือมาตรฐานออสเตรเลีย ซึ่งเน้นการตรวจสอบพละกำลังการทะลุทะลวง โดยได้ผลิตแผ่นเยื่ออะลูมินัมฟอยล์มาตรฐานขึ้นมา และเมื่อนำของเล่นประเภทยิง มีกระสุนมาตรวจสอบ หากกระสุนสามารถถูกยิงผ่านทะลุแผ่นเยื่อนี้ไปได้ ของเล่นชิ้นนั้นไม่สามารถขายได้
ในบ้านเรา กระทรวงอุตสาหกรรมได้ควบคุมความปลอดภัยของเล่นชนิดปืนโดยใช้มาตรฐานเดียวกับยุโรป

ปืนอัดลม
ปืนอัดลม...เป็นปืนพลาสติก มีกระสุนเป็นเม็ดพลาสติกกลมเล็กๆ กระสุนส่วนใหญ่เป็นสีเหลือง สีอื่นก็มีแต่ไม่นิยม ราคาตกกระบอกละ ๖๐-๒๐๐ บาท แต่ถ้าเป็นปืนที่มีความแรงเพิ่มขึ้น หรือสามารถยิงกระสุนติดต่อกันเป็นชุดได้ ราคาจะสูงเพิ่มขึ้น ปืนที่ราคาแพงจะมีความแรงมากขึ้น อันตรายก็รุนแรงขึ้นมากเช่นเดียวกัน
ปืนอัดลมที่มีขายทั่วไปนี้เป็นอันตรายต่อลูกนัยน์ตาเด็กจำนวนมาก ในประเทศสหรัฐอเมริการายงานว่า มีคนที่บาดเจ็บจากปืนอัดลมประมาณ ๓๐,๐๐๐ รายต่อปี ในจำนวนนี้ร้อยละ ๘๑ เป็นเด็กและวัยรุ่นอายุน้อยกว่า ๑๙ ปี การบาดเจ็บนี้ต้องรับการรักษาในโรงพยาบาลร้อยละ ๕ ในจำนวนนี้ร้อยละ ๓๗ เกิดจากการบาดเจ็บที่ลูกนัยน์ตา ในประเทศไทยคาดการณ์ทั่วประเทศน่าจะมีการบาดเจ็บนี้กว่า ๙,๐๐๐ รายต่อปี
ปืนอัดลมทั่วไปจะสามารถยิงให้กระสุนเกิดความเร็วได้ไม่น้อยกว่า ๑๐๐ เมตรต่อวินาที หากกระสุนหนักประมาณ ๑ กรัม การยิงจะเกิดแรง ๑๐ จูลซึ่งเกินมาตรฐานถึง ๒๐ เท่า อันจะเกิดอันตรายต่อลูกนัยน์ตาได้อย่างง่ายดาย
การป้องกัน ที่ดีที่สุดคือพ่อแม่ต้องไม่่สนับสนุน ให้ลูกเล่นของเล่นที่มีลูกกระสุนทุกชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเภทปืนอัดลมทุกกลุ่มอายุ แม้ว่าเด็กโตจะสามารถเล่นอย่างระมัดระวังตัวเองได้ก็ตาม แต่มักจะเป็นเหตุให้เด็กอื่นในบ้านได้รับบาดเจ็บ โดยเฉพาะน้องตัวเล็กในบ้าน
พ่อแม่ช่วยกันดูแลชุมชนของตน อย่าให้มีปืนอัดลมขายในตลาด
พ่อแม่ช่วยกันเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมี การตรวจสอบความแรงของปืนอัดลมที่มีในตลาด รวมทั้งปืนของเล่นที่มีกระสุนทุกชนิด เมื่อพบว่ามีความแรงเกินกว่ามาตรฐานควรมีมาตรการควบคุมเรียกเก็บ จากตลาด การวางขายทั่วไปควรเป็นสิ่งต้องห้าม
หน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ว่าจะเป็นสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องช่วยกันเร่งมือในการตรวจจับของเล่นประเภทนี้เพื่อลดการบาดเจ็บในเด็ก

วัตถุระเบิด...พลุ ดอกไม้ไฟ ไม่ใช่ของเล่น
พลุและดอกไม้ไฟมักทำให้เกิดการบาดเจ็บที่มือ สูญเสียนิ้วมือ บาดเจ็บที่ตา ทำให้ตาบอด บาดเจ็บที่ใบหน้าทำให้เกิดแผลเป็น หรือไฟไหม้ทั้งตัวทำให้สูญเสียชีวิตได้
การป้องกัน
- อย่าให้เด็กเล่นพลุและดอกไม้ไฟเป็นอันขาด ไม่ว่าจะเป็นชนิดใดก็ตาม
- อย่าให้ใบหน้าของผู้เล่นอยู่เหนือพลุและดอกไม้ไฟ เพราะอาจระเบิดหรือพุ่งเข้าสู่ใบหน้าผู้เล่น ได้ตลอดเวลา
- อย่าดื่มสิ่งมึนเมาและเล่นพลุและดอกไม้ไฟ เพราะจะเป็นเหตุสำคัญในการขาดความระมัดระวังทำให้เกิดอันตรายแก่ผู้เล่นและผู้อยู่ใกล้
- ในกรณีที่พลุและดอกไม้ไฟจุดแล้วไม่ทำงาน หรือทำงานครึ่งๆ กลางๆ แล้วดับไป อย่า!...จุดไฟใหม่เพราะอาจระเบิดได้ง่าย 
- ควรมีถังน้ำใกล้ตัวหรืออยู่ใกล้แหล่งน้ำ ในกรณีที่พลุและดอกไม้ไฟทำงานผิดพลาดหรือติดไฟ ให้โยนใส่แหล่งน้ำ
- ก่อนจุดพลุและดอกไม้ไฟ ดูรอบข้างให้ดี ต้องมั่นใจว่าไม่มีผู้ใดรอบข้างจะบาดเจ็บได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็ก

อันตรายจากของเล่นประเภทมีลูกล้อ
ของเล่นลูกล้อมีหลายชนิดตั้งแต่เด็กทารกจะใช้รถหัดเดิน ต่อมาใช้จักรยานสามล้อ จักรยานมีล้อทรงตัว และถอดเหลือสองล้อเมื่อโตขึ้น อุปกรณ์อื่นๆ เช่น รองเท้าลูกล้อ โรลเลอร์สเกต อินไลสเกต สเกตบอร์ด และสกูตเตอร์

รถหัดเดิน
เมื่ออายุได้ ๖ เดือนพ่อแม่มักเริ่มจัดซื้อรถหัดเดิน รถหัดเดินเป็นอุปกรณ์ ที่วางขายทั่วไปในห้าง-สรรพสินค้าและร้านของใช้เด็ก พ่อแม่มักจะจัดหาให้เด็กด้วยความที่ต้องการให้ลูกรักได้ออกกำลังกายและฝึกเดิน เด็กเองเมื่ออยู่ในรถหัดเดินจะสามารถเคลื่อนที่ได้ไกลเกินกว่าพัฒนาการตามอายุ เด็กจะสามารถเรียนรู้สิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น เพลิดเพลินกับการเคลื่อนไหวไปไกลๆ หรือสนุกสนานกับการวิ่งชนกำแพง อย่างไรก็ตาม ข้อดีเหล่านี้ได้ถูกแอบแฝงด้วย อันตราย ซึ่งได้ถูกพิสูจน์แล้วในต่างประเทศ
ในประเทศแคนาดา ออสเตรเลีย และบางรัฐใน สหรัฐอเมริกาได้มีกฎหมายห้ามมิให้มีการจำหน่ายรถหัดเดินแล้ว ในบางรัฐให้มีการจำหน่ายพร้อม คำเตือนอันตรายแก่ผู้ซื้อ ในประเทศไทยเราพ่อแม่ยังหาซื้อได้อย่างเสรี โดยปราศจากคำเตือนจากผู้ผลิตและขาดคำแนะนำจากผู้มีหน้าที่ดูแลสุขภาพ
หนึ่งในสามของเด็กที่ใช้รถหัดเดินจะได้รับบาดเจ็บ การบาดเจ็บสมองที่รุนแรงส่วนใหญ่เกิดจากการพลัดตกหกล้มจากที่สูงหรือการพลิกคว่ำเมื่อเคลื่อนที่ผ่านพื้นที่มีความต่างระดับ นอกจากนั้น ยังพบว่าร้อยละ ๑๐.๘ ของเด็กที่ใช้รถหัดเดินเป็นประจำ จะมีพัฒนาการด้านการเดินได้ช้ากว่าเด็กที่ไม่ได้ใช้ ดังนั้น การป้องกันที่ดีคือไม่ควรจัดซื้อให้กับลูกๆ

โรลเลอร์เบลดหรืออินไลสเกต
คือรองเท้าสเกตที่มีลูกล้อเรียงกันในแนวยาว ๔ ล้อ เป็นเครื่องเล่นที่สามารถทำความเร็วได้สูงมาก เป็นที่ถูกอกถูกใจ เด็กโตและวัยรุ่น ลูกล้อของอินไลสเกตทำด้วยโพลี-ยูรีเทน มีความแข็งแรงมาก รับน้ำหนักได้มาก และมีแรงเสียดทานน้อย ทำให้สามารถเคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็วแม้ในผู้เล่นหัดใหม่ การเล่นทั่วๆ ไปจะสามารถ ทำความเร็วได้ถึง ๑๖-๒๗ กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ในประเทศไทยมีผู้เล่นอยู่บ้าง แต่ยังไม่เป็นที่นิยมกันมากนัก ในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่ามี ผู้เล่นมากถึง ๑๒ ล้านคน ผู้เล่นมักมีอายุน้อย พบว่าร้อยละ ๗๗ มีอายุน้อยกว่า ๒๕ ปี และร้อยละ ๓๙ มีอายุอยู่ระหว่าง ๖-๑๑ ขวบ

เด็กโตและเด็กวัยรุ่นในประเทศสหรัฐอเมริกานำอินไลสเกตมาใช้ทั้งเพื่อการเดินทาง ออกกำลังกาย และการแข่งขัน ซึ่งมีทั้งการแข่งความเร็วและแข่งผาดโผน สวยงามแบบต่างๆ

มีรายงานจากห้องฉุกเฉินในประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ.๒๕๓๖ พบว่ามีการบาดเจ็บที่เกิดจากอินไลสเกตจำนวน ๓๑,๐๐๐ รายต่อปี ร้อยละ ๓๗ เป็นการบาดเจ็บข้อมือ ในจำนวนนี้ ๒ ใน ๓ เกิดกระดูกข้อมือหักและเคลื่อน ร้อยละ ๕ เป็นการบาดเจ็บศีรษะ และร้อยละ ๓.๕ รุนแรงถึงขนาดต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล เมื่อเปรียบเทียบกับรายงานการบาดเจ็บของโรลเลอร์สเกต และสเกตบอร์ด พบว่าอินไลสเกตมีการบาดเจ็บน้อยกว่า คือใน ๑ รายของการบาดเจ็บจากอินไลสเกตจะพบ ๑.๑ รายของสเกตบอร์ด และ ๓ รายของโรลเลอร์สเกต

ในปี พ.ศ.๒๕๓๘ พบว่าการบาดเจ็บเพิ่มสูงกว่า สามเท่าตัว เป็นการบาดเจ็บในเด็กอายุน้อยกว่า ๑๕ ปีจำนวน ๖๕,๐๐๐ ราย ในจำนวนนี้ ๒๙,๐๐๐ ราย มีภาวะกระดูกหัก และ ๗,๐๐๐ รายเป็นการบาดเจ็บของศีรษะและใบหน้า ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕-๒๕๓๘ มีรายงานการตาย จากการเล่นสเกต ๓๖ ราย ในจำนวนนี้ ๓๑ ราย ตายจากการถูกรถชน

ในประเทศออสเตรเลียพบการบาดเจ็บที่ข้อมือมากที่สุดเช่นเดียวกันคือร้อยละ ๔๗ ของการบาดเจ็บ
ในประเทศแคนาดาพบการบาดเจ็บมากขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๔ เป็นต้นมา จากการศึกษาการบาดเจ็บจากอินไลสเกตจำนวน ๕๒๑ ราย พบว่าร้อยละ ๖๐ เกิดในเด็กอายุน้อยกว่า ๑๔ ปี ส่วนใหญ่พบในเด็กอายุ ๑๐-๑๔ ปี การบาดเจ็บส่วนใหญ่เกิดในพื้นที่ถนนหรือทางเดินเท้า (ร้อยละ ๖๓) ร้อยละ ๕๘ เกิดการบาดเจ็บที่มือและข้อมือ
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บของรายงานต่างๆ ไม่แตกต่างกันก็คือผู้หัดเล่นครั้งแรก การใช้ความเร็วสูงเกินไป การชนกับสิ่งกีดขวาง การเล่นในพื้นที่ถนนทำให้ถูกยานพาหนะชนและการตกจากที่สูง การบาดเจ็บที่ศีรษะและสมอง เป็นสาเหตุที่สำคัญที่นำไปสู่การตายและพิการ

รองเท้าสเกต

หมายถึงรองเท้า ที่มีลูกล้อติดอยู่ ๔ ล้อ ล้อหน้า สองล้อ ล้อหลังอีกสองล้อ ล้อมีขนาดใหญ่ แข็งแรง ไม่สามารถพับเก็บได้ ตัวสเกต อาจแยกออกจากรองเท้า เวลาจะเล่นผู้เล่นต้องใส่รองเท้าธรรมดาก่อน และนำเอาตัวสเกตมายึดติด สมัยหนึ่งเป็นที่นิยมในเด็กไทย มีลานสเกตให้บริการมากมาย แต่ปัจจุบันความนิยมลดลงไปมาก
รองเท้าลูกล้อดัดแปลงมาจากรองเท้าสเกต (roller skate) แต่จะมีรูปทรงที่เปรียวกว่า สามารถเก็บ ลูกล้อแล้วยังเดินเล่นได้อย่างสบายเหมือนรองเท้าเที่ยวอื่นๆ ลูกล้อจะมีขนาดที่เล็กกว่าและมีความแข็งแรงคงทนน้อยกว่ารองเท้าสเกต

ในต่างประเทศรองเท้าลูกล้อก็เป็นอุปกรณ์การเล่นใหม่ของเด็กเช่นกัน มีรายงานการบาดเจ็บเฉพาะ รายและคำเตือนอยู่บ้าง แต่ยังไม่มีการรวบรวมรายงานขนาดใหญ่ และยังไม่พบว่ามีประเทศใด สั่งห้ามการจำหน่าย ทั้งๆ ที่เป็นอุปกรณ์ที่อาจทำให้ผู้บริโภคสับสนในการใช้ และยากแก่การแนะนำให้ป้องกันการบาดเจ็บ ไม่เหมือนกับเครื่องเล่นลูกล้อชนิดอื่นซึ่งมีไว้ลื่นไหลอย่างเดียว ไม่สามารถใช้เดินตามปกติได้

สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ประเทศสหรัฐอเมริกา (American college of emergency physicians) ได้รายงานผู้บาดเจ็บเด็ก ๑ รายอายุ ๕ ขวบ ใส่รองเท้า ลูกล้อเดินในห้างสรรพสินค้า ขณะที่แม่เผลอเด็กงัดเอาลูกล้อออกมาและลื่นไหลเล่น เกิดหกล้มศีรษะกระแทกพื้น เด็กไม่สลบจึงพากลับบ้าน หลังกลับบ้าน เด็กนอนหลับไปประมาณ ๒ ชั่วโมงแล้วตื่นขึ้นมา มีอาการอาเจียนหลายครั้งติดต่อกัน แม่จึงพามาตรวจที่ห้องฉุกเฉิน แพทย์ได้รับตัวเพื่อสังเกตอาการและพบว่าอาการไม่ดีขึ้น จึงได้ทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง แม้ว่าจะไม่พบอาการเลือดออกในสมองรุนแรง แต่พบว่าเกิดสมองกระทบกระเทือน ดังนั้น ทางสมาคมจึงได้มีคำเตือนประชาชนออกมา และให้มีการจับตาเฝ้าดูเครื่องเล่นชนิดใหม่ของเด็กนี้

ในสาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศเกาหลีผู้ผลิตรายใหญ่เริ่มพบการบาดเจ็บในเด็กจำนวนมาก มีคำเตือนห้ามใช้ในเด็กก่อนวัยเรียน (น้อยกว่า ๕ ขวบ) และห้ามเล่นในโรงเรียน ในห้างสรรพสินค้า

แม้การเล่นรองเท้าสเกตและรองเท้าลูกล้อนี้จะใช้ความเร็วต่ำกว่าอินไลสเกต แต่กลุ่มผู้เล่นมักมีอายุน้อยกว่า เล่นไม่เป็นที่เป็นทางมากกว่า ทำให้กลุ่มนี้ยังคงมีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บที่สูงอยู่ดี

สเกตบอร์ด
คืออุปกรณ์ที่มีแผ่นกระดานให้ยืนได้และมีลูกล้อที่แข็งแรงรองรับอยู่ สเกตบอร์ดเป็นอุปกรณ์ลื่นไหลที่ต้องอาศัยความสามารถในการทรงตัวของเด็ก ในสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ.๒๕๔๔ มีรายงานการบาดเจ็บกว่าแสนคนต่อปี ส่วนใหญ่เป็นเด็กโตและวัยรุ่น การบาดเจ็บส่วนใหญ่พบได้เช่นเดียวกับอินไลสเกต คือข้อมือ การบาดเจ็บรุนแรงคือศีรษะ การถูกรถชนและการพลัดตกที่สูง

มีการศึกษาเด็กอายุ ๕-๑๙ ปี ในโรงพยาบาลศูนย์อุบัติเหตุ ๗๙ แห่งในประเทศสหรัฐอเมริกาปี พ.ศ.๒๕๓๑-๒๕๔๐ ซึ่งบาดเจ็บจากการเล่นสเกต-บอร์ด เปรียบเทียบกับเด็กที่บาดเจ็บจากอินไลสเกตและรองเท้าสเกต พบว่าร้อยละ ๕๐.๘ ของเด็กที่บาดเจ็บจากสเกตบอร์ดมีการบาดเจ็บที่ศีรษะซึ่งมากกว่ากลุ่มที่บาดเจ็บจากอินไลสเกต (ร้อยละ ๓๓.๗) รองเท้าสเกต (ร้อยละ ๑๘.๘) ผู้บาดเจ็บจากสเกตบอร์ดจะมีความรุนแรงมากกว่ากลุ่มรองเท้าสเกต ๘ เท่า และมากกว่ากลุ่มอินไลสเกต ๒ เท่า การพักรักษาตัวในโรงพยาบาลของกลุ่มสเกตบอร์ดนานกว่ากลุ่มอื่นเช่นกัน
การบาดเจ็บที่มากนี้บ่งบอกได้ว่าการเล่นสเกตบอร์ดมีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บมากกว่าอุปกรณ์อื่น ซึ่งอาจมีผลจากวิธีการเล่นที่ดุเดือด เสี่ยงภัยมากกว่าอุปกรณ์อื่น

สกูตเตอร์
เป็นอุปกรณ์การเล่น ที่ยังไม่เป็นที่นิยมมากนักในประเทศไทย กลุ่มที่เล่นมักมีอายุน้อยกว่ากลุ่มอื่น ในประเทศสหรัฐอเมริกาเริ่มมีความนิยมตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๓ มีรายงานการบาดเจ็บจากสกูตเตอร์กว่า ๒๗,๖๐๐ ราย ในปี พ.ศ.๒๕๔๓ มีการตาย ๕ ราย ร้อยละ ๘๕ ของผู้บาดเจ็บมีอายุน้อยกว่า ๑๕ ปี
ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือการเล่นในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมเกิดการสะดุดล้ม ตกจากสกูตเตอร์ หรือถูกรถชน รวมทั้งการเล่นในพื้นที่ถนนทำให้ถูกรถชนได้
บางรุ่นพบว่าบริเวณแฮนด์หรือมือจับไม่ยึดติดแน่นกับคอสกูตเตอร์ จึงเกิดการหลุดออกขณะใช้ ทำให้ล้มบาดเจ็บได้ หนึ่งในสี่จะมีภาวะกระดูกหัก และเคลื่อนที่บริเวณมือและข้อมือ

มีการศึกษาหนึ่งพบการบาดเจ็บศีรษะและสมองถึงหนึ่งในสามของการบาดเจ็บ
การบาดเจ็บรุนแรงที่ต้องรับรักษาตัวไว้ใน โรงพยาบาลพบร้อยละ ๕
พบว่าร้อยละ ๖๐ ของการบาดเจ็บสามารถป้องกันได้โดยการสวมใส่อุปกรณ์เสริมความปลอดภัย ต่างๆ ให้ครบถ้วน

ข้อแนะนำในการเล่นเครื่องเล่นลูกล้อ
๑. อุปกรณ์การเล่นที่ต้องอาศัยการทรงตัว เช่น รองเท้าสเกต สเกตบอร์ด สกูตเตอร์นี้ ไม่เหมาะสมสำหรับเด็กอายุ ๐-๕ ขวบ
แม้ว่าเราจะสามารถจับเด็กเล็กบางรายมาฝึกได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาความเสี่ยงดูแล้วอาจจะไม่คุ้ม เด็กก่อนวัยเรียนพละกำลังกล้ามเนื้อและความสามารถในการประสานงานยังไม่ดีพอที่จะควบคุมอุปกรณ์ลื่นไหลนี้ได้ ความคิดความอ่านยังไม่สมบูรณ์ ยังไม่เข้าใจเหตุผล
ดังนั้น การสอนเด็กเล็กต้องสอนให้เด็กปฏิบัติเป็นนิสัยเลย การสอนให้รู้จักระวังอันตรายต่างๆ และหวังว่าเด็กจะปฏิบัติตามเหตุผลที่สอนนั้นจะใช้ได้เมื่อเด็กอายุเกินกว่า ๖-๗ ขวบเท่านั้น เด็กอายุ ๐-๕ ขวบ ต้องมีผู้ใหญ่อยู่ด้วยเสมอ
๒. การเล่นต้องใส่อุปกรณ์เสริมความปลอดภัย ทุกครั้ง ประกอบด้วยหมวกนิรภัย สนับข้อมือ (wrist guard) สนับศอก (elbow guard) และสนับเข่า (knee guard)
เนื่องจากการบาดเจ็บที่ข้อมือจะพบได้บ่อยที่สุด คือประมาณร้อยละ ๔๐ ของการบาดเจ็บทั้งหมด และอาจรุนแรงถึงขนาดกระดูกหักและเคลื่อนได้บ่อย กลไกการบาดเจ็บเกิดจากการล้มในท่าเหยียดแขน ใช้มือยันพื้น และข้อมืออยู่ในท่างอพับมากเกินไป (hyperextension) ดังนั้น การป้องกันโดยเพิ่มความแข็งแรงของข้อมือโดยใช้แผ่นพลาสติกหรือโลหะเสริมข้อมือไม่ให้หักพับมากเกินไปได้จะช่วยลดการบาดเจ็บของข้อมือได้
มีการศึกษาพบว่า ผู้ใส่สนับข้อมือจะลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บได้ถึง ๖ เท่า การใส่สนับศอกและสนับเข่าจะลดการบาดเจ็บได้เช่นกัน อีกการศึกษาหนึ่งพบว่า สนับข้อมือ (wrist guard) จะลดการบาดเจ็บข้อมือลงได้ร้อยละ ๘๗ สนับศอกจะลดการบาดเจ็บข้อศอกร้อยละ ๘๒ และสนับเข่าจะลดการบาดเจ็บของหัวเข่าร้อยละ ๓๒
๓. ต้องเล่นในพื้นที่เตรียมไว้สำหรับเล่นโดยเฉพาะ หรือพื้นที่การเล่นต้องไม่เสี่ยงต่อการตกจากที่สูงและการถูกรถชน ต้องมีการออกแบบสนามหรือทางที่จะใช้เล่นให้เหมาะสมกับอุปกรณ์การเล่นแต่ละชนิด และต้องมีการดูแลสนามหรือทางที่จะใช้เล่นอย่างสม่ำเสมอ เช่น ไม่ให้มีสิ่งกีดขวาง เศษวัสดุที่จะเข้าไปติดพันลูกล้อ
พื้นที่เล่นอันตรายที่เด็กโตชอบเล่นมากคือบริเวณที่เป็นบันได และการเกาะติดรถที่กำลังวิ่ง ซึ่งจะนำไปสู่การบาดเจ็บรุนแรงได้ง่าย
๔. ผู้เริ่มหัดเล่นต้องได้รับการฝึกฝนและมีผู้ดูแล ใกล้ชิด เพื่อป้องกันการบาดเจ็บจากการตก หกล้ม การบาดเจ็บส่วนใหญ่มักเกิดในผู้เริ่มเล่นครั้งแรก ดังนั้น อย่าปล่อยให้เด็กหัดเล่นเองคนเดียว การเริ่ม เล่นครั้งแรกๆ จะต้องมีผู้ดูแลเสมอ ผู้ดูแลเองต้องมีความรู้ว่าจะระวัง จะฝึกเด็กผู้เล่นได้อย่างไร และจะต้องปฏิบัติตามข้อ ๑-๔ อย่างเคร่งครัด
๕. ผู้เล่นอุปกรณ์ลื่นไหลต้องได้รับการฝึกการล้มตัวที่ถูกวิธี เช่น การล้มแล้วหมุนตัว ไม่ใช่ล้มแล้วเอามือเหยียดยัน ซึ่งจะก่อให้เกิดการบาดเจ็บข้อมือได้มาก

ของเล่นที่ทำให้ขาดอากาศหายใจ
ของเล่นชิ้นเล็ก
ของเล่นชิ้นเล็กเป็นอันตรายต่อเด็กที่อายุน้อยกว่า ๓ ขวบ เด็กอายุ ๔ เดือนจะเริ่มเอามือทั้ง ๒ ข้างมาจับกุมกันตรงกลางแล้วเอาเข้าปากดูดอม ต่อมาจะไขว่คว้าเอาของเข้าปากได้ เด็กทารกจะเรียนรู้สิ่งแวดล้อมโดยการใช้ปากเป็นหลัก ของเล่นที่มีความกว้างน้อยกว่า ๓.๗๑ เซนติเมตร จึงไม่ควรให้เด็กเล่นหรือหยิบได้ถึง เพราะหากเด็กเอาเข้าปากแล้วสำลัก จะทำให้ติดคอจะอุดตันทางเดินหายใจได้

กุ๊งกริ๊ง
กุ๊งกริ๊งเป็นของเล่นเขย่าเสียงดัง (Rattle) เป็นของเล่นคู่กับเด็กมานาน เมื่อเด็กอายุได้ ๔ เดือนจะสามารถใช้มือกำแล้วเขย่าไปมา จะเกิดเสียงกุ๊งๆ กริ๊งๆ กุ๊งกริ๊งมีหลายแบบทั้งแบบวงกลม วงแหวน มีด้ามถือ หรือเป็นเส้นสายยาวที่ใช้ผูกเปลนอนสำหรับเด็กเล็กเพื่อให้คุณหนูใช้มือตบไปมาแล้วจะเกิดเสียงกุ๊งๆ กริ๊งๆ ในมุมตรงข้ามนอกจากคุณประโยชน์ที่ได้ในการฝึกพัฒนาการเด็กแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดอันตรายได้หลาย ประการซึ่งพ่อแม่พึงรู้ไว้คือ

การอุดตันทางเดินหายใจ
กุ๊งกริ๊งที่ถูกออกแบบมาไม่ถูกต้องมีชิ้นส่วนที่มีขนาดเล็ก หรือ ถูกผลิตโดยที่มีความแข็งแกร่งไม่เพียงพอ เกิดการแตกหักง่ายกลายเป็นวัสดุชิ้นเล็กๆ ได้ ซึ่งเมื่อเด็กนำเข้าปากจะเกิดการสำลักและอุดตันหลอดลมได้โดย ง่าย วัสดุที่มีขนาดเล็กกว่า ๓.๗๑ เซนติเมตร (๑.๒๕ นิ้ว) และมีความยาวสั้นกว่า ๕.๑๗ เซนติเมตร (๒.๒๕ นิ้ว) เมื่อเด็กนำเข้าปากและสำลักสามารถก่อให้เกิดทางเดินหายใจ อุดตันได้
การอุดตันทางเดินหายใจจะทำให้สมองขาดออกซิเจนอย่างกะทันหัน ซึ่งมีเวลาเพียง ๔-๕ นาที ที่สมองจะคงทนอยู่ได้ ถ้านานกว่านี้จะเกิดภาวะสมอง ตายซึ่งไม่สามารถรักษาให้กลับคืนสู่ปกติได้

กุ๊งกริ๊งที่เป็นด้ามยาวเพื่อให้เด็กกำถือเขย่า ถ้าปลายด้ามมีขนาดเล็กในขนาดที่เด็กเอาเข้าปากได้ จะสามารถแทงรบกวนคอเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กในท่านอนราบที่เอาด้ามกุ๊งกริ๊งเข้าปากจะทำให้อาเจียน สำรอกเอาอาหารที่กินเข้าไปอยู่ในกระเพาะอาหารออกมาและก่อให้เกิดการสำลักเข้าหลอดลมอุดตันทางเดินหายใจได้
อันตรายจากสีที่ใช้ในการผลิตกุ๊งกริ๊ง กุ๊งกริ๊งที่ผลิตจากโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ได้รับการควบคุม โดยมาตรฐานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็น การผลิตแบบท้องถิ่น และถูกวางขายในตลาดหรือร้านค้าเล็กๆ ทั่วๆ ไป อาจถูกผลิตโดยวัสดุที่มีสารพิษ ใช้สีที่มีสารตะกั่ว สังเกตได้ง่ายว่ากุ๊งกริ๊งแบบนี้จะมีราคาค่อนข้างถูก สีสดใสมาก ลักษณะของสีหลุดลอก ง่าย เอาเล็บขูดดูจะพบว่ามีสีติดเล็บออกมา หรือมีสีลอกเป็นแผ่นๆ พ่อแม่ควรหลีกเลี่ยงกุ๊งกริ๊งแบบนี้ให้ลูก
การเลือกกุ๊งกริ๊งที่ปลอดภัย เลือกกุ๊งกริ๊งที่ไม่มีชิ้นส่วนขนาดเล็กกว่า ๓.๗๑ เซนติเมตร และสั้นกว่า ๕.๑๗ เซนติเมตรที่สามารถหลุดออกจากโครงสร้างหลักได้
หากกุ๊งกริ๊งไม่มีชิ้นส่วนเล็กๆ ต้องดูด้วยว่ากุ๊งกริ๊งนั้นมีความแข็งแกร่งคงทน ไม่แตกเปราะง่ายหรือไม่ เพราะหากแตกเปราะได้ง่ายก็จะกลายเป็นชิ้นส่วนเล็กที่สามารถอุดตันทางเดินหายใจได้อยู่ดี
ไม่มีด้ามยาว หรือถ้ามีด้ามยาวปลายด้ามต้องใหญ่พอที่เด็กจะไม่สามารถเอาเข้าปากได้ วิธีทดสอบ อีกวิธีหนึ่งคือปลายด้ามทั้งสองข้างต้องไม่สามารถลอดช่องซึ่งมีขนาด ๓.๕-๕ เซนติเมตรได้
ไม่ผลิตโดยวัสดุมีพิษ ไม่มีสีที่หลุดลอกง่าย และที่สำคัญคือต้องผ่านการตรวจสอบรับรองมาตรฐานการผลิตโดยกระทรวงอุตสาหกรรม

ลูกโป่ง
ลูกโป่งไม่ได้สร้างความสนุกอย่างเดียว ยังสร้าง ความเสี่ยงต่ออันตรายอีกด้วย
ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้รายงานการตายของ เด็กจากลูกโป่งถึง ๑๑๐ รายในเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๐-๒๕๔๔ สาเหตุการตายเกิดจากการอุดตันทางเดินหายใจโดยเศษลูกโป่งหรือลูกโป่งที่ยังไม่ได้เป่า เด็กส่วนใหญ่ที่ตายอายุน้อยกว่า ๖ ขวบ
อย่างไรก็ตาม มีรายงานการอุดตันทางเดินหายใจจากลูกโป่งในเด็กที่อายุมากกว่า ๖ ขวบแต่ช่วยเหลือได้ทัน
พฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการอุดตันทางเดินหายใจโดยลูกโป่งนั้นมี ๒ แบบ
แบบที่หนึ่งคือเด็กเป่าลูกโป่งเอง ในขณะเป่านั้น จังหวะที่เด็กต้องการหายใจเข้าเพื่อเติมลมในปอด นั้นจะต้องดูดอากาศเข้าอย่างแรงโดยมีลูกโป่งจ่ออยู่ที่ริมฝีปาก ทำให้เกิดโอกาสที่ลูกโป่งจะถูกดูดเข้าไปในปากและลงไปในหลอดลมเกิดการอุดตันทางเดินหายใจได้
อีกพฤติกรรมหนึ่งคือการที่เด็กเอาลูกโป่งที่ยังไม่ได้เป่าเข้าปากแล้วอมไว้หรือเคี้ยวเล่น การเผลอ ของเด็ก การวิ่ง ปีนป่าย หรือหัวเราะ อาจทำให้สำลัก ลูกโป่งที่อมไว้นั้นเข้าปอดเกิดการอุดตันทางเดินหายใจได้
เศษลูกโป่งที่แตกแล้ว ก่อให้เกิดความเสี่ยงแบบเดียวกันได้ทั้งสองกรณี คือการเอาเศษลูกโป่งมายืดออกไว้ที่ริมฝีปากและเป่า ในจังหวะหายใจเข้า เศษลูกโป่งอาจจะถูกดูดเข้าไปในปากและสำลักลงหลอดลม หรือการเอาเศษลูกโป่งอมเคี้ยวในปาก
การป้องกันอันตรายจากลูกโป่ง
๑. ไม่อนุญาตให้เด็กๆ อายุน้อยกว่า ๘ ขวบ เล่นลูกโป่งที่ยังไม่เป่า
๒. ผู้ใหญ่ต้องเป็นคนเป่าลูกโป่งให้เด็กๆ ที่อายุ น้อยกว่า ๘ ขวบเท่านั้น
๓. ห้าม...เด็กอมลูกโป่งเข้าปาก
๔. ลูกโป่งที่แตกแล้ว ต้องเก็บเศษลูกโป่งให้หมดทันที อย่าให้เด็กเล่นโดยเด็ดขาด
๕. เด็กที่เล่นลูกโป่งที่เป่าลมแล้วต้องมีผู้ใหญ่เฝ้าดูอยู่ใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เล่นตามลำพัง
๖. สอนเด็ก อย่าให้เล่นลูกโป่งใกล้หน้า ใกล้ตา เพราะหากเกิดการแตก แรงระเบิดจะเป็นอันตรายต่อใบหน้าและตาได้

ของเล่นแปลกประหลาด
ผิดกฎหมาย แต่ขายได้‰

ของเล่นที่แปลก ประหลาดที่นำเข้ามาโดยผิดกฎหมาย ไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานมีหลายชนิด เช่น ตัวดูด ตัวอมน้ำ ซึ่งผลิตและนำเข้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีน
ตัวดูดนี้เป็นตุ๊กตาตัวเล็ก เมื่อนำไปแช่น้ำแล้ว สามารถขยายได้มากกว่า ๒๐๐ เท่า และมีมากว่า ๒๐ ปีแล้ว ปรากฏอยู่ในตลาดเมืองไทย ตามแต่ความเข้มงวดของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้เคยทดสอบเจ้าตัวดูดน้ำพบว่า มีความคงทนต่อน้ำย่อย หมายถึง ไม่ถูกกัดกร่อนโดยน้ำย่อย แต่สามารถขยายตัวได้แม้อยู่ในน้ำย่อย หากเด็กกลืนลงกระเพาะอาหารและลำไส้ จะสามารถขยายตัวและอุดตันลำไส้ได้ หรือยิ่งร้ายกว่านั้น อาจสำลักเข้าสู่ˆหลอดลม อาจขยายทำให้เกิดการอุดตันหลอดลมและยากต่อ การนำออก เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้‰

ของเล่นเสียงดัง
"เสียงที่ระดับ ๘๕ เดซิเบล มีอันตรายเมื่อได้ยินติดต่อกันนานเกินกว่า ๘ ชั่วโมง
เสียงที่ระดับ ๑๐๐ เดซิเบล หากได้ยินนานเกิน กว่า ๑๕ นาทีโดยไม่มีสิ่งป้องกันจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อโสตประสาทได้
สำหรับเสียงที่ดังเกินกว่า ๑๓๐ เดซิเบล จะทำให้เกิดความเสียหายต่อโสตประสาทในเวลาเพียง ๒ นาที"Ž


สำหรับเด็กนั้นเสียงที่ใกล้ตัวมากที่สุดคือเสียงของของเล่น
ในปี พ.ศ.๒๕๒๘ Dr. Alf Axelson และ Thomas Jerson จากมหาวิทยาลัย Goetborg ในประเทศสวีเดน ได้เป็นคนแรกที่รายงานการศึกษาอันตรายจากของเล่นที่มีเสียง โดยได้ทำการวัดระดับเสียงของเล่นต่างๆ
ที่ระยะห่าง ๑๐ เซนติเมตร พบว่าของเล่นประเภทกดบีบ (squeak toy) ทำให้เกิดเสียง ๗๘-๑๐๘ เดซิเบล ของเล่นเคลื่อนไหวได้ (เช่น รถ หุ่นยนต์) ทำให้เกิดเสียง ๘๒-๑๐๑ เดซิเบล
ที่ระยะ ๕๐ เซนติเมตรของเล่นประเภทปืนยังสามารถสร้างเสียงได้ถึง ๑๕๓ เดซิเบล
ที่ระยะ ๓ เมตรประทัด ๕ ชนิดสามารถสร้างเสียงได้ถึง ๑๒๕-๑๕๖ เดซิเบล
การศึกษาของ Greg Noel นักวิจัยจากศูนย์-วิจัยการพูดและการได้ยิน Nova scotia ในประเทศแคนาดา พบว่าของเล่นเสียงดังหลายอย่างเป็นอันตรายต่อประสาทการได้ยิน Noel กล่าวว่า

"แม้ว่าของเล่นที่ก่อให้เกิดเสียงดังกว่า ๑๐๐ เดซิเบล จะถูกห้ามขายในตลาดประเทศแคนาดา แต่สถานการณ์นี้ก็ยังไม่น่าพอใจ ของเล่นถูกทดสอบอยู่ในสิ่งแวดล้อมของห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งสภาพดังกล่าวไม่ใช่สภาพความเป็นจริง"Ž

ศูนย์วิจัยแห่งนี้ได้ทำการสำรวจเสียงที่เกิดจากของเล่นต่างๆ ทั้งประเภทเกมคอมพิวเตอร์ รถยนต์ ตุ๊กตากดบีบให้มีเสียง พบว่าของเล่นเหล่านี้ยังคงสามารถก่อให้เกิดเสียงดังกว่า ๑๐๖ เดซิเบล ซึ่งหากได้ยินเสียงนั้นนานๆ หรือได้รับซ้ำๆ ประสาทการได้ยินจะเสียหายได้เช่นกัน

ในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า ๕ ขวบยิ่งมีความเสี่ยงสูง เพราะช่องหูของเด็กเหล่านี้ยังมีขนาดเล็กและกำลังเจริญเติบโต จะทำให้เสียงที่ผ่านเข้ามาเพิ่มขนาดได้สูงขึ้นถึงอีก ๓๐ เดซิเบล

พฤติกรรมของเด็กในการเล่นมีความเสี่ยงสูงเช่นกัน Noel กล่าวว่า "เด็กชอบมากที่จะเอาของเล่นมาแนบกับหูตัวเองหรือหูเพื่อน และเปิดสวิตช์หรือกดบีบเพื่อให้ของเล่นของตัวเองมีเสียงดังเกิดขึ้น ซึ่งการกระทำนี้จะทำให้เกิดความชำรุดเสียหายของประสาทการได้ยินของพวกเขาได้"Ž
ผู้ดูแลเด็กควรต้องระวังอันตรายจากเสียงต่อเด็ก การศึกษาของเล่นบางชนิดพบระดับเสียงที่น่ากังวลใจ ของเล่นที่เด็กเล่นเป็นประจำสามารถทำให้เกิดเสียงที่อาจเป็นอันตรายต่อเด็กได้ เช่น

ประเภทของเล่น                                               ระดับเสียง (เดซิเบล)
ของเล่นประเภทไซโลโฟน                                   ๑๒๙
ที่ระยะห่าง ๑ ฟุต
ของเล่นประเภทกลอง แตร กีตาร์                        ๑๒๒
กุ๊งกริ๊ง                                                                  ๑๑๐
เครื่องเป่า ทรัมเป็ต                                              ๙๕
ของเล่นประเภทโทรศัพท์                                     ๑๒๓-๑๒๙
ของเล่นที่มีการขยายเสียง                                    เกิดเสียงได้สูงถึง ๑๓๕
ของเล่นประเภทปืน                                               เกิดเสียงได้สูงถึง ๑๕๐

การป้องกัน
ข้อแนะนำผู้ดูแลเด็กเพื่อป้องกันโสตประสาทเด็กคือ ต้องรู้จักเลือกของเล่นให้เด็กเหมาะสมตามวัย อย่าซื้อของเล่นเสียงดังให้ ถ้าไม่แน่ใจทำให้เกิดเสียงดังข้างๆ หูตัวเองว่าดังมากหรือน้อยเพียงใด สอนเด็กให้เล่นถูกวิธี ไม่ทำเสียงดังใส่หูกันและกัน ถ้าจำเป็นต้องปิดเทปที่หวีดเสียงในของเล่นบางชนิด หรือของเล่นที่เป็นสวิตช์บังคับเสียง ให้ล็อกสวิตช์เสียงไว้ไม่ให้สามารถขยายเสียงได้

ในประเทศไทย กระทรวงอุตสาหกรรมมีมาตรฐานควบคุมของเล่นเสียงดังไว้แล้ว โดยกำหนดว่าของเล่นที่มีเสียงดังแบบไม่ต่อเนื่อง แต่ละครั้งก่อเสียงไม่นานเกินกว่า ๑ วินาที ต้องมีระดับเสียงอยู่ที่ ๑๐๕-๑๑๐ เดซิเบล หากของเล่นก่อเสียงต่อเนื่องเกินกว่า ๑ วินาที ระดับเสียงถูกควบคุมไว้ที่ ๗๕-๘๕ เดซิเบล
อย่างไรก็ตาม ของเล่นเหล่านี้ยังคงมีเกลื่อนตลาด ไม่มีการตรวจจับของเล่นที่ก่อเสียงเกินมาตรฐานอย่างจริงจัง เด็กๆ ยังคงต้องตกอยู่ในความ เสี่ยงต่อไปทั้งๆ ที่มีกฎหมายรองรับแล้ว คงจะถึงเวลาแล้วที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรท้องถิ่น และครอบครัว ต้องร่วมมือกันเป็นสามประสาน จัดการกับของเล่นที่ไม่มีมาตรฐานให้หมดไปจากตลาด
ของเล่นประเภทปืน เกิดเสียงได้สูงถึง ๑๕๐

 

 

 

 


 

ข้อมูลสื่อ

311-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 311
มีนาคม 2548
ผศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์