• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

จำปี : ไม้ดอกในดวงใจคนไทยหลายๆ คน

จำปี : ไม้ดอกในดวงใจคนไทยหลายๆ คน


   " โนเนเอยโนนาด
   สีชมพูปูลาด       จะพาดไว้ต้นอะไรดี
   สีชมพูปูลาด       พาดไว้ที่ต้นจำปี..."


ที่ยกมาขึ้นต้นบทความตอนนี้ คือ ส่วนหนึ่งของบทกลอนกล่อม เด็กชื่อ "โนเน" คัดมาจากหนังสือบทกลอนกล่อมเด็ก ฉบับสอบของหอพระสมุดวชิรญาน ฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๖๓ นับถึงขณะนี้ได้ ๘๐ ปีแล้ว บทกลอนกล่อมเด็กในหนังสือเล่มนี้ หลวงธรรมาภิมณฑ์ รวบรวมจากหนังสือเยาวพจน์ของนายโมรา ทหารมหาดเล็ก พ.ศ. ๒๔๒๗ ในบทเพลงโนเนนี้ เอ่ยถึงต้นไม้ชนิดหนึ่งชื่อ จำปี แสดงว่าเด็กกรุงเทพฯ เมื่อ ๘๐ ปีก่อนโน้นรู้จักต้นจำปีกันเป็นอย่างดี แต่เด็กกรุงเทพฯ สมัยนี้คงรู้จักต้นจำปีกันน้อยลง แม้จะเคยเห็นดอกจำปีกันเป็นส่วนใหญ่ก็ตาม ผู้เขียนเลือกต้นจำปีมาเขียนเพื่อเริ่มปี พ.ศ. ๒๕๔๓ หรือ ค.ศ. ๒๐๐๐ ด้วยเหตุผลหลายประการ  คือ เพื่อเปลี่ยนจากการแนะนำผักพื้นบ้านของไทยที่เขียนติดต่อกันมา หลายปีแล้วเป็นการแนะนำไม้ดอกบ้าง เพื่อระลึกถึงผู้ใหญ่บางท่าน  ที่ผู้เขียนเคารพรักมากอย่างน้อย ๒ ท่าน ซึ่งมีต้นจำปีเป็นต้นไม้ในดวงใจ และเพื่อฉลองการใช้ชื่อองค์กร "มูลนิธิข้าวขวัญ" แทน "ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อสังคม" ที่ใช้มาตลอดเวลาหลายปีที่เขียนคอลัมน์นี้


จำปี : ไม้ดอกหอม ขวัญใจมหาชน

จำปีเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ ทรงพุ่มรูปกรวยยาวปลายแหลม สูงได้เกิน ๑๐ เมตรหากปลูกด้วยเมล็ด ใบกว้างยาว ปลายแหลม สีเขียว ผิวเรียบเป็นมัน ดอกเรียวยาว กลีบดอกแบนยาวปลายแหลม รวมกันอยู่บนก้านสั้นสีเขียว กลีบดอกสีขาวนวลหรือเหลืองอ่อน  ดอกออกจากมุมก้านใบ ออกดอกตลอดปี จำปีพันธุ์ดีจะมีดอก ทุกซอกใบเลยทีเดียว เมื่อดอกจำปียังเล็กอยู่นั้นกลีบดอกมีสีเขียวและค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีขาวเมื่อใกล้บาน ดอกจำปีมีกลิ่นหอมเมื่อใกล้บานและ เริ่มหอมในเวลาเย็นไปจนกว่าจะโรย

จำปีมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mi-chelia alba DC. อยู่ในวงศ์ Magnoliaceae เช่นเดียวกับจำปา เชื่อว่าถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของจำปีอยู่แถบร้อนของทวีปเอเชียตะวันออก และตะวันออกเฉียงใต้ บางตำรากำหนดแคบลงมาว่าอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งก็อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นเดียวกัน จากการสังเกตของผู้เขียน พบว่า ต้นจำปีในเกาะชวาของอินโดนีเซียนั้นส่วนใหญ่ปลูกจากเมล็ด มีขนาดต้นสูงใหญ่และติดผลมาก คล้ายกับต้นจำปีในภาคใต้ของไทย ส่วนต้นจำปีตั้งแต่ภาคกลางของไทย ขึ้นไปทางเหนือและอีสานนั้น ส่วนใหญ่ไม่ติดผล จึงต้องขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่งหรือเสียบยอด ขนาดของต้นเล็กและเตี้ยกว่าต้นจำปีเพาะเมล็ด จึงสันนิษฐานว่าถิ่นกำเนิดของจำปีน่าจะอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย หรืออาจจะครอบคลุมประเทศมาเลเซีย และภาคใต้ของไทยด้วย ส่วนจำปีที่นิยมปลูกในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคอีสานของไทยนั้น เป็นพันธุ์ที่คัดเลือกแล้ว จนไม่ติดผล ดอกดก และออกดอกตลอดปี

จำปีในสังคมไทย : อดีตถึงปัจจุบัน
คนไทยคงคุ้นเคยกับจำปีมานานแล้ว ดังปรากฏชื่อจำปีในวรรณคดีหลายเรื่อง เช่น อิเหนา พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒ ลิลิตตะเลงพ่าย พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส และเห่พระอภัยมณีของสุนทรภู่ เป็นต้น ในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ของหมอปรัดเล พ.ศ. ๒๔๑๖ กล่าว ถึงจำปีไว้ว่า "จำปี : เป็นชื่อต้นไม้อย่างหนึ่ง ไม่สู้โตนัก ดอกเหมือนดอกจำปา สีขาว กลิ่นหอมดีนัก" แสดงว่าคนไทยคุ้นเคยกับจำปีเป็นอย่างดีมาตั้งแต่ต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จำปีบ้านกับจำปีป่าเป็นพืชคนละชนิด จำปีบ้านมีปลูกเฉพาะ ตามบ้านหรือสวนเท่านั้น ไม่มีขึ้นในป่าของไทย จนถึงปัจจุบัน ยังพบว่า คนไทยนิยมปลูกต้นจำปีไว้ในบริเวณบ้านหรือสวนมากเป็นอันดับต้นๆของไม้ดอกยืนต้น แม้ว่าต้นจำปีจะมีราคาแพงเมื่อเปรียบเทียบกับไม้ดอกยืนต้นชนิดอื่นๆ แต่คนไทยก็ยังนิยมปลูกต้นจำปีกันอย่างแพร่หลายตลอดมา

ต้นพันธุ์จำปีมีราคาแพง เนื่องจากการขยายพันธุ์ใช้วิธีตอนซึ่งมีอัตราการรอดตายน้อย จึงมีปริมาณไม่พอกับความต้องการ แต่ในระยะ ๒-๓ ปีมานี้ ชาวสวนใช้วิธีขยายพันธุ์ ด้วยการเสียบยอดจำปีบนต้นตอจำปา ทำให้ขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว อัตรารอดสูง ราคาพันธุ์จำปีชนิดเสียบยอดจึงถูกกว่ากิ่งตอนมาก การผลิตกิ่งพันธุ์ได้มากจนราคาถูกลงนี้ คงมีส่วนทำให้การปลูกจำปีขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกมากในอนาคต ในอดีตคนไทยนิยมนำดอกจำปีติดตัวเพื่อดมกลิ่นที่หอมนุ่มนวล ทนนานแม้จะเหี่ยวเฉาแล้วก็ตาม ผู้ชายหรือคนอายุมาก (ผมสั้น) มักนิยมนำดอกจำปีเหน็บหู ส่วนผู้หญิง (สาวหรือเด็ก) ที่ผมยาว นิยมใช้เส้นผมผูกก้านดอกห้อยอยู่ข้างหู ผู้อ่านคงจำสัญลักษณ์ของบริษัทการบินไทยได้ สัญลักษณ์นี้ได้รับการตั้งชื่ออย่างไม่เป็นทางการ แต่เรียกติดปากคนไทยมานับสิบปีแล้วว่า "เจ้าจำปี" ซึ่งผู้อ่านบางท่านอาจสงสัยว่าทำไมจึงเรียก "เจ้าจำปี" ทั้งๆ ที่รูปทรงไม่คล้ายดอกจำปีเท่าไหร่เลย เรื่องนี้คนไทยรุ่นเก่าอย่างผู้เขียนไม่สงสัยเลย เพราะคำว่า "เจ้าจำปี" เป็นศัพท์เฉพาะ หมายถึง อวัยวะเพศ ของเด็กชาย ดังนั้นสัญลักษณ์ของการบินไทยที่ถูกเรียกว่า "เจ้าจำปี" จึงหมายความว่าคล้ายกับอวัยวะเพศของเด็กชายนั่นเอง

ดอกจำปี (ตูม) ยังใช้เป็นเครื่องมือทดสอบความงามของสาวไทยในอดีตอีกด้วย โดยใช้ดอกจำปีเสียบร่องอกแล้วดอกจำปีไม่ร่วงหล่น สาวไทยผู้นั้นจะได้รับการยกย่องว่ามีทรวงอกงดงามตามสมัยนิยมที่สุด เพราะสมัยโน้นเห็นว่าอกที่ชิดกันนั้น เป็นอกที่งดงาม ปัจจุบันดอกจำปีที่คนไทยใช้ประโยชน์มากที่สุด คงจะเป็นการนำมาทำพวงมาลัย หากสังเกตพวงมาลัยทั่วไปที่ขายตามสี่แยก จะเห็นว่านอกจากดอกมะลิ (ตูม) แล้วยังมีดอกจำปีด้วย หรือพวงมาลัยจากดอกรักก็มีดอกจำปีด้วยเช่นเดียวกัน ภาพลักษณ์ของดอกจำปีปัจจุบันจึงเกี่ยวข้องกับความเคารพบูชาหรือความนับถือ ที่คนไทยมอบให้โดยผ่านดอกจำปีที่อยู่ในพวงมาลัย จากระยะเวลายาวนานที่จำปีอยู่กับคนไทย ทำให้คนไทยรู้จักสรรพคุณด้านสมุนไพรของจำปีว่าใช้รักษาโรคได้บางอย่าง ดังเช่นที่ปรากฏในหนังสือประมวลสรรพคุณยาไทยว่าด้วยพฤกษชาติ ของสมาคมโรงเรียนแพทย์แผนโบราณ สำนักวัดพระเชตุพน (วัดโพธิ์) กล่าวถึง สรรพคุณของจำปีว่า

"ดอก ; มีรสขมเย็น กลิ่นหอม ปรุงเป็นยาแก้ไข้ แก้ลม บำรุงหัวใจ"

สำหรับต้นจำปีนั้น เราจะพบขึ้นอยู่ตามบ้านของคนไทยมากมาย เพราะนอกจากให้ดอกอันเป็นที่นิยม ตลอดทั้งปีแล้ว รูปทรงต้นและใบ ก็งดงามเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น เป็นได้ทั้งไม้ร่มเงาและไม้ประดับไป

ข้อมูลสื่อ

250-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 250
กุมภาพันธ์ 2543
พืช-ผัก-ผลไม้
เดชา ศิริภัทร