• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สมองเสื่อม รู้ได้อย่างไร ?

สมองเสื่อม รู้ได้อย่างไร ?

อาจมีบางครั้งที่คุณใส่กุญแจบ้าน ก่อนเข้านอนแล้ว แต่เกิดอาการไม่แน่ใจว่าใส่กุญแจแล้วหรือยัง เลยต้องเดินไปดูอีกรอบ หรือปิดวาว์ลแก๊สแล้ว แต่ไม่แน่ใจต้องเดินไปดูอีกว่าปิดแล้วหรือยัง หรือจำไม่ได้ว่าทำโน่นทำนี่แล้วหรือยัง ทั้งๆที่ทำไปแล้ว ถ้ามีอาการแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ คุณอาจเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า เอ๊ะ! นี่เราเป็นโรคสมองเสื่อมหรือเปล่า แล้วคุณจะรู้ได้อย่างไรว่าอาการที่คุณเป็นนั้น ใช่หรือไม่ใช่โรคสมองเสื่อม เพื่อเป็นการวินิจฉัยตัวเองก่อนไปพบแพทย์ เราต้องรู้จักก่อนว่าแท้จริงแล้ว โรคสมองเสื่อมคือ อะไร มีลักษณะอาการอย่างไร "หมอชาวบ้าน" ฉบับนี้ขอพาท่านมา พบกับแพทย์หญิงสิรินทร ฉันศิริกาญจน หัวหน้าหน่วยเวชศาสตร์ ผู้สูงอายุ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

ขี้ลืม (ธรรมดาๆ) หรือเป็นโรคสมองเสื่อม 
โดยทั่วไปคนทุกคนจะมีการลืมได้บ้างเป็นธรรมดา อาจจะนึกไม่ออกว่าเอาของวางไว้ที่ไหน แต่ก็รู้ว่าเอามาแล้วแน่ๆ จำได้ว่าถือมาแต่เอาไปวางไว้ที่ไหน แล้วก็หาดูว่าเอาของไปวางไว้ที่ไหน พอจอดรถเสร็จแล้วเดินไปนึกไม่ออกว่าตัวเองล็อกรถหรือยังต้องเดินกลับมาดูใหม่ หรือเดินไปซื้อของแล้ววางของที่ซื้อมาก่อนไว้ที่ร้าน หยิบของใหม่ได้ก็หยิบแต่ของใหม่แล้วไปเลย โดยลืมของเก่า อาการเหล่านี้เป็นลักษณะของการลืมที่พบได้ในคนทั่วไป ซึ่งการลืมเหล่านี้อาจปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น โดยการตั้งใจเตือนตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่า เราถือของนี้มาจะลุกขึ้นจากโต๊ะหรือเดินจากจุดที่ยืนอยู่ก็ให้หยุดมองไปรอบๆ ก่อนว่า มีอะไรทิ้งไว้หรือเปล่า การฝึกตัวเองเสมอๆ จะทำให้การลืมลดลง

สำหรับผู้ป่วยสมองเสื่อมจะจำไม่ได้เลยว่าหยิบของมา หรือจำไม่ได้เลยว่ามีกิจกรรมต่างๆเกิดขึ้น เช่น จำไม่ได้ว่ากินข้าวหรือยัง ทั้งที่เพิ่งกินข้าวไปเมื่อสักครู่นี้เองนอกจากนี้ผู้ป่วยจะมีการเปลี่ยนแปลงทางบุคลิกภาพร่วมด้วย จากคนที่มีบุคลิกภาพแบบหนึ่งเปลี่ยนไปเป็นอีกแบบหนึ่ง เช่น จากคนที่ชอบแต่งตัวสวยงาม เมื่อมีอาการเปลี่ยนแปลงทางสมองจะกลายเป็นคนไม่ดูแลตัวเอง ปล่อยตัวสกปรก รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจากคนที่เคยเรียบร้อย อารมณ์ดี อาจจะมีพฤติกรรมเกรี้ยวกราด ก้าวร้าว รุนแรง ในทางกลับกันอาจยิ้ม หัวเราะตลอดเวลากับเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องขำ หรือในเวลาที่ไม่น่าจะยิ้มหรือหัวเราะ เช่นกินข้าวไปหัวเราะไป ซึ่งลักษณะเหล่านี้เป็นลักษณะอาการที่พบได้ในโรคสมองเสื่อม

อายุที่มากขึ้นไม่ทำให้เป็นสมองเสื่อม 
โรคสมองเสื่อมไม่ใช่เป็นภาวะที่พบได้ทั่วไปเมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น แต่ภาวะสมองเสื่อมถือเป็นโรคที่เกิดขึ้นในคนนั้นๆ คนสูงอายุทั่วๆ ไป อาจจะมีอาการหลงๆ ลืมๆ ได้บ้าง แต่ว่าลืมแล้วก็จำได้ ว่าตอนนั้นเราลืมไป แต่อาการหลงลืมของคนที่เป็นโรคสมองเสื่อมนั้นมีลักษณะแตกต่างกัน เพราะคนที่อยู่ในภาวะสมองเสื่อมอาการหลงลืมจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องและเพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญจะจำเหตุการณ์และเรื่องราวที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่ได้เลย รวมทั้งสิ่งที่ตัวเองกระทำลงไปด้วย และเมื่ออาการมากขึ้นจะพูดบอกความต้องการหรือความรู้สึกของตัวเองไม่ได้

"เพราะฉะนั้นการเป็นโรคสมองเสื่อมจึงไม่เกี่ยวโดยตรงกับกระบวนการของความแก่ เนื่อง จากอวัยวะต่างๆ มีพลังสำรอง แต่เมื่ออายุมากขึ้น พลังสำรองร่อย- หรอลงเซลล์สมองตายมากขึ้น โรคสมองเสื่อมจึงเด่นขึ้นมา"

สมองเสื่อมเกิดขึ้นได้อย่างไร
สาเหตุการเกิดโรคสมองเสื่อมมาจากหลายสาเหตุ ประกอบด้วย 

 ๑. เกิดจากการเสื่อมสลายของสมอง เนื่องจากเนื้อสมองมีการเสื่อมสลายหรือตาย ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ทราบว่ามีสาเหตุมาจากอะไร อะไรเป็นตัวกระตุ้นทำให้เนื้อสมองตาย โรคสมองเสื่อมที่พบบ่อยในกลุ่มนี้ ได้แก่ โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน และโรคอื่นๆ อีกหลายโรค ซึ่งในกลุ่มนี้โรคอัลไซเมอร์ เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดในชาวตะวันตก แต่ขณะนี้ยังไม่มีตัวเลขที่แน่นอนว่าคนไทยเป็นอัลไซเมอร์มากน้อยเพียงใดและคิดเป็นอัตราส่วนเท่าไรของคนไข้สมองเสื่อมทั้งหมด 

 ๒. เกิดจากหลอดเลือดสมอง  เนื่องจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองหนาตัวแข็งตัว หรือมีการตีบตัวผิดปกติ ส่งผลให้ปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมองลดลง ถ้าลดลงมากถึงระดับที่ไม่เพียงพอกับการใช้งานของสมองก็จะทำให้เนื้อสมองตายไป เนื้อสมองส่วนที่ตายไปนั้นถ้าเกิดขึ้นในพื้นที่เล็กๆ ก็อาจจะยังไม่มีอาการในระยะแรก แต่ถ้าเนื้อสมองตายเป็นจำนวนมากจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการหลงลืมหรือสมองเสื่อมได้ ผู้ป่วยที่มีแนวโน้มว่าจะมีหลอดเลือดสมองตีบผิดปกติมักจะอยู่ในกลุ่มผู้ที่มีความดันเลือดสูง ผู้ที่เป็นเบาหวาน ผู้ที่มีระดับไขมันโคเลสเตอรอลสูง หรือผู้ที่สูบบุหรี่  นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ 

 ๓. เกิดจากการติดเชื้อในสมอง มีเชื้อไวรัสหลายชนิดซึ่งทำให้เกิดการอักเสบในสมอง เช่น ไวรัสสมองอักเสบที่เกิดจากไวรัสชนิดหนึ่งที่อยู่ในหมู โดยยุงจะกัดหมูแล้วมากัดคน นำเชื้อไวรัสมาสู่คน ผู้ป่วยจะมีไข้สูง แล้วไวรัสขึ้นสมอง ผู้ป่วยอาจเสียชีวิต หรือรอดชีวิตแต่มีการเสียหายของเนื้อสมอง ซึ่งความเสียหายจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดเชื้อในสมอง เมื่อเนื้อสมองบางส่วนตายไปทำให้ความสามารถของสมองลดลงจนทำให้มีอาการลืม และความรอบรู้เฉลียวฉลาดต่างๆ เปลี่ยนไป เป็นอาการสมองเสื่อมได้ นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีเชื้อไวรัสอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดสมองเสื่อมมากขึ้นเรื่อยๆ คือ การติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) เมื่อไวรัส HIV เข้าไปในร่างกายจะทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายบกพร่อง ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อในสมอง ผู้ป่วยจะมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง ความจำเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพเปลี่ยน ส่วนใหญ่แล้วสมองเสื่อมที่เกิดจากการติดเชื้อในสมองมักพบในคนที่มีอายุน้อย

 ๔. เกิดจากการขาดสารอาหารบางชนิด โดยเฉพาะวิตามิน เช่น วิตามินบี ๑ หรือวิตามินบี ๑๒  วิตามินบี๑ พบมากใน ข้าวซ้อมมือ รำข้าว ข้าวโอ๊ต แป้งถั่วเหลือง ถั่วเมล็ดแห้ง เครื่องในสัตว์ ตับ ไข่แดง นม และผักใบเขียว เป็นสารช่วยทำให้การทำงานของเซลล์สมองเป็นไปอย่างปกติ ผู้ที่ขาดวิตามินบี ๑ มักพบใน ผู้ป่วยที่ติดเหล้าหรือเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง เมื่อได้รับวิตามินบี ๑ ไม่เพียงพอทำให้เซลล์สมองทำงานไม่ได้ตามปกติหรืออาจถึงขั้นเซลล์สมองตายไป ส่วนวิตามินบี ๑๒ จะได้จากน้ำปลา หรืออาหารจากเนื้อสัตว์ มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการทำงานของสมอง ผู้ป่วยที่ขาดวิตามิน บี ๑๒ มักพบในผู้ป่วยที่กินมังสวิรัติอย่างเคร่งครัดเป็นเวลานานหลายๆ ปี ดังนั้นผู้ที่กินมังสวิรัติอย่างเคร่งครัดจึงควรได้รับวิตามินเสริมเป็นครั้งคราวเพื่อให้เพียงพอกับการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย  

นอกจากนี้ยังอาจพบ การขาดวิตามินบี ๑๒ ในผู้ป่วยที่ได้ผ่าตัดกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น ก็จะทำให้ขาดสารอาหารบางอย่างซึ่งช่วยหรือมีความจำเป็นในการดูดซึมวิตามินบี ๑๒ จากกระเพาะอาหารและลำไส้เข้าสู่ระบบร่างกาย

 ๕. เกิดจากการแปรเปลี่ยนของระบบเมตาบอลิกของร่างกาย เช่น การทำงานของต่อมไร้ท่อบางชนิดผิดปกติ เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานมากหรือน้อยไป การทำงานของตับหรือไตผิดปกติทำให้เกิดของเสียคั่งอยู่ในร่างกาย ทำให้สมองไม่สามารถสั่งการได้ตามปกติ  ถ้าภาวะอย่างนี้เป็นอยู่นานๆ จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการสมองเสื่อมได้ 

 ๖. เกิดจากการถูกกระทบกระแทกที่ศีรษะอยู่เสมอๆ ภาวะนี้พบบ่อยในคนที่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะมีการกระทบกระแทกที่ศีรษะอยู่เสมอๆ โดยเฉพาะนักมวย นักกีฬาบางชนิดที่จะต้องใช้ศีรษะกระแทกสิ่งต่างๆ ถ้าเป็นซ้ำแล้วซ้ำอีกสมองส่วนที่ได้รับการกระทบกระเทือนนั้นจะตาย เมื่อเนื้อสมองตายเป็นจำนวนมากก็จะทำให้มีอาการสมองเสื่อม

 ๗. เกิดจากเนื้องอกในสมอง โดยเฉพาะเนื้องอกที่เกิดจากทางด้านหน้าของสมอง ผู้ป่วยอาจจะไม่มีอาการแบบที่พบในเนื้องอกสมองส่วนอื่น เช่น อาการแขนขาไม่มีแรง มองเห็นภาพซ้อน หรืออาการซึ่งแสดงว่ามีความดันในกระโหลกศีรษะมากขึ้น เช่น อาเจียน หรือปวดศีรษะ แต่เนื้องอกในบริเวณนี้จะทำให้บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง ความจำหรือการตัดสินใจเปลี่ยนแปลง 
 
ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นสาเหตุที่เจอบ่อยๆ ที่ทำให้เกิดสมองเสื่อม แต่อย่างไรก็ตามสมองเสื่อมในคนสูงอายุมักจะมีสาเหตุมาจากโรคอัลไซเมอร์หรือปัญหาหลอดเลือดสมองผิดปกติ หรือในคนไข้บางรายอาจเป็นทั้งสองอย่าง คือ เป็นทั้งอัลไซเมอร์และมีปัญหาหลอดเลือดสมองร่วมด้วย

สมองเสื่อมจะมีอาการตั้งแต่เมื่อไหร่ 
โรคสมองเสื่อมมีอาการตั้งแต่ อายุเท่าไรก็ได้ โดยเฉพาะในกรณีที่มีอาการสมองเสื่อมจากการขาดสารอาหาร การแปรปรวนระบบเมตาบอลิกของร่างกาย ได้รับการ กระทบกระเทือนทางสมอง หรือจากเนื้องอกในสมอง ส่วนกลุ่มโรคอัลไซเมอร์หรือโรคที่เกิดจากการเสื่อมสลายของสมอง หรือสมองเสื่อมจากปัญหาหลอดเลือดสมอง จะพบในผู้ป่วยสูงอายุ อย่างไรก็ตามโรคบางโรคที่เกิดจากการเสื่อมสลายของสมองอาจจะเกิดกับคนไข้อายุน้อยได้ และโรคในกลุ่มนี้บางโรคจะถ่ายทอดทางพันธุกรรม

สมองเสื่อมมีชีวิตอยู่ได้อีกนานแค่ไหน 
เป็นการยากที่จะบอกว่าผู้ป่วยจะมีชีวิตได้อีกนานเท่าไร ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับโรคที่เป็นสาเหตุของสมองเสื่อม และสุขภาพโดยส่วนรวมของผู้ป่วย ถ้าเป็นโรคอัลไซเมอร์แล้วโดยเฉลี่ยผู้ป่วยมักจะมีชีวิตได้ราว ๑๐ ปี หรือบางรายอาจจะมีชีวิตได้ถึง ๒๐ ปี แต่บางรายอาการของโรคจะไปเร็วมาก อาจจะเสียชีวิตภายใน ๒-๓ ปี ผู้ป่วยอัลไซเมอร์หรือสมองเสื่อมอื่นๆ ถ้าหากมีสุขภาพแข็งแรงดีอาการของโรคเกี่ยวกับทางสมองเสื่อมจะดำเนินไปอย่างช้าๆ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ผู้ป่วยมีปัญหาสุขภาพอื่นๆ จนถึงขนาดต้องเข้าโรงพยาบาล อาการสมองเสื่อมจะเลวลงอย่างมาก ถึงแม้จะรักษาโรคทางกายอื่นๆ หายแล้ว อาการทางสมองและความจำมักจะดีขึ้นอย่างช้าๆ แต่ อย่างไรก็ตาม เรื่องความจำก็จะยังแย่กว่าที่คนไข้เป็นช่วงก่อนที่จะไม่สบาย ดังนั้นผู้ที่ดูแลผู้ป่วยด้วยโรคสมองเสื่อมจะต้องดูแลให้ผู้ป่วยได้รับอาหารอย่างเพียงพอ มีสารอาหารครบถ้วน ให้ออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวร่างกายสม่ำเสมอเพื่อให้มีการทรงตัวที่ดี ลดโอกาสที่จะหกล้ม ระมัดระวังอย่าให้เป็นหวัด ระมัดระวังการใช้ยาต่างๆ โดยไม่จำเป็น เพราะยาบางชนิดทำให้อาการสมองเสื่อมเลวลง

สมองเสื่อมรักษาได้อย่างไร
โรคสมองเสื่อมบางอย่างอาจรักษาได้ แต่บางอย่างรักษาไม่ได้ ในผู้ป่วยสมองเสื่อมที่เกิดจากการขาดสารอาหารบางอย่าง เช่น การขาดวิตามิน บี๑, บี๑๒ หรือผู้ป่วยที่มีการแปรปรวนของระบบเมตาบอลิกของร่างกาย เมื่อได้รับการรักษาแล้วอาการสมองเสื่อมมักจะดีขึ้น ซึ่งทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าก่อนได้รับการวินิจฉัยและรักษานั้น ผู้ป่วยมีอาการมากน้อยเพียงใด เป็นมานานแค่ไหน ความเสียหายของสมองมีมากน้อยเพียงใด ถ้าสมองเสียหายไม่มากนัก ได้รับการแก้ไขตามเวลาที่สมควร ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น และหลังจากรักษาแล้วอาการจะทรงอยู่ในลักษณะนั้นไปเรื่อยๆ  ส่วนโรคสมองเสื่อมที่เกิดจากการเสื่อมสลายของสมอง จากปัญหาหลอดเลือดสมอง จากการติดเชื้อในสมอง จากการกระทบกระแทก กลุ่มนี้มักจะไม่สามารถรักษาได้ เพียงแต่มียาบางอย่างช่วยชะลอให้อาการของผู้ป่วยดำเนินไปช้าลง

อัลไซเมอร์ เป็นเพียงโรคหนึ่งของกลุ่มโรคสมองเสื่อม
เมื่อพูดถึงโรคสมองเสื่อม หลายคนอาจนึกถึง "โรคอัลไซเมอร์" เพราะเป็นโรคเกิดจากการเสื่อมสลายของสมอง ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดในกลุ่มอาการสมองเสื่อมที่พบในชาวตะวันตก ผู้ที่เป็นอัลไซเมอร์จะมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องความจำ การรับรู้ ไม่สามารถทำของที่เคยทำได้ ไม่รู้จักของหรือคนที่เคยรู้จัก หรือจำตัวเองไม่ได้ ไม่สามารถทำงานที่เป็นขั้นตอนต่อเนื่องได้ รวมทั้งมีปัญหาทางพฤติกรรมและบุคลิกภาพที่เปลี่ยนไป โดยอาการจะค่อยๆ เกิดขึ้นช้าๆ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยหรือคนใกล้ชิดไม่สามารถกำหนดเวลาที่แน่ชัดได้ว่าเกิดตั้งแต่เมื่อไหร่ ในทางการแพทย์แบ่งอาการของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ออกเป็น ๓ ระยะ 

ระยะแรก ในช่วงที่ผู้ป่วยอยู่ในอาการระยะแรกนั้นมักจะจำเรื่องบางอย่างไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องที่เพิ่งจะพูดหรือการกระทำที่เพิ่งจะทำไป แต่ความจำที่เป็นความจำระยะก่อน เช่น ความจำในช่วงหนุ่มสาวจะจำได้ดี จะเล่าเรื่องเก่าๆ ซ้ำ แต่ถ้าให้เล่าหลายครั้งรายละเอียดจะบิดเบือน มักจะพูดหรือถามซ้ำๆ โทรศัพท์ไปหาลูกวันละหลายๆ ครั้งเพื่อบอกเรื่องเดิม ถ้ามีคนเอาของมาให้ก็จะบอกไม่ได้ว่าใครเอามาให้ นอกจากนี้จะมีปัญหาในการใช้ภาษา เรียกสิ่งของที่เป็นชื่อเฉพาะได้ลำบาก อาจจะไม่สามารถเรียกนาฬิกาได้ถูกต้อง แต่รู้ว่านาฬิกาเอาไว้ใช้ดูเวลา สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ แต่ทำได้ช้าลงกว่าเดิม ยิ่งของที่ใช้หรือรู้จักน้อยจะยิ่งพูดไม่ถูก อาจจะทิ้งสิ่งของไว้เลอะเทอะ

ในระยะนี้ผู้ป่วยจำนวนมากจะเริ่มรู้ว่าตัวเองผิดปกติ จะพยายามไปพบแพทย์และบ่นว่าความจำไม่ดี ซึ่งแพทย์จะยังไม่สามารถตรวจพบความผิดปกติที่ชัดเจน บางรายกระวนกระวายอยู่ไม่สุข บางรายอาจจะมีลักษณะซึมเศร้า แยกตัวออกมาไม่ยอมรวมกลุ่มกับใคร ยิ่งทำให้อาการหลงลืมเป็นมากขึ้น อาการของโรคในระยะแรกจะเป็นตั้งแต่ ๑-๕ ปี 

ระยะที่ ๒ จะสูญเสียความจำใกล้ๆ มากขึ้น จำไม่ได้ว่ากินข้าวแล้ว เมื่อเห็นคนอื่นกินก็จะกินอีก คนอื่นๆยืนยันว่ากินแล้วก็จะไม่เชื่อ มีความบกพร่องในการดูแลตัวเอง ไม่อาบน้ำ ลืมไปว่าต้องตัดเล็บ บางครั้งชวนไปอาบน้ำจะโกรธ ให้ไปอาบเองก็ไม่ยอม เพราะไม่รู้ว่าจะเอาเสื้อผ้าที่ไหน เปิดน้ำอย่างไรก็นึกไม่ออกจึงบ่ายเบี่ยง บางรายชอบออกจากบ้านแล้วหลงทางทั้งๆที่อยู่บนถนนอยู่ห่างจากบ้านไม่กี่เมตร ระยะนี้ผู้ป่วยจะใช้ภาษาผิดพลาดมากกว่าเดิม เรียกคำศัพท์เฉพาะไม่ค่อยถูกต้อง เรียกชื่อคนผิดๆ ถูกๆ ความเฉลียวฉลาดจะลดลงมาก ไม่สามารถบวกลบเลขได้ ระยะนี้อาจจะเป็นอยู่ ๒-๕ ปี
 
ระยะที่ ๓ เป็นระยะสุดท้าย มีอาการรุนแรง ความเฉลียวฉลาดของผู้ป่วยจะลดลงมาก จะจำคนใกล้ชิดไม่ได้ จำชื่อคนไม่ได้ จำไม่ได้ว่าคนชื่อนี้มีความสัมพันธ์กับตนอย่างไร ผู้ป่วยบางคนอาจจำตัวเองไม่ได้ หรือบางคนอาจมีพฤติกรรมผิดปกติแต่ควบคุมไม่ได้ กินอาหารเลอะเทอะมอมแมม ขว้างปาสิ่งของหรือเอาของไปซ่อน ไม่สามารถบอกได้เกี่ยวกับการขับถ่าย รวมทั้งเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง ผู้ป่วยจะไม่พูด ถ้าพูดจะพูดสั้นๆ ซ้ำๆ ในที่สุดจะเสียชีวิตจากแผลกดทับหรือการเป็นปอดบวม 
  
ผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะแสดงอาการตั้งแต่เมื่อไหร่ 
โรคอัลไซเมอร์ แบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มอายุน้อย ซึ่งจะมีอาการตั้งแต่อายุ ๔๐ ปีขึ้นไป  แต่ไม่เกิน ๖๐ ปี ส่วนอายุมาก มักเริ่มมีอาการผิดปกติหลังจากอายุ ๖๕ ปีขึ้นไป ในเมืองไทยพบผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ปัจจุบันยังไม่มีตัวเลขที่ระบุจำนวนผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่แน่นอน เนื่องจากการวินิจฉัยทำได้ยาก วิธีการ ที่จะรู้แน่ชัดว่าเป็นอัลไซเมอร์ คือ การนำเนื้อสมองมาตรวจซึ่งจะทำเมื่อผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว ถึงแม้ว่าทางการแพทย์ยังไม่สามารถหาสาเหตุของโรคอัลไซเมอร์ ได้ แต่มีการระบุถึงปัจจัยเสี่ยงหลายๆ อย่างที่เอื้อต่อการเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอายุที่เพิ่มมากขึ้น ประวัติครอบครัว กรรมพันธุ์ และปัญญาอ่อนดาวน์ซินโดม(down's syndrome)

อัลไซเมอร์ รักษาไม่หาย แต่ชะลออาการได้ 
อัลไซเมอร์ยังหาทางป้องกันไม่ได้ เพราะยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรค การพบความผิดปกติตั้งแต่เนิ่นๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองเสื่อมหรือไม่ ถ้าเป็นสามารถแก้ไขได้หรือไม่ เพื่อจะช่วยให้การรักษาทำได้ง่ายขึ้น เพราะคนไข้บางรายที่มีความดันเลือดสูง เบาหวาน หรือมีไขมันในเลือดสูงอาจจะเป็นอัลไซเมอร์ร่วมกับโรคสมองเสื่อมจากหลอดเลือดด้วย การรักษาผู้ป่วยสมองเสื่อมเป็นการรักษาในส่วนของความจำโดยการใช้ยาเพื่อช่วยชะลออาการของโรค เพราะมีสารเคมีบางตัวในสมองที่จะช่วยในเรื่องความจำมีปริมาณต่ำกว่าปกติมาก จะมียาบางตัวที่ช่วยยับยั้งการถูกทำลายของสารเคมีดังกล่าว ทำให้อาการของโรคดำเนินช้าลง แต่ยาจะช่วยได้เพียงระยะหนึ่งเท่านั้น เมื่อถึงเวลาที่อาการรุนแรงก็ไม่สามารถที่จะใช้ยายับยั้งได้อีกต่อไป ยาในกลุ่มที่มีสรรพคุณขยายหลอดเลือดในสมอง เป็นกลุ่มที่ใช้กันมานาน แต่การวิเคราะห์ว่าใช้แล้วความจำจะดีขึ้นหรือไม่นั้น ทำได้ยาก เพราะความจำจะดีขึ้นต้องมีปัจจัยอื่นประกอบด้วย อย่างไรก็ตามการใช้ยาในการรักษาโรคสมองเสื่อม เป็นเพียงการช่วยชะลอ อาการของโรคเท่านั้น ไม่สามารถยับยั้งอาการหรือรักษาโรคให้หายขาดได้


"คุณหมอครับ แม่ผมเป็นอัลไซเมอร์ ผมจะเป็นด้วยหรือเปล่าครับ จะทำอย่างไรดีครับ" 

ญาติผู้ป่วยอัลไซเมอร์รายหนึ่งปรึกษาหมอด้วยความวิตกกังวล ถ้ามีคนในครอบครัวเป็นอัลไซเมอร์ก็ไม่อาจสรุปได้ว่าทายาททุกรุ่นจะต้องเป็นโรคอัลไซเมอร์ เพราะจากรายงานทางการแพทย์พบว่ามีฝาแฝดคนหนึ่งเป็นโรคอัลไซเมอร์แต่อีกคนหนึ่งไม่เป็น ทั้งๆ ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกัน เพราะฉะนั้นพันธุกรรมจึงเป็นเหมือนพื้นฐาน แต่ต้องมีอะไรมากระตุ้นคนที่มีพันธุกรรมอย่างเดียวกันจึงจะเป็นอัลไซเมอร์ ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ระยะแรกถึงแม้จะเอกซเรย์แล้วพบว่าสมองปกติก็ไม่ได้หมายความว่าไม่เป็นโรค ต้องติดตามดูผู้ป่วยต่อไป ทางการแพทย์ พบว่า มีความผิดปกติทางพันธุกรรมในผู้ป่วยสมองเสื่อมชนิดอัลไซเมอร์ แต่ยังไม่ทราบชัดเจนถึงลักษณะถ่ายทอดทางพันธุกรรม ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า อัลไซเมอร์นั้นมีความผิดปกติอยู่ในพันธุกรรม แต่อาจจะมีปัจจัยอื่นๆ มากระตุ้น ทำให้ลักษณะความผิดปกติแสดงออกมาจนทำให้เกิดโรค ในขณะที่บางคนมีความผิดปกติทางพันธุกรรม แต่ไม่เป็นโรคอัลไซเมอร์


"แม่ของหนู ถุยน้ำลายไปทั่วบ้านเลยค่ะ ห้ามก็ไม่ฟัง ตีก็ไม่เลิก บางครั้งพูดกันไม่รู้เรื่องหรือโมโหทุบตีหนูจนเจ็บไปหมดทั้งตัว หนูจะบ้าตายอยู่แล้วค่ะ"

ญาติผู้ป่วยรายหนึ่งโทรศัพท์มาระบายที่ศูนย์ฮอตไลน์ ด้วยความคับแค้นใจ ถึงแม้ว่าอัลไซเมอร์ไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่เป็นโรคน่ารำคาญ เพราะไม่สามารถรักษาให้หายได้ ตรงกันข้ามอาการมีแต่จะมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้ดูแลต้องรองรับอารมณ์และพฤติกรรมของผู้ป่วย ซึ่งบางครั้งผู้ดูแลอาจจะเป็นฝ่ายทนกับอาการและพฤติกรรมของผู้ป่วยไม่ได้ นี่คือ ปัญหาสำคัญในการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม ผู้คนรอบข้างต้องยอมรับความจริงว่าผู้ป่วยกำลังเป็นโรคและ ไม่สามารถจะกลับมาเหมือนเดิมได้อีก ไม่สามารถอบรม สั่งสอน ดุ หรือตี เพื่อให้ผู้ป่วยทำตามที่ผู้ดูแลต้องการ ปัญหาที่พบในปัจจุบัน คือ ญาติผู้ป่วยยอมรับอาการของผู้ป่วยไม่ได้ เนื่องจากการป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมมีอาการไม่แน่นอน บางวันอาการดี บางวันอาการแย่ มองดูสภาพร่างกายภายนอกเหมือนคนปกติทั่วไป 

"การดูแลที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ ต้องเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เปลี่ยนคนไข้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดบ้าน หรือบุคคลรอบข้างให้เหมาะสมกับผู้ป่วย คนที่มีความทุกข์มากที่สุดคือ คนรอบข้างที่เป็นสามีหรือภรรยา ซึ่งทำใจให้ยอมรับในอาการของคนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ได้ยาก ดูแล้วก็เหมือนคนปกติ แต่พูดจากันไม่รู้เรื่อง ทำให้คนรอบข้างเป็นฝ่ายเสียสุขภาพจิตเสียเอง"

ชมรมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมแห่งประเทศไทย

ชมรมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมแห่งประเทศไทยก่อตั้งขึ้นโดยการรวมตัวกันของญาติผู้ป่วย แพทย์ และบุคลากรผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม เพื่อร่วมกันพัฒนาผู้ป่วยและผู้ดูแลผู้ป่วยให้มีสุขภาพจิตที่ดี เนื่องจากงานดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมเป็นงานที่หนักทั้งร่างกายและจิตใจ ในขณะนี้ชมรมฯ มีศูนย์ฮอตไลน์ให้บริการคำแนะนำปรึกษา และข้อมูลเกี่ยวกับโรคสมองเสื่อม ส่วนโครงการในอนาคตจะจัดตั้งเป็นสมาคม พร้อมทั้งมีแนวคิดที่จะจัดตั้งศูนย์ดูแลผู้ป่วยตอนกลางวัน (Day Care) ซึ่งญาติสามารถนำผู้ป่วยมาส่งให้ศูนย์ดูแลและมารับกลับในตอนเย็น เพื่อเปิดโอกาสให้ญาติมีเวลาในการทำกิจกรรมที่จำเป็นบางอย่าง และพักบ้างในช่วงสั้นๆ 

นอกจากนี้จะมีการจัด "กลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน" โดย นพ.จักรกฤษณ์ สุขยิ่ง ภาควิชาจิตเวช คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ด้วยการรวบรวมญาติของผู้ป่วยเพื่อมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน แต่จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมายังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากญาติของผู้ป่วยต้องการที่จะปรึกษาแพทย์มากกว่าญาติคนไข้ด้วยกันเอง เพราะฉะนั้นถ้าต่อไปญาติของผู้ป่วยมีความรู้ ความสามารถที่จะติดต่อประสานงานระหว่างแพทย์กับ  ญาติ และสามารถตอบคำถามต่างๆ ของญาติคนอื่นๆ ได้ การดำเนินงานน่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับญาติซึ่งเป็นผู้ดูแลไม่มีคนอื่นเปลี่ยน ไม่มีใครดูแลผู้ป่วยแทน ทำให้มาเข้ากลุ่มญาติด้วยกันไม่ได้ 

ปัจจุบันชมรมฯ มีสมาชิกประมาณ ๑๐๐ คน ค่าสมัครสมาชิกสามัญปีละ ๑๐๐ บาท ส่วนสมาชิกตลอดชีพ ๕๐๐ บาท ผู้สนใจกิจกรรมของชมรมติดต่อได้ที่
ชมรมผู้ดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมแห่งประเทศไทย ๑๑๔ ปิ่นนคร ๔ ถ.บรมราชนนี ตลิ่งชัน กทม. ๑๐๑๗๐ โทรศัพท์ (๐๒) ๘๘๐-๘๕๔๒, ๘๘๐-๗๕๓๘ โทรสาร (๐๒) ๘๘๐-๗๒๔๔

ข้อมูลสื่อ

250-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 250
กุมภาพันธ์ 2543