• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

พรหมจรรย์

ยุคสมัยปัจจุบัน ศีลและวินัยดูจะเป็นอะไรที่ค่อนข้างยากและตายตัว บางคนถึงกับมองว่ามันเป็นผลเสียต่อสุขภาพทั้งกายใจ  โดยเฉพาะแนวคิดของนักจิตวิทยากลุ่มฟรอยด์ มองว่ามันเป็นเพียงการกดข่ม ที่เต็มไปด้วยอันตราย 

ยกตัวอย่างเช่น ผู้ประพฤติพรหมจรรย์มักถูกวิพากษ์วิจารณ์จากทั้งวงการแพทย์และนักจิตวิทยา  ประเด็นที่โต้แย้งคือ ความขัดแย้งระหว่างการหักห้ามใจตนเองกับผลของมัน  ขณะที่บางคนเห็นว่าต่อมเพศจะเสื่อมหากไม่ใช้งานเป็นเวลานานเกินไป อีกหลายคนซึ่งเชื่อว่าการหักห้ามใจเป็นผลดีต่อสุขภาพเห็นว่าต่อมเพศก็เหมือนต่อมเหงื่อ ต่อมน้ำตา แม้ไม่ได้ใช้งานมันก็ไม่เป็นอะไร ไม่มีผลเสียแต่อย่างใด  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ใช่ความตั้งใจของเราที่จะพูดถึงประเด็นนี้ เราว่ากันเฉพาะในแง่มุมของโยคะ 

โยคะรู้สึกว่า มนุษย์ทำให้ประเด็นเรื่องเพศเป็นอะไรที่ซับซ้อนโดยไม่จำเป็น มนุษย์โต้แย้งกันถึงคุณค่าของเรื่องเพศจากความคิดเห็นส่วนตัว โต้แย้งแบบเมาฮอร์โมน  คงไม่ต้องโต้แย้งกันมากนักต่อเรื่องความดึงดูดของเพศตรงข้าม แต่แม้กระทั่งวัตถุที่แทบจะไม่เป็นที่น่าสนใจใดๆ เลย ก็ยังถูกปรุงแต่งด้วยใจมนุษย์ให้กลายเป็นสิ่งกระตุ้นทางเพศได้ 
บทกวี ศิลปะ ในบางแง่มุมก็เป็นตัวปรุงให้เกิดความรู้สึกมากขึ้น ดังที่ คล็อด บรากดอน ได้กล่าวไว้ในหนังสือ Yoga for You 

“เรื่องเพศเป็นเรื่องที่ล้นเกินในมนุษย์ กระตุ้นเร้ากันที่เปลือกนอก หมกมุ่นอยู่กับความพึงพอใจจากเพศสัมพันธ์ จนมนุษย์ได้ทำลายความเป็นธรรมชาติ สร้างสภาวะที่ต่างไปจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ บนโลกนี้ ซึ่งไม่มีปัญหาทางเพศเหมือนคน ด้วยความก้าวหน้าของสิ่งที่เรียกว่าอารยธรรม ปัญหาก็ยิ่งทับทวี อารมณ์แปรปรวนที่เกิดจากความเย่อหยิ่ง ความกลัว ความยั่วยวน ความลนลาน ประกอบกับการล่อหลอกทางเพศที่สร้างขึ้นอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นหนังสือโป๊ วัตถุลามก แอลกอฮอล์ อาหารที่กระตุ้น นำไปสู่กิจกรรมทางเพศที่มากเกินและผิดปกติ  สภาวะจิตที่เป็นลบทั้งหลาย ไม่ว่าความหลอกลวง ความอิจฉา ความขุ่นเคือง ล้วนทำให้เกิดความแตกแยกของบุคลิกภาพ ทำให้ไม่สามารถมีชีวิตได้อย่างเป็นปกติ ไม่เป็นสุข  การฝึกปฏิบัติโยคะเข้ามามีบทบาท เพราะเป็นการสร้างองค์รวมแห่งบุคลิกภาพ อันเป็นสิ่งจำเป็นของชีวิต

ไม่เหมือนกับสัตว์ชั้นสูงอื่นๆ มนุษย์ไม่รู้จักช่วงเวลาของการละเว้นการมีเพศสัมพันธ์ และแทนที่จะใช้พลังทางเพศที่ล้นเกินไปเพื่อการพัฒนาตนเองตามคำสอนของคนโบราณซึ่งเป็นที่มาของศาสตร์โยคะ  คนกลับใช้พลังทางเพศที่ล้นเกินไปเพียงเพื่อความพึงพอใจ  

ขณะที่การตั้งครรภ์ การมีบุตรเป็นเครื่องชะลอความต้องการทางเพศ มนุษย์ก็กลับใช้สารเคมี ใช้เครื่องมือต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการปฏิสนธิ ทำให้การแต่งงานกลายเป็นความยินยอมในการร่วมประเวณี และการกำกับควบคุมตนเอง ก็ไม่มีความหมายต่อการคุมกำเนิดอีกต่อไป”

โยคะเรียกการควบคุมอย่างถึงที่สุดว่า มหาวราตะ ซึ่งมีไว้สำหรับ ทิวราสัมเวคิน คือผู้มุ่งมั่นที่จะละวางจนถึงที่สุดเท่านั้น สำหรับผู้มีพื้นฐานจิตใจที่เพียบพร้อมแล้วเท่านั้น  ส่วนคนทั่วไปอาจพิจารณาจากคำพูดของบรากดอนอีกครั้งคือ

“เราไม่แนะนำการควบคุมอย่างถึงที่สุดนี้ เพราะการกดข่มความต้องการทางเพศมากเกินไปจะเป็นการเบี่ยงเบนไปยังด้านอื่น และกลายเป็นอันตรายเสียยิ่งกว่าปล่อยไปตามธรรมชาติ  เป้าหมายไม่ใช่การกดข่มความต้องการทางเพศที่เป็นการดำรงเผ่าพันธุ์มนุษย์ แต่เป็นการปรามความรู้สึก ปรามสัญชาตญาณดิบที่ส่งมาจากสมอง ดังนั้น เราควรลดการเสพกาม หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์และแอลกอฮอล์ ไม่คิดหมกมุ่นในเรื่องเพศ และหากมีเรื่องทางเพศแทรกเข้ามาในใจก็ควรละวางในทันทีทันใด พึงระลึกว่าความคิดที่เป็นอกุศลทั้งหลายล้วนเป็นส่วนหนึ่งในจิตใต้สำนึกซึ่งมีผลต่อระบบกลไกทางเพศ ความคิดที่เป็นอกุศลนั้นมุ่งแสวงหาความพึงพอใจ มันพยายามกำกับเรา พยายามจะมีอำนาจเหนือเราทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง เราต่างหากที่เป็นผู้กำหนดควบคุมตนเอง”

การแต่งงานควรนำไปสู่ความรัก ความใส่ใจ ไม่ใช่เรื่องของทะเบียนสมรส  สำหรับมนุษย์ผู้มีใจสูง การแต่งงานควรเต็มไปด้วยความรัก ความเสน่หาที่คอยเติมหัวใจของคู่รักอย่างต่อเนื่อง และเอ่อล้นไปทั้งครอบครัว คนละเรื่องกับความสุขทางเพศ ที่ให้ได้เพียงความพอใจชั่วครั้งชั่วคราว และไม่สามารถป้องกันความรู้สึกไม่พอใจต่างๆ  เช่น ความระแวง ความเกลียด ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาอื่นๆ ได้

ยมะ 5
1 อหิงสา การไม่ใช้ความรุนแรง
2 สัตยะ  การรักษาสัจจะ พูดความจริง
3 อัสเตยะ การไม่ขโมย ไม่ลักทรัพย์
4 พรหมจรรย์ การดำเนินไปบนหนทางแห่งพรหม รวมทั้งการไม่ประพฤติผิดทางเพศ
5 อปริเคราะห์ การไม่ถือครองวัตถุเกินความจำเป็น

 

ข้อมูลสื่อ

323-019
นิตยสารหมอชาวบ้าน 323
มีนาคม 2549
โยคะ
กวี คงภักดีพงษ์