• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มะเดื่ออุทุมพร : ต้นไม้จากตำนานมาสู่สามัญชน

 มะเดื่ออุทุมพร : ต้นไม้จากตำนานมาสู่สามัญชน

 



"มะเดื่อมันไม่ค่อยดี เพราะมีแมลงหวี่เข้าไปอยู่ข้างใน"

เนื้อร้องท่อนหนึ่งของเพลงพื้นบ้านภาคกลางในอดีตที่ยกมาข้างบนนี้ แสดงให้เห็นความรู้และทัศนะที่คนทั่วไปมีต่อมะเดื่อ ซึ่งเป็นต้นไม้ดั้งเดิมพื้นบ้านในท้องถิ่น พบได้ทั่วไปในที่ราบลุ่มภาคกลาง เนื่องจากมะเดื่อมีลักษณะพิเศษ คือ พบแมลงหวี่อยู่ในผลสุกเสมอ ทำให้มองมะเดื่อว่า "ไม่ค่อยดี" เพราะมีแมลงหวี่อันเป็นสัตว์ต่ำต้อยเข้าไปใช้ประโยชน์ก่อนแล้วเท่านั้นเอง

นี่เป็นด้านหนึ่งของสามัญชนคนไทยที่มีต่อมะเดื่อ แต่ในอีกด้านหนึ่งซึ่งเป็นคนระดับสูงในสังคมไทยและสามัญชนในบางประเทศให้คุณค่ามะเดื่ออย่างสูงยิ่ง นับเป็นเรื่องแปลกและน่าสนใจ นอกจากนั้นมะเดื่อยังเป็นพืชผักพื้นบ้านของไทยอีกชนิดหนึ่งซึ่งมีคุณค่าในหลายด้านอีกด้วย
 

มะเดื่อ : ไม้พื้นบ้านที่น่าทำความรู้จัก
ช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสไปเดินอยู่ในหมู่บ้านของชาวไทขาวทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม มีต้นไม้ขึ้นอยู่ในหมู่บ้านหลายชนิดแต่มีน้อยชนิดที่ชาวไทขาวเรียกชื่อเดียวกันกับชาวไทภาคกลางจริงๆ คือ หมากกับมะเดื่อ (ชาวไทขาวเรียกหมากเดื่อ) แสดงว่า แม้ชาวไทขาวกับชาวไทยภาคกลางจะแยกอยู่มานานนับพันปี แต่ก็ยังคงเรียกด้วยชื่อเดียวกันอยู่จนถึงปัจจุบัน

มะเดื่อเป็นพืชยืนต้นขนาดใหญ่ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ficus racemosa Linn. (บางแห่งใช้    Ficus glomerata Roxb.) อยู่ในวงศ์ Moraceae เช่นเดียวกับต้นโพธิ์ ต้นไทรนั่นเอง ยิ่งกว่านั้นยังเป็นญาติใกล้ชิดถึงขนาดอยู่ในสกุล (Genus) เดียวกันอีกด้วย ถิ่นกำเนิดก็อยู่ในบริเวณเดียวกัน จึงมีหลายๆ อย่างคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะด้านความเชื่อและความสัมพันธ์กับคนในท้องถิ่น มะเดื่อมีอยู่หลายชนิดในที่นี้จะกล่าวถึงชนิดที่เรียกว่า มะเดื่ออุทุมพร ซึ่งเป็นมะเดื่อที่คนไทยคุ้นเคยมากที่สุด

มะเดื่ออุทุมพร เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ สูง ๑๕-๒๐ เมตร ทรงพุ่มกว้าง ใบหนาทึบ ใบเดี่ยวรูปไข่หรือรูปใบหอก กว้างประมาณ ๑๐ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๒๐ เซนติเมตร ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ผิวใบเกลี้ยงหรือมีขนปกคลุม ก้านใบยาว ๕ เซนติเมตร หูใบรูปหอกยาวประมาณ ๒ เซนติเมตร ดอกเป็นช่อกลมมีลักษณะคล้ายผล ชาวบ้านมักเรียกช่อดอกนี้ว่าผลหรือ ลูกมะเดื่อ ช่อดอกออกเป็นกระจุกตามลำต้นและกิ่งแก่ ช่อดอกอ่อนสีเขียวเมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีแดงส้ม มีขนอ่อนปกคลุม เส้นผ่าศูนย์กลางช่อดอกประมาณ ๔ เซนติเมตร เกสรตัวผู้อยู่บริเวณรอบช่องเปิด เกสรตัวเมียอยู่ภายในโพรงช่อดอก ผลมีขนาดเล็ก เมล็ดขนาดเล็กยาวประมาณ ๑ มิลลิเมตร เมล็ดแข็ง  สีเหลือง

ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของมะเดื่ออุทุมพร ครอบคลุมเขตร้อนของทวีปเอเชีย ตั้งแต่อินเดียถึงประเทศจีน ในไทยพบขึ้นตามป่าดิบชื้นและป่าดิบเขา มักขึ้นตามริมลำธารที่ระดับความสูง ๑,๐๐๐-๑,๒๕๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล ชื่อมะเดื่ออุทุมพรสันนิษฐานว่ามาจากการรวมชื่อมะเดื่อกับชื่อในภาษาสันสกฤต คือ Udumbar เป็น มะเดื่ออุทุมพร ในภาคกลางเรียกมะเดื่ออุทุมพร ภาคใต้เรียกเดื่อน้ำ ภาคเหนือ(ลำปาง) เรียก มะเดื่อ ภาษาอังกฤษเรียก Cluster Fig


มะเดื่ออุทุมพรในฐานะผักและผลไม้

ส่วนที่นำมากินเป็นผัก คือ ช่อดอก (หรือที่คนไทยเรียกว่าผลหรือลูกมะเดื่อ) โดยใช้ช่อดอกอ่อนหรือดิบเป็นผักจิ้มหรือใช้แกง เช่น แกงส้ม ความจริงช่อดอก(ผล)ของมะเดื่อชนิดอื่นที่กินเป็นผักได้หลายชนิด แต่ส่วนใหญ่ผลเล็กและรสชาติ ไม่ดีเท่าช่อดอกมะเดื่ออุทุมพร ช่อดอกแก่(ผลสุก)สีแสดแดง กินเป็นผลไม้ชนิดหนึ่ง ช่อดอกแก่(หรือผลสุก)ของมะเดื่ออุทุมพรนี่เองที่พบแมลงหวี่อยู่ภายในเสมอ จนทำให้คนไทยมีทัศนคติไม่ดีต่อมะเดื่อ การศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างแมลงหวี่กับมะเดื่อ พบว่า ทั้ง ๒ ฝ่ายต่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน (symbiosis) โดยมะเดื่ออาศัยแมลงหวี่ผสมเกสรให้ติดเมล็ด ส่วนแมลงหวี่อาศัยมะเดื่อเป็นอาหารและฟักไข่ให้เป็นตัวจนบินได้ จึงจะเห็นได้ว่าทั้งแมลงหวี่และมะเดื่อต่างก็อาศัยอีกฝ่ายหนึ่ง ในการสืบพันธุ์ต่อไปได้


ประโยชน์ด้านอื่นๆ ของมะเดื่ออุทุมพร

มะเดื่ออุทุมพร มีคุณสมบัติทางสมุนไพรในตำราแพทย์แผนไทย หลายประการ เช่น

เปลือก : แก้ท้องร่วง ท้องเสีย ประดงเม็ดผื่นคัน และชะล้างบาดแผล ห้ามเลือด แก้อาเจียน

ราก : ใช้แก้ไข้ กระทุ้งพิษไข้ กล่อมเสมหะและเลือด แก้ไข้หวัด ไข้กาฬ และไข้พิษทุกชนิด

เนื้อไม้ : ใช้ทำแอกไถ หีบใส่ของ ไม้จิ้มฟัน

ยางเหนียว : ใช้ลงพื้นสำหรับปิดทอง

ต้น :  ใช้เป็นร่มเงาให้กาแฟ ปลูกในบริเวณอาคารอาศัยร่มเงา หรือใช้ประดับอาคารสถานที่ สวนสาธารณะหรือทางเดินเท้า

ผลสุก : เป็นอาหารของสัตว์หลายชนิด เช่น นก หนู กระรอก ฯลฯ เป็นการแพร่พันธุ์มะเดื่ออุทุมพรไปด้วย เพราะนอกจากจะทำให้แพร่พันธุ์ไปได้ไกลๆแล้ว ยังช่วยให้ เมล็ดมะเดื่องอกดีขึ้นอีกด้วย เพราะน้ำย่อยในกระเพาะและลำไส้ของสัตว์ เหล่านี้

ประโยชน์ที่สำคัญของมะเดื่ออุทุมพรอีกด้านหนึ่งคือในเรื่องที่เกี่ยวกับความเชื่อและพิธีกรรมต่างๆ ในสังคมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม้มะเดื่อถือว่าเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยามาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ โดยใช้ทำพระที่นั่งในพระราชพิธีราชาภิเษก นอกจากนั้น ยังใช้ทำหม้อน้ำและกระบวยตักน้ำมัน สำหรับกษัตริย์ทรงใช้ในพระราชพิธี มีชื่อมะเดื่ออุทุมพรเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ไทยในช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย คือ พระเจ้าเสือนั้นเดิมทรงพระนามว่า เดื่อ เพราะเมื่อเกิดได้นำรกไปฝังไว้ใกล้ต้นมะเดื่อ สำหรับพระเจ้าอุทุมพร (ขุนหลวงหาวัด)ทรงมีพระนามเดิม ว่า เจ้าฟ้าดอกเดื่อ เพราะพระราชมารดาทรงพระสุบิน(ฝัน)ว่าพระองค์ ได้ดอกมะเดื่อนั่นเอง ในอดีตคนไทยถือว่าดอกมะเดื่อ เป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก นับเป็นบุญวาสนาจริงๆจึงจะได้เห็นหรือเป็นเจ้าของดอกมะเดื่อ การที่พระราชมารดาของพระเจ้าอุทุมพรทรงสุบินว่าได้ดอกมะเดื่อจึงนับเป็นมงคลยิ่ง จึงทรงตั้งชื่อโอรสว่า เจ้าฟ้าดอกเดื่อ และกลายเป็นพระเจ้าอุทุมพรในภายหลัง

สาเหตุที่ดอกมะเดื่อหาได้ยากก็เพราะดอกมะเดื่อนั้นอยู่ภายในช่อดอก (ที่คนทั่วไปเข้าใจ ว่าเป็นผลมะเดื่อ) อาจจะมีบ้างที่ดอกมะเดื่อเกิดขึ้นเดี่ยวๆ โดยไม่มีช่อมาหุ้มจึงจะทำให้เห็นดอกมะเดื่อได้ ซึ่งคงเกิดขึ้นได้ยากมาก มะเดื่อยังถือว่าเป็นไม้มงคลสำหรับปลูกในบริเวณบ้านเรือนทางด้านทิศเหนืออีกด้วย ดังตำราฉบับหนึ่งเขียนเป็นบทกลอนไว้ว่า

 "ส้มซ่าและมะเดื่อ        ทั้งส้มป่อยให้มีสรรพ
 ปลูกไว้เป็นสำหรับ        ไม้ประจำทิศอุดร"

หากผู้อ่านมีพื้นที่ในบริเวณบ้านหรือสวนเหลืออยู่บ้างก็อย่าลืมพิจารณาปลูกมะเดื่ออุทุมพรอีกชนิดหนึ่งด้วยนะครับ

ข้อมูลสื่อ

246-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 246
ตุลาคม 2542
พืช-ผัก-ผลไม้
เดชา ศิริภัทร