• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หัวใจของ(ผู้ฝึกทำ)โยคะ

หัวใจของ(ผู้ฝึกทำ)โยคะ


แพทย์ตะวันตกมองหัวใจว่าเป็นเพียงอวัยวะชิ้นหนึ่งที่ทำหน้าที่ปั๊มเลือดไปหล่อเลี้ยงทั่วร่างกาย อย่างไรก็ตามโยคีโบราณไม่ได้มองเช่นนั้น พวกเขาเห็นว่าหัวใจคือที่ตั้งของจิตสำนึก คือ ที่ตั้งของนามธรรมที่เรียกกันว่า "ใจ" และเชื่อว่าความเข้าใจต่อหัวใจมากขึ้น จะทำให้เราเข้าใจ "ใจ" ของมนุษย์มากขึ้น ทุกวันนี้หลายๆคนได้ศึกษาและเริ่มยอมรับว่า  "ใจ" มีบทบาทอันสำคัญ ทั้งเป็นปัจจัยทำให้เรามีสุขภาพที่ดี และทั้งเป็นสาเหตุทำให้สุขภาพเราย่ำแย่ได้ด้วย ยิ่งเมื่อเรามองไปยังโรคยอดนิยมต่างๆ ที่เป็นกันมากขึ้นๆ ในปัจจุบัน(รวมทั้งโรคหัวใจ)เราก็ยิ่งพบว่า "ใจ" ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุแห่งโรคนั้นๆ ยกตัวอย่างในเรื่องโรคหัวใจ เป็นที่ทราบว่า ใจที่ผิดปกติ (เช่น ความตกใจ) อาจเป็นสาเหตุของอาการเกร็งของร่างกาย, อาการเกร็จอาจเป็นสาเหตุของเส้นเลือดอุดตัน และเส้นเลือดอุดตันอาจเป็นสาเหตุของอาการหัวใจวาย เราจึงสามารถพูดกลับเสียใหม่ได้ว่า การเข้าใจ (รวมถึงการดูแล) ใจของเรามากขึ้น จะมีส่วนช่วยรักษา "หัวใจ" ของเราให้เป็นปกติได้ด้วย

"สุขอาสนะ" ท่าโยคะเพื่อการดูแลใจ (และหัวใจ) ของเรา

วิธีทำ นั่งบนเสื่อ พับเข่าซ้ายเข้า และพับเข่าขวา น่องขวาทับบนเท้าซ้าย เท้าขวาทับบนน่องซ้าย (หากวางเท้าขวาทับไม่ได้ ก็เพียงวางไว้ข้างน่อง) นั่งพักให้สบาย คงแนวกระดูกสันหลังให้ตรง ตั้งแต่แผ่นหลัง คอ และศีรษะ แขม่วท้องเล็กน้อย หลับตา เฝ้าสังเกตลมหายใจของเรา ทั้งลมหายใจเข้า และลมหายใจออก คอยบอกตัวเองให้นิ่งเงียบ อย่าให้ใจเผลอไปคิดไม่ว่าเรื่องใดๆ มีสติรู้อยู่กับลมหายใจเท่านั้น ทำ ๑๐ นาที

สุขอาสนะ ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับเข่าและข้อเท้า ช่วยระบบการเต้นของหัวใจและระบบหายใจให้ทำงานได้ดีขึ้น สร้างความรู้สึกสงบ อันก่อให้เกิดความแจ่มใสขึ้นในใจ ส่งผลให้เราดำรงอยู่ท่ามกลางกิจวัตรประจำวันได้อย่างประสมประสานกลมกลืน จริงๆแล้วในชีวิตประจำวัน การมีสติรู้อยู่กับสิ่งที่เราทำ มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าตัวงานที่เรากำลังทำ (หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ)

โยคะถือว่า "ภาระหน้าที่" แรกของมนุษย์ คือ การดูแลสุขภาพตัวเอง เพื่อเราจะไปดูแลครอบครัว คนที่เรารัก จากนั้นก็เพื่อเราสามารถรับผิดชอบต่องาน ต่อแหล่งที่มาของการดำรงชีพต่อเพื่อน ต่อชุมชน และต่อสังคม ตามลำดับ จริงๆ แล้วเราก็รู้ดีถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพตนเอง แต่เรามักไม่ทำตามลำดับ ที่เราต้องการ คือ ทัศนคติ หรือมุมมองอย่างสมดุล ดังนั้น สิ่งที่เราควรทำอันดับแรกสำหรับโยคะ คือ ทำใจให้สงบ ทำให้เราเห็นสิ่งต่างๆได้ชัด ชัดพอที่จะทำให้เราเริ่มพิจารณาคำถามสำคัญๆ เช่น "อะไรคือเป้าหมายของชีวิตฉัน?" ซึ่งการทำท่าโยคะ "สุขอาสนะ" ทุกวันสามารถช่วยเราได้

ข้อมูลสื่อ

250-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 250
กุมภาพันธ์ 2543
โยคะ
กวี คงภักดีพงษ์