• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หัวใจของ(ผู้ฝึกทำ)โยคะ (๒)

หัวใจของ(ผู้ฝึกทำ)โยคะ (๒)


กระแสการพัฒนาแบบอุตสาหกรรม บวกกับเทคโนโลยีที่โตเอาๆ ทำให้สังคมเต็มไปด้วยวัตถุต่างๆ มากมาย วัตถุเหล่านี้ได้สร้างวิถีชีวิตแบบใหม่ที่กำลังรุมทึ้งผู้คนในสังคม นิสัย ๒ อย่างที่กระแสแห่งการพัฒนาได้ทิ้งไว้ให้กับผู้คน คือ ความเร่งรีบ และความโลภ (เพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งวัตถุทั้งหลาย) ยิ่งกระแสของวัตถุท่วมโถมเข้ามาอย่างรวดเร็วมากเพียงใด มนุษย์ก็เหลือเวลาน้อยลงเพียงนั้น ในอันที่จะทำความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว สำหรับเรื่องการ "ประจักษ์รู้เข้าใจในตนเอง" นั้นแทบไม่ต้องพูดถึงเอาเลย นานวันเข้า ศักยภาพบางด้านของสมาชิกในสังคมก็ค่อยๆ ลดลง ความสามารถในการปรับตัวลดลง ความอดทนลดลง อันนำไปสู่การเป็นโรคทางใจ และท้ายสุดก็พ่ายแพ้แก่โรคหัวใจ
 

ท่าโยคะเพื่อการดูแลใจ (และหัวใจ) ของเรา

"ท่านั่งพัก (Nishpandabhava)"

วิธีทำ นั่งพิงกำแพง จัดตำแหน่งของขา เท้า และแขนให้สบาย นั่งนิ่งๆ รู้สึกได้ถึงความสงบ มีสติจดจ่ออยู่กับความสงบ หรืออาจจดจ่ออยู่กับเสียงเบาๆ ที่มีจังหวะสม่ำเสมอ เช่น เสียงเดินของเข็มวินาทีของนาฬิกา พักสงบอย่างน้อย ๑๐ นาที

ประโยชน์ เป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดทั้งของร่างกายและจิตใจ, เป็นการฝึกกำหนดรู้เข้ามายัง "ด้านในของจิต", ฝึกการอยู่กับความสงบ

อาสนะในท่านั่งพัก ยังช่วยการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายให้เป็นปกติ อันได้แก่ ระบบย่อยอาหาร, ระบบการดูดซึมสารอาหาร และการนอนหลับ นอกจากการฝึกทำอาสนะแล้ว ในทางเพิ่มเติม การเริ่มใส่ใจกับสิ่งต่างๆ ในวิถีชีวิตก็เป็นส่วนประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น แม้อาสนะในท่านั่งพักจะช่วยระบบย่อยอาหารและการนอนหลับ แต่การใส่ใจในอาหารที่เรากินก็เป็นอีกทางหนึ่งที่จะทำให้เรามีสุขภาวะที่ดี มีรายงานแพทย์ระบุว่า ผู้ที่กินอาหารมันๆ ก่อนนอน จะมีระดับโคเลสเตอรอลสูงขึ้น (อันเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจมากขึ้น) ดังนั้น ในทางที่ดีเราควรกินอาหารเย็นแต่น้อย โดยเน้นกินผักต้มและผลไม้ หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์และของมัน และควรกินอาหารเย็นก่อนนอนอย่างน้อย ๒ ชั่วโมง พึงระลึกว่า ผู้ตั้งใจทำโยคะนั้น ไม่ควรจำกัดตนเฉพาะกับการฝึกท่าอาสนะเท่านั้น หากแต่ควรค่อยๆ ปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต เช่น นิสัยในการกินอาหารของตนด้วย

 

ข้อมูลสื่อ

251-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 251
มีนาคม 2543
โยคะ
กวี คงภักดีพงษ์