• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

จิตอาสาพลังสร้างโลก (๒) ศาสนาในไต้หวันและพุทธฉือจี้

สังคมไต้หวันยินยอมให้ศาสนาและความเชื่อต่างๆ เกิดและเติบโตได้อย่างเสรี ไม่มีการใช้อำนาจรัฐเข้าไปแทรกแซงหรือจัดการ ปล่อยให้ธรรมะจัดสรรและจัดการในรูปของประชาธิปไตยเชิงศาสนา เป็นการให้เสรีภาพแก่ประชาชนมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก 

องค์กรศาสนาที่เติบโตในไต้หวันเป็นไปอย่างฉันมิตร แม้ไม่ขึ้นแก่กัน มีความแตกต่างกันแต่สามารถร่วมงานกันได้ ไม่ทะเลาะเบาะแว้งหรือแตกแยก ทำให้เกิดมูลนิธิ สมาคม นิติบุคคลเชิงศาสนาเป็นจำนวนมาก ทั้งวัดพุทธ สำนักขงจื๊อ วัดเต๋า โบสถ์คริสต์ มัสยิด ฯลฯ ไม่มีองค์กรปกครองสูงสุด ไม่มีองค์กรใดเติบโตจนเป็นเจ้าถิ่นผูกขาดครอบงำ 
ศาสนาที่ยังคงเป็นหลักสำคัญก็คือพุทธศาสนา มีองค์กรพุทธเป็น ๑๐ แห่ง แต่ที่นับว่าเป็นสำนักใหญ่มีอยู่ ๔ สำนัก คือ ฉือจี้ ฝอกวงซาน ฝ่ากู่ซาน และจงไถซาน 
องค์กรพุทธในไต้หวัน เป็นพุทธมหายานที่เน้นอุดมการณ์พรหมวิหาร ๔ ประการแบบพระโพธิสัตว์ คือมุ่งช่วยเหลือสรรพสัตว์เป็นเป้าหมายหลักของชีวิต ทำให้มีความกระตือรือร้นที่จะช่วยกันคนละไม้ละมือ ไม่นิ่งดูดายหรือหาความสุขในตนฝ่ายเดียว เอาใจใส่สิ่งแวดล้อมเพื่อไม่ให้สังคมเสื่อมทรามลงเร็วเกินไป เพื่อต่อสู้กับกระแสการเจริญทางวัตถุยุคโลกาภิวัตน์ที่เน้นตัวใครตัวมัน

ชุดความคิดเชิงพุทธไต้หวัน
ชุดความคิดเชิงพุทธไต้หวันเป็นพุทธแบบมหายานที่สอนให้ช่วยเหลือผู้อื่น ยิ่งช่วยมาก เสียสละมาก ทำเพื่อผู้อื่นมากก็จะเท่ากับว่าได้เพิ่มความสำเร็จในการเป็นพระโพธิสัตว์ ณ ชาตินี้ ณ เวลานี้ สรุปสาระสำคัญได้ ๔-๕ ประการคือ
๑. ความสุขที่แท้จริงอยู่ที่การได้ช่วยเหลือผู้อื่น ไม่ใช่การอยู่คนเดียว สุขคนเดียว
๒. การจะไปช่วยเหลือผู้อื่นต้องผ่านการฝึกอบรมจรรยามารยาทและควรไปเป็นหมู่คณะ จะได้ดูแลเอาใจใส่กัน ท้วงติงกันได้ แต่ต้องทำด้วยความสุขภาพ
๓. รูปเคารพพุทธเจ้าคือ พระโพธิสัตว์ปางต่างๆ เช่น เจ้าแม่กวนอิม ตี้จั้งอว๋าง ซึ่งเป็นแบบอย่างของการโปรดสัตว์ให้พ้นทุกข์
๔. การปฏิบัติธรรม คือการปฏิบัติจริงโดยการทำงานเพื่อผู้อื่นอย่างเอาจริงเอาจัง ทำร่วมกัน สามัคคีกัน จึงจะมีความก้าวหน้า
๕. มีความเชื่อว่า แม้ตายไปแล้ว ก็ต้องการกลับมาเกิดในโลกนี้อีกเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ตกทุกข์ได้ยากต่อไปอีก เพื่อตนจะได้พัฒนาไปสู่การเป็นพระโพธิสัตว์ในขั้นที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จนมีบารมีเปี่ยมล้น ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้
แนวคิดเช่นนี้ จึงทำให้ชาวพุทธไต้หวันมุ่งปฏิบัติธรรมด้วยการทำงานอยู่ในสังคม แต่เน้นทำงานช่วยเหลือผู้อื่น ลดความเห็นแก่ตัว ลดตัวตนอยู่ตลอดเวลา

ฉือจี้ สำนักพุทธหมายเลข ๑ ของไต้หวัน
ในบรรดาสำนักพุทธกว่า ๑๐ สำนัก ฉือจี้ถือได้ว่าเป็นสำนักที่ใหญ่และทรงพลังที่สุด มีสมาชิกกว่า ๕ ล้านคนทั้งในไต้หวันและต่างประเทศ ผมกับคณะที่ไปดูงานคราวนี้ก็มุ่งไปศึกษาเรียนรู้เรื่องราวของสำนักพุทธฉือจี้นี่เอง
ฉือจี้เป็นสำนักพุทธที่กำหนดเป้าหมายหลักขององค์กรไว้ ๔ ภารกิจ คือ
๑. การทำกิจกรรมสังคมสงเคราะห์
๒. การจัดบริการรักษาพยาบาล
๓. การจัดการศึกษา
๔. การส่งเสริมวัฒนธรรม
มีมูลนิธิพุทธฉือจี้เป็นองค์กรแกนกลางในการดำเนินงาน ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ อยู่ได้ด้วยเงินบริจาคอย่างสม่ำเสมอจากสมาชิกกว่า ๕ ล้านคน มีระบบบริหารจัดการที่ดีมาก การเงินโปร่งใสมากจนเป็นที่เชื่อถือของคนทั่วไป จึงมีเงินมาใช้ทำกิจกรรมต่างๆ อย่างมากมาย ไม่รู้จบสิ้น
ส่วนสมณาราม (วัด) ที่พำนักของท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน ผู้เป็นประมุขของชาวฉือจี้ที่ตั้งอยู่ที่เมืองฮวาเหลียน (ฮั่วเหลียน) ชายฝั่งตะวันออกของไต้หวัน ซึ่งเป็นเขตกันดาร แยกการบริหารจัดการออกจากมูลนิธิ ไม่รับบริจาค ไม่ใช้เงินของมูลนิธิ บริหารจัดการโดยยึดหลักการพึ่งพาตนเอง ภิกษุณี อาสาสมัครและผู้มาฝึกฝนที่นั่นต้องทำงานหารายได้เล็กๆ น้อยๆ มาใช้จ่ายในกิจการของสมณารามเอง ไม่มีแบบวัดครึ่งหนึ่งกรรมการครึ่งหนึ่ง ทั้งเจ้าอาวาสและลูกวัดไม่มีการสะสมพอกพูนทั้งทรัพย์สินและลาภยศ
    
เยี่ยมคารวะท่านธรรมาจารย์
วันศุกร์ที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘ เวลาเกือบ ๖ โมงเช้า ผมและคณะดูงาน ๔๐ กว่าชีวิต เดินทางถึงสมณารามจิ้งซือ ที่เมืองฮวาเหลียนอันเป็นที่พำนักของท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน  สมณารามแห่งนี้ตั้งอยู่ท่ามกลางแมกไม้ที่ปลูกอย่างเป็นระเบียบ บรรยากาศโดยรอบห่างไกลบ้านเรือนผู้คนพอสมควร มองไปด้านหลังเห็นภูเขาสูงใหญ่ทะมึน มีถนนหนทางเข้าถึงสมณารามได้โดยสะดวก
ท่านธรรมาจารย์ ภิกษุณี (ไม่มีภิกษุ) อาสาสมัครและผู้ฝึกฝนเพิ่งเสร็จจากการสวดมนต์เช้าที่เริ่มมาตั้งแต่ตีสี่เศษ ทุกคนกำลังแยกย้ายไปกินอาหารเช้าอย่างขมีขมัน แต่เงียบสงบ พวกเราในฐานะอาคันตุกะจากไท่กั๋ว (ประเทศไทย) ได้รับเชิญให้เข้าสู่โรงครัวของวัดที่จัดอาหารไว้พร้อมสรรพ โต๊ะละ ๑๐ คน นี่เป็นน้ำใจสำหรับผู้มาเยือนแต่เช้าตรู่ อาหารมื้อเช้าประกอบด้วย ข้าวสวยในหม้อไม้ กับข้าวเป็นมังสวิรัติประกอบด้วยผักชนิดต่างๆ ๓ จาน ถั่ว ๑ จาน สาหร่าย ๑ จาน ทุกจานปรุงอย่างเรียบง่าย รสชาติแตกต่างกันไป แต่จะมีรสเค็มเจืออยู่ในทุกจาน 
นี่คืออาหารของชาววัดฉือจี้ที่เน้นกินง่าย อยู่ง่าย เบียดเบียนผู้อื่นน้อย แต่ทำงานหนักเสมอ ผักหญ้าที่ใช้ประกอบอาหารมาจากแปลงผักในบริเวณวัดนี้เอง ถ้ามีคนในวัดไม่เกิน ๕๐๐ คน ผักของวัดจะพอกิน แต่ถ้าเกินต้องซื้อจากที่อื่นมาสมทบ การเพาะปลูกผักในวัด ภิกษุณีและอาสาสมัครฉือจี้จะช่วยกันทำ ช่วยกันเก็บและช่วยกันประกอบอาหารเลี้ยงกันเองในวัด และเลี้ยงผู้มาเยือน ซึ่งมีมาตลอดเวลา การทำงานทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรม
ในระหว่างที่พวกเราและผู้คนในวัดกินอาหารเช้าอย่างมิชักช้า พอถึงเวลา ๖ โมงเช้า ก็ได้ยินท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนบรรยายธรรมะถ่ายทอดสดไปออกโทรทัศน์ต้าอ้ายทั่วไต้หวันและส่งสัญญาณไปอีกหลายสิบประเทศทั่วโลก เราฟังภาษาจีนไม่ออก แต่ก็พอจับน้ำเสียงของท่านอาจารย์ได้ว่าเปี่ยมไปด้วยความสงบเย็น
เมื่อกินอาหารเช้า เข้าห้องน้ำห้องท่าเสร็จ คณะของเราถูกพาเข้าร่วมพิธีที่ท่านธรรมาจารย์จะออกมาพบปะพูดคุยกับอาสาสมัครฉือจี้ พวกเราได้รับเกียรติให้เข้าร่วมสังเกตในพิธีด้วย ซึ่งนับว่าเป็นทั้งบุญและทั้งโชค
ในห้องโถงใหญ่ที่ตกแต่งอย่างเรียบง่ายดูเป็นระเบียบและสะอาดตา จุคนได้ประมาณ ๒๐๐ คน มีภิกษุณีและอาสาสมัครนั่งรออยู่ก่อนแล้ว โดยนั่งกันอย่างมีระเบียบเป็นแถวเป็นแนว มีเบาะรองนั่งให้ทุกคน ในห้องนี้มีจอโทรทัศน์วงจรปิดขนาดใหญ่ ๖ เครื่อง และมีจอฉายภาพจากคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่อีก ๓ จอ โต๊ะที่นั่งของท่านธรรมาจารย์อยู่ตรงกลางประดับดอกไม้เล็กน้อยพอดูงามตา 
พวกเราได้รับเชิญให้เดินเข้าแถวเข้าไปนั่งต่อจากแถวของอาสาสมัคร
ก่อนเวลาที่ท่านธรรมาจารย์จะออกมา มีการฉายภาพกิจกรรมที่อาสาสมัครฉือจี้ไปช่วยเหลือดูแลหญิงชราที่ลูกหลานทอดทิ้งให้อยู่แต่ในห้องอับมืดในบ้านเป็นเวลานานถึง ๑๗ ปี ด้วยเหตุที่เห็นว่าหญิงชรามีปัญหาทางจิต ซึ่งกว่าที่อาสาสมัครจะทำให้ลูกหลานของหญิงชรายอมรับและให้เข้าไปดูแล และกว่าที่หญิงชราจะไว้วางใจอาสาสมัคร พวกอาสาสมัครต้องใช้ความตั้งใจจริง ความเสียสละและความอดทนอย่างสูง การนำภาพกิจกรรมเช่นนี้มาให้อาสาสมัครอื่นๆ ดูก็เป็นการตอกย้ำจิตวิญญาณของอาสาสมัครให้เกิดความภาคภูมิใจ มั่นใจ และมุ่งมั่นในการมีจิตอาสาของมนุษย์เพื่อเพื่อนมนุษย์
จากนั้นก็มีการร้องเพลงร่วมกัน ๑ เพลง (ทราบว่าเป็นเพลงที่เกี่ยวกับการอธิษฐานจิตของเหล่าอาสาสมัคร) แล้วท่านธรรมาจารย์ก็เดินออกมานั่งที่โต๊ะกลางห้อง เมื่อลูกศิษย์ทำความเคารพแล้ว อาจารย์เริ่มทักทาย พร้อมกับถามย้ำว่า มีแขกมาจากเมืองไทยด้วยใช่ไหม อาจารย์ท่านพูดถึงการทำงานของอาสาสมัครที่ได้เห็นในวีดิทัศน์ พูดถึงว่าโลกทุกวันนี้มีภัยพิบัติมากขึ้น เพราะคนมีส่วนทำให้โลกเสียสมดุล เปลือกโลกเหมือนผิวหนังของคน ถ้ามันชำรุดเสียหาย แล้วเราช่วยกันดูแลรักษาโลก ผิวหนังจะงอกงามขึ้นมาทดแทนได้ จึงเป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่จะต้องช่วยกันเยียวยาโลก ท่านอาจารย์พูดถึงจิตวิญญาณอาสาสมัคร ในทำนองว่ามนุษย์ต้องมีจิตใจเมตตากรุณาช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มนุษย์มีศักยภาพที่จะช่วยเหลือผู้อื่นและช่วยโลกได้มาก
ท่านธรรมาจารย์พูดเองคนเดียวนานประมาณ ๒๐ นาที จากนั้นก็ตัดไปที่จอภาพสนทนาทางไกล (teleconference) กับบุคลากรในองค์กรเครือข่าย และอาสาสมัครของฉือจี้ที่อยู่ตามสถานที่ต่างๆ กัน สลับกับการให้อาสาสมัครและผู้เกี่ยวข้องบางคนมาพูดสดในห้องประชุม โดยทั้งหมดนี้มีการเตรียมคนเตรียมคิวและถ่ายทอดสดออกโทรทัศน์ต้าอ้ายด้วย นับว่าเป็นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสารเชื่อมโยงรู้กันทั่วถึงของเหล่าสมาชิกฉือจี้ที่มีพลังอย่างสูง
วันนั้นมีผู้ร่วมเล่าประสบการณ์และแสดงความรู้สึกสดและผ่านการสนทนาทางไกลรวมประมาณ ๑๕ คน พวกเราฟังไม่ออก แต่อาสาสมัครที่ดูแลคณะของเรามาแปลให้เราฟังภายหลัง ทำให้เราเห็นได้ชัดว่า การที่ท่านธรรมาจารย์ออกมาพบพูดคุยกับสมาชิกฉือจี้ทั้งที่อยู่ที่นั่น (ส่วนน้อย) และอยู่ที่อื่นๆ (ส่วนใหญ่) เข้าลักษณะของการจัดการความรู้ (knowledge management) ที่เปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติได้ถ่ายทอดประสบการณ์อันเป็นความรู้ในตัวคนสู่ผู้อื่น โดยท่านธรรมาจารย์ช่วยสรุปหรือเสริมความคิดให้อย่างสั้นๆ นับเป็นการดำเนินงานที่ทันสมัย สมาชิกที่มีจำนวนเป็นแสนคนได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กันอย่างสม่ำเสมอ ได้เพิ่มพูนทั้งมิติความรู้ความเข้าใจ มิติทางเทคนิค และเสริมสร้างมิติทางจิตวิญญาณอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันก็เป็นการทำการตลาดเชิงสังคม (social marketing) ไปพร้อมๆ กันด้วย
มีแพทย์คนหนึ่งเป็นรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลแห่งหนึ่งของฉือจี้ (มูลนิธิฉือจี้มีโรงพยาบาลในไต้หวัน ๕ แห่ง) เล่าผ่านการสนทนาทางไกลว่า มีอยู่วันหนึ่งเป็นวันหยุด รองผู้อำนวยการพบว่าทีมวิศวกรของโรงพยาบาลกลับมาทำงานทั้งทีม จึงถามว่าทำไมไม่หยุดงานเพราะเป็นวันหยุด วิศวกรตอบว่าพวกเขาฟังข่าวพยากรณ์อากาศทราบว่าไต้ฝุ่นจะเข้าไต้หวันแน่นอน จึงรีบกลับมาประจำโรงพยาบาล เพราะโรงพยาบาลขาดไฟฟ้าไม่ได้ ถ้าไต้ฝุ่นเข้าโรงพยาบาลอาจมีปัญหา พวกเขาจึงต้องกลับมาเตรียมรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ส่วนการหยุดพักผ่อน หยุดวันหลังก็ได้ นี่เป็นการนำความดีของผู้อื่นมาเล่าให้ผู้อื่นฟังนั่นเอง แพทย์คนดังกล่าวพูดตอนท้ายว่า เขากำลังจะเปิดคลินิกเด็กแห่งใหม่ ขอให้ท่านธรรมาจารย์ให้กำลังใจแก่พวกเขาด้วย ท่านธรรมาจารย์บอกว่าอาจารย์ให้กำลังใจแก่หมอได้ แต่กำลังใจของอาจารย์ยังไม่สำคัญเท่ากับความมุ่งมั่นในการทำงานของหมอทุกคนที่มีอยู่แล้ว
นับว่าท่านธรรมาจารย์มีจิตวิทยาที่สูงมาก
เราได้ข้อมูลว่า การประชุมเช่นนี้ ทำทุกวันที่ท่านธรรมาจารย์อยู่ที่สมณาราม ซึ่งกิจกรรมตรงนี้ นับเป็นการผสมผสานศาสตร์และศิลป์หลายอย่างเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน ได้แก่ (๑) ความศรัทธาในการทำความดี (๒) การยกย่องให้เกียรติในคุณค่าของทุกคนอย่างไม่เลือกชั้นวรรณะและอย่างเปิดเผย เพื่อเสริมสร้างพลังใจของสมาชิกและผู้คนทั่วไป (๓) การเชื่อมเรื่องศาสนธรรมเข้ากับการทำงานในโลกแห่งความจริงในปัจจุบัน ไม่ปล่อยให้เรื่องศาสนธรรมเป็นเพียงแค่คำสอนในอดีตกาล (๔) การจัดการความรู้ที่ให้ความสำคัญกับการดึงความรู้และประสบการณ์ในตัวคนออกมาถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ (๕) การรับเอาวิทยาการเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการสื่อสารเชื่อมโยงเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน และ (๖) การใช้เทคนิคการตลาดเชิงสังคมในทางบวก
เหล่านี้คือการจัดการด้านศาสนาที่ชาญฉลาดมาก
หลังจบการประชุมซึ่งใช้เวลารวมทั้งสิ้นเกือบ ๒ ชั่วโมง ท่านธรรมาจารย์ได้ให้ความเมตตาแก่คณะผู้มาเยือนชาวไทย โดยมอบอั่งเปารูปพระโพธิสัตว์และอั่งเปาเหรียญสัญลักษณ์ฉือจี้ให้แก่พวกเราทุกคนอีกด้วย จากนั้นก็มีท่านภิกษุณีอีกรูปหนึ่งพาคณะเราชมกิจกรรมในสมณาราม อันได้แก่ แปลงผักที่ชาววัดช่วยกันปลูกไว้ทำอาหารกินกันเอง ห้องทำงานที่มีอาสาสมัครมาช่วยกันผลิตสินค้าออกจำหน่ายหารายได้มาใช้จ่ายในวัด (เช่น ทำเทียน ทำของที่ระลึกต่างๆ)
เราได้ไปแวะชมห้องเก็บไม้ที่ตัดเป็นท่อนขนาดแตกต่างกัน ซึ่งจัดวางไว้เป็นกองอย่างเป็นหมวดหมู่ ท่านภิกษุณีผู้นำชมบอกว่า ท่านธรรมาจารย์สอนว่า “คนเราก็เหมือนไม้เหล่านี้ ไม้ทุกชนิดมีคุณประโยชน์ทั้งนั้น แต่อาจแตกต่างกัน เราแยกหมวดหมู่ไว้ให้เป็นระเบียบทำให้ดูสวยงามและสามารถนำมาใช้งานได้อย่างเหมาะสมกับประโยชน์ที่แตกต่างกัน คนก็เช่นเดียวกัน ทุกคนมีคุณค่ามีประโยชน์แตกต่างกัน ไม่มีใครเลยที่ไร้ประโยชน์”

ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน
แค่เพียงได้เห็น แค่เพียงได้เรียนรู้น้อยนิด ก็สามารถสัมผัสได้ถึงความไม่ธรรมดาของท่านธรรมาจารย์ผู้นี้ จึงควรติดตามศึกษาดูว่า ท่านคือใคร มาจากไหน มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
ท่านเจิ้งเหยียนเกิดเมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ที่ตำบลชิงสุ่ย เมืองไทจุง ซึ่งอยู่ตอนกลางของไต้หวัน พ่อแม่ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของอา จึงนับถืออาเป็นเหมือนพ่อแม่ที่แท้จริง เมื่ออายุได้ ๑๕ ปี แม่ป่วยด้วยโรคกระเพาะอาหาร อาจารย์ได้ตั้งจิตขอให้มารดาหายป่วยโดยตนเองขอลดอายุของตนเองลง ๑๒ ปี และจะกินมังสวิรัติเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่การเพิ่มอายุขัยให้กับมารดา 
เมื่ออายุได้ ๒๐ปี บิดาป่วยกะทันหันด้วยโรคความดันเลือดสูงและเสียชีวิตลง ท่านอาจารย์มีความสะเทือนใจมาก ในที่สุดก็ตัดสินใจปลงผมตนเองถือบวช เร่ร่อนไปทางแถบตะวันออกของไต้หวัน ซึ่งเป็นเขตทุรกันดาร ผู้คนยากจนมาก ท่านไม่ออกรับบิณฑบาตจากชาวบ้านเพราะไม่ต้องการให้ชาวบ้านเดือดร้อน ดำรงชีวิตอย่างเรียบง่ายด้วยการเก็บถั่วลิสงและมันเทศที่หลงเหลือจากการเก็บเกี่ยวของชาวบ้านมาเป็นอาหาร จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ท่านได้เดินทางมาพำนักที่เมืองฮวาเหลียน และในเวลาต่อมาท่านได้พระอาจารย์อิ้นซุ่นรับเป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้ โดยได้สั่งสอนหลักสั้นๆ ว่า “เมื่อบวชแล้ว จงทำทุกอย่างเพื่อพุทธศาสนาและสรรพสัตว์ทั้งปวง” 
หลังจากนั้นท่านธรรมาจารย์และอุบาสกสวีซงหมิน เพื่อนของท่านได้พากันมาสร้างกระท่อมเล็กๆ หลังวัดผู่หมิง ที่ฮวาเหลียนเป็นที่พำนัก โดยตัวท่านอาจารย์และสานุศิษย์เพียงไม่กี่คนได้อยู่อาศัยที่นั่น ด้วยการทำงานอย่างหนัก ต่อสู้กับภัยธรรมชาติทุกรูปแบบ อยู่แบบอดมื้อกินมื้อ ท่านอาจารย์ได้ตั้งกฎไว้ว่า “วันใดไม่ทำงาน วันนั้นจะไม่กิน” นอกจากปลูกผักไว้กินเอง ทำโรงงานเล็กๆ รับทำสินค้าขาย เช่น นำด้ายจากโรงงานที่เขาทิ้งแล้วมาถักเสื้อกันหนาว เย็บถุงสำหรับใส่อาหารสัตว์ ถักรองเท้าเด็กขายหาเงินมาใช้ประทังชีวิต เป็นต้น
ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ท่านอาจารย์ประสบเหตุอันทำให้สะเทือนใจอย่างรุนแรง เมื่อไปเยี่ยมอุบาสกผู้หนึ่งที่เจ็บป่วยต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนที่ฟงหลิน อาจารย์ไปพบกองเลือดกองใหญ่นองอยู่บนพื้น สอบถามได้ความว่าเป็นกองเลือดของผู้หญิงชนบทแท้งลูก ญาติใช้เวลาเดินทางพามาโรงพยาบาล ๗-๘ ชั่วโมง แต่ก็ต้องเสียชีวิตเพราะญาติไม่มีเงิน ๘,๐๐๐ เหรียญสำหรับจ่ายค่ามัดจำก่อนที่แพทย์จะลงมือผ่าตัดช่วยชีวิต เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ท่านอาจารย์ตั้งปณิธานแน่วแน่ว่าจะต้องทำงานเพื่อหาทางช่วยเหลือผู้ยากไร้ที่ขาดที่พึ่งพิง
จากนั้นไม่นาน มีแม่ชีคาทอลิก ๓ ท่านมาเยี่ยม เห็นสภาพความยากลำบากของท่านอาจารย์ ก็ชวนอาจารย์เปลี่ยนมาบวชเป็นชีคาทอลิก โดยมีความเห็นว่าศาสนาพุทธไม่เอาใจใส่ความทุกข์ยากของคนในสังคม ไม่ช่วยแก้ปัญหาสังคมอย่างเป็นรูปธรรม พุทธศาสนนิกชนส่วนใหญ่ใฝ่หาธรรมะเพื่อพัฒนาตนเองเท่านั้น แต่ท่านอาจารย์ไม่มองเช่นนั้น อาจารย์เห็นว่าหลักพุทธธรรมไม่เพียงแต่สอนให้คนรักเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเท่านั้น แต่ยังสอนให้รักสรรพสัตว์และสรรพสิ่งรอบตัวด้วย และยังสอนให้ชาวพุทธเป็นผู้ให้โดยไม่หวังผลตอบแทนด้วย แม่ชีคาทอลิกจึงเสนอว่า ถ้าอย่างนั้นทำไมไม่รวมชาวพุทธทำคุณประโยชน์เพื่อสังคมล่ะ
ในที่สุดท่านอาจารย์จึงเกิดความคิดในอันที่จะรวบรวมชาวพุทธเข้าด้วยกัน เพื่อช่วยกันสร้างกุศลกรรมด้วยการช่วยเหลือผู้ยากไร้ให้เป็นรูปธรรมด้วยความเมตตากรุณาและไม่หวังผลประโยชน์ตอบแทน ถ้าชาวพุทธทำได้ ทุกคนก็จะเป็นพระโพธิสัตว์ได้ทันที ไม่ต้องรอสวดมนต์อ้อนวอนภาวนาต่อเจ้าแม่กวนอิม ความทุกข์ยากในสังคมและในโลกก็จะบรรเทาบางลงไปได้
จากนั้นท่านอาจารย์จึงใช้หลัก “ลงมือทำเลย” เริ่มด้วยการชวนสานุศิษย์ที่เป็นแม่บ้านธรรมดา ๓๐ คน ให้รู้จักออมเงินที่จะไปจ่ายตลาดคนละ ๕๐ เซ็นต์ต่อวัน โดยออมลงในกระปุกไม้ไผ่ มีคำขวัญว่า “แม้เงิน ๕๐ เซ็นต์ ก็ช่วยเหลือผู้ยากไร้ได้”
จากจุดเล็กๆ ที่เปี่ยมไปด้วยศรัทธาในความดีงาม คามเมตตากรุณาอย่างสูงส่งที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่น จากจิตใจของท่านอาจารย์และแม่บ้านสานุศิษย์เพียง ๓๐ คน จากนั้นการออมเงินวันละเล็กละน้อยเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นได้แพร่กระจายไปทั่วเมืองฮวาเหลียน มีผู้คนสมทบทุนมากขึ้นตามลำดับ
จนถึงวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๐๙ มูลนิธิฉือจี้จึงได้ถือกำเนิดขึ้นที่นั่น ถึงวันนี้เวลาผ่านไป ๔๐ ปี มูลนิธิฉือจี้ได้ขยายกิ่งก้านสาขามีสมาชิกทั่วโลกกว่า ๕ ล้านคน มีอาสาสมัครหลายแสนคน มีเงินบริจาคมาทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเป็นหมื่นเป็นแสนล้านเหรียญ มีกิจกรรมทางมนุษยธรรมและทางจิตวิญญาณแพร่กระจายไปทั่วเกาะไต้หวันและกระจายไปทั่วโลก ประเมินเป็นมูลค่าและคุณค่ามิได้
 นี่คือการเติบโตของเมล็ดพันธุ์แห่งความดีบนเนื้อนาบุญที่อุดมและงดงาม 

 

ข้อมูลสื่อ

323-026
นิตยสารหมอชาวบ้าน 323
มีนาคม 2549
นพ.อำพล จินดาวัฒนะ