• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาใหม่-ยาแพง ไม่จำเป็นว่าดีเสมอ

เมื่อพูดถึงการใช้ยา เรามักมีความเชื่อว่า
"ยาใหม่-ยาแพง คือยาดี
ยาเก่า-ยาถูก คือยาโหล"
เวลาไม่สบาย ทั้งหมอและผู้ป่วยจึงนิยมใช้ยาใหม่-ยาแพง ไม่ค่อยชอบใช้ยาเก่า-ยาถูก
แต่ความจริงแล้ว บางครั้งยาใหม่-ยาแพง ก็อาจไม่ปลอดภัย จนต้องประกาศยกเลิกการผลิตและการจำหน่ายไปเลย ซึ่งก็เคยมีตัวอย่างเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ
เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา บริษัทยาของสหรัฐอเมริกาชื่อ Merck & Co. ได้ประกาศขอถอนยาชื่อ Vioxx ออกจากตลาดในประเทศสหรัฐอเมริกาและอีก ๘๐ ประเทศทั่วโลกที่มีการจำหน่ายยานี้ โดยความสมัครใจของบริษัท (ไม่ได้ถูกบังคับจากทางการ)
เหตุผลที่ทางบริษัทชี้แจงไว้ก็คือ จากการศึกษาวิจัยในโครงการป้องกันการกำเริบซ้ำของเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ด้วยยาตัวนี้ในอาสาสมัครจำนวน ๒,๖๐๐ คน พบว่าหลังจากให้อาสาสมัครกินยา Vioxx วันละ ๒๕ มิลลิกรัม ติดต่อกันนานเกิน ๑๘ เดือนขึ้นไป กลุ่มคนเหล่านี้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด (ได้แก่ โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายและอัมพาต) แทรกซ้อนตามมา มากกว่ากลุ่มเปรียบเทียบที่ใช้ยาหลอกถึง ๒ เท่า
ความจริงก่อนหน้านี้ก็เคยมีข้อมูลเบื้องต้นจากโครงการวิจัยอีกโครงการหนึ่งที่แสดงว่า ยานี้ทำให้ผู้ใช้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่าปกติ
ถึงแม้ว่าโอกาสเสี่ยงโดยรวมนั้นไม่สูงมากนัก แต่เนื่องจากยานี้มีผู้ใช้อยู่ใน ๘๐ ประเทศ ประมาณ ๒ ล้านคน ก็อาจพบการเกิดพิษภัยจากยานี้ได้จำนวนไม่น้อย  ทางบริษัทจึงได้ประกาศถอนการใช้ยานี้ออกจากตลาดทั่วโลก
Vioxx ชื่อแท้คือ rofecoxib เป็นยาในกลุ่มต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ (NSAIDs) กลุ่มใหม่ที่เรียกว่า cox-2 inhibitors เริ่มออกจำหน่ายเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๒ นิยมใช้รักษาโรคปวดข้ออักเสบ เช่น โรคข้อเสื่อม โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น
ยานี้มีข้อดีคือ ลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดแผลในกระเพาะลำไส้ ซึ่งเป็นพิษภัยที่พบบ่อยในกลุ่มยาต้านอักเสบที่ใช้สตีรอยด์กลุ่มเก่า (เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน                  อินโดเมทาซิน เป็นต้น) จึงเกิดการนิยมหันมาใช้ยาตัวใหม่นี้กันอย่างแพร่หลาย แม้ว่าจะมีราคาแพงกว่ายากลุ่มเก่านับเป็นหลายสิบเท่าก็ตาม
กรณีนี้เป็นอุทาหรณ์สอนว่า ยาใหม่-ยาแพง แม้ว่าจะมีดีในแง่หนึ่ง ก็อาจมีเสียในอีกแง่หนึ่งได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นยาที่ดีและปลอดภัยเสมอไป
ยาที่ออกมาใช้กับผู้ป่วยในช่วงไม่กี่ปีแรก มักจะขาดข้อมูลในเรื่องความปลอดภัย เมื่อมีการใช้ยาไปนานๆ สั่งสมข้อมูลจากผู้ใช้ยาจำนวนมากๆ ก็อาจจะพบว่ามีพิษภัยตามมา ที่เคยคิดว่าปลอดภัยก็อาจกลายเป็นไม่ปลอดภัยได้
เมื่อหลายปีก่อน คณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาก็เคยประกาศเพิกถอนยาแก้แพ้ (แอนติฮิสตามิน) กลุ่มใหม่ ๒ ชนิด ได้แก่ แอสตีมิโซล (astemizole) และเทอร์เฟนาดีน (terfenadine) ซึ่งมีข้อดีที่กินวันละ ๑-๒ ครั้ง และไม่ทำให้ง่วงนอน (ยาแก้แพ้กลุ่มเก่าๆ มักจะต้องกินวันละหลายมื้อ และทำให้ง่วงนอน)
แต่เมื่อออกมาใช้ได้ระยะหนึ่ง ก็พบว่ามีพิษภัยถึงกับทำให้ผู้ป่วยตายจากภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ ถ้าหากมีการใช้ยาพวกนี้ร่วมกับยาต้านจุลชีพบางชนิด (เช่น อีริโทรไมซิน) หรือยาฆ่าเชื้อรา (เช่น คีโตโคนาโซล)
ตัวอย่างอีกกรณีหนึ่งก็คือ ยาเตตราไซคลีน ซึ่งเป็นกลุ่มยาปฏิชีวนะ ในปัจจุบันเราทราบกันดีว่า ต้องหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในเด็กเล็ก เพราะจะทำให้ฟันแท้ที่งอกตอนโตกลายเป็นสีเหลืองกระดำกระด่าง และก็ไม่ควรใช้ในหญิงตั้งครรภ์ เพราะจะทำให้เด็กเกิดมามีฟันในลักษณะเดียวกัน
แต่เมื่อมีการนำออกมาใช้ในช่วงแรกๆ (ประมาณ ๕๐-๖๐ ปีก่อน) หมอยังไม่ทราบข้อมูลนี้ นึกว่าปลอดภัย เพราะยานี้ทำให้เกิดอาการแพ้น้อยกว่ายาเพนิซิลลินที่มีใช้อยู่ก่อน จึงมีการใช้กันแพร่หลายและพร่ำเพรื่อเกินจำเป็น กว่าจะทราบว่าทำให้ฟันดำ ก็ต้องรออีกนับ ๑๐ ปีจนกว่าจะเห็นฟันแท้งอกขึ้นตอนโตแล้ว
ตัวอย่างเหล่านี้ให้แง่คิดว่า ในการใช้ยาใหม่ๆ ต้องมีความระมัดระวังสูง จะปลอดภัยจริงๆ ต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ บางครั้งอาจต้องรอนานถึง ๒๐-๓๐ ปีขึ้นไป
ดังนั้น หลักการใช้ยาอย่างปลอดภัยก็คือ ตราบใดที่ยาเก่า-ยาถูก ใช้ได้ผลก็ควรจะเลือกใช้ยากลุ่มนี้ก่อนที่จะหันมาใช้ยาใหม่
 

ข้อมูลสื่อ

307-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 307
พฤศจิกายน 2547
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ