• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กริยาหรือการชำระล้าง

โดยคำศัพท์ กริยา แปลว่า การกระทำ 
สำหรับโยคะ ตำราโยคะสูตรของปตัญชลี ได้กล่าวถึงคำว่า กริยาในความหมายของการปฏิบัติโยคะโดยรวม  โดยระบุเอาไว้ในบทที่ 2 ประโยคที่ 1 ว่า กริยาโยคะ (หรือการปฏิบัติโยคะ) คือ การฝึกตบะ (ความอดทน), หมั่นศึกษาตำราดั้งเดิมและมีศรัทธา (หรือการขัดเกลาจิตใจให้มีความอ่อนน้อม ถ่อมตน)
กว่า 1,800 ปี หลังจากโยคะสูตรของปตัญชลี  ในราว พ.ศ. 1990 เกิดตำราที่สำคัญอีกเล่ม หฐปฏิปิกะ ซึ่งใช้คำว่า กริยา ในความหมายที่เฉพาะเจาะจงลงไป คือหมายถึง การชำระล้าง โดยเรียกกริยาว่า สัทกริยา คำว่า สัท หมายถึง หก อันเป็นตัวบ่งบอกว่า หฐปฏิปิกะได้จัดแบ่งการชำระล้างไว้ทั้งหมด 6 กลุ่ม

ตำราหฐปฏิปิกะไม่ได้จัด สัทกริยา เป็นมรรคปฏิบัติที่เฉพาะเจาะจง แต่จัดอยู่ในกลุ่ม ปราณยามะ โดยระบุว่า ให้เราฝึกเทคนิคกริยา ทั้ง 6 นี้ เพื่อช่วยให้เราสามารถฝึกปราณยามะได้ดีขึ้น  ส่วนในการปรับประยุกต์การฝึกโยคะให้สอดคล้องกับคนยุคใหม่ ดร.กาโรเต้เห็นว่า สัทกริยานั้น มีรายละเอียดการปฏิบัติค่อนข้างมาก จึงได้จัดกริยาไว้เป็นเอกเทศเลย



ผู้สนใจโยคะอย่างจริงจังควรศึกษาและหาโอกาสฝึกกริยา เพราะกริยาก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยให้เราเกิดประสบการณ์ การรับรู้ภายในตนเองได้กว้างขึ้น สามารถเรียนรู้ตนเองมากขึ้น เข้าใจตนเองได้ดีขึ้น ซึ่งการเรียนรู้ตนเอง และการเข้าใจตนเองมิใช่หรือที่เป็นแก่นสาระที่เราได้รับจากโยคะ  นอกจากนั้น การฝึกกริยาจะช่วยขยายกรอบการปฏิบัติโยคะของเราให้กว้างขึ้น  ไม่จำกัดแต่เฉพาะแค่เรื่องของอาสนะเท่านั้น

เราได้ย้ำกันมาโดยตลอดว่าโยคะไม่ใช่มีแต่เพียงมิติทางกาย ดังนั้น สัทกริยา หรือการชำระล้างก็ไม่ใช่เพียงการชำระทางรูปธรรม ไม่ใช่ล้างร่างกายให้สะอาดเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการชำระทางนามธรรม ขัดเกลาจิตใจให้บริสุทธิ์อีกด้วย หากพิจารณาในเชิงกาย-จิตสัมพันธ์ เราจะพบว่า กุญแจสำคัญของเทคนิคกริยาคือ การจัดปรับสมดุลของกลไกตอบสนอง reflex ให้กลไกต่างๆ เหล่านั้นสามารถทำงานได้อย่างสมดุล เป็นปกติ ซึ่งดูได้จากตารางดังนี้

 

มรรค 6  เทคนิคโยคะ โดย ดร. กาโรเต้ พ.ศ. 2542
1 อาสนะ
2 ปราณยามะ
3 กริยา
4 มุทรา - พันธะ
5 การฝึกสมาธิในรูปแบบต่างๆ ที่มีให้ฝึกอย่างหลากหลาย
6  การพัฒนาทัศนคติ Attitude training  (จริยธรรม ศีลธรรม)


 

ข้อมูลสื่อ

307-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 307
พฤศจิกายน 2547
โยคะ
กวี คงภักดีพงษ์