• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

คนดี ทำดี ก็มีโรค (ร้าย) ได้

ผมมักได้ยินคำปรารภของผู้คนอยู่เสมอว่า
"โถ คนดีๆ อย่างเขา ไม่น่าจะป่วยเป็นโรคมะเร็งร้ายเลย"
"คนคนนี้บุหรี่ก็ไม่สูบ เหล้าก็ไม่ดื่ม วิ่งออกกำลังกายทุกวัน ไม่น่าจะเป็นโรคหัวใจเลย"
"เขาเป็นคนธรรมะธัมโม ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ทำไมอยู่ๆกลายเป็นอัมพาต"

บางคนคิดว่า การเป็นคนดี ทำแต่ความดี กุศลกรรมน่าจะส่งผลให้เขามีสุขภาพดี มีภูมิต้านทานโรคดี ไม่ควรจะเจ็บไข้ได้ป่วย โดยเฉพาะโรคร้าย เช่น โรคมะเร็ง  โรคหัวใจ
บางคนเข้าใจว่า เมื่อมีพฤติกรรมสุขภาพดี ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า กินอาหารสุขภาพ ออกกำลังกายเป็นประจำก็ควรจะมีสุขภาพดี ไม่น่ามีโรคร้ายมาเบียดเบียน
ความคิดความเข้าใจดังกล่าวนับว่าเป็นความจริง แต่เป็นความจริงเพียงบางส่วนที่มองว่าสุขภาพของคนเราขึ้นกับปัจจัยด้านจิตใจ และพฤติกรรมเป็นหลัก
แท้จริงแล้ว สุขภาพยังขึ้นกับปัจจัยด้านอื่นๆ อีกมากมายที่สำคัญ เช่น  อายุ (โรคหลายชนิดเกิดจากชราภาพ หรือความเสื่อมตามอายุ)  พันธุกรรม (มีโรคจำนวนมากที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือมีความสัมพันธ์กับพันธุกรรม)  สิ่งแวดล้อม (เช่น มลพิษ สารเคมี  เชื้อโรค)
สุขภาพจึงขึ้นกับปัจจัยหลายหลากเป็นองค์รวม ปัจจัยบางอย่างอยู่ภายใต้อำนาจควบคุมหรือการจัดการของเรา (เช่น จิตใจ พฤติกรรม ) บางอย่างก็อยู่นอกอำนาจควบคุมของเรา (เช่นพันธุกรรม อายุ การติดเชื้อบางอย่าง)
นอกจากนี้ ยังมีโรคจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะมะเร็งบางชนิดที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด จึงยากที่จะหาทางป้องกันหรือหลีกเลี่ยงได้
ยกตัวอย่างโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (โรคหัวใจ) และโรคหลอดเลือดสมองตีบ (อัมพาต) ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงคล้ายๆกันที่สำคัญได้แก่ อายุมาก พันธุกรรม พฤติกรรม (สูบบุหรี่ ดื่มเหล้าจัด ขาดการออกกำลัง) การขาดการควบคุมโรคบางชนิด (เบาหวาน ความดันเลือดสูง  ไขมันในเลือดผิดปกติ  อ้วน) รวมทั้งความเครียดทางอารมณ์
แม้ว่าเราจะมีพฤติกรรมดี จิตใจดี แต่ถ้ามีโรคเบาหวาน ความดันเลือดสูง หรือไขมันในเลือดผิดปกติ (ซึ่งแฝงเร้นโดยไม่รู้ตัวหรือไม่ได้รักษาอย่างจริงจังจนควบคุมโรคได้) หรือมีอายุมาก หรือมีพันธุกรรมเป็นโรคหัวใจหรืออัมพาต หรือมีปัจจัยเหล่านี้หลายอย่างรวมกัน ก็มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจหรืออัมพาต
ดังนั้น จึงไม่ควรประมาท นอกจากหมั่นมีพฤติกรรมดีและจิตใจดีแล้ว ยังต้องมองดูว่ายังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆอีกหรือไม่ เช่น ต้องคอยตรวจเช็กสุขภาพว่ามีโรคเบาหวาน ความดันสูง ไขมันผิดปกติแฝงเร้นอยู่หรือไม่  ถ้ามีก็ต้องคอยรักษาเพื่อควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ปกติอย่างต่อเนื่อง จึงจะลดความเสี่ยงลง
ส่วนเรื่องของอายุและพันธุกรรมจัดว่าเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ควรดูแลตนเองให้ดีที่สุดด้วยการพยายามลดปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้ทั้งหมด หากเคราะห์ร้ายเป็นโรคหัวใจหรืออัมพาตขึ้นมาเนื่องจากเพราะอายุมากหรือพันธุกรรม ก็ต้องทำใจยอมรับ
ส่วนโรคมะเร็ง ซึ่งมีอยู่หลายชนิดนั้น บางอย่างก็สามารถป้องกันได้ด้วยการไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า และหลีกเลี่ยงสารก่อมะเร็ง (ซึ่งมีอยู่ในอาหารต่างๆ สารเคมี มลพิษ)
แต่บางอย่างมีความสัมพันธ์กับพันธุกรรม เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะอาหาร ถ้ามีพ่อแม่พี่น้องเป็นมะเร็งพวกนี้ คนคนนั้นก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งพวกนี้ มากกว่าคนทั่วไป
มะเร็งบางชนิด  เกิดจากการติดเชื้อเป็นพื้นฐานรวมกับปัจจัยเสริมอื่นๆ เช่น มะเร็งตับ มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี หรือซี เชื้อพวกนี้สามารถถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกขณะตั้งครรภ์ กล่าวคือ ถ้าแม่มีเชื้อไวรัสพวกนี้อยู่ในร่างกาย ขณะตั้งครรภ์ก็อาจแพร่กระจายไปยังลูกในครรภ์ เชื้อจะอยู่ในตัวลูกโดยไม่ปรากฏอาการ (เรียกว่าเป็นพาหะ) หรือทำให้กลายเป็นตับอักเสบเรื้อรัง นานๆเข้า (อาจเป็นเวลา ๓๐-๔๐ ปี) เซลล์ตับที่มีเชื้ออยู่ก็มีโอกาสกลายเป็นมะเร็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีพฤติกรรมดื่มเหล้า ก็ยิ่งเสี่ยงมากขึ้น
มะเร็งกระเพาะอาหารในปัจจุบันพบว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า เฮลิโคแบกเทอร์ไพโลรี โดยการกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไปเชื้อจะแฝงเร้นอยู่ในกระเพาะอาหาร โดยคนไข้ไม่รู้ตัว นานๆเข้าก็อาจกลายเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร ซึ่งเมื่อมีอาการปรากฏ (เช่น ปวดท้องแบบโรคกระเพาะ) ก็ยากแก่การรักษา คนทั่วไปมักจะไม่รู้ตัวว่ามีการติดเชื้อชนิดนี้ ถึงแม้ไม่ได้สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ออกกำลังกายประจำ แต่ก็อาจมีปัจจัยเสริมอย่างอื่น (เช่น พันธุกรรม อายุมาก) ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตามมาได้ ข้อแนะนำ คือคนที่มีปัจจัยเสี่ยง (เช่น มีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคนี้) ก็ควรจะปรึกษาหมอ เพื่อตรวจเช็กด้วยกล้องส่องกระเพาะ ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ หากพบมะเร็งระยะแรกเริ่ม จะได้รักษาให้ได้ผลดี
กล่าวโดยสรุป การเข้าใจถึงเหตุปัจจัยของการเกิดโรคอย่างรอบด้านหรือองค์รวม จะช่วยให้เรารู้จักดูแลตนเอง โดยการพัฒนาจิตใจและพฤติกรรมสุขภาพของตนเอง ควบคู่กับการควบคุมปัจจัยด้านอื่นๆ รวมทั้งหมั่นตรวจเช็กสุขภาพตามความจำเปน็็น
ข้อสำคัญ จะได้ไม่ประมาทว่า เป็นคนดี ทำดีแล้วจะไม่มีโรคร้ายเข้ามากล้ำกราย
 
     
 

ข้อมูลสื่อ

323-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 323
มีนาคม 2549
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ