ถาม ทำไมบางครั้งได้รับยาไม่เหมือนเดิม
เรื่อง "การรับยาที่ไม่เหมือนเดิม" หรือ "การเปลี่ยนยา" เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ประชาชนผู้ใช้ยาถามกันมามากว่า ทำไมยาถึงไม่เหมือนเดิม หรือทำไมต้องเปลี่ยนยา แล้วผลในการรักษาจะได้ผลดีเท่าเดิมหรือไม่?
ยาเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาโรค ไม่ว่าจะเป็นโรคทั่วไป ที่ควรใช้ยาเมื่อมีความจำเป็นหรือมีอาการ เมื่ออาการทุเลาลงแล้วก็ควรหยุดยา หรือโรคเรื้อรังที่ควรใช้ยาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ไม่ควรหยุดยาเอง เพื่อควบคุมอาการโรคให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย ไม่เกิดอันตรายต่อสุขภาพและร่างกาย
ขอให้(ยา)เหมือนเดิม
เมื่อใช้ยารักษาโรคหรือปัญหา
สุขภาพจนได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ คนส่วนใหญ่ก็
ต้องการใช้ยาอย่างเดิม ประกอบด้วย ตัวยาและขนาดเท่าเดิม มีสีสัน และรูปร่างหน้าตาอย่างเดิม ไม่อยากเปลี่ยนยา เคยใช้ยาใดได้ผล ก็อยากใช้ยาอย่างเดิม จะได้ผลดีเช่นเดิม จนบางคนมีการเก็บตัวอย่างยาเดิมเอาไว้ และเมื่อมีปัญหาสุขภาพแบบเดิม ก็เสาะแสวงหายาเดิมมาใช้ เพื่อให้ได้ผลดีดังเดิม เรียกว่า "ขอให้(ยา) เหมือนเดิม" ดั่งเพลงไพเราะอมตะของครูเอื้อ สุนทรสนาน ในอดีต
ทำไมจึงต้องเปลี่ยนยา
แต่ในบางครั้งอาจมีเหตุจำเป็นที่ต้องเปลี่ยนยา ทั้งๆที่เป็นสภาวะของโรคยังคงเดิม และได้ตัวยาและขนาดยา ที่ออกฤทธิ์เหมือนเดิม ซึ่งอาจเกิดจากการเปลี่ยนสถานที่จ่ายยาจากโรงพยาบาลหนึ่งไปเป็นอีกแห่งหนึ่ง อันเนื่องจากการย้ายภูมิลำเนา หรืออาจเป็นโรงพยาบาลเดิม แต่มีการจัดซื้อจากบริษัทผู้ผลิตรายใหม่ เป็นต้น ดังนั้น การเปลี่ยนรูปลักษณ์ของยาทั้งๆ ที่เป็นตัวยาเดิม ก็อาจเกิดได้จาก ๒ กรณี คือ ผู้ผลิตเปลี่ยนรูปแบบยาของตนเอง และสถานที่จ่ายยา อันได้แก่ ห้องยาของโรงพยาบาล หรือร้านยา เปลี่ยนยาเนื่องจากมีการจัดซื้อยาจากผู้ผลิตรายอื่น
ผู้ผลิตเปลี่ยนรูปแบบยา
การเปลี่ยนยาของผู้ผลิตเจ้าเดิมนั้น มีบ้างเหมือนกันแต่พบได้น้อย ไม่บ่อยนัก ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในอดีต เช่น ยาแก้ปวดไอบูโปรเฟน เดิมจะผลิตในรูปแบบยาเม็ดเคลือบน้ำตาลสีชมพู ต่อมาผู้ผลิตเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบยาเม็ดสีชมพูเช่นเดิม แต่ทำในรูปแบบของการเคลือบฟิล์มแทน ทำให้มีขนาดเม็ดเล็กลงพอสมควร เม็ดยาชนิดใหม่จึงดูสวยงาม น่าใช้และน่ากินกว่ารูปแบบเดิม เป็นต้น การเปลี่ยนยาโดยผู้ผลิตนี้มีพบได้บ้างแต่ไม่บ่อยนัก ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ผู้ผลิตจะไม่นิยมเปลี่ยนรูปแบบยาของตน เพราะผู้ผลิต ผู้จำหน่ายจะต้องลงทุนประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับทั้งผู้จ่ายยาและผู้ใช้ยาให้ทราบและเกิดการใช้ยาให้ดีดังเดิม
สถานที่จ่ายยาเปลี่ยนรูปแบบของยา
เนื่องจากในปัจจุบันการจัดซื้อยาของโรงพยาบาลของรัฐมีการจัดซื้อโดยการประมูล ซึ่งเปิดโอกาสให้กับ ผู้ผลิตที่สนใจสามารถเสนอตัวเข้าร่วมประมูลยาได้ ในการประมูลยาของโรงพยาบาลจะพิจารณาทั้งด้านคุณภาพและราคาของยา เพื่อให้ได้ยาดี มีคุณภาพ ราคาไม่แพง มาใช้กับผู้ป่วยของโรงพยาบาล เพื่อให้ผลการรักษาเช่นเดิม และเพิ่มความคุ้มค่าของการใช้งบประมาณของรัฐ
หลังจากเสร็จสิ้นการประมูล จึงอาจได้ผู้ชนะการประมูลรายใหม่ โรงพยาบาลจึงต้องซื้อยาจากผู้ผลิตรายใหม่ รูปลักษณ์ของยาจึงเปลี่ยนแปลงไปด้วยตามผู้ผลิต
แต่ก็ขอให้ความมั่นใจได้ว่า ยาที่นำมาจ่ายให้แก่ท่านผู้ใช้ยาทุกราย ได้ผ่านกระบวนการควบคุมคุณภาพในขั้นตอนการผลิต และกระบวนการเลือกสรรยาจากผู้ชำนาญ จนประกันได้ว่าเป็นยาดี มีคุณภาพ ราคาประหยัด เหมาะแก่การใช้เพื่อรักษาโรคภัยไข้เจ็บของท่าน
ตัวยาเดียวกัน แต่รูปร่างหน้าตาต่างกัน
เบื้องหลังเหตุผลว่า "ทำไมตัวยาเดียวกัน ถึงมีรูปแบบของยาแตกต่างกันมาก?" ทั้งๆ ที่เป็นตัวยาเดียวกัน เพราะผู้ผลิตแต่ละรายมีการคิดค้นสูตรตำรับยาของตน ตลอดจนออกแบบรูปร่างหน้าตายาของตนให้เป็นเอกลักษณ์ สวยงาม น่าใช้ แตกต่างจากผู้ผลิตรายอื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์กับวงการยา ทั้งผู้ผลิต ผู้สั่งจ่ายและผู้ใช้ยา เพราะเมื่อผู้ป่วยใช้ยาแล้ว เกิดผลดีหรือผลเสียอย่างไรก็สามารถติดตามให้รู้ได้ว่าเป็นยาชนิดใด ประกอบด้วยตัวยาสำคัญใด และผู้ผลิตคือใคร และในกรณีที่เกิดอาการอันไม่พึงประสงค์ ก็จะได้ทราบสาเหตุได้โดยง่าย และสะดวกแก่การแก้ไขปัญหาเร่งด่วนนี้ ทำให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา
ถ้าเปรียบเทียบกับยาต่างชนิดกัน แต่มีรูปลักษณ์หน้าตาเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น ยา "เม็ดสีขาว" ไม่มีตราสัญลักษณ์หรือตัวอักษรใดเลย ในท้องตลาดมียาจำนวนมากที่ผลิตเป็นเม็ดสีขาวคล้ายยาแก้ปวดพาราเซตามอล เช่น ยาโคไตรม็อกซาโซนที่เป็นยาต้านจุลชีพ ยาคีโตโค-นาโซนที่เป็นยาต้านเชื้อรา ยาแอสไพรินที่ใช้แก้ปวด ยาลดกรดที่ใช้แก้ปวดท้อง เป็นต้น ในกรณีนี้ ถ้าผู้ป่วยใช้ยาแล้ว เกิดอาการอันไม่พึงประสงค์ขึ้น แล้วเหลือแต่เม็ดยาสีขาวและไม่มีซองยาที่ช่วยระบุชื่อยาได้ ก็จะไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า ยาเม็ดสีขาวนี้เป็นยาชนิดใด จะแก้ปัญหาอันเกิดจากการใช้ยาในภาวะวิกฤตินี้ก็เป็นไปด้วย ความลำบาก และผู้ป่วยอาจมีอาการทรุดหนัก แย่ลง ยิ่งกว่าที่ควรจะเป็นได้
ควรตรวจสอบยาทุกครั้งที่ได้รับยา
แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อความถูกต้องและความปลอดภัยในการใช้ยา ทุกครั้งที่ได้รับยาไม่ว่าจากห้องยาของโรงพยาบาลหรือร้านยา จึงควรตรวจสอบยาที่ท่านได้รับทุกครั้ง เริ่มตั้งแต่
๑. ชื่อ-นามสกุลของผู้ป่วยที่ซองยาว่า ถูกต้องหรือ ไม่ ไม่ใช่เอายาของคนอื่นมาใช้กับตนเอง เพราะอาจเกิด ผลข้างเคียง รักษาไม่ได้ผล เป็นการสิ้นเปลือง และอาจเกิดอันตรายที่ร้ายแรงต่อร่างกายของท่านได้
๒. รูปลักษณ์และปริมาณของยาว่า รูปแบบยาเหมือนเดิม หรือเปลี่ยนแปลงไป หรือในด้านจำนวนยาที่ได้รับถูกต้องตามหน้าซองระบุ และพอเหมาะกับการใช้ของผู้ป่วย แต่ละคนหรือไม่ เช่น ยาที่ใช้ครั้งละ ๑ เม็ด วันละ ๒ ครั้ง ถ้าแพทย์นัดอีก ๑ เดือนข้างหน้าก็ควรได้รับยาเท่ากับ ๑x๒x๓๐ หรือ ๖๐ เม็ด เป็นต้น
๓. วิธีใช้ ควรอ่านให้เข้าใจว่า จะต้องใช้อย่างไรให้ ถูกต้อง
๔. ราคาของยา
สงสัยเรื่องยา ควรปรึกษาเภสัชกร
ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงหรือมีข้อสงสัยในเรื่องยาที่ได้รับ ควรปรึกษาเภสัชกรผู้สั่งจ่ายยาทันที เพื่อความกระจ่างในการใช้ยา และใช้ยาได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย โดยเฉพาะเมื่อมีการเปลี่ยนยาใหม่ หรือเป็นยาที่มีวิธีใช้เฉพาะ เช่น ยาสูดแก้หอบ ยาเหน็บ เป็นต้น
ก่อนจบ อยากใคร่เตือนผู้ใช้ยาที่นิยมนำตัวอย่างยามาซื้อ เพื่อรักษาอาการด้วยตนเอง ในกรณีนี้ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง เพราะมีโรคหรืออาการหลายชนิดที่มีอาการคล้ายคลึงใกล้เคียงกัน แต่เป็นโรคต่างชนิดกัน (เมื่อใช้ยาแล้วอาจไม่ได้ผล) หรือในบางครั้งโรคที่ท่านเป็นอยู่อาจทุเลาเป็นน้อยลง (ซึ่งอาจต้องปรับลดยาลง) หรือรุนแรงมากขึ้น (ซึ่งอาจต้องเพิ่มขนาดยาหรือเพิ่มยามากขึ้น) หรือยาบางชนิดเมื่อใช้ติดต่อกันนานๆ ก็อาจเกิดผลเสียเป็นพิษต่อร่างกายได้ (บางชนิดจะกดภูมิคุ้มกัน หรือทำลายเม็ดเลือดได้) ดังนั้น การนำตัวอย่างยาไปซื้อ เพื่อรักษาตนนั้น จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา ไม่เกิดผลเสียต่อร่างกายของท่าน
สุดท้ายนี้หากท่านมีข้อสงสัยเกี่ยวข้องกับเรื่อง ยาและสุขภาพ ท่านสามารถปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรที่พร้อมให้คำปรึกษาในเรื่องสุขภาพแก่ท่านทุกเมื่อ
- อ่าน 5,843 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้