• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บนเส้นทางหนังสือ (๓)

เรายังคุยกันเรื่องหนังสือ "ศิลปะแห่งความสุข" โดยท่านทะไล ลามะ เป็นตอนที่ ๓
ในวันที่จะเขียนต้นฉบับตอนที่ ๓ นี้ (๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘) พอดีเห็นในหนังสือพิมพ์มติชนเช้าวันนี้ ตามที่เอามาลงพิมพ์ไว้ให้ดู ปรากฏว่ามีผู้แปลหนังสือเล่มนี้ออกมาแล้ว คือ วัชรีวรรณ ชัยวรศิลป์ ผมรับทราบด้วยความยินดี เพราะอยากให้มีผู้แปลหนังสือดีๆ เป็นภาษาไทยให้มากที่สุด เพื่อเพิ่มทุนทางปัญญาให้สังคมไทย ขอให้ผู้ที่สนใจเรื่อง "ศิลปะแห่งความสุข" ไปหาอ่านดูจากต้นฉบับทั้งเล่มเถิด ทั้งฉบับภาษาอังกฤษ หรือฉบับแปลเป็นไทยก็ได้ อ่านซ้ำๆ ก็ดี สิ่งดีๆ จะซึมซาบเข้าไปในจิตใจเอง
ที่ผมนำมาเขียนนี้เป็นการจับความมาเล่าไม่ใช่การแปล แล้วก็จับเฉพาะบางแง่ บางมุมมาเล่า และเพิ่มเติมความคิดเห็นหรือ ประสบการณ์ส่วนตัวแทรกไปด้วย ถึงแม้เป็น เรื่องเดียวกัน อรรถรสก็คงจะแตกต่างกันไป ขอเชิญท่านเลือกเสพตามอัธยาศัยเถิด

บทที่ ๓
การฝึกจิตเพื่อความสุข

ผมดีใจที่มีบทเรื่อง การฝึกจิตเพื่อความสุข เพราะจิตนี้เราฝึกให้มีความสุขได้ และถ้าฝึกแล้วความสุขจะอยู่กับเราถาวรที่สุด ต่างจากทรัพย์สมบัติ หรือยศศักดิ์ชื่อเสียง เราต้องการความสุข แต่เราไม่ฝึกจิตเพื่อความสุข เราจึงไม่ได้ความสุข ฉะนั้น ข้อสังเกตในข้อนี้คือ ความสุขเป็นเรื่องที่ฝึกให้มีขึ้นได้

บนเส้นทางสู่ความสุข
เมื่อพูดถึงว่าฝึกจิตให้มีความสุข ไม่ได้หมายความว่าเราปฏิเสธความสำคัญของวัตถุ ความต้องการปัจจัย ๔ ทางวัตถุนั้นจำเป็น แต่เมื่อได้ปัจจัยพื้นฐานทางวัตถุแล้วไม่ใช่ว่าเราจะต้องการมีเงินมากขึ้น ต้องการชื่อเสียงมากขึ้น ต้องการความสวยงามทางร่างกายมากขึ้น ต้องการคู่ครองที่สมบูรณ์ อะไรทำนองนั้น แต่เรามีจิตที่เป็นเครื่องมือพื้นฐานที่จะทำให้เราพบความสุขที่สมบูรณ์ได้

ท่านทะไล ลามะ กล่าวว่า "เมื่อพูดถึงจิต มีหลายแง่หลายมุม เช่นเดียวกับเมื่อพูดถึงวัตถุ บางอย่างก็มีประโยชน์อย่างยิ่ง บางอย่างก็เป็นโทษ บางอย่างก็เป็นกลาง ฉะนั้น เมื่อเกี่ยวข้องกับวัตถุ เราก็แยกแยะว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ เราก็เอามาดูแลฟูมฟักให้เพิ่มพูน อันไหนเป็นโทษก็ขจัดไป

พูดถึงจิต ก็ทำนองเดียวกัน มีจิตหรือความคิดเป็นพันๆ อย่าง บางอย่างก็เป็นประโยชน์ที่เราควรจะฟูมฟัก บางอย่างก็เป็นโทษที่เราควรทำให้ลดน้อยถอยลง"Ž
"ดังนั้น ขั้นแรกในการแสวงหาความสุขคือการเรียนรู้
เราต้องเรียนรู้ว่า อารมณ์และพฤติกรรมทางลบมีผลร้ายต่อเราอย่างไร และอารมณ์ทางบวกมีผลดีต่อเราอย่างไร และเราต้องตระหนักรู้ว่าอารมณ์ทางลบนั้นไม่ได้มีผลร้ายต่อเฉพาะเราเป็นส่วนตัวเท่านั้น แต่ต่อสังคมและโลกทั้งหมดทีเดียว ความตระหนักรู้ดังกล่าวจะทำให้เราตั้งใจที่เอาชนะอารมณ์และพฤติกรรมทางลบได้
และก็ยังมีการตระหนักรู้ถึงประโยชน์ของอารมณ์และพฤติกรรมทางบวก เมื่อเราตระหนักรู้ดังกล่าว เราก็จะมีความตั้งใจที่จะรักษา ฟูมฟัก และเพิ่มพูนอารมณ์และพฤติกรรมทางบวก ไม่ว่าจะยากลำบากเพียงใด จะทำให้เกิดพลัง จิตขึ้นมาจากภายใน ด้วยการเรียนรู้ใคร่ครวญดังกล่าว โดยการเรียนรู้ที่จะวิเคราะห์ผลดีผลเสียของอารมณ์ทาง บวกและอารมณ์ทางลบ เราจะเกิดพลัง จิตขึ้นมาจากภายใน และเข้าใจว่าเรานั่นเองแหละที่สามารถสร้างความสุข ขึ้นมาในตัวเองได้"
Ž

ที่ท่านทะไล ลามะ กล่าวถึง "การเรียนรู้" ข้างต้นนี้สำคัญมาก ทุกวันนี้ทั้งโลกเรียนรู้แต่สิ่งนอกตัว เกือบไม่มีเลยที่ "เรียนรู้ให้รู้ใจของตนเอง" จึงสร้างความสุขไม่ได้ แต่สร้างความทุกข์กันขึ้นมาเต็มโลก เพราะฉะนั้นควรจะทำความเข้าใจ "เรียนรู้ให้รู้ใจของตนเอง" แล้วจะสร้างความสุขได้ คำอธิบายของท่านทะไล ลามะ เป็นตัวอย่างของการเรียนรู้โดยดูใจของตนเอง ถ้าอ่านทบทวนซ้ำๆ และลองปฏิบัติดู รับรองว่าทุกคนจะพบ "ทางสู่ความสุข"

"สภาวะของจิตมีความแตกต่างกัน" ท่านทะไล ลามะ กล่าว
"ขอท่านโปรดอธิบาย และยกตัวอย่างสภาวะต่างๆ ของจิต" หมอคัตเลอร์กล่าวคำขอ

ท่านทะไล ลามะ จึงอธิบายว่า "เช่น ความเกลียด ความอิจฉาริษยา ความโกรธ เหล่านี้เป็นโทษ เป็นสภาวะทางลบของจิต เพราะมันทำลายความสุข ขณะที่คุณมีความเกลียดหรือความรู้สึกที่ไม่ดีต่อใครคนใดคนหนึ่ง คนอื่นๆ ก็จะปรากฏว่ามีความรู้สึกที่ไม่ดีต่อคุณ แล้วมันก็จะเพิ่มความกลัว ความลังเลใจ และความรู้สึกไม่มั่นคง เราจะรู้สึกโดดเดี่ยวในโลกที่เราเห็นไปว่าโหดร้าย ความรู้สึกลบเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะความเกลียด ในอีกด้านหนึ่งความเมตตากรุณาเป็นบวกและมีประโยชน์อย่างยิ่ง"Ž
หมอคัตเลอร์แทรกขึ้นว่า "ท่านว่ามีสภาวะจิตต่างกันเป็นพันๆ อย่าง ท่านจะ นิยามคนที่มีสุขภาพจิตดี หรือคนที่ปรับตัวได้ดีเยี่ยมอย่างไร เผื่อเราจะใช้นิยามนี้เป็นเครื่องบอกว่าสภาวะจิตอย่างใดควรฟูมฟัก อย่างใดควรขจัด"Ž

ท่านทะไล ลามะ หัวเราะ และตอบอย่างถ่อมตัวตามแบบฉบับของท่านว่า "คุณหมอเป็นจิตแพทย์ คงจะให้คำนิยามคนที่มีสุขภาพจิตดีได้ดีกว่าอาตมา"
"แต่ผมหมายถึงจากมุมมองของท่าน" หมอคัตเลอร์สนอง
"ถ้าดังนั้น อาตมาเห็นว่าคนที่มีความเมตตากรุณา มีความอบอุ่น ใจดี เป็นคนที่มีสุขภาพจิตดี ถ้าคุณสามารถรักษาสภาวะจิตแห่งความเมตตากรุณา มีความรักในจิตใจ ประตูภายในจิตใจของคุณก็จะเปิดขึ้นโดยอัตโนมัติ โดยทางประตูนี้คุณก็จะติดต่อสื่อสารกับ คนอื่นๆ ได้อย่างสบายใจขึ้น ความรู้สึกอบอุ่นจะทำให้เปิดกว้าง แล้วก็จะพบมนุษย์ทั้งหมดก็คล้ายตัวคุณเอง คุณจะสัมพันธ์กับคนทั้งหลายง่ายขึ้น จะเกิดสปิริตแห่งความเป็นมิตร ความรู้สึกที่จะต้องปิดบังซ่อนเร้น อะไรก็จะลดน้อยถอยลง มีผลทำให้ความกลัว ความสงสัย ความรู้สึกไม่มั่นคงถูกขจัดออกไป เกิดความรู้สึกไว้วางใจกันเข้ามาแทนที่"Ž

จิตที่มีวินัย
หมอคัตเลอร์เห็นว่าวิธีแบ่งสภาวะจิตออกเป็นสภาวะบวกกับสภาวะลบ ของท่านทะไล ลามะ นั้นง่ายและเหมาะกับการปฏิบัติมากกว่าแบ่งตามหลัก วิชาการอันซับซ้อน สภาวะจิตที่เป็นบวกก็คือสภาวะที่นำไปสู่ความสุขอย่างแท้จริง สภาวะที่เป็นลบก็ตรงข้าม
หมอคัตเลอร์ถามท่านว่า "ถ้าความสุขเกิดจากการฟูมฟักสภาวะจิตที่เป็นบวก เช่น ความกรุณา ทำไมผู้คนจำนวนมากจึงไม่มีความสุข"Ž

ท่านทะไล ลามะ ตอบว่า "การที่จะเกิดความสุขอย่างแท้จริงต้องการการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (transformation) ในการมองโลกและวิธีคิด ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย"Ž
ทรงเปรียบเทียบว่าการที่ร่างกายจะมีสุขภาพดีต้องการปัจจัยหลายอย่าง ไม่ใช่อย่างเดียว การจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานทางจิต ก็ต้องการการกระทำหลายอย่าง สภาวะจิตทางลบมีมากมายหลายอย่างที่จะต้องเอาชนะ เรื่องนี้จึงต้องการเวลา

ทุกๆ วันควรจะพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองไปทางบวก เมื่อตื่นขึ้นก็ตั้งใจว่าจะทำวันนี้ให้ดี ยามเย็นก็ทบทวนว่าได้คิดทางบวกหรือทางลบอย่างใดบ้าง
ที่ท่านทะไล ลามะ กล่าวมาทั้งหมดก็เห็นจะตรงกับคำว่า "โยนิโสมนสิการ" ที่มีสำนวนว่า "ทำใจให้แยบคาย" คือการพิจารณาทบทวนสภาวะจิตของตนเองอย่างประณีต อันมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน และนำไปสู่ความสุข

ที่แท้จริง การเรียนแบบท่องวิชาหรือเรียนแต่ความรู้นอกตัวไม่นำไปสู่ความสุข มักจะตรงข้ามคือเกิดความโลภ ความโกรธ ความหลงมากขึ้น และนำไปสู่ความทุกข์ การศึกษาปัจจุบันเกือบไม่มีเลยที่เรียนรู้โดย "โยนิโสมนสิการ" หรือการพิจารณาทบทวนสภาวะจิตของตนเองอย่างประณีต แต่ก็เริ่มมีบ้างแล้วที่เรียกว่า Contemplative Education เช่น ที่มหาวิทยาลัยนโรปะ ที่เมืองโบลเดอร์ รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา ทั้งนักเรียนทั้งครูทุกสาขามี Contemplative Education เป็นแกนกลาง Contemplative Education น่าจะตรงกับโยนิโสมนสิการ หรือการเรียนรู้โดยพิจารณาจิตของตนเอง

ท่านทะไล ลามะ ตรัสว่าในฐานะพระในพระพุทธศาสนา ทรงรู้ว่าการฝึกดูจิตของตนเองแบบพุทธนี้มีคุณค่ามาก แต่เนื่องจากความเคยชินอันเป็นผลกรรมแต่ชาติปางก่อน บางครั้งก็มีสภาวะจิตที่ไม่ดีเกิดขึ้น เช่น ความโกรธ ความอาวรณ์ แล้วจะทำอย่างไร ก็ต้องเรียนรู้ประโยชน์ของการสร้างสภาวะจิตทางบวก ตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำ แล้วก็ลงมือปฏิบัติ เมื่อเริ่มต้นการสร้างสภาวะจิตทางบวกยังมีกำลังไม่มาก กำลังที่จะไปทางลบมีมากกว่า แต่เมื่อพยายามไปเรื่อยๆ สภาวะจิตทางลบจะลดน้อยถอยลงไปเป็นลำดับเอง ฉะนั้น การปฏิบัติธรรมก็คือการต่อสู้ภายใน ที่จะสลัดสภาวะจิตทางลบออกให้แทนที่ด้วยสภาวะจิตทางบวก

ไม่ว่าจะทำอะไร เมื่อฝึกทำไปจนคุ้นเคย แล้วก็จะเป็นของง่ายไปเอง โดยการฝึกฝน เราเปลี่ยนแปลงตัวเองขั้นพื้นฐาน ในทางพระพุทธศาสนามีวิธีการมากหลายที่จะรักษาจิตใจให้สงบ เมื่อมีสิ่งรบกวนเกิดขึ้น โดยการฝึกปฏิบัติซ้ำๆ จะไปถึงขั้นที่ว่า ความรบกวนต่างๆ เกิดขึ้น แต่เรารักษาความสงบในจิตใจลึกๆ ได้ เช่น เมื่อองค์ท่านได้รับข่าวร้าย อาจจะรู้สึกกระทบจิตใจขึ้นมาแว้บหนึ่ง แต่มันก็หายไปโดยรวดเร็ว หรืออาจจะรู้สึกหงุดหงิดหรือโกรธ แต่มันก็หายไปโดยรวดเร็ว สิ่งเหล่านี้เป็นผลจากการปฏิบัติมาเป็นเวลานาน

ผมอยากจะกล่าวเพิ่มเติมว่า ปุถุชนมักมีความหงุดหงิดรำคาญในจิตใจเสมอ มากหรือน้อย บางคนเป็นเอามากๆ ทำให้ขาดความสงบและความสุขทางจิตใจ แท้ที่จริงความหงุดหงิดรำคาญก็คือความโกรธนั่นเอง เป็นสภาวะจิตทางลบอย่างหนึ่ง ถ้าฝึกให้รู้จิตใจของตัวเองไว้เรื่อยๆ วันหนึ่งความหงุดหงิดรำคาญจะหายไปหมด จิตใจสงบสบายอย่างต่อเนื่อง เป็นรางวัลอันงดงามของชีวิต

หมอคัตเลอร์อธิบายว่า วงจรในสมองสามารถเปลี่ยนแปลงได้ด้วยการฝึกฝน มีผู้ทำการทดลองให้คนเคาะนิ้วซ้ำๆ กันเป็นเวลานาน แล้วตรวจสมอง พบว่าสมองตรงส่วนที่ควบคุมการทำงานของนิ้วขยายใหญ่ขึ้น แสดงว่าจะมีการเพิ่มเซลล์สมองตรงนั้นซึ่งเกิดจากการเคาะนิ้วซ้ำๆ เรื่องนี้บอกว่าการฝึกปฏิบัติอะไรซ้ำๆ มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในสมองได้ ฉะนั้น การฝึกให้มีความสุข ก็ไปก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในสมองได้
อาจกล่าวว่า "โครงสร้างทุกข์" ในสมองนั้น เราสามารถเปลี่ยนให้เป็น "โครงสร้างสุข" ซึ่งให้ผลถาวรได้ด้วยการฝึกจิต

บทที่ ๔
เอาธรรมชาติแห่งความสุขคืนมา
ธรรมชาติโดยพื้นฐานของเรา

เราต้องการความสุข ความรัก ความเมตตา ความสนิทสนม ความกรุณานำมาซึ่งความสุข ท่านทะไล ลามะ ตรัสว่าพระองค์ท่านมีความเชื่อพื้นฐานว่า ธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์นั้นมีความเมตตาอยู่ในหัวใจ
หมอคัตเลอร์ทูลถามว่า "ทำไมจึงทรงเชื่อเช่นนั้น"

ท่านทะไล ลามะ ทรงตอบว่า ทางพุทธนั้น เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมี "พุทธสภาวะ" อยู่ในหัวใจ ไม่ต้องใช้หลักทางพุทธก็รู้ได้ว่า มนุษย์มีธรรมชาติของความอ่อนโยนตั้งแต่เกิดจนตาย มนุษย์ถูกหล่อเลี้ยงด้วยความรัก เมื่อเกิดต้องมีใครให้กินนม ไม่งั้นก็ตาย การให้นมและดูดนมเกิดจากความรักซึ่งกันและกัน แล้วมาดูร่างกายของเรา ถ้าจิตใจสงบมีเมตตากรุณา ร่างกายก็สุขสบาย ในทางตรงข้ามจิตที่ทุรนทุราย กลัว เดือดร้อน โกรธ เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
เมื่อได้รับความรักสุขภาพจิตก็ดี เวลาเรามีความรักผู้อื่น ภายในตัวเราก็ดีไปหมด อารมณ์อันอ่อนโยนและพฤติกรรมที่ดีทำให้ครอบครัวและชุมชนดี

ฉะนั้น จึงสรุปได้ว่า ธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์คือความอ่อนโยน เราจึงควรมีวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติพื้นฐานของเรา
หมอคัตเลอร์ทูลถามว่า "ถ้าตรัสว่าธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์ คือความรัก ความเมตตา ทำไมโลกจึงเต็มไปด้วยความขัดแย้งและพฤติกรรมก้าวร้าว"

ท่านทะไล ลามะ ทรงตอบว่า เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าความขัดแย้งและความขมึงตึงดำรงอยู่ในจิตใจของเรา ในครอบครัว ในสังคม ในประเทศ และในโลก จึงมีผู้สรุปว่า ธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์คือความก้าวร้าวรุนแรง แล้วก็มีผู้เปรียบเทียบคนกับสัตว์ว่าคนมีความก้าวร้าวรุนแรงมากกว่าสัตว์ บางคนก็ว่าความรักความ เมตตาเป็นส่วนหนึ่งของจิตใจมนุษย์ในด้านหนึ่งก็จริง แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มีความเกลียด ความโกรธ คือจิตมี ๒ ด้าน แต่ท่านทะไล ลามะ ก็ยังยืนยันความเชื่อของท่าน ว่าธรรมชาติของมนุษย์คือความกรุณาและความอ่อนโยน จริงอยู่ความโกรธ ความเกลียด ความรุนแรงที่เกิดขึ้น แต่มันเป็นสิ่งที่จรมา ไม่ใช่พื้นฐานของจิต ดังที่เรียกกันว่า "จิตเดิมแท้" และมีคำพูดว่าจิตเดิมแท้นั้นปภัสสร กิเลสนั้นเป็นสิ่งที่จรมาแปดเปื้อนจิต

ความก้าวร้าวรุนแรงเกิดขึ้น แต่ไม่ใช่ธรรมชาติของจิตเดิมแท้ แต่เป็นผลจาก "การรู้จักคิด" (Intelligence) ร่างกายมนุษย์เมื่อเปรียบเทียบกับสัตว์อื่นแล้วก็อ่อนแอกว่า แต่มนุษย์พัฒนาสมรรถนะของสมองขึ้นมาเป็นเครื่องมือที่จะหาทางต่อสู้กับภัยต่างๆ ในธรรมชาติ เมื่อสังคมมนุษย์มีความซับซ้อนมากขึ้นๆ มนุษย์ก็ต้องพัฒนาสมรรถนะของสมองมากขึ้น สรุปว่า

จิตเดิมแท้ของมนุษย์มีความอ่อนโยน แต่ความก้าวร้าวรุนแรง เกิดจากการพัฒนาสมองที่ไม่ได้สมดุล
กล่าวคือ พัฒนาความเก่งโดยไม่ถ่วงดุลด้วยความกรุณา จึงนำไปสู่การทำลายและความวิกฤติ

แต่ในเมื่อความขัดแย้งของมนุษย์เกิดจากการใช้สมรรถนะสมองในทางไม่ถูกต้อง เราก็ต้องใช้สมรรถนะของสมองนี่แหละที่จะหาวิธีเอาชนะความขัดแย้ง เมื่อสมรรถนะสมองกับธรรมชาติด้านดีของมนุษย์คือความกรุณาถูกนำมาใช้ร่วมกัน ก็จะนำไปสู่ความสร้างสรรค์ เมื่อเรานำหัวใจของความเป็นมนุษย์เข้ามาร่วมกับความรู้และการศึกษา เราก็อาจเรียนรู้ที่จะเคารพความคิดเห็นและสิทธิของผู้อื่น ซึ่งเป็นรากฐานของความสมานฉันท์ที่จะเอา ชนะความก้าวร้าวและความรุนแรง

ท่านทะไล ลามะ สรุปว่า แม้ว่าโลกจะเต็มไปด้วยความขัดแย้งและความรุนแรง ทางออกก็คือจะต้องหันไปหาธรรมชาติเดิมแท้ของมนุษย์ คือความอ่อนโยนและความกรุณา

ข้อถกเถียงเรื่องธรรมชาติโดยพื้นฐานของมนุษย์
ความเชื่อเรื่องธรรมชาติโดยพื้นฐานของท่านทะไล ลามะ กับของตะวันตกขัดแย้งกัน ท่านทะไล ลามะ เชื่อว่าธรรมชาติโดยพื้นฐานเบื้องลึกของมนุษย์คือความอ่อนโยนและความกรุณา แต่ชาวตะวันตกเชื่อว่าธรรมชาติของมนุษย์คือเห็นแก่ตัว ก้าวร้าว รุนแรง ชาวตะวันตกส่วนใหญ่ฝังหัวคิดดังนี้มาเนิ่นนาน จริงอยู่อาจมีบางคนที่คิดตรงข้าม เช่น ในช่วงกลางของคริสต์ศตวรรษ ๑๗๐๐ David Hume เขียนถึงธรรมชาติที่ดีของมนุษย์ อีกศตวรรษถัดมาชาร์ล ดาร์วิน พูดถึง "สัญชาตญาณแห่งความเห็นอกเห็นใจ" (Instinct of sympathy) ของมนุษย์ แต่ว่าตะวันตกส่วนใหญ่ตกอยู่ในกระแสปรัชญาของโธมัส ฮอบบ์ส ที่ว่ามนุษย์นั้นเลวร้าย รุนแรง แย่งชิง ขัดแย้ง เห็นแก่ตัว ในทำนองเดียวกันในตอนต้นของศตวรรษที่ ๒๐ นักปรัชญาชาวสเปนชื่อจอร์จ สันตยนะ ก็กล่าวว่า แม้มนุษย์จะมีความใจดีอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มาก แต่ลึกๆ แล้วมนุษย์ดุร้ายและเห็นแก่ตัว แล้ววิชาการต่างๆ ของตะวันตกก็สร้างขึ้นมาบนพื้นฐานว่ามนุษย์เห็นแก่ตัว เอาตัวตนของตัวเองเป็นตัวตั้ง นักวิชาการที่ว่านี้รวมทั้งซิกมันต์ ฟรอยด์ ด้วย
ในระยะหลังมีหลักฐานมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ความเชื่อว่ามนุษย์มีธรรมชาติเลวร้ายน่าจะผิด และมีความเห็นเอนเอียงมาเป็นแบบท่านทะไล ลามะ มากขึ้นเรื่อยๆ ว่า มนุษย์มีธรรมชาติของความอ่อนโยนและกรุณา มีผู้สังเกตว่า เวลาเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ มนุษย์จะช่วยเหลือเกื้อกูลกันยิ่งนัก กรณีคลื่นสึนามิเมื่อ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๗ ผู้คนก็เห็นกันทั้งโลก ว่าคลื่นพลังน้ำใจของเพื่อนมนุษย์นั้นสูงใหญ่เพียงใด ถ้าไม่มีธรรมชาติที่ดีอยู่ในหัวใจ พลังน้ำใจจะหลั่งไหลมาจากไหน

วิถีชีวิตรวมกลุ่มช่วยเหลือเกื้อกูลกันถูกกำหนดขึ้นโดยธรรมชาติ เพราะชีวิตการรวมกลุ่มทำให้มีโอกาสรอดชีวิตมากกว่าต่างคนต่างอยู่ ได้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับคนเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน พบว่าคนที่มีอัตตาสูงเป็นโรคนี้มากกว่าคนที่ชอบช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สรุปว่ามนุษย์มี "เมล็ดพันธุ์แห่งความดี" หรือ "เมล็ดพันธุ์แห่งความกรุณา" (seed of compassion) อยู่ในตัว ซึ่งสามารถรดน้ำพรวนดินให้งอกงามได้ "เมล็ดพันธุ์" ที่ว่านี้น่าจะมีโครงสร้างอยู่ในสมอง เปรียบเทียบกับ "ศูนย์การพูด" คือศูนย์ในสมองที่ทำให้พูดได้

ถ้าลูกคนอยู่กับสัตว์ก็พูดไม่ได้ เพราะสัตว์พูดไม่ได้ แต่ถ้าอยู่ในหมู่คนที่ พูดกัน ไม่ช้าก็พูดได้ เพราะในสมองของคนมีศูนย์การพูด ถ้าถูกกระตุ้นก็ทำให้พูดได้ สัตว์ถึงแม้อยู่กับคนมันก็พูดไม่ได้ เพราะในสมองไม่มีศูนย์การพูด ในเรื่องความดีก็น่าจะเป็นเช่นเดียวกัน คือในสมองมี "ศูนย์ความดี" ถ้าเด็กๆ อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี เช่น พ่อแม่มีจิตใจโอบอ้อมอารี "ศูนย์ความดี" ในสมองก็จะเติบโตขึ้น นี่แหละที่กล่าวว่ามนุษย์มีเมล็ดพันธุ์แห่งความดี ถ้ารดน้ำพรวนดิน ให้ดีมันก็จะงอก และเติบโตแผ่ไพศาลได้

การสรุปว่าธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์เป็นเช่นไรมีความสำคัญมาก ถ้าสรุปว่าพื้นฐานของมนุษย์คือความเลวร้าย เราจะรู้สึกสลดหดหู่มาก และไร้ความหวัง แต่ถ้าสรุปว่าคนทุกคนมีธรรมชาติของความดีอยู่ในหัวใจ เราค่อยมีความ หวัง ความสงบ ความสุข ลดความเกลียด และความกลัวที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ เราช่วยกันตั้งคำถามว่าจะมีอะไรบ้างหนอที่จะทำให้เมล็ดพันธุ์ของความดีในหัวใจของเพื่อนมนุษย์งอกงามแผ่ไพศาล แล้วช่วยกันทำเหตุปัจจัยเหล่านั้น ซึ่งเปรียบประดุจการใส่ปุ๋ยรดน้ำพรวนดินให้เมล็ดพันธุ์แห่งความดีงอกงามขึ้นเต็มแผ่นดิน

พูดถึงการรู้ธรรมชาติของจิตแล้ว ผมเชื่อพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกมากกว่าเชื่อตามความคิดของนักวิชาการตะวันตก เพราะพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกได้ความรู้จากการรู้จิตตัวเองที่บรรลุธรรม ส่วน "ความรู้" ของนักวิชาการฝรั่งได้มาจากการคาดเดาหรือตรรกะ ซึ่งยังเข้าไม่ถึงความจริง

ฉะนั้น จงอย่าศึกษาอะไรเป็นแต่เพียงความรู้นอกตัวเลย เพราะจะแก้ทุกข์ไม่ได้ ขอให้รู้จิตใจของตัวเองว่าอะไรนำไปสู่ความสุข อะไรนำไปสู่ความทุกข์ เมื่อรู้ซ้ำๆ จิตก็จะเปลี่ยนไปเป็นจิตที่มีความสุขได้ ดังที่ท่านทะไล ลามะ ตรัสไว้
 

 

 

ข้อมูลสื่อ

312-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 312
เมษายน 2548
ศ.นพ.ประเวศ วะสี