• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

รหัสแห่งความตายในเซลล์

“รหัสแห่งความตาย” ฟังดูแล้วราวกับหนังเจมส์บอนด์ประเภทฆาตกรรม สยองขวัญทำนองนั้นเลยนะครับ
ลองมาติดตามกันดูสิว่า รหัสแห่งความตายในเซลล์ จะน่าตื่นเต้นสยองขวัญเพียงไร จะเหมือนเจมส์บอนด์หรือไม่ ตามผมมาเลยครับ
ความรู้เรื่องการตายของเซลล์แบบถูกกำหนด ได้เริ่มครั้งแรกจาก การศึกษาหนอนตัวกลม(nematode) ซึ่งเป็นหนอนขนาดเล็กชนิดหนึ่ง (Caenorhabditis elegans) พบว่า เจ้าหนอนตัวกลมชนิดนี้ทุกๆตัว ในระหว่างที่มันเจริญเติบโตพัฒนาจากตัวอ่อนมาเป็นตัวแก่ จะมีเซลล์ทั้งหมดครบถ้วนอยู่ในตัวของมันจำนวน ๑,๐๙๐ เซลล์พอดี ไม่ขาดไม่เกิน

ไม่ได้ใบ้หวยนะครับ… ๑,๐๙๐ อย่าเอาไปแทงเป็นหวยเชียวนะจะบอกให้ เกิดถูกขึ้นมาหาแผ่นทองมาปิดเซลล์อย่างผมจะยุ่งกันใหญ่ เชื่อผมเถอะครับ ถ้าอยากมีอยู่มีกินยึดมั่นในหลักธรรม อิทธิบาท ๔ จะเป็นการดีที่สุดนะครับ

มาเข้าเรื่องกันต่อนะครับ ในจำนวนเซลล์ ๑,๐๙๐ เซลล์ ที่อยู่ในตัวหนอนทั้งหมดนั้น จะมีเซลล์อยู่จำนวน ๑๓๑ เซลล์ ซึ่งจะต้องตายไปในระหว่างการเจริญเติบโตของมัน แต่ที่น่าแปลกและน่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือว่า เซลล์จำนวน ๑๓๑ เซลล์นั้นจะ ถูกกำหนดวัน เวลา สถานที่ หรือตำแหน่งการตายเอาไว้เป็นการล่วงหน้าแล้วว่า จะต้องตายวันใด ชั่วโมงใด นาทีใด และตายในตำแหน่งใดในร่างกายของตัวมันนั่นเอง

แหม…น่าแปลกจังเลยนะครับ พูดง่ายๆก็คือว่า ชะตากรรมของเซลล์ ๑๓๑ เซลล์นั้นทำ อย่างไรก็ไม่รอดชีวิตไปได้อย่างแน่นอน เพราะมันได้ถูกธรรมชาติชี้เกณฑ์ชะตา วันเวลา และตำแหน่งการตายของมันเอาไว้แล้วล่วงหน้า แม่นยำอย่างไม่ผิดพลาดแม้แต่เซลล์เดียว แสดงให้เห็นว่าธรรมชาตินั้นมีความเที่ยงตรงและแม่นยำสูงมาก นี่ถ้าเป็นโหราจารย์พยากรณ์ ดวงชะตาชีวิตได้ถูกต้องเช่นนี้ก็ถือว่าทำนายทายทักได้ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์เต็มเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม การตายของเซลล์ ๑๓๑ เปรียบเสมือนหนึ่งเป็นวิบากกรรมของมนุษย์ในอดีตชาติที่ได้สร้างสมมา ชาตินี้เกิดมามีชีวิตอยู่ใช้หนี้กรรม และสิ้นอายุขัยตามกาลเวลาแห่งผลกรรมที่ได้กระทำมา
พกคำสั่งมาด้วยเหรอ…...แหมมาแค่นี้ก็พกคำสั่งมาด้วย…...ผมแปลกใจอยู่นิดหนึ่งตรงที่ว่าทำไมต้อง ๑๓ บางคนถือว่าเลข ๑๓ เป็นรหัสหรือสัญลักษณ์แห่ง ความชั่วร้าย ยิ่งเป็นศุกร์ ๑๓ บางคนถึงกับไม่กล้าออกจากบ้านไปไหนมาไหนเลยทีเดียว …นั่นก็เป็นความเชื่อส่วนตัวนะครับ แต่การจะเชื่ออะไรนั้นจะต้องใคร่ครวญไตร่ตรองพิจารณาเสียก่อนด้วยเหตุและผล ตามหลักธรรมในกาลามสูตรนะครับ จากการศึกษาค้นคว้าเรื่องนี้ยังพบอีกว่า ๑๓๑ เซลล์ได้เปิดชุดคำสั่ง และแอบถอดรหัสแห่งความตายในตัวมันเองด้วย รหัสที่ว่านี้เป็นรหัสพันธุกรรมที่เรียกว่า “ยีน” (gene) ซึ่งจะ อยู่ภายในนิวเคลียสของเซลล์ทุกเซลล์นั่นเอง

ท่านทราบหรือไม่ครับว่า เซลล์ของคนเรามียีนอยู่ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ชนิด และแต่ละชนิดนั้นจะทำเป็นรหัสสำหรับกิจกรรมต่างๆของมันเอาไว้อีกต่างหาก เช่น กิจกรรมให้เซลล์เจริญเติบโต กิจกรรม ให้เซลล์แบ่งตัวเพิ่มจำนวนขึ้น เป็นต้น แต่ที่น่าพิศวงเป็นอย่างยิ่งก็คือว่า ในยีนชนิดต่างๆนี้ มียีนแห่งความตาย รวมอยู่ด้วย ตรงนี้ล่ะครับเลยกลายเป็นเรื่องฮือฮาและกล่าวขวัญกันมากในหมู่นักวิทยาศาสตร์ถึงความมหัศจรรย์ของเจ้าเซลล์ตัวเล็กๆ จิ๋วๆ ที่ยังรู้จักพกชุดคำสั่ง แถมอาวุธหรือมีดดาบไว้ฮาราคีรีตัวเองมาด้วย

เออ…แปลกจริงหนอ ตัวแค่นี้ยังรู้จักพกชุดคำสั่งและอาวุธมาไว้ประหาร หรือทำอัตวินิบาตกรรมตัวเอง
หลังจากการค้นพบว่า เซลล์ของตัวหนอนมียีนแห่งความตายอยู่ด้วย ก็เกิดการขยายผลต่อมาถึง การศึกษาเซลล์ของคน เพื่อจะศึกษาว่าเซลล์ของคนจะแอบพกรหัสลับสำหรับฆ่าตัวตายมาด้วยหรือไม่
รู้ไหมครับเกิดอะไรขึ้น โดยที่นักวิทยาศาสตร์ไม่เคยคาดคิดมาก่อนเลยว่า เซลล์ ของคนเราจะแอบพกเอารหัสแห่งความตายมาด้วยเช่นเดียวกัน แถมยัง มีจำนวนและชนิดมากกว่าเซลล์ของหนอนเสียอีก
ตรงจุดนี้ล่ะครับได้สร้างความตื่นเต้นตกใจกันยกใหญ่ สุดจะคาดเดามาก่อน และที่น่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ การพบคำสั่งรหัสต่อต้านความตายและอุปกรณ์ป้องกันการฆ่าตัวตายของเซลล์อยู่ด้วย ทีนี้ล่ะครับสนุกแน่…ทำให้เกิดเป็น ๒ ฝ่ายในเซลล์ชนิดเดียวกัน มีข้าก็ต้อง ไม่มีแก คือว่า ฝ่ายหนึ่งให้อยู่อีกฝ่ายหนึ่งให้ไป เล่นบทต่อต้านกันเหมือนฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลอย่างไงอย่างงั้นเปี๊ยบเลยนะครับ
ฉะนั้นการตายของเซลล์คนจึงเป็นเรื่องซับซ้อนซ่อนเงื่อนมากกว่าการตายของเซลล์ในตัวหนอนยิ่งนัก
ด้วยเหตุนี้ละครับ ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังค้นคว้าวิจัยเรื่องนี้กันอย่างเอาจริงเอาจัง เพื่อค้นหา คำตอบในการเฉลยปริศนาดำมืดแห่งความซับซ้อนให้กระจ่างชัดมากขึ้นตามลำดับ
การตายของเซลล์จึงเป็นศาสตร์ยอดฮิตของผู้วิจัยค้นคว้าเรื่องเซลล์อย่างมากอยู่ในขณะนี้ ถึงขั้นที่ว่าการประชุมวิชาการเกี่ยวกับเรื่องเซลล์ ถ้าไม่พูดถึงการตายของเซลล์ที่มีโปรแกรมหรือตายแบบถูกกำหนด เรียกได้ว่าเชยสุดสุด แห้งแล้งเหมือนทุ่งกุลา…อย่างไรก็อดใจรอไปก่อน คิดว่าคงไม่นานเกินรอครับ

ข้อมูลสื่อ

231-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 231
กรกฎาคม 2541