• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อุบัติภัยของเด็กไทย

ปัจจุบันนับว่าเด็กไทยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงอันตรายอยู่ตลอดเวลา และในแต่ละปีเด็กไทยต้องเสียชีวิตจากอุบัติภัย มากกว่า  ๓,๐๐๐ ราย  เป็นทารกมากกว่า ๑๐๐ ราย

ผลของโครงการวิจัยเรื่อง “การศึกษาการเฝ้าระวังและจัดการความเสี่ยงต่อความปลอดภัยในเด็ก”  ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยมี ผศ.นพ.อดิศักดิ์  ผลิตผลการพิมพ์  เป็นหัวหน้าโครงการฯ ระบุว่า 
สาเหตุการจมน้ำเป็นอันดับ ๑ แต่ละปีเสียชีวิตมากกว่า ๑,๔๐๐ - ๑,๖๐๐ ราย อันดับ ๒จากการจราจร  แต่ละปีเสียชีวิตปีละ ๗๐๐– ๙๐๐ ราย นอกนั้นมาจากสาเหตุอื่นๆ เช่น  บาดเจ็บจากกระแสไฟฟ้า  ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ขาดอากาศหายใจ น้ำร้อนลวก ตกจากที่สูง  สัตว์มีพิษกัด เป็นต้น 
เมื่อวิเคราะห์ปัญหาการเสียชีวิตจากอุบัติภัยเหล่านี้ พบว่าต้นเหตุสำคัญเกิดจากการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เสี่ยง  และมีผลิตภัณฑ์ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายอยู่รอบๆ ตัว  
ทั้งนี้ ชุมชน องค์กรท้องถิ่น  หน่วยงานรัฐ  รวมทั้งผู้ผลิตภาคเอกชน  ที่มีหน้าที่ดูแลจัดการสิ่งแวดล้อมหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ มักดำเนินการโดยขาดการคำนึงถึงความปลอดภัยของเด็ก และมักคาดหวังให้ผู้ดูแลเด็กทำหน้าที่เฝ้าระวังเพียงฝ่ายเดียว ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุร้ายขึ้นคราใด จึงไม่มีการสืบเสาะไปถึงรากเหง้าของผู้รับผิดชอบตัวจริง ในการจัดการกับอุบัติภัยเหล่านี้  
    
ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก…ภัยมืดใกล้ตัว
ผลการวิจัยระบุว่า  สาเหตุการบาดเจ็บของเด็ก เกิดจากอันตรายของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีอยู่ ดังนั้น จึงต้องทราบว่าผลิตภัณฑ์ใดบ้างมีคุณลักษณะความไม่ปลอดภัยแฝงอยู่ เช่น  ผลิตภัณฑ์บางอย่างไม่มีประโยชน์  แถมมีโทษ (เช่น รถหัดเดิน) ผู้ปกครองหลายคน มักเข้าใจผิดว่ารถหัดเดินนั้นจะช่วยให้เด็กเดินได้เร็วขึ้น  แต่แท้จริงแล้วกลับฉุดพัฒนาการการเดินของเด็ก  หรือหัวนมยางดูดเล่น  เป็นต้น 
ผลิตภัณฑ์บางอย่างมีประโยชน์  แต่ก็มีอันตราย  เช่น  รถจักรยาน  ที่ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อของเด็ก  แต่อาจเป็นสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ  ถ้าเด็กเผลอขี่ออกมาบนถนน  หรือไม่ได้สวมหมวกกันน็อก  
ผลิตภัณฑ์บางอย่างมีประโยชน์  แต่มีข้อจำกัดเฉพาะ  เช่น  โมบาย  ใช้สำหรับกระตุ้นสายตาในเด็กเล็ก  เป็นต้น  
รวมถึงอันตรายจากการไม่บำรุงรักษา เช่น เครื่องเล่นต่างๆ ในสนามเด็กเล่น เป็นต้น

สนามเด็กเล่น…สถานที่เจ็บตัว
ในแต่ละปีพบว่ามีเด็กบาดเจ็บจากเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น สูงถึงปีละ ๓๔,๐๗๕ ราย  โดยมักเกิดในเด็กอายุ  ๕–๑๒ ขวบ สาเหตุเกิดจากกระดานลื่น  ร้อยละ ๔๔ เกิดจากชิงช้า  ร้อยละ ๓๓  นอกนั้นเกิดจากเครื่องปีนป่าย  ม้าหมุน  และอื่นๆ  ส่วนใหญ่เป็นการบาดเจ็บของแขนขา  ใบหน้า  และศีรษะ  ที่รุนแรงและพบบ่อยคือกระดูกหักของแขนหรือข้อมือ  และการบาดเจ็บศีรษะ  
ทั้งนี้เราสามารถพิจารณาลักษณะของสนามเด็กเล่นที่ปลอดภัย โดยดูจากพื้นสนามที่สามารถดูดซับพลังงานจากการตก เช่น พื้นทรายลึก ๓๐ เซนติเมตร พื้นยางสังเคราะห์  เป็นต้น 
การจัดวางเครื่องเล่น ควรมีระยะห่างมากกว่า ๑.๘ เมตร ความสูงของเครื่องเล่นที่ไม่ควรเกิน ๑.๘ เมตร สำหรับเครื่องเล่นของเด็กโต ส่วนเด็กเล็กไม่ควรเกิน ๑.๕ เมตร เพราะความสูงยิ่งมากโอกาสเสี่ยงต่อการตกแล้วบาดเจ็บยิ่งมีสูง  
เครื่องเล่นที่มีการเคลื่อนไหวทุกชนิด ต้องฝังรากฐานให้มั่นคง เพราะจะทำให้หล่นลงมาทับเด็กได้ และที่นั่งไม่ควรทำจากวัสดุแข็ง เช่น ไม้หรือเหล็ก เพราะเมื่อเด็กกระแทกแล้ว จะทำให้เกิดการบาดเจ็บได้

ปัญหานี้มีทางออก
การป้องกันอุบัติภัยในเด็ก ผู้ปกครองหรือผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ควรมีความรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ต่างๆ  มีการประเมินความเสี่ยงของอุปกรณ์  หากเป็นไปได้ควรดัดแปลง เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายจากความเสี่ยงเหล่านั้น  
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บของเด็ก มีอยู่หลายอย่าง เช่น  ถังน้ำ เสี่ยงต่อการจมน้ำของเด็กอายุต่ำกว่า ๓ ขวบ เบาะ ที่นอน หมอน ฟูก ผ้าห่ม เสี่ยงต่อการขาดอากาศหายใจ หากนอนคว่ำ ปืนอัดลม เสี่ยงต่อลูกกระสุนกระเด็นเข้าตา ซึ่งเกิดปีละกว่า ๙,๐๐๐ ราย 
ส่วนของเล่นเด็ก ควรเลือกสินค้าที่ทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)  รับรอง  
ปัจจุบันเรายังขาดข้อมูลการเฝ้าระวังการบาดเจ็บและเสียชีวิต  และการเก็บข้อมูลผลิตภัณฑ์  ที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บของเด็ก  ดังนั้น โปรดอย่าโทษเด็ก หรือยกความผิดทั้งหมดให้แก่พ่อแม่ผู้ดูแลฝ่ายเดียว  หน่วยงานของภาครัฐและเอกชน ต้องเข้ามามีส่วนรับผิดชอบด้วย  
เพราะการสร้างสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยและลดการบาดเจ็บในเด็ก ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างจริงจังจากทุกภาคส่วนของสังคม  
    

 

ข้อมูลสื่อ

323-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 323
มีนาคม 2549
รายงานพิเศษ
จุรีรัตน์ อ้นป๊ก