การพัฒนาของสมองคนเราค่อนข้างจะซับซ้อนมาก สมองจะพัฒนาตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ โดยจะมีการเพิ่มทั้งจำนวนเซลล์สมอง รวมทั้งการ แตกแขนงเส้นประสาท และการเชื่อมโยงระหว่างปลาย ประสาทของเซลล์สมองต่างๆ
ท่านทราบไหมว่าหลังคลอด จำนวนเซลล์สมองจะมีประมาณถึง ๑๐๐ ล้านล้านเซลล์ เซลล์สมองจะไม่เพิ่มขึ้นไปอีก แต่จะมีการแตกแขนงประสาทเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว แขนงประสาทเหล่านั้นจะยืดยาวออกไป จะมีการเพิ่มจำนวนของจุดเชื่อมโยงระหว่างปลายประสาทหรือจุดประสานประสาทของแขนงจากเซลล์สมองต่างๆเหล่านั้นขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้สมองของเด็กระยะหลังคลอดเพิ่มขนาดขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเกือบเป็นสองเท่าของการเพิ่มขนาดหรือน้ำหนักตัวของเด็กเลยทีเดียว การพัฒนาของเซลล์สมองจำนวนดังกล่าวอยู่ภายใต้การควบคุมของยีน (gene) จำนวน ประมาณ ๕๐,๐๐๐ ยีน
ยีนต่างๆ เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของพันธุกรรมที่ได้มาจากพ่อส่วนหนึ่งและจากแม่ส่วนหนึ่ง ซึ่งกล่าวโดยย่อ คนเราจะมีรูปร่างหน้าตาผิวพรรณอย่างไร สติปัญญาเฉลียวฉลาดอย่างไร ได้กำหนดมาตั้งแต่แรกแล้ว ดังนั้นเป้าหมายของการเลี้ยงดูลูกนั้น คือจะเลี้ยงดูอย่างไรที่จะให้เขาเจริญเติบโตพัฒนาได้ใกล้ เคียงกับศักยภาพที่เขาควรจะเป็นได้มากที่สุด กระบวนการพัฒนาสมองดังกล่าวในช่วงแรกนั้นเป็นการ เพิ่มขนาดของสมอง ซึ่งต้องการทั้งสารอาหารที่ครบถ้วนและเหมาะสม รวมทั้งสารสำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย ตัวอย่างเช่น น้ำตาลแล็กโทสที่มีจำนวนเพียงพอ
(แล็กโทสในนมแม่มีประมาณร้อยละ ๗ ส่วนนมผสมส่วนใหญ่จะมีเพียงประมาณร้อยละ ๔.๘ เนื้อสมองจะมีส่วนประกอบที่สำคัญส่วนหนึ่งเป็นสารประกอบระหว่างน้ำตาลกาแล็กโทส ที่เป็นผลจากการย่อยน้ำตาลแล็กโทสซึ่งจับกับไขมัน หรือที่เรียกว่า galactolipid)
ในนมผสมมีกรดไขมันขนาดยาวที่ไม่อิ่มตัวซึ่งแม่วัวสร้างไม่ได้ จึงต้องเอาจากน้ำมันพืชมาเพิ่มเติม แต่ลูกคนเติบโตช้ากว่าลูกวัวมาก ลำไส้ลูกคนในระยะเดือนแรกๆ จึงยังมีน้ำย่อยต่างๆน้อย รวมทั้งน้ำย่อยไขมันด้วย แต่น้ำย่อยไขมันนี้จะมีออกมาในน้ำนมแม่ ทำให้ลูกคนที่กินนม แม่สามารถย่อยและดูดซึมกรดไขมันมาใช้ ได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้รวมทั้งการย่อยและดูดซึมสารอาหารที่สำคัญอื่นๆด้วย
ได้มีการวิจัยพบว่า เด็กที่กินนมแม่ต้องการปริมาณนมแม่น้อยกว่านมผสม เพื่อให้เจริญเติบโตได้เช่นกัน หรืออีกนัยหนึ่ง เด็กที่กินนมผสมไม่สามารถย่อยและดูดซึมนมผสมไปใช้ได้ดีเหมือนนมแม่ ดังนั้นเราอาจทราบว่าเด็กที่กินนมผสมนั้นได้กินสารอาหารอะไรเข้าไปจำนวนเท่าใด แต่ไม่อาจทราบได้ว่าเด็กคนนั้นจะย่อยและดูดซึมนมผสมนั้นเข้า ไปใช้ในร่างกายได้มากน้อยเพียงใด
พึงระลึกไว้เสมอว่า สารที่ปรับการเจริญเติบโตของเซลล์ประสาทและสมอง (nerve growth factor) ให้สมบูรณ์นั้น มีในนมแม่แต่ไม่มีในนมผสม
ฮอร์โมนซึ่งใช้ในการเจริญเติบโตและพัฒนาการของร่างกายและสมอง ที่ร่างกายของเด็กยังสร้างได้น้อยอยู่ เราพบได้ในนมแม่แล้วหลายชนิด แต่ไม่พบในนมผสม
นอกจากนี้ยังมีสารที่มีความสำคัญกับพัฒนาการของสมองอื่นๆอีก การเพิ่มจำนวนและความยาวของแขนงประสาท และการเพิ่มจำนวนจุดประสานหรือเชื่อมโยงระหว่างปลายแขนงประสาทที่กล่าวว่ามีมากขึ้นในระยะหลังคลอด โดยไม่มีการเพิ่มของจำนวนเซลล์สมองนั้น จะมีจำนวนหนาแน่นที่สุดประมาณขวบปีที่สอง
สมองจะมีการพัฒนาแตกต่างจากการเจริญเติบโตของร่างกาย โดยที่พัฒนาการของสมองไม่ใช่จะมีแต่เพียงกระบวนการเพิ่มเข้า เช่นดังที่อธิบายแล้วข้างต้นอย่างเดียว แต่จะมีการฝ่อหรือการขจัดออกของสมองบางส่วนด้วย เปรียบง่ายๆเหมือนกับการปั้นรูป ในระยะแรกจะต้องมีการนำเอาวัตถุดิบที่จะปั้น มาโปะเพิ่มให้ได้ขนาดที่ต้องการก่อน จากนั้นจึงมีการควักเจียนออกเป็น การตกแต่งอย่างละเอียดเพื่อให้ได้รูปร่างที่ต้องการ
กระบวนการเพิ่มเข้าของสมองจำเป็นจะต้องใช้สารอาหารและสารอื่นๆ ดังที่อธิบายมาแล้ว เพื่อให้ได้สมองที่มีขนาดเท่ากับสมองปกติของเด็กอายุนั้นๆ สารต่างๆเหล่านี้มีครบถ้วนในน้ำนมแม่ แต่สารหลายอย่างจะไม่มีในนมผสม
กระบวนการพัฒนาของสมองแบบเพิ่มเข้าดังกล่าวแล้วข้างต้น ไม่ได้สิ้นสุดเพียงขวบปีที่สอง จะยังมีต่อไปอีกตลอดชีวิตในวัยรุ่น แต่ขณะเดียวกันจะมีกระบวนการขจัดสมองบางส่วนออกหรือการฝ่อของสมองบางส่วนควบคู่ไปด้วย ส่วนของสมองที่จะถูกขจัดออกหรือฝ่อไปนั้น ประกอบด้วยสองส่วนด้วยกัน คือส่วนที่ทำหน้าที่เป็นโครงสร้างระยะแรก หรือคล้ายกับนั่งร้านที่ทำขึ้นเวลาสร้างตึก เมื่อถึงเวลาจะต้องตบแต่งตึกให้เป็นรูปร่าง จะต้องรื้อนั่งร้านออก สมองส่วนนี้ก็เช่นเดียวกัน เมื่อพ้นระยะที่ต้องการแล้วก็จะฝ่อไป
สมองส่วนที่จะฝ่อไปส่วนที่สอง คือส่วนสมองที่จะใช้ก็ได้ แต่เด็กเองใช้น้อยหรือไม่ได้ใช้เลย หรืออาจจะไม่ได้ใช้เพราะสร้างมาไม่สมบูรณ์ทำให้ใช้ไม่ได้ หรือควรจะใช้แต่ไม่ได้ใช้เลยก็ได้
เด็กแรกเกิดที่คลอดครบกำหนด จะมีระบบประสาทและสมองพร้อมที่จะสื่อกับแม่ได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นทางรูป รส กลิ่น เสียง หรือสัมผัสก็ตาม และธรรมชาติก็ต้องการ ให้ปลายประสาทของเด็กพร้อมที่จะรับการกระตุ้นจากสัมผัสทั้งห้าดังกล่าว ให้ได้รับการกระตุ้นที่เหมาะสมตั้งแต่แรกคลอดอยู่แล้ว
การกระตุ้นดังกล่าวจะทำให้ระบบประสาทและสมองของเด็กทุกส่วนเริ่มทำงาน แรงกระตุ้นจะทำให้สมองเด็กมีการเรียนรู้ มีประสบการณ์ มีความจำเกิดขึ้นและการกระตุ้นนี้ต้องมีอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ดังนั้นในวงการแพทย์สมัยใหม่จึงต้องการให้แม่โอบกอดลูก และให้ลูกเริ่มดูดนมแม่ภายใน ๓๐ นาทีแรกหลังคลอด หลังจากนั้นก็ให้แม่และลูกอยู่ด้วยกันตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพื่อกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทและสมองของลูก และกระตุ้นสายสัมพันธ์แม่ลูกให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะต้องอยู่กับลูกตลอดเวลาเป็นส่วนใหญ่ เวลาที่ลูกดูดนมแม่จะมองเห็นหน้าแม่ ได้ดูดได้รสนมแม่ ได้กลิ่นแม่ ได้ยินเสียงแม่ และจะได้สัมผัสอันนุ่มนวลอ่อนโยนของแม่ จึงเป็นการวางรากฐานที่สำคัญของชีวิตลูกไว้ตั้งแต่เริ่มต้นของชีวิต เพื่อลูกจะได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เพียบ พร้อมทั้งความสมบูรณ์ของร่าง-กาย ความฉลาดของสมองและ ความมีสุขภาพจิตที่ดี
สำหรับแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมผสมนั้น คงจะเห็นได้ว่า ส่วนมากจะไม่ค่อยมีเวลาให้ลูก ส่วนใหญ่จะให้พี่เลี้ยงเป็นคนดูแล ซึ่งน้อยคนนักจะเอาใจใส่และเล่นกับลูกได้เพียงพอ ดังนั้นสมองและประสาทของลูกมักจะไม่ได้รับการกระตุ้นที่เหมาะสมและเพียงพอ
การศึกษาพบว่า เด็กที่ได้รับการกระตุ้นน้อย หรือไม่ได้รับการโอบกอดอุ้มชูอย่างเพียงพอนั้น สมองจะมีขนาดเล็กกว่าสมองเด็กที่อายุเท่ากันถึงร้อยละ ๒๐-๓๐
ดังนั้นแม้เด็กที่กินนมผสมบางคนจะสมองดี มีสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์ฉลาด นั่นก็เพราะเด็กมีศักยภาพที่ดีมาแต่กำเนิด โดยได้รับพันธุกรรมดีจากพ่อและแม่ แม้จะขาดสารที่สำคัญในการพัฒนาสมอง ขาดการกระตุ้นที่เหมาะสม ก็ยังมีสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ถ้าหากได้กินนมแม่ เด็กคนนี้ควรจะมีสมองและสติปัญญาดียิ่งกว่านี้
คุณแม่ที่เคยคิดว่า หลังคลอดควรเป็นเวลาที่แม่จะต้องพักผ่อน แล้วเอาลูกไปฝากให้โรงพยาบาลดูแลให้นั้น ควรจะได้คิดใหม่ว่า หากต้องการให้ลูกเจริญเติบโตพัฒนาให้มีร่างกายสมบูรณ์ สมองดี สติปัญญาเฉลียวฉลาดใกล้เคียงกับศักยภาพมากที่สุด ก็ควรจะเริ่มรับลูกมาโอบกอดทันทีหลังคลอด ให้ลูกได้เริ่มดูดนมแม่ภายในครึ่งชั่วโมงหลังคลอด และหลังจากนั้นแม่และลูกควรจะอยู่ด้วยกัน หรือดียิ่งกว่านั้น คือการอยู่บนเตียงเดียวกันตลอดเวลาที่อยู่โรงพยาบาล
ผู้ที่จะไปเยี่ยมแม่หลังคลอด ก็ควรจะเปลี่ยนค่านิยมใหม่ จากการไปเยี่ยมที่โรงพยาบาล ซึ่งเป็นระยะที่แม่และลูกควรจะได้อยู่ด้วยกัน ปรับตัวเข้าหากัน ลูกได้ดูดนมแม่บ่อยตามที่ต้องการ และเป็นระยะที่เด็กอ่อนจะติดเชื้อโรคจากคนอื่นได้มาก มาเป็นการเยี่ยมแม่ที่บ้าน ภายหลังคลอดตั้งแต่หนึ่งเดือนขึ้นไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตัวลูกและตัวแม่มากกว่า
คุณแม่จะเห็นได้ว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และการเลี้ยง ลูกด้วยนมผสมนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง การเลี้ยงลูกด้วยนมผสมนั้นเป็นเพียงการให้อาหารลูกประการเดียว แต่การเลี้ยง ลูกด้วยนมแม่นั้นเป็นกระบวนการเลี้ยงดูเด็กทั้งหมด นับตั้งแต่การให้อาหารลูก โดยการให้สารอาหารต่างๆ ที่ครบถ้วนและเหมาะสม รวมทั้งสารอื่นๆ ที่สำคัญสำหรับการเจริญเติบโตของทั้งร่างกายและสมอง สารที่ป้องกันการติดเชื้อโรค สารที่ป้องกันการอักเสบ นอกเหนือไปจากนั้นยังเป็นการกระตุ้นระบบสมองและประสาทของลูกให้พัฒนาได้ดี ไม่ให้บางส่วนฝ่อไปโดยไม่มีความจำเป็น และเป็นการโยงใยสายสัมพันธ์แม่ลูก เพื่อก่อให้เกิดสุขภาพจิตที่ดีแก่ลูกต่อไปในเบื้องหน้าด้วย
ดังนั้น คำแนะนำที่จะเป็นประโยชน์ต่อลูกมากที่สุดคือ ให้กินนมแม่อย่างเดียวตั้งแต่แรกเกิดจนถึง ๔-๕ เดือน และให้กินนมแม่ต่อไปโดยให้อา-หารอื่นที่เหมาะสมตามวัยจนขวบปีที่สองหรือนานกว่านั้น ทั้งนี้แล้วแต่คุณแม่จะปฏิบัติ ตามได้แค่ไหน
- อ่าน 4,732 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้