• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ข้าวราดผัดผักรวมมิตรเจ

เดือนตุลาคมของทุกปี  จะเป็นเดือนแห่งเทศกาลกินเจของชาวไทยที่มีความเชื่อส่วนหนึ่งว่าเป็นการถือศีล ไม่กินเนื้อสัตว์ ซึ่งก็จะปฏิบัติอย่างเคร่งครัด คอลัมน์นี้จึงใคร่ที่จะนำเสนอข้อมูลคุณค่าทางโภชนาการของอาหารเจ เพื่อเป็นความรู้และได้เปรียบเทียบกับอาหารปกติที่กิน เป็นประจำนอกเทศกาลกินเจ ว่าคุณค่าแตกต่างกันอย่างไร มากน้อยแค่ไหน



อาหารเจที่พูดถึงในวันนี้ เป็นผัดผักรวมมิตรเจราดข้าว ซึ่งส่วนประกอบในผัดผักรวมมิตรเจ ได้แก่ เต้าหู้เหลือง ผักนานาชนิด อาทิ คะน้า ถั่วลันเตา แครอท หน่อไม้น้ำ มะเขือเทศ ฯลฯ เครื่องปรุงรสจะใช้ซีอิ้วขาวแทนน้ำปลา ถึงแม้อาหารจานนี้จะเป็นอาหารเจ แต่ก็ยังมีอาหารครบ ๕ หมู่อีกด้วย คือ หมู่ข้าว ได้แก่ ข้าวสวย หมู่โปรตีน ได้แก่ เต้าหู้เหลือง หมู่ไขมัน ได้แก่ น้ำมันพืชที่ใช้ปรุงอาหาร และยังมีไขมันจากเต้าหู้เหลือง อีกหมู่ ผัก ได้แก่ ผักนานาชนิด และสุดท้ายหมู่ผลไม้ ซึ่งอาจกินผลไม้เป็นของหวานสักหนึ่งอย่างก็ครบถ้วนแล้ว

สำหรับคุณค่าทางโภชนาการของอาหารจานนี้ ดูค่อนข้างมีปริมาณมากหน่อยคือประมาณ ๕ ขีด หรือครึ่งกิโลกรัม ปริมาณพลังงานของอาหารจานนี้ ไม่สูงตามปริมาณอาหาร คือ มีเพียง ๕๐๘ กิโลแคลอรี ทั้งนี้เป็นเพราะผักต่างๆ โดยมากมีพลังงานหรือแคลอรีต่ำ ส่วนปริมาณโปรตีนมีอยู่ ๒๐ กรัม คิดเป็นร้อยละ ๔๐ ของปริมาณ โปรตีนที่แนะนำให้บริโภคประจำวัน ก็จัดว่ามีโปรตีนมากทีเดียว แม้ว่าแหล่งของโปรตีนจะ ได้จากเต้าหู้เหลืองและข้าว ซึ่งจะให้คุณค่าของโปรตีนที่ดีได้แต่ต้องกินทั้งเต้าหู้เหลืองและข้าวไปด้วยกัน ส่วนปริมาณไขมันมีอยู่ประมาณ ๑๙ กรัม คิดเป็นประมาณ ร้อยละ ๓๐ ของปริมาณที่แนะนำให้บริโภคประจำวัน ก็จัดว่าเป็นปริมาณ ที่เหมาะ จะเห็นว่าทั้งพลังงานโปรตีนและไขมันที่จะได้รับค่อนข้างพอดี สำหรับการกินเป็นอาหารหนึ่งมื้อ ทั้งยังได้ประโยชน์อีกมากจากใยอาหาร และสารคาโรทีนอยด์จากพืช นับว่าเป็นทางเลือกในการกินอาหารที่ดีจานหนึ่ง

ข้อมูลสื่อ

246-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 246
ตุลาคม 2542
เข้าครัว
ดร.สมเกียรติ โกศัลวัฒน์