• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

๙ คําถามน่ารู้ โรคต่อมลูกหมากโต

โรคต่อมลูกหมากโตไม่ใช่โรคใหม่แต่อย่างใด สามารถพบเจอได้ในผู้สูงอายุชายทั่วไป แต่โรคนี้เป็นโรคที่ทำให้คุณภาพชีวิตด้อย ลงได้ เช่น การปัสสาวะบ่อยหรือปัสสาวะไม่ออก อาจทำให้คนไข้ รู้สึกไม่อยากไปไหน ขาดความมั่นใจ คนไข้บางคนอาจจะรู้สึกอายที่จะไปพบแพทย์

ในฉบับนี้ กองบรรณาธิการหมอชาวบ้านจึงเชิญ น.พ.ชรินทร์ อริยประกาย ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มาตอบคำถามน่ารู้เกี่ยวกับโรคต่อมลูกหมากโต

๑. ต่อมลูกหมากคืออะไร
ต่อมลูกหมากเป็นต่อมที่อยู่ รอบท่อปัสสาวะส่วนต้น บริเวณโคนอวัยวะเพศของผู้ชาย คนมักเข้าใจผิดว่าต่อมลูกหมากคือลูกอัณฑะ ที่ถูกต้องคือ ลูกอัณฑะมีหน้าที่สร้างเชื้ออสุจิ และต่อมลูกหมากมีหน้าที่สร้างน้ำหล่อเลี้ยงเชื้ออสุจิ

              
      

๒. ต่อมลูกหมากโตเกิดขึ้นได้อย่างไร
ต่อมลูกหมากในผู้ชายที่โตเต็มที่จะประมาณเท่ากับลูกเกาลัด เมื่ออายุมากขึ้นเนื้อเยื่อจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นเนื้องอก(ชนิดธรรมดา) โดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดว่าเกิดจากอะไร เมื่อเซลล์แตกตัวมากขึ้นก็ทำให้ขนาดต่อมลูกหมากโตขึ้นเรื่อยๆ จนไปกดหรือเบียดท่อปัสสาวะ ทำให้เกิดอาการปัสสาวะขัดขึ้น ฉะนั้นโรคนี้จึงเป็นโรคของผู้สูงอายุชายโดยเฉพาะ คือประมาณอายุ ๕๕ ปีขึ้นไปจึงจะมีอาการ

๓. โรคต่อมลูกหมากโตมีอาการอย่างไร โรคต่อมลูกหมากโตเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ ซึ่งมี ๒ ระยะ คือ ระยะแรก จะมีอาการปัสสาวะบ่อย จากที่เคยลุกขึ้นปัสสาวะในตอนกลางคืน ๑-๒ ครั้ง หรือไม่ลุกเลย จะลุกขึ้นบ่อย ๓-๔ ครั้งขึ้นไป จนรบกวนการนอนหลับ ในเวลากลางวันก็มีอาการปัสสาวะบ่อยแต่คนไข้จะปรับตัวได้จนไม่รู้สึก ระยะที่สอง ต่อมาจะรู้สึกว่า ปัสสาวะนานกว่าจะออก ต้องเบ่ง บางครั้งต้องรอ ๑-๒ นาทีจึงจะออก และจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ปัสสาวะไม่พุ่ง แทนที่จะพุ่งไปข้างหน้าก็พุ่งน้อยลง พอปัสสาวะเสร็จยังมีหยดออกมาอีก ในที่สุดจะปัสสาวะไม่ออกเลย คนไข้มักจะมาหาหมอด้วยอาการปัสสาวะไม่ออกเลย ปัสสาวะแน่นท้อง ต้องใช้วิธีสวนออกให้ และให้การรักษาต่อไป

๔. โรคนี้หากไม่ได้รับการรักษาจะมีภาวะแทรกซ้อนอย่างไร
ในกระเพาะปัสสาวะปกติมีปัสสาวะประมาณ ๔๐๐-๕๐๐ มิลลิลิตร ถ้าปัสสาวะไม่หมดมีปัสสาวะค้างอยู่ อย่างที่หนึ่งคือ ทำให้เกิดการตกตะกอน และเป็นนิ่วได้ อย่างที่สองคือเกิดการติดเชื้อขึ้น หากไม่ได้รับการรักษาเลยก็อาจมีผลต่อไต

๕. หมอจะทำอะไรให้เมื่อคนไข้มาหา ส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องของอา-การมากกว่า คนไข้มักมีคุณภาพชีวิตเสีย ต้องปัสสาวะบ่อยๆ ต้องลุกขึ้นบ่อยๆ หน้าที่ของหมอคือทำให้อาการดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ฉะนั้นเวลามีอาการปัสสาวะไม่ออกอย่าตกใจ ให้มาหาหมอเพื่อหาสาเหตุ เนื่องจากมีบางโรคที่มีอาการคล้ายต่อมลูกหมากโต หลังจากแยกโรคแล้วว่าไม่ใช่โรคอื่น ก็จะดูอาการเป็นหลัก หากมีอาการน้อยก็แนะนำให้เปลี่ยนพฤติกรรมโดยไม่ต้องใช้ยา ถ้ามีอาการมากหมอจะให้ยากินเพื่อขยายท่อปัสสาวะ วิธีสุดท้ายคือผ่าตัด เพื่อขูด ต่อมลูกหมาก

๖.ในคนไข้ที่มีอาการน้อยๆ ควรเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างไร จุดใหญ่คือ คนที่อายุมากขึ้น จะมีปัญหาเรื่องปัสสาวะแน่นอน ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นมากเป็นน้อย วิธีปฏิบัติตัวคือ
๑. หลีกเลี่ยงการกลั้นปัสสาวะ ก่อนนอนอย่าดื่มน้ำมาก และให้ ปัสสาวะก่อนเข้านอน เพราะกลาง-คืนจะได้ไม่ต้องลุกขึ้นบ่อย กลางวันไปไหนก็อย่ากลั้นปัสสาวะ ปวดแล้วก็ควรจะปัสสาวะ เพราะกลั้นแล้วจะทำให้เป็นมากขึ้น
๒. งดดื่มเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์จะทำให้ปัสสาวะออกมาเยอะ
๓. อย่านั่งจักรยานหรือทำอะไรที่สะเทือนต่อมลูกหมาก เพราะจะทำให้ปัสสาวะไม่ออก
๔. ถ้าเป็นไปได้ควรมีการร่วมเพศบ้าง เวลามีน้ำเชื้อออกมาบ้าง จะทำให้ต่อมลูกหมากไม่บวม

๗. การผ่าตัดโดยเลเซอร์ ดีกว่าการผ่าตัดธรรมดาจริงหรือไม่
สมัยก่อนจะผ่าตัดต่อมลูกหมากและขูดต่อมลูกหมาก ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะสมและปลอดภัย ระยะหลังมีการรักษาเกี่ยวกับการผ่าตัดเพิ่มขึ้น ๔-๕ วิธี ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายเยอะ คนไข้ก็จะเข้าใจผิดว่าเป็นการรักษาที่ดีมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หลักในการรักษา ๓ อย่างง่ายๆ คือ แนะนำให้เปลี่ยนพฤติกรรม ถ้าอาการมากขึ้นก็ให้กินยา ถ้ามากขึ้นไปอีกก็ให้ขูดต่อมลูกหมาก

๘. โรคต่อมลูกหมากโตสามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่
คำถามนี้ตอบยาก โรคส่วนใหญ่ไม่มีหายขาดนอกจากโรคติดเชื้อ บางอย่าง โรคต่อมลูกหมากเป็นโรคเนื้องอกในต่อมลูกหมาก การรักษาโดยผ่าตัดก็ไม่ได้ตัดต่อมลูกหมาก เพียงแค่เอาเนื้องอกออก ซึ่งก็เกิดขึ้นใหม่ได้ แต่การเปลี่ยนพฤติกรรมดังที่กล่าวไปแล้ว มีส่วนทำให้อาการดีขึ้น บางส่วนอาจไม่ดีขึ้นแต่ก็ไม่แย่ลง

๙. โรคนี้ป้องกันได้หรือไม่
ขณะนี้ยังไม่ได้ เพราะต่อมลูกหมากโตเกิดจากสาเหตุอะไรไม่รู้ ที่แนะนำคือป้องกันไม่ให้อาการแย่ลง แต่วิธีป้องกันไม่ให้เกิดยังไม่มี

สรุป โรคนี้เป็นโรคที่ไม่ร้ายแรงและรักษาไม่หายขาดแต่มีอาการดีขึ้นได้ หากเปลี่ยนพฤติกรรม คืออย่ากลั้นปัสสาวะ งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หากมีอาการมากขึ้นก็ควรพบแพทย์เพื่อรักษาตามขั้นตอน

ที่สำคัญอย่าหลงเชื่อคำโฆษณา ที่บอกว่า มียารักษาโรคนี้ได้หายเด็ดขาด หรือวิธีนี้วิธีนั้นดีที่สุด

ก่อนจะตัดสินใจเชื่ออะไรควรหาความรู้ในเรื่องนั้น และปรึกษาหมอ เพื่อขอคำแนะนำด้วย หากมีคำถามใดติดค้างอยู่ในใจ อย่ารีรอที่จะถามหมอ ให้ถามจนกว่าคุณจะเข้าใจดีและถูกต้อง แล้วคุณจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ข้อมูลสื่อ

230-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 230
มิถุนายน 2541
โรคน่ารู้
พญ.เพ็ญพรรณ วัฒนไกร
กองบรรณาธิการ