• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ผัก-ผลไม้พื้นบ้าน

โสน
โสนเป็นไม้พื้นบ้าน พบอยู่ทั่วไปบริเวณที่มีน้ำขัง หรือริมตลิ่ง โดยส่วนใหญ่ ดอกโสนที่ขายในท้องตลาดเป็นดอกโสนที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่ได้มีการปลูกเพื่อการค้า ทำให้ดอกโสนเป็นผักพื้นบ้านชนิดหนึ่งที่น่าจะมีสารเคมีตกค้างน้อย (ยกเว้นแต่ว่าขึ้นอยู่ข้างแหล่งน้ำที่มีการปล่อยมลพิษสารเคมี) แต่ขณะเดียวกัน ก็ทำให้ต้องเสียเวลามากในการเก็บดอกโสน ดังที่นักร้องเพลงลูกทุ่งท่านหนึ่งได้บรรยายถึงดอกโสนว่า “เราเคยเล่นน้ำในลำประโดง พายเรืออีโปงเก็บดอกโสน”

โสนเป็นพืชล้มลุกตระกูลถั่ว จึงสามารถช่วยปรับปรุงบำรุงดินได้ โดยการตรึงไนโตรเจนจากอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโสนแอฟริกา ซึ่งนิยมปลูกเป็นปุ๋ยพืชสดในแปลงนาเกษตรอินทรีย์ โสนจะออกดอกในช่วงปลายฤดูฝน หรือประมาณเดือนกันยายน-ตุลาคม

ส่วนใหญ่คนไทยนิยมบริโภคเฉพาะดอกโสนสด โดยนำมาเป็นผักจิ้มน้ำพริก หรือทำขนม แต่ที่ จริงดอกโสนยังสามารถใช้แต่งสีผสมอาหาร โดยจะให้สีเหลือง หรือนำไปดอง เพื่อให้เก็บไว้กินได้นาน ดอกโสนมีรสจืด มันอมขมเล็กน้อย ดอกโสน 100 กรัม ให้พลังงานต่อร่างกาย 40 กิโลแคลอรี มีเส้นใย 3.9 กรัม, แคลเซียม 51 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 56 มิลลิกรัม, เหล็ก 8.2 มิลลิกรัม และวิตามินเอ 3,338 หน่วย (IU)

นอกจากดอกโสนแล้ว ในตำรับยาสมุนไพรพื้นบ้าน มีการใช้ใบตำผสมดินประสิว และดินสอ พอง ใช้ทาแก้ปวดฝี และถอนพิษแมลงกัดต่อย หรือใช้ต้นมาเผาแช่น้ำเป็นด่าง ดื่มขับปัสสาวะ และใช้รากต้มน้ำดื่มแก้ร้อนในกระหายน้ำ

ข้อมูลสื่อ

233-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 233
กันยายน 2541
กรีนเนท