ถาม สงสัยว่าเป็นพยาธิ ควรใช้ยาชนิดใดในการรักษา
พยาธิที่ก่อปัญหาในคน
เรื่อง พยาธิ เป็นปัญหาหนึ่งที่ยังพบได้บ่อยและชุกชุมในประเทศไทย พยาธิเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่สร้างปัญหาเบียดเบียนมนุษย์และสัตว์หลายชนิด ทำให้เกิดโรคในคนและสัตว์ได้ ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะพยาธิที่ก่อปัญหาในลำไส้ของคนเท่านั้น ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยที่สุด
พยาธิลำไส้ที่ทำให้เกิดโรคในคน แบ่งตามลักษณะ รูปร่างของตัวพยาธิได้เป็น ๒ ชนิด คือ พยาธิตัวกลม และพยาธิตัวแบน
ตัวอย่างของพยาธิตัวกลมที่พบในลำไส้ของคน ได้แก่ พยาธิไส้เดือน พยาธิเส้นด้าย พยาธิแส้ม้า พยาธิปากขอ พยาธิตัวจี๊ด เป็นต้น
ส่วนพยาธิตัวแบนที่พบบ่อยในคน ได้แก่ พยาธิตัวตืดหมู พยาธิตัวตืดวัว และพยาธิใบไม้ในตับ เป็นต้น
จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นพยาธิ?
เนื่องจากพยาธิส่วนใหญ่ติดต่อถึงคนได้โดยการกิน ไข่ของพยาธิเข้าไปในร่างกาย (ไข่ของพยาธิจะมีขนาดเล็กมากที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ ในการตรวจค้นหาไข่ของพยาธิจึงจะเห็นได้) ไข่ของพยาธิอาจปนเปื้อนอยู่ในอาหารและน้ำที่กินเข้าไป มีเพียงพยาธิปากขอเท่านั้นที่ชอนไชผ่านผิวหนังของคนที่ไม่ใส่รองเท้า
อุปนิสัยและรสนิยมในการกินอาหารดิบและน้ำที่ไม่สะอาด
เรื่องอุปนิสัยและรสนิยมในการกินอาหาร จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญช่วยตอบข้อสงสัยว่า ตนเองมีโอกาสติดเชื้อพยาธิได้หรือไม่ เพราะถ้านิยมกินอาหารที่ไม่สะอาด ดิบๆ ก็มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อพยาธิได้ง่าย ตัวอย่างเช่น ผักสดที่ไม่ได้ล้าง เนื้อดิบ ลาบเลือด ปลา-ก้อย น้ำที่ไม่สะอาด เป็นต้น เพราะฉะนั้นในการกินอาหารจึงควรทำความสะอาดหรือปรุงอาหารให้สุกก่อนกินทุกครั้ง ด้วยการล้างผักสด หรือ กินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกแล้วเท่านั้น
อาการของการเป็นพยาธิ
อีกประเด็นหนึ่งที่ช่วยยืนยันการติดเชื้อพยาธิ คือ อาการที่ปรากฏออกมาเมื่อมีพยาธิในลำไส้ ด้วยการปรากฏให้เห็นตัวพยาธิไชออกมาทางทวารหนัก หรือออกมาปะปนกับอุจจาระ เช่น
- พยาธิเส้นด้ายที่มักออกมาวางไข่ที่รูเปิดของทวารหนักในเด็กเล็กตอนกลางคืน ทำให้เกิดอาการคันก้น ทำให้เด็กเล็กนอนไม่หลับ และร้องไห้โยเย
- หรือในผู้ใหญ่ที่นิยมกินลาบเลือด หรืออาหารอื่นๆ ที่ปรุงจากเนื้อหมูหรือเนื้อวัวดิบ ก็อาจทำให้เกิดโรคพยาธิตัวตืดได้ เมื่อพยาธิเหล่านี้เจริญเติบโตในลำไส้จนเป็นตัวแก่ ส่วนของข้อหรือปล้องของตัวพยาธิตัวตืดที่แก่จัด จะหลุดออกจากตัว และออกมาทางรูทวารหนัก มีลักษณะเป็นแถบขาวๆ หรือปนมากับอุจจาระได้
นอกจากนี้ ในผู้ที่ติดเชื้อพยาธิตัวจี๊ด อาจมีอาการคันตามผิวหนังจากการที่พยาธิตัวเล็กๆ ชอนไชในชั้นใต้ผิวหนังได้
การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
ในทางการแพทย์ที่ต้องการพิสูจน์ว่า มีพยาธิในลำไส้ จริงหรือไม่นั้น อาจใช้ในการตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งอาจตรวจได้จากการนำสก็อตเทปไปแปะที่ก้นของเด็ก เพื่อยึดเกาะไข่พยาธิเส้นด้ายที่อยู่รอบๆ รูทวารหนัก แล้วนำมาติดบนแผ่นแก้วใสบาง ไปดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ก็จะพบไข่ของพยาธิ ถ้ามีการวางไข่ที่รูทวารหนัก ซึ่งช่วยยืนยันการเป็นพยาธิเส้นด้าย วิธีการนี้เรียกกันว่า สก็อต-เทปเทคนิค
อีกวิธีหนึ่ง คือ การนำอุจจาระของผู้สงสัยว่า จะมีการติดเชื้อพยาธิ มาตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งอาจตรวจพบไข่ของพยาธิชนิดต่างๆ ซึ่งแต่ละชนิดจะมีลักษณะรูปร่างเฉพาะ เป็นการช่วยยืนยันการติดเชื้อได้อย่างดี
เมื่อเป็นพยาธิ ควรใช้ยาชนิดใดรักษา
การรักษาพยาธิในปัจจุบันมีความก้าวหน้ามาก มีการประดิษฐ์คิดค้นยาที่รักษาได้ผลดี แต่เกิดอาการข้างเคียงน้อย ในการรักษาโรคพยาธิลำไส้ แบ่งตามชนิดของพยาธิที่เป็น ดังนี้
ยารักษาพยาธิตัวกลม
ถ้าผู้ป่วยติดเชื้อพยาธิตัวกลม ไม่ว่าจะเป็น พยาธิไส้เดือน พยาธิเส้นด้าย พยาธิแส้ม้า ก็สามารถใช้ยา มีเบนดาโซล (mebendazole) หรืออัลเบนดาโซล (alben-dazole) รักษาได้ผลดี
ในเด็กตั้งแต่ ๒ ขวบจนถึงผู้ใหญ่ ควรใช้ยามีเบน-ดาโซลขนาด ๕๐๐ มิลลิกรัม หรืออัลเบนดาโซลขนาด ๔๐๐ มิลลิกรัม กินครั้งเดียวก็เพียงพอในการรักษา มีทั้งชนิดเม็ดและชนิดน้ำ
ในกรณีที่เป็นยามีเบนดาโซลชนิดน้ำ มักบรรจุในขวด ๓๐ ซีซี ประกอบด้วยตัวยา ๖๐๐ มิลลิกรัม หรือมีตัวยา ๑๐๐ มิลลิกรัมต่อ ๕ ซีซี หรือ ๑ ช้อนชา ซึ่งในทางปฏิบัติจะไม่นิยมให้เด็กกินครั้งเดียว ๕๐๐ มิลลิกรัม หรือ ๕ ช้อนชา (๒๕ ซีซี) เพราะอาจมีปริมาณมากเกินไปสำหรับเด็กที่จะต้องกินครั้งเดียว ซึ่งแก้ไขโดยการ แบ่งให้กินครั้งละ ๑ ช้อนชา วันละ ๒ ครั้ง หลังอาหาร เช้า เย็น ติดต่อกัน ๓ วัน
และสำหรับในผู้ป่วยที่เป็นเด็กเล็กอายุ ๑-๒ ขวบ และเป็นพยาธิตัวกลมเหล่านี้ แนะนำให้ใช้ยาอัลเบนดา-โซล ๒๐๐ มิลลิกรัม ครั้งเดียว (ขนาดครึ่งหนึ่งของเด็กตั้งแต่ ๒ ขวบจนถึงผู้ใหญ่)
ยารักษาพยาธิตัวตืด
ในกรณีที่ติดเชื้อพยาธิตัวตืดทั้งชนิดตัวตืดหมูและตัวตืดวัว ควรใช้ยานิโคลซาไมด์ (niclosamide) ขนาดเม็ดละ ๕๐๐ มิลลิกรัม ครั้งเดียว ๔ เม็ด ควรเคี้ยวก่อนกลืน ในตอนกลางคืนก่อนเข้านอน โดยก่อนใช้ยานี้ประมาณ ครึ่งชั่วโมง-๑ ชั่วโมง ควรได้รับยาแก้อาเจียน เช่น ดอม-เพอริโดน หรือเมโทรโคลพราไมด์ เป็นต้น เพื่อป้องกันการอาเจียน และหลังจากกินยานิโคลซาไมด์แล้ว ๑ ชั่วโมง ควรกินยาระบาย เช่น บิสโคดิล เพื่อเร่งการบีบตัวของลำไส้ไล่พยาธิออกจากลำไส้
ยารักษาพยาธิใบไม้ในตับ
พยาธิใบไม้ในตับมักเกิดกับผู้ป่วยที่นิยมกินปลา กุ้ง หอย ดิบๆ เช่น ปลาก้อย เป็นต้น
ในการรักษาพยาธิใบไม้ในตับ ควรใช้ยาพราซิ-ควานเทล (praziquantel) ในขนาด ๒๕ มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน ๑-๓ วัน ติดต่อกัน
สมุนไพรในการรักษาพยาธิ
ในประเทศไทยมีการใช้สมุนไพร คือ มะเกลือ (ผลดิบ) และปวกหาด ในการกำจัดพยาธิ มีการใช้อยู่บ้างในบางแห่ง แต่ต้องระมัดระวังให้ดีโดยเฉพาะการใช้ มะเกลือต้องใช้ผลดิบ ห้ามใช้ผลมะเกลือสุก เพราะอาจเป็นพิษทำให้ตาบอดได้
การป้องกันในการติดเชื้อพยาธิ
เมื่อรักษาจนหายดีแล้ว ก็ควรป้องกันไม่ให้ติดเชื้อพยาธิอีก ด้วยการกินอาหารที่สะอาด และปรุงสุกแล้ว และก่อนการกินอาหารทุกครั้งควรล้างมือให้สะอาด โดยเฉพาะในเด็กที่วิ่งเล่นอยู่ตามพื้นทั่วๆ ไป
นอกจากนี้ ก็ควรสวมใส่รองเท้าอยู่เสมอเมื่อออกนอกบ้าน เพราะพยาธิปากขอสามารถชอนไชเท้าเข้าสู่ร่างกายติดต่อถึงคนที่ไม่สวมใส่รองเท้าได้
ควรได้รับการตรวจว่าติดเชื้อพยาธิ ก่อนการใช้ยาหรือไม่?
ในทางทฤษฎีควรได้รับการยืนยันว่าเป็นพยาธิด้วยการตรวจทางห้องปฏิบัติการก่อนการจ่ายยา แต่เนื่องจากการติดเชื้อพยาธิพบได้บ่อยในบ้านเรา ประกอบกับค่ายาในการรักษาใกล้เคียงหรือถูกกว่าค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ ดังนั้น ในทางปฏิบัติถ้าสงสัยหรือมีอาการของการเป็นพยาธิ จึงแนะนำให้ใช้ยาได้เลย ไม่ต้องเข้ารับการตรวจทางห้องปฏิบัติการก่อน
สุดท้ายนี้ หากมีข้อสงสัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยาหรือสุขภาพ เภสัชกรชุมชนที่ประจำอยู่ที่ร้านยาใกล้ๆ บ้านของท่าน ก็ยินดีให้บริการแก่ทุกท่าน
- อ่าน 55,686 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้