• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โยคะกับความอ้วน (๓)

เราได้คุยกันไปถึงปัจจัยพื้นฐานของการดูแลสุขภาพในการควบคุมความอ้วน  ก็คือ" ศึกษาเข้าใจตนเอง" ไปในบทแรก  จากนั้นเราได้คุยกันถึงวิถีปฏิบัติที่สำคัญยิ่งต่อการลดความอ้วน อันได้แก่" การเคี้ยวอย่างน้อย ๓๐ ครั้งต่อคำ" ไปแล้ว คราวนี้เรามาคุยกันต่อเรื่องทัศนคติของโยคะต่อการกิน ตามตำราโยคะโบราณ โดยมีประเด็น ที่น่าสนใจอยู่ ๒ ประการ ดังนี้

ปริมาณอาหาร
ประการแรก โยคะแนะนำให้เราแบ่งกระเพาะอาหาร เป็น ๔ ส่วน  เวลากินให้เติมอาหารที่เป็นของแข็งเป็นกากใย ๒ ใน ๔ ส่วน หรือครึ่งกระเพาะให้เติมอาหารที่เป็น ของเหลว รวมทั้งน้ำ ๑ ใน ๔ ส่วน ที่เหลืออีก ๑ ใน ๔ ส่วน นั้นปล่อยว่างไว้สำหรับอากาศ  กล่าวคือ โยคะแนะนำว่า "อย่ากินจนอิ่ม"

การเหลือพื้นที่ว่างไว้ในกระเพาะ ๑ ใน ๔ ส่วนเป็นเรื่องจำเป็นมาก เพราะเป็นการกันพื้นที่ไว้สำหรับให้กระเพาะสามารถย่อยอาหารได้โดยสะดวกนั่นเอง คิดว่าทุกคนคงจำความรู้สึกอึดอัดทรมานจากความอิ่มตื้อได้ดี ซึ่งสำหรับโยคะแล้ว การกินอาหารจนแน่นท้องเป็นเรื่องไม่สมควรอย่างยิ่งทีเดียว ข้อแนะนำที่เป็นรูปธรรมคือ ให้เราฝึกหยุดกินก่อนจะเริ่มรู้สึกอิ่ม เช่น เราเคยตักอาหารกิน ๑๐ ช้อนแล้วรู้สึกอิ่ม ก็ให้กินถึงช้อนที่ ๗ หรือ ๘ แล้วหยุด

เมื่อตระหนักในข้อเท็จจริงนี้แล้ว เราหวังว่าผู้อ่านที่ชอบไปกินอาหารแบบบุฟเฟต์ (คือจ่ายสตางค์ในจำนวน   ที่ทางร้านกำหนด แล้วกินอาหารได้ทุกอย่างโดยไม่จำกัด) คงจะไตร่ตรองเสียใหม่ บางครั้งเราไปมองในเชิงผลประโยชน์ จ่ายสตางค์ไปเท่านี้ อย่างนี้ฉันต้องกินให้คุ้ม ยิ่งกินมากเท่าไร ยิ่งกระหยิ่มใจ รู้สึกว่าเราได้เปรียบ หากพิจารณาใน แง่ของสุขภาพของระบบย่อยอาหารเราแล้ว ขอยืนยันว่าไม่คุ้มเลย

อีกกรณีหนึ่งที่พบเห็นอยู่ทั่วไปคือ กิจกรรมแข่งกันกิน ซึ่งทางผู้จัดกิจกรรมที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ที่หวังเพียงความ สนุกสนาน สร้างความบันเทิง  เพื่อนๆ ที่เชียร์ก็ส่งเสริมกันเต็มที่ ผู้แข่งขันก็ฮึกเหิมเต็มที่เช่นกัน บ้างทำกันเป็นงานเป็นการ มีการถ่ายทอดออกทางโทรทัศน์เลย ที่น่าสังเกตคือตอนแข่งก็สนุกสนานกันไป แต่ไม่เห็นเคยมีใครตั้งคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับผู้เข้าแข่ง หลังกินเสร็จแล้ว?

ประสิทธิภาพในการย่อย
ประการที่สอง แม้โยคะจะไม่ได้กล่าวถึงการกินมากนัก แต่โยคะกลับพูดถึงการย่อย พูดถึงประสิทธิภาพของการย่อยไว้อย่างพิสดาร โยคะเชื่อว่า ของที่กินนั้นไม่สำคัญ เท่าของที่ย่อย  (และดูดซึมไปเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย)  โยคะถึงกับกล่าวว่า อาหารที่ย่อยได้คืออาหารที่ดี และอาหารที่ย่อยไม่ได้หรือไม่ทันได้ย่อยคืออาหารที่เลว หรืออาหารที่เป็นพิษ ด้วยทัศนคติเช่นนี้ โยคะจึงมีเทคนิคต่างๆ เพื่อพัฒนาระบบย่อยอาหารของเราให้ทำงานได้เต็มประ-สิทธิภาพอย่างมากมาย ท่าโยคะอาสนะที่นิยมฝึกกันเป็นที่แพร่หลายก็เอื้อต่อระบบย่อยอาหารเป็นอย่างมาก (ขอย้ำเป็นครั้งที่ ๕๐๐ ว่า ท่าโยคะอาสนะไม่ใช่การออกกำลังกาย) เรามาลองพิจารณาข้อความในตำราโยคะหฐปฏิปิกะ  ดังนี้

มยุราอาสนะ (ท่านกยูง) จะค่อยๆ ขจัดโรคต่างๆ ทั้งในม้ามและในกระเพาะอาหาร ปัดเป่าความผิดปกติของ น้ำย่อย ปรับกรดย่อยอาหารให้พอเหมาะพอดี ทำให้กระบวนการย่อยอาหารดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะย่อยอาหารปกติ ย่อยอาหารที่มากเกิน ตลอดจนย่อยได้แม้กระทั่งพิษ เมื่อตระหนักถึงคุณภาพการย่อย ว่ามีความสำคัญไม่แพ้คุณภาพของอาหาร เราก็จะใส่ใจต่อ การย่อยไปพร้อมๆ กับการกิน กล่าวคือ เลือกกินอาหารที่เป็นประโยชน์พร้อมๆ กับการดูแลสุขภาพ ดูแลระบบย่อยอาหารให้ทำงานได้เป็นปกติ 

จากข้อมูลทั้ง ๒ ข้างต้น ผู้ใส่ใจในสุขภาพของตนก็จะตระหนักในเรื่ององค์ประกอบของการกิน มองเห็นภาพรวมในการกินมากขึ้น  ทำให้เรามีสุขภาพที่เป็นปกติ ตลอดจนมีน้ำหนักตัวที่เป็นปกตินั่นเอง
                                                                                                                                            (ยังมีต่อ)

ข้อมูลสื่อ

286-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 286
กุมภาพันธ์ 2546
โยคะ
กวี คงภักดีพงษ์