• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บนเส้นทางหนังสือ (๑๔)

     ในตอนที่แล้วมาถึงว่าหมอคัตเลอร์ยังข้องใจคำอธิบายของท่านทะไล ลามะ ที่ว่าการพัฒนาจิตลึกๆ ต้องใช้เวลานาน เขาจึงถามท่านว่า
     "ท่านได้กล่าวว่าต้องมีความกระตือรือร้นและความตั้งใจจริงอย่างสูง ที่จะเปลี่ยนแปลงจิตใจไปทางบวก แต่ขณะเดียวกันเราก็ว่าการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงเกิดขึ้นช้าๆ ใช้เวลานานมาก เมื่อการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นช้าก็ทำให้ท้อใจได้ง่ายๆ ท่านเคยท้อใจบ้างไหมในการปฏิบัติต่างๆของท่านเมื่อได้ผลช้า"
     "เคย แน่นอนทีเดียว" ท่านทะไล ลามะ ตอบ
     "แล้วท่านทำอย่างไร" หมอคัตเลอร์ถาม
     "ในการปฏิบัติจิตภาวนาของอาตมา ถ้าประสบอุปสรรคหรือปัญหา อาตมาพบว่าเป็นการดี ถ้าเราหยุดคิดแล้วมองเรื่องทั้งหมดเป็นระยะไกล มากกว่ามองสั้นๆเป็นเรื่องเฉพาะหน้า ในเรื่องนี้มีกลอนบทหนึ่งซึ่งทำให้มีกำลังใจและดำรงความมุ่งมั่น ความว่า
    
      แม้นผืนฟ้าจักดำรงคงอยู่เพียงใด
      แม้นมนุษยชาติดำรงคงอยู่เพียงใด
      ขอให้ข้าพเจ้าดำรงคงอยู่เช่นเดียวกัน
      เพื่อขจัดความทุกข์โศกของโลก
    
     "แต่เกี่ยวกับการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของทิเบต ถ้าอาตมาเชื่อตามกลอนข้างบน ว่าสามารถทนรอได้ชั่วกัปป์ชั่วกัลป์ ตราบชั่วฟ้าดินสลาย อาตมาก็จะต้องกลายเป็นคนโง่ไป เรื่องเช่นนี้ต้องเข้าเกี่ยวข้องอย่างรอช้าไม่ได้ แน่นอนว่าในสถานการณ์เช่นนี้ ในเรื่องการดิ้นรนต่อสู้เพื่ออิสรภาพ เมื่ออาตมาคิดถึงเวลา ๑๔-๑๕ ปีที่หมดไปกับความพยายามและการเจรจาที่ไร้ผล เมื่อคิดถึงความล้มเหลวของเวลาตั้ง ๑๕ ปี อาตมาเกิดความรู้สึกขมขื่น และหมดความอดทนเหมือนกันแต่ความรู้สึกขมขื่นก็ยังไม่ถึงกับทำให้อาตมาหมดหวัง "
     หมอคัตเลอร์ต้องการให้ชัดขึ้นไปอีก จึงถามว่า "แต่อะไรแน่ที่ป้องกันไม่ให้ท่านรู้สึกหมดหวัง"
     "แม้ในกรณีของทิเบต อาตมาคิดว่าการมองสถานการณ์จากมุมมองที่กว้างช่วยให้ความรู้สึกดีขึ้น ตัวอย่างเช่น ถ้าอาตมามองมาจากภายในทิเบตเองด้วยมุมมองที่แคบ มุ่งมองเฉพาะเรื่องนี้เท่านั้น สถานการณ์ก็จะดูหมดหวัง แต่ถ้ามองจากมุมมองที่กว้างกว่า จากมุมมองของโลก อาตมาเห็นสถานการณ์ระหว่างประเทศว่าระบอบคอมมิวนิสต์และเผด็จการทั้งระบบกำลังล่มสลายลง แม้ในประเทศจีนก็มีความเคลื่อนไหวประชาธิปไตย และสปิริตของชาวทิเบตก็ยังสูงอยู่ ดังนั้น อาตมาจึงไม่ล้มเลิกความหวัง"
     โดยคำนึงถึงภูมิหลังอันหนักแน่นและการฝึกอบรมในปรัชญาและวิปัสสนากรรมฐานตามวิถีพุทธของท่านทะไล ลามะ น่าสนใจที่ท่านอ้างถึงการเรียนรู้และการศึกษาว่าเป็นก้าวแรกของการนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงตนเอง แทนที่จะเป็นวิธีการทางจิตวิญญาณอันลึกลับ แม้ว่าการศึกษาจะได้รับการยอมรับว่ามีความสำคัญ ในการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ และการหางานทำ แต่ว่าบทบาทของการศึกษาในฐานะเป็นปัจจัยสำคัญในการนำมาซึ่งความสุขจะไม่ได้รับการเหลียวแล การศึกษาค้นคว้าได้แสดงให้เห็นว่า แม้การศึกษาซึ่งเป็นวิชาการล้วนๆ ก็สัมพันธ์กับชีวิตที่เป็นสุข  การศึกษาสำรวจจำนวนมากได้แสดงให้เห็นว่าระดับการศึกษามีความสัมพันธ์กับระดับสุขภาพและการมีอายุยืน และการป้องกันสภาวะซึมเศร้า นักวิทยาศาสตร์ได้พยายามหาสาเหตุของผลดีจากการศึกษา เช่น คนมีการศึกษาดีรู้เรื่องปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพดีกว่า สามารถมีพฤติกรรมสุขภาพ มีความเคารพศักยภาพในตนเอง มีทักษะชีวิตมากกว่า มีกลวิธีในการเผชิญปัญหามากกว่า  ทั้งหมดเหล่านี้ทำให้สุขภาพดีมีความสุข ดังนั้น ถ้าแม้นการศึกษาธรรมดาๆ ก็ยังเป็นประโยชน์ต่อชีวิตที่เป็นสุขแล้ว การเรียนรู้และการศึกษาตามแนวของท่านทะไล ลามะ  จะยิ่งมีประโยชน์มากกว่าสักเพียงใด  การศึกษาที่มุ่งเฉพาะที่จะให้เข้าใจและปฏิบัติได้ เกี่ยวกับปัจจัยต่างๆที่จะทำให้ชีวิตเป็นสุขอย่างถาวร
     ก้าวต่อไปบนเส้นทางของท่านทะไล ลามะ เพื่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดี คือการสร้าง "ความตั้งใจจริงและความกระตือรือร้น" เรื่องนี้เป็นที่ยอมรับในวงการวิทยาศาสตร์ตะวันตกว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บรรลุเป้าหมายในการศึกษาชิ้นหนึ่ง โดยนักจิตวิทยาทางการศึกษาที่ชื่อเบนจา
มินบลูม จากการตรวจสอบชีวิตของคนที่ประสบความสำเร็จในอเมริกา ที่เป็นศิลปิน นักกีฬา และนักวิทยาศาสตร์ เขาพบว่าความพยายามและความตั้งใจจริง เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จมากกว่าความฉลาด ในทำนองเดียวกันหลักการนี้น่าจะใช้ได้กับการสร้างความสุข
     นักวิทยาศาสตร์ทางพฤติกรรมศาสตร์ได้ทำการวิจัยกันอย่างมากว่าอะไรเป็นกลไกให้มนุษย์ริเริ่มและทำอะไรอย่างต่อเนื่องที่เขาเรียกว่า พลังขับเคลื่อนของมนุษย์ เขาพบว่ามี ๓ ชนิด  ชนิดแรกเรียกว่าพลังขับเคลื่อนปฐมภูมิ ซึ่งเกิดจากความจำเป็นทางชีววิทยาเพื่อความอยู่รอด เช่น ความจำเป็นเรื่องอาหาร น้ำ อากาศ พลังขับเคลื่อนอีกชนิดหนึ่ง คือ ความจำเป็นในการได้รับการกระตุ้นและรับรู้ข้อมูลนักวิจัยมีสมมุติฐานว่านี้เป็นความจำเป็นตามธรรมชาติของชีวิตเพื่อให้ระบบประสาทพัฒนาขึ้นและทำหน้าที่ได้ พลังขับเคลื่อนอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า พลังขับเคลื่อนทุติยภูมิ เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ พลังขับเคลื่อนทุติยภูมินี้เกิดจากความต้องการความสำเร็จ อำนาจหรือสถานภาพ พลังขับเคลื่อนระดับนี้ได้รับอิทธิพลจากปัจจัยทางสังคม และเป็นรูปเป็นร่างขึ้นจากการเรียนรู้ ตรงนี้เองที่ทฤษฎีทางจิตวิทยาสมัยใหม่ พบกับแนวคิดของท่านทะไล ลามะ เกี่ยวกับการสร้าง "ความตั้งใจอย่างแรงกล้า และความกระตือรือร้น" แต่ในระบบของท่านทะไล ลามะ พลังแห่งการขับเคลื่อนและความตั้งใจอย่างแรงกล้าไม่ได้ใช้สำหรับความสำเร็จในทางโลกย์เท่านั้น แต่ว่าใช้สำหรับสร้างความสุขที่แท้และเป้าหมายที่สูงกว่านั้น เช่น ในการสร้างความเมตตากรุณาและพัฒนาการทางจิตวิญญาณ
     "ความมานะพยายาม" คือแรงส่งสุดท้ายในการนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง ท่านทะไล ลามะ พบว่าความมานะพยายามเป็นปัจจัยสำคัญในการก่อให้เกิดสภาวะใหม่ ความคิดว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและความคิดทางลบ โดยทางการสร้างสภาวะใหม่นั้น นอกจากจะตรงกับความคิดของนักจิตวิทยาตะวันตกแล้ว ยังเป็นเสาหลักของการเยียวยารักษาพฤติกรรม  การเยียวยารักษาพฤติกรรมทางลบนี้อยู่บนฐานของทฤษฎีว่าการที่ใครเป็นอะไร เพราะเขาเรียนรู้มาที่จะให้เป็นอย่างนั้น โดยวิธีสร้างสภาวะใหม่ การเยียวยารักษาพฤติกรรมใช้ได้กับปัญหาต่างๆ อย่างกว้างขวาง
     แม้ว่ากรรมพันธุ์จะมีส่วนในการกำหนดการที่มนุษย์ตอบโต้ต่อปัญหาและสภาพแวดล้อม แต่นักสังคมศาสตร์และนักจิตวิทยารู้สึกว่าปัจจัยทางสังคมและสภาพแวดล้อมมีความสำคัญต่อความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมมากกว่า สิ่งเหล่านี้เกิดจากวิธีเลี้ยงดูและสภาพสังคมรอบตัว  จนทำให้ทำอะไรเป็นนิสัย เมื่อเป็นดังนี้ ท่านทะไล ลามะ จึงคิดว่าสามารถดัดแปลงพฤติกรรมที่ไม่ดีได้โดยการลดสภาวะทางลบ และเพิ่มสภาวะทางบวกที่เป็นคุณต่อชีวิต
     ความมานะพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมภายนอกไม่เพียงแต่จะทำให้เราเอาชนะนิสัยที่ไม่ดี แต่ว่าทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและความรู้สึกนึกคิดได้ การทดลองได้แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่เพียงแต่ว่าทัศนคติไปกำหนดพฤติกรรมเท่านั้น แต่พฤติกรรมก็กลับไปเปลี่ยนแปลงทัศนคติได้ด้วย นักวิจัยได้พบว่าแม้แต่การแกล้งขมวดคิ้ว หรือแกล้งยิ้มก็ไปกระตุ้นให้เกิดอารมณ์โกรธหรืออารมณ์ที่เป็นสุข นี้ชี้ให้เห็นว่าการมีพฤติกรรมทางบวกซ้ำๆก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในอย่างแท้จริงได้ นี้จึงอาจจะมีความสำคัญในวิธีการของท่านทะไล ลามะ ในการสร้างชีวิตที่เป็นสุข เช่น เราเริ่มอย่างง่ายๆ โดยช่วยเหลือผู้อื่นอย่างสม่ำเสมอ  แม้เริ่มต้นเราจะได้ไม่รู้สึกเมตตากรุณาหรือเห็นใจเลย แต่เมื่อทำบ่อยๆเข้าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในแล้วกลายเป็นความเมตตากรุณาอย่างแท้จริงขึ้นมาได้

     ความคาดหวังที่สมจริง
     ในการนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงภายในอย่างแท้จริง ท่านทะไล ลามะ เน้นถึงความสำคัญของความมานะพยายามอย่างต่อเนื่อง เป็นกระบวนการค่อยเป็นค่อยไป นี้เป็นการตรงข้ามกับวิธี "ไวๆ" ซึ่งแพร่หลายในตะวันตก
     ท่านทะไล ลามะ   เน้นวิธีเติบโตสู่วุฒิสภาวะอย่างช้าๆ ท่านเชื่อถึงพลังจิตอันมหาศาล ที่ต้องฝึกอย่างเป็นระบบ ฝึกให้มีสมาธิ เป็นจิตที่ต้องมีประสบการณ์เป็นปีๆ และเป็นเหตุเป็นผล พฤติกรรมและนิสัยทางลบใช้เวลานานที่จะเกิดขึ้นฉันใด การที่จะเกิดนิสัยใหม่ในการนำไปสู่ความสุขก็กินเวลานานพอๆ กันฉันนั้น ไม่มีทางลัดสำหรับการที่จะสร้างความตั้งใจอย่างแรงกล้าและความมานะพยายามในเวลาสั้นๆ นี่แหละคือความลับแห่งการบรรลุความสุข
     เมื่อเริ่มเดินไปบนเส้นทางแห่งการเปลี่ยนแปลง จะต้องตั้งความคาดหมายที่สมจริง ถ้าความคาดหมายของเราสูงเกินไป เราก็จะพบกับความผิดหวัง ถ้าต่ำเกินไปก็จะไม่ท้าทายให้เราใช้ศักยภาพของเราให้เต็มที่ หลังจากสนทนากันถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลง ท่านทะไล ลามะ อธิบายว่า
     "คุณต้องไม่ลืมความสำคัญของการมีทัศนคติที่สมจริง โดยคำนึงถึงความเป็นจริงของสถานการณ์ของตัวเองในขณะที่ดำเนินไปสู่จุดมุ่งหมาย ต้องรับรู้ความยากลำบากบนเส้นทางและความจริงที่ว่ามันต้องใช้เวลาและใช้ความมานะพยายามอย่างไม่ลดละ จะต้องแยกระหว่างอุดมคติและมาตรฐานที่คุณใช้ตัดสินความก้าวหน้าของคุณ ในฐานะชาวพุทธเราอาจตั้งอุดมคติว่าท้ายที่สุดเราจะบรรลุธรรม การตั้งความหวังสูงสุดที่จะบรรลุธรรมไม่ได้เป็นการสุดโต่ง แต่ความหวังที่จะบรรลุเป้าหมายนั้นที่นี่แล้วเดี๋ยวนี้เป็นความสุดโต่ง การไปใช้อุดมคติมาเป็นมาตรฐานจะทำให้ท้อใจ และหมดหวังในเมื่อไม่สามารถบรรลุธรรมได้ทันใจ ฉะนั้นจะต้องดำเนินการอย่างสมจริง ในอีกด้านหนึ่ง ถ้าคุณบอกว่าคุณสนใจเรื่องเฉพาะหน้าเท่านั้น ไม่แคร์เกี่ยวกับการบรรลุพุทธภาวะในอนาคตนั่นก็เป็นความสุดโต่งอีกทางหนึ่ง เราต้องการทางสายกลางระหว่างส่วนสุดทั้งสอง
     "การดูแลความคาดหวังให้เหมาะสมเป็นเรื่องที่ยากที่จะพอดี ถ้าคุณคาดหวังมากเกินไปโดยปราศจากรากฐาน นั่นก็นำไปสู่ปัญหา ในอีกด้านหนึ่ง ถ้าไม่มีความคาดหวังหรือความหวัง โดยไม่มีความบันดาลใจก็จะไม่มีความก้าวหน้า การมีความหวังสำคัญ การหาจุดสมดุลไม่ใช่ง่ายต้องตัดสินใจบนสถานการณ์ที่เป็นจริง"
     หมอคัตเลอร์ก็ยังสงสัยอยู่ดี แม้ว่าเราอาจจะปรับปรุงพฤติกรรมและทัศนคติทางลบของเราได้บ้าง ถ้าให้เวลาและความมานะพยายามอย่างพอเพียง แต่เราจะสามารถขจัดอารมณ์ลบของเราได้สักเท่าใดเชียว เขาจึงถามท่านทะไล ลามะ ว่า "เราได้พูดถึงว่าการบรรลุความสุขอาศัยการขจัดพฤติกรรมและสภาวะทางลบของจิตใจ เช่น ความโกรธ ความเครียด ความโลภ ต่างๆ เหล่านี้…"
     ท่านทะไล ลามะ พยักหน้า
     "แต่อารมณ์ร้ายเหล่านั้นก็เป็นธรรมชาติของจิตมนุษย์ มนุษย์ทั้งหมดก็มีอารมณ์ไม่ดีเหล่านี้ ไม่มากก็น้อย ถ้าในเมื่อเป็นเช่นนั้นมันจะสมเหตุสมผลหรือ ที่เราจะไปเกลียดหรือปฏิเสธ หรือต่อสู้กับภาคส่วนของเราเอง ดูมันไม่เหมาะสมหรือไม่เป็นธรรมชาติเลย ที่จะไปพยายามขจัดสิ่งที่มันอยู่ในเนื้อในตัวเราตามธรรมชาติ"
     ท่านทะไล ลามะ สั่นศีรษะและตอบว่า "ใช่ บางคนที่มีความเห็นว่าความโกรธ ความเกลียด และอารมณ์ที่เป็นลบอื่นๆ เป็นธรรมชาติของจิตใจและเขารู้สึกว่า เมื่อมันเป็นธรรมชาติในจิตใจ แล้วก็ไม่มีทางที่จะเปลี่ยนแปลงมัน นี่เป็นความเห็นที่ไม่ถูกต้อง เช่น เราทุกคนเกิดมาก็ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรเป็นธรรมชาติ ในความหมายนี้ ความไม่รู้ก็เป็นธรรมชาติ  เมื่อเรายังเยาว์วัย เราแสนจะไม่รู้อะไร แต่เมื่อเราโตขึ้น เราเรียนรู้ทุกวันๆ  มีความรู้ขึ้นและขจัดความไม่รู้ออกไป ถ้าเราปล่อยความไม่รู้ไว้ตามธรรมชาติ โดยไม่เรียนรู้ เราก็ขจัดความไม่รู้ออกไปไม่ได้ ถ้าเราทอดทิ้งตัวเราไว้ตามธรรมชาติโดยไม่พยายามขจัดความไม่รู้ พลังแห่งการที่จะเรียนรู้ก็จะไม่เกิดขึ้นมาเอง ในทำนองเดียวกัน โดยการฝึกตนอย่างเหมาะสม เราสามารถจะค่อยๆ ลดอารมณ์ทางลบลงได้และเพิ่มสภาวะจิตที่เป็นคุณ ความรัก ความเมตตากรุณา การให้อภัย"
     "แต่สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของจิตของเรา เราจะทำให้สำเร็จได้อย่างไรในการต่อสู้กับสิ่งที่เป็นส่วนหนึ่งของเราเอง"
     "ในการคิดที่จะต่อสู้กับอารมณ์อันเป็นลบของตัวเอง ถ้าเรารู้ว่าจิตทำงานอย่างไร ก็จะมีประโยชน์ ท่านทะไล ลามะ ตอบ “จิตมนุษย์ซับซ้อนมากแต่ว่าจิตก็มีทักษะสูงมาก จิตสามารถจะแสวงหาหนทางต่างๆ ที่จะจัดการกับสถานการณ์ที่ผิดแปลกแตกต่าง อย่างหนึ่งก็คือจิตสามารถจะปรับมุมมองเพื่อจะแก้ปัญหาต่างๆ
     "ในวิถีพุทธ ความสามารถของจิตในการปรับมุมมองได้ถูกนำมาใช้ในการภาวนาที่ในทางจิตคุณสามารถแยกเรื่องต่างๆของตัวเองออกมาให้สนทนากัน เช่น มีการภาวนาเพื่อจะส่งเสริมจิตให้อยากทำความดี โดยกระทำทางจิตให้มีการสนทนาระหว่างจิตที่เห็นแก่ตัวของตัวเอง กับจิตที่กำลังปฏิบัติธรรม นี้เป็นการแยกจิตออกมาสนทนากับตัวเอง ในทำนองเดียวกันปัจจัยทางลบ เช่น ความเกลียด ความโกรธก็เป็นส่วนหนึ่งของจิตคุณเอง คุณอาจพยายามจับเอาความโกรธ ความเกลียดในตัวเองมาเป็นคู่ต่อสู้
     "นอกจากนั้นในประสบการณ์ประจำวันของคุณบ่อยๆ ก็จะมีสถานการณ์บางอย่างที่คุณก็โทษหรือวิจารณ์ตัวเอง เช่นว่า 'แหมวันนั้นผมตกต่ำมากเลย' แล้วคุณก็วิจารณ์หรือโทษตัวเองว่าได้ทำอะไรผิด หรือรู้สึกโกรธตัวเอง นี่ก็เหมือนกันที่ว่าคุณสนทนากับตัวเองได้ ในความเป็นจริงไม่ได้มีตัวเองสองคนแยกจากกันชัดเจน เป็นคนคนเดียวที่ต่อเนื่องถึงกัน แต่ก็มีสาระที่จะวิจารณ์ตัวเองหรือโกรธตัวเอง นี้เป็นเรื่องที่ทุกคนรู้อยู่แล้ว
     "ดังนั้น ในความเป็นจริง มีตัวตนเพียงคนเดียว แต่คุณอาจจะมีสองมุมมองที่ต่างกัน เมื่อคุณกำลังวิจารณ์ตนเองมันเกิดอะไรขึ้นหรือ? ตัวเองซึ่งกำลังทำหน้าที่วิจารณ์มาจากความเป็นทั้งหมดของคุณ แต่ตัวเองด้านที่ถูกวิจารณ์เป็นตัวตนจากมุมมองเฉพาะด้าน เฉพาะประสบการณ์หรือเฉพาะเหตุการณ์ คุณอาจจะเห็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับตัวเอง (ในสองมุมมองที่ต่างกันในตัวคนคนเดียว)
     "ถ้าจะขยายความในประเด็นนี้ อาจช่วยให้เข้าใจง่ายขึ้น ถ้าลองคิดถึงสิ่งที่เรียกว่าอัตลักษณ์ในหลายมุมมอง ลองใช้พระภิกษุชาวทิเบตเป็นตัวอย่าง อัตลักษณ์ส่วนตัวของเขาอย่างหนึ่งคือเป็นพระ ฉันเป็นพระ อัตลักษณ์ส่วนตัวของเขาอีกด้านหนึ่งคือเป็นคนทิเบต 'ฉันในฐานะคนทิเบต' แต่อัตลักษณ์อีกระดับหนึ่งที่ไม่ใช่พระ ไม่ใช่คนทิเบต เขาอาจจะคิดว่า 'ฉันในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง' นี่จะเห็นได้ว่า อัตลักษณ์ส่วนตัวของมนุษย์คนหนึ่งอาจมีหลายมุมมอง

     "เรื่องนี้บอกเราว่า เมื่อเราสัมพันธ์กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เราอาจจะมองปรากฏการณ์ได้จากหลายมุมมอง การที่สามารถเห็นสิ่งต่างๆ จากหลายมุมมอง ทำให้เราเลือกมุมมองได้ นี่แหละมีความสำคัญมากเมื่อเราต้องการขจัดบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ดีในตัวเราออกไปและเพิ่มบางสิ่งบางอย่างที่เป็นคุณให้สูงขึ้น ความสามารถในการมีหลายมุมมองทำให้เราแยกส่วนที่ไม่ดีของเราออกมาพิจารณาเพื่อขจัดมันออกไป
     "ในเรื่องนี้เกิดคำถามที่สำคัญขึ้น แม้เราจะทำสงครามกับความโกรธความเกลียด หรือสภาวะทางจิตที่ไม่ดีอื่นๆ มีอะไรรับประกันว่าเราจะเอาชนะมันได้?
     "เมื่อพูดถึงสภาวะทางลบของจิต อาตมาหมายถึงสิ่งที่ทางทิเบตเรียกว่า นียองมอง หรือสิ่งที่กระทบจิตจากด้านใน หรือความลวงหรือโมหะ เมื่อนียองมองเกิดขึ้นทำให้จิตกระเพื่อม รบกวนความสงบของจิตใจ สิ่งที่รบกวนจิตนี้เป็นเรื่องยากที่จะชนะมันได้ ตรงนี้แหละเป็นเรื่องว่าเราจะพัฒนาจิตวิญญาณของเราให้สำเร็จได้อย่างไร
     "เราจะขจัดสิ่งที่รบกวนจิตใจออกไปได้จะอาศัยพื้นฐานอะไร? ในวิถีพุทธ มีพื้นฐาน ๓ ประการ คือ..."
   
 

ข้อมูลสื่อ

323-023
นิตยสารหมอชาวบ้าน 323
มีนาคม 2549
ศ.นพ.ประเวศ วะสี