ครั้งหนึ่ง ขณะไปสำรวจปัญหาสุขภาพในหมู่บ้าน พบคุณยายอายุ ๗๐ ปี มาบ่นให้ฟังว่า "ทำไมเต้านม ๒ ข้างหนักขึ้นกว่าเดิมจังเลย" เมื่อซักถามเพิ่มเติม จึงทราบว่าคุณยายมีน้ำหนักตัวขึ้น ๑๐ กว่ากิโลกรัม ในระยะปีเศษที่ผ่านมา เหตุที่น้ำหนักขึ้นก็เพราะซื้อยาชุดแก้ปวดเข่ามากินวันละ ๒-๓ ชุด
คุณยายมีอาการปวดเข่าจากโรคข้อเข่าเสื่อมมาหลายปี ไปรักษาที่โรงพยาบาล ได้ยาแก้ข้ออักเสบมากินก็ไม่ทุเลา ทำให้มีปัญหาในการเดินเหินไปมา เพื่อนบ้านจึงแนะนำให้ไปซื้อยาชุดจากร้านขายยาในตลาดมากิน ปรากฏว่าได้ผลชะงัด ทำให้ เดินเหินไปไหนมาไหนได้คล่องแคล่ว จึงกินวันละ ๒-๓ ชุด มาตลอดนานเป็นปี
ดูจากลักษณะรูปร่างที่อ้วนฉุ แขนขาลีบ และพบมีก้อนไขมันพอกที่หลังคอ (ภาษาหมอเรียก "หนอกควาย" หรือ buffalo's hump) เข้าได้กับ "กลุ่มอาการคุชชิง" (Cushing's syndrome) ซึ่งมักเกิดจากได้รับยาสตีรอยด์มากเกินต่อเนื่องกันนานๆ เมื่อขอตัวอย่างยาชุดของคุณยายมาดู ก็พบว่ามีตัวยา เพร็ดนิโซโลน ซึ่งเป็นยาสตีรอยด์ผสมอยู่ด้วย ยานี้สามารถลดการอักเสบของข้อเข่าได้ชะงัด แต่กลายเป็น ที่มาของอาการหนักเต้านม เพราะอ้วนฉุจากกลุ่มอาการคุชชิง โรคนี้หากปล่อยไว้อาจมีอันตรายร้ายแรงได้ คราวนั้นจึงได้แนะนำให้คุณยายไปรักษากับแพทย์ที่โรงพยาบาลอย่างจริงๆ จังๆ เพื่อความปลอดภัย
อีกรายเป็นคุณป้าอายุ ๖๐ ปี หมอตรวจพบว่าเป็นเบาหวานระยะแรกเริ่ม ทั้งๆ ที่ไม่มีประวัติกรรมพันธุ์ของโรคเบาหวาน และการตรวจเช็กสุขภาพก่อนหน้านี้ไม่นาน ก็ไม่พบว่าเป็นเบาหวาน เมื่อ สอบถามประวัติเพิ่มเติมพบว่า คุณป้ากินยาลูกกลอนวันละ ๑-๒ เม็ด แก้โรคปวดเข่ามาได้นาน ๒-๓ สัปดาห์ หมอจึงสันนิษฐานว่าเบาหวานที่เป็น น่าจะเกิดจากยาสตีรอยด์ที่นิยมผสมอยู่ในยาลูกกลอน เมื่อลองให้คุณป้าหยุดกินยาลูกกลอน โรคเบาหวานก็หายไปในที่สุด
รายที่ ๓ เป็นคุณป้าอายุ ๖๕ ปี มีอาการเป็นลม ถูกญาติหามเข้าโรงพยาบาล คุณป้ามีอาการปวดเข่า กินยาลูกกลอนวันละ ๒-๓ เม็ด มานานหลายเดือน ก่อนเป็นลมมีอาการเป็นไข้ ท้องเสีย แล้วจู่ๆ ก็มีอาการหน้ามืดเป็นลม มือเท้าเย็น แพทย์ตรวจพบว่าเป็นภาวะช็อกจากโลหิตเป็นพิษ เนื่องจากการกินยาลูกกลอน ซึ่งมียาสตีรอยด์เจือปนมานาน ส่งผลให้ภูมิต้านทานโรคต่ำ เมื่อมีการติดเชื้อ (ไข้ ท้องเดิน) เชื้อโรคจึงลุกลามเข้ากระแสเลือด กลายเป็นโลหิตเป็นพิษได้รวดเร็ว รายนี้ต้องเข้าพักรักษา
ตัวอยู่ในห้องไอซียู เคราะห์ดีที่สามารถเยียวยาให้ปลอดภัยได้ แต่เสียเงินไปนับแสนบาท
ตัวอย่างผู้ป่วยทั้ง ๓ ราย ดังกล่าว ล้วนเกี่ยวข้องกับโรคปวดเข่า (เข่าเสื่อม ซึ่งพบมากในผู้หญิง สูงอายุ) และมีพฤติกรรมการใช้ยาอย่างผิดๆ คือ ซื้อยาสตีรอยด์กินเองในรูปของยาชุด ยาลูกกลอน จนเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ตามมา
ในบ้านเรามีผู้ที่เป็นโรคเข่าเสื่อมจำนวนมาก พบมากในคนสูงอายุและคนอ้วน สาเหตุเกิดจากการเสื่อมหรือสึกหรอของเข่าเนื่องจากการใช้งานมาก มักเป็นเรื้อรังตลอดชีวิต ผู้ป่วยมักทุกข์ทรมานจากอาการปวดเข่าเวลาเคลื่อนไหว จึงกลายเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยจึงนิยมแสวงหายามากินระงับปวดและการอักเสบ บางครั้งรู้สึกว่ายาที่หมอโรงพยาบาลให้มากินนั้นอ่อนไป คือ ยังไม่ดีเท่าที่ควร ก็จะไปซื้อยาชุด หรือยาลูกกลอนมากิน ยาเหล่านี้มักมียาสตีรอยด์ (เช่น ยาเพร็ดนิโซโลน ยาเดกซาเมทาโซน) ผสม แม้แต่ยาลูกกลอน ซึ่งรูปแบบเป็นยาแผนโบราณ แต่ผู้จำหน่ายจะแอบใส่ยาสตีรอยด์ดังกล่าวเข้าไปด้วย ดังที่เคยปรากฏเป็นข่าวที่ทางการไปจับกุมตามแหล่งผลิต (รวมทั้งวัดบางแห่ง)
ยาสตีรอยด์ (steroid ซึ่งบ้างก็เรียกว่า สเตอรอยด์ หรือสเตียรอยด์) มีฤทธิ์ลดการอักเสบ แก้ปวด และแก้แพ้ได้ผลดี ซึ่งทางแพทย์จะนำไปใช้รักษาโรคที่รุนแรง และใช้เพียงช่วงระยะสั้นๆ เนื่องจากมีข้อควรระมัดระวังมากมาย แต่ชาวบ้านจะนิยมนำมาใช้แก้อาการปวดเข่า ปวดเมื่อย โรคภูมิแพ้ โรคหืดที่ไม่รุนแรง เนื่องเพราะผู้ป่วยไม่อยากทนทุกข์ทรมานจากอาการไม่สบายเรื้อรัง เมื่อใช้ได้ผล ก็จะใช้ติดต่อกันไปนานๆ มิหนำซ้ำ จะแนะนำให้คนอื่นๆ ใช้ด้วย
ในบ้านเราจึงมีการใช้ยาสตีรอยด์ในรูปแบบของยาชุด ยาลูกกลอนอย่างพร่ำเพรื่อเกินจำเป็น ตามโรงพยาบาลใหญ่ๆ ทั่วประเทศจึงพบเห็นผู้ป่วยที่รับพิษภัยจากยาสตีรอยด์อยู่เนืองๆ
พิษภัยที่พบได้ เช่น ทำให้เกิดโรคเบาหวาน ความดันเลือดสูง โรคกระเพาะ กระดูกผุ กระดูกหัก สิวขึ้น หนวดขึ้น บวม เป็นต้น
พิษภัยที่ร้ายแรง คือทำให้เกิดกลุ่มอาการคุชชิง ผู้ป่วยจะมีน้ำหนักขึ้น (อ้วนฉุ) หน้ากลม แขน ขาลีบ ท้องลาย เกิดหนอกควาย (ไขมันพอก) ที่หลังคอ ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีภาวะต่อมหมวกไตฝ่อร่วมด้วย ถ้าเกิดหยุดกินยาสตีรอยด์ทันที ร่างกายก็จะขาดสารนี้ เพราะต่อมหมวกไตไม่สามารถสร้างสารนี้ได้เอง ก็อาจเกิดภาวะช็อกถึงขั้นเสียชีวิตได้
พิษภัยร้ายแรงอีกเรื่องหนึ่งคือ ยานี้จะกดภูมิต้านทานโรคของร่างกาย ทำให้ติดเชื้อรุนแรงได้ แม้มีการติดเชื้อเพียงเล็กน้อย (เช่น ท้องเสีย แผลถลอก) เชื้อก็อาจลุกลามจนกลายเป็นโลหิตเป็นพิษ หากเยียวยาไม่ทันก็อาจถึงแก่ชีวิตได้เช่นกัน
การใช้ยาสตีรอยด์ผิดๆ ดูเหมือนจะเป็น "โรคระบาด" ชนิดหนึ่งในบ้านเรา
เพื่อความปลอดภัยของคนไทย จึงขอฝากแฟนๆ หมอชาวบ้านได้ช่วยกันรณรงค์ ลดละการใช้ยาชนิดนี้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่เป็นโรคเข่าเสื่อม ซึ่งมักตกเป็นเหยื่อของปัญหานี้โดยการรู้เท่าไม่ถึงการณ์
- อ่าน 7,740 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้