• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปัสสาวะเล็ดรักษาได้

"ปัญหาปัสสาวะเล็ด" ไม่ใช่เรื่องตลกอย่างที่หลายคนเข้าใจ ผู้ที่มีอาการปัสสาวะเล็ดจะเกิดผลกระทบทั้งทางสังคมและจิตใจ เกิดการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอจากต้องตื่นขึ้นมาเข้าห้องน้ำกลางดึก สมาธิการทำงานหมดไปกับการเข้าห้องน้ำบ่อยครั้ง รวมทั้งเกิดความกลัวในการเดินทางเนื่องจากกังวลเรื่องห้องน้ำ ทำให้ผู้มีปัญหาปัสสาวะเล็ดมักมีอาการซึมเศร้าปิดตัวจากสังคมร่วมด้วย
สาเหตุปัญหาปัสสาวะเล็ดมีหลายประการ อาทิ โรคกระเพาะปัสสาวะทำงานผิดปกติ ระบบประสาทไขสันหลังผิดปกติ หมอนรองกระดูกไปกดทับเส้นประสาท สมองมีหลอดเลือดโป่งพอง แม้แต่ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง ก็อาจมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ได้เช่นกัน อาจารย์ ลลิตา สุริยะประภาดิลก นักกายภาพบำบัด และอาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในงานเสวนา "ปัญหาปัสสาวะเล็ดรักษาได้" ที่ร้านหมอชาวบ้าน
 การรักษาปัญหาปัสสาวะเล็ดด้วยวิธีการทางการแพทย์ มี ๒ วิธี คือ
๑.การใช้ไฟฟ้าวัดกำลังกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ทำได้โดยการสอดขั้วไฟฟ้าเข้าไปวัดการทำงานของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานทางช่องคลอด วิธีนี้จะสามารถทราบได้ว่าผู้ป่วยมีปัญหาปัสสาวะเล็ดมาจากสาเหตุใด
๒.กระตุ้นกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานด้วยไฟฟ้า ทำได้โดยสอดขั้วไฟฟ้ากำลังอ่อนเข้าไปทางช่องคลอด แล้วปล่อยไฟฟ้าเข้าไปกระตุ้นให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานทำงานได้ดีขึ้น วิธีนี้จะใช้ในผู้ป่วยที่มีกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแรงมาก
การรักษาปัญหาปัสสาวะเล็ดด้วยตนเอง สามารถทำได้ด้วยการออกกำลังกายกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกราน คือ
ท่าที่ ๑ ผู้หญิงให้นอนหงาย แล้วสอดนิ้วเข้าไปบริเวณช่องคลอด ส่วนผู้ชายใช้ปลายนิ้วจับบริเวณปากทวารหนัก จากนั้นทดลองขมิบเหมือนเวลากลั้นปัสสาวะ หากรู้สึกถึงแรงมารัดนิ้ว แสดงว่าปฏิบัติได้ถูกต้อง
ท่าที่ ๒ นั่งบนเก้าอี้ ผู้หญิงให้แยกขาออกให้กว้างกว่าช่วงไหล่พร้อมโน้มตัวมาข้างหน้า ส่วนผู้ชายนั่งตัวตรงปกติ จากนั้นให้ขมิบรูทวารหนัก ( ทำอย่างน้อย ๑๐-๑๕ ครั้งต่อวัน )
ปัญหาปัสสาวะเล็ดไม่ใช่ปัญหาใหญ่อีกต่อไป หากผู้ป่วยเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ และหมั่นบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานเป็นประจำ อาการปัสสาวะเล็ดก็จะหายไปแน่นอน
 

ข้อมูลสื่อ

323-004-3
นิตยสารหมอชาวบ้าน 323
มีนาคม 2549
พญ.เพ็ญพรรณ วัฒนไกร
กองบรรณาธิการ