• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เล็บมือนาง : ไม้เถาดอกหอม กลีบงาม จากวรรณคดีไทย

เล็บมือนาง : ไม้เถาดอกหอม กลีบงาม จากวรรณคดีไทย

 

คืนหนึ่งเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนกลับจากต่างจังหวัดมาถึงที่ทำการของมูลนิธิขวัญข้าวในตอนดึก เมื่อเปิดประตูรถยนต์ออกมาเพื่อเปิดประตูรั้ว สิ่งแรกที่รู้สึกก็คือ กลิ่นหอมเย็นชื่นใจของดอกไม้หลายชนิดที่ปลูกเอาไว้บริเวณมูลนิธิฯ แต่ที่จำได้ชัดเจน ก็คือ กลิ่นของดอกไม้ที่กำลังออกดอกอยู่เป็นกลุ่มใหญ่ตรงรั้วข้างประตูทางเข้านั่นเอง กลิ่นของดอกไม้แต่ละชนิดนั้น นอกจากจะแตกต่างกันโดยลักษณะของกลิ่นที่แยกแยะได้โดยจมูกแล้ว ยังแตกต่างกันโดยช่วงเวลาของวันอีกด้วย เช่น ดอกไม้บางชนิดจะหอม หรือส่งกลิ่นในเวลากลางวัน บางชนิดเวลากลางคืน บางชนิดช่วงหัวค่ำ (เช่น การเวก) บ้างก็ช่วงเช้ามืด (เช่น สายหยุด)

สำหรับกลิ่นหอมของดอกไม้ยามดึกในคืนนั้น ทั้งกลิ่นและช่วงเวลาที่ส่งกลิ่นบอกให้ทราบว่าเป็นดอกของต้นเล็บมือนาง ที่ขึ้นพันอยู่บนรั้วด้านขวามือของประตูมูลนิธิฯ ซึ่งออกดอกดกงามเป็นระยะๆ ตลอดทั้งปี ทั้งๆ ที่ได้รับการเอาใจใส่น้อยมาก ทั้งการรดน้ำใส่ปุ๋ย หรือกำจัดศัตรู (เช่น โรค แมลง วัชพืช) ให้ต่างกับไม้ดอกบางชนิดที่ต้องการความเอาใจใส่ดูแลอย่างมากแต่ไม่ค่อยมีดอกให้ชมเลย
 

เล็บมือนาง : ไม้ดอกจากวรรณคดีไทย
เล็บมือนางเป็นพืชที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Quisqualis indica Linn. อยู่ในวงศ์ Combretaceae เช่นเดียวกับสะแกที่ชาวชนบทภาคกลางรู้จักดี ลักษณะทั่วไปของเล็บมือนางเป็นไม้เลื้อยเนื้อแข็ง ขึ้นพาดพันไปตามต้นไม้ยืนต้นหรือเสา ตลอดจนซุ้มหลังคา ฯลฯ ใบรูปรีปลายแหลมโคนใบมน ใบดกหนาทึบ ดอกออกตามปลายกิ่งแขนง เป็นช่อรวมกันหลายสิบดอก แต่ละดอกเป็นหลอดยาวคล้ายดอกปีบหรือดอกเข็ม หลอดยาว ๒-๓ นิ้ว มีกลีบที่ปลายหลอดดอกละ ๕ กลีบ ลักษณะกลีบเรียงปลายมนคล้ายเล็บมือ เป็นที่มาของชื่อเล็บมือนาง ดอกเล็บมือนางเมื่อเริ่มบานมีสีขาว แล้วค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีชมพูและสีแดงเข้มขึ้นตามลำดับจนร่วงหล่น เนื่องจากในแต่ละช่อมีดอกมากมายและบานไม่พร้อมกัน จึงจะเห็นในแต่ละช่อมีทั้งดอกสีขาว สีชมพูและสีแดงอยู่ด้วยกัน ทำให้บางคนเข้าใจว่าเล็บมือนางมีดอกหลายสี โดยแต่ละดอกก็มีสีต่างกัน และไม่เปลี่ยนแปลงตั้งแต่บานจนร่วง หากสังเกต ธรรมชาติของดอกไม้บางชนิด เช่น ดอกฝ้าย และดอกพุดตาน ก็จะเห็นว่าเป็นเช่นเดียวกับดอกเล็บมือนางคือ เริ่มบานเป็นสีขาวนวล แล้วเปลี่ยนเป็นสีชมพูและแดงตามลำดับ

ดอกเล็บมือนางมีกลิ่นหอมเย็น โดยเฉพาะในช่วงอากาศเย็นในเวลากลางคืน และกลิ่นจะจางลงเมื่ออากาศร้อน ผลของเล็บมือนางมี ๕ พูสีน้ำตาลแดง ผิวมัน ขนาดราวนิ้วมือ เล็บมือนางออกดอกได้ตลอดปี แต่ออกมากเป็นพิเศษในฤดูร้อน ดอกเล็บมือนางมีทั้งชนิดกลีบชั้นเดียว (ลา) และกลีบซ้อน ซึ่งคงเป็นพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นมาภายหลังชนิดกลีบชั้นเดียว เพราะนอกจากดอกจะซ้อน และดกกว่าแล้ว เถายังค่อนข้างสั้นและทึบกว่าด้วย

ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของเล็บมือนาง เชื่อว่าอยู่บริเวณเอเชียใต้ (อินเดีย-ศรีลังกา) จนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ไทย-มาเลเซีย-อินโดนีเซีย ฯลฯ) จึงนับได้ว่า เล็บมือนางเป็นพืชพื้นบ้านดั้งเดิมในดินแดนประเทศไทยชนิดหนึ่ง ในวรรณคดีไทยที่บรรยายบทชมป่า ชมสวน จึงพบชื่อเล็บมือนางเสมอ ย้อนไปถึงเรื่องลิลิตพระลอซึ่งมีอายุจากยุคกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ราว๕๐๐ ปีมาแล้ว รวมทั้งปรากฏในวรรณคดีไทยต่อมาอีกหลายเรื่อง เช่น อิเหนา และพระอภัยมณี เป็นต้น

ชื่อของเล็บมือนางที่ปรากฏในวรรณคดีบางครั้งใช้ว่าเล็บนางเชื่อว่า เป็นชื่อเดิมก่อนจะเปลี่ยน (เพิ่ม) มาเป็นเล็บมือนางในภายหลัง คำว่าเล็บมือนางนั้น นอกจากเป็นชื่อไม้ดอกแล้ว ยังเป็นชื่อของกล้วยพันธุ์หนึ่งที่นิยมปลูกในภาคใต้ คือ กล้วยเล็บมือนาง (Musa acuminata Colla)  ที่มีผลเล็กเรียวคล้ายนิ้วมือสตรี นอกจากนี้ยังเป็นชื่อเรียกขนมชนิดหนึ่ง ทำด้วยแป้งมีรูปร่างยาวคล้ายเล็บอีกด้วย
 

ประโยชน์ของเล็บมือนาง
เช่นเดียวกับพืชพื้นบ้านดั้งเดิมของไทยหลายชนิดที่คนไทยคุ้นเคยมาเนิ่นนาน จึงนำมาใช้ประโยชน์  ได้มากกว่าพืชที่เข้ามาภายหลัง โดยเฉพาะนำมาใช้เป็นยารักษาโรค (สมุนไพร) เล็บมือนางก็ถูกนำมาใช้เป็นยารักษาโรคได้หลายอย่างตามตำราแพทย์แผนโบราณของไทย เช่น

ใบและลำต้น : ขับพยาธิและตานซาง

ใบ : ใช้ตำพอกแผลสด ฆ่าเชื้อ หรือพอกฝี

ผล : กินแก้สะอึก ขับพยาธิไส้เดือน

ราก : เป็นยาขับพยาธิไส้เดือน แก้อุจจาระเป็นฟองและอุจจาระขาว เหม็นคาวในเด็ก

เล็บมือนางทั้งหัว : รสเอียน ขับพยาธิและตานซาง, ตานขโมย และพุงโร

การศึกษาทางเภสัชศาสตร์ พบว่า เมล็ด (ผล) เล็บมือนางมีสารสำคัญในการออกฤทธิ์ขับพยาธิ คือ Quisqualic acid เมล็ดเล็บมือนางจึงถูกนำมาใช้ถ่ายพยาธิอย่างแพร่หลาย ไม่เฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น แต่ยังนิยมใช้ในประเทศจีน ฟิลิปปินส์ และ อินโดนีเซีย เป็นต้น ใช้ถ่ายพยาธิได้ ทั้งพยาธิไส้เดือน และพยาธิเส้นด้าย ใบอ่อนของเล็บมือนางใช้กินเป็นผักได้ นิยมในอินโดนีเซีย ใช้ได้ทั้งดิบหรือนึ่งให้สุกเสียก่อน

ประโยชน์ของเล็บมือนางที่คนไทยคุ้นเคยที่สุด คงเป็นด้านไม้ดอก ที่งดงามและมีกลิ่นหอม ทั้งปลูกง่าย ทนทานอยู่ได้นานปี ไม่ต้องการสารเคมีในการดูแลรักษามากเหมือน ไม้ดอกจากต่างแดน นอกจากนี้ยังออกดอกได้ตลอดปีอีกด้วย เนื่องจากเล็บมือนางเป็นไม้เถา คนไทยจึงนิยมนำมาปลูกให้เลื้อยเป็นซุ้มอยู่ตามประตู ตามรั้ว หรือขึ้นร้านเป็นหลังคาที่นั่งพักผ่อน ให้ร่มเงาเช่นเดียวกับไม้ดอกเถาอื่นๆ เช่น เฟื่องฟ้าหรือการเวก เป็นต้น แม้เล็บมือนางจะมีเมล็ด ทว่าวิธีขยายพันธุ์ที่นิยมกลับไม่ใช่การเพาะเมล็ด แต่เป็นการตอนกิ่งหรือแยกต้นที่งอกจากรากบริเวณโคนต้นเดิม ซึ่งนอกจากจะโตเร็วแล้วยังไม่กลายพันธุ์ไปจากเดิมเหมือนการเพาะเมล็ดอีกด้วย แต่หากต้องการคัดเลือกเล็บมือนางพันธุ์ใหม่ๆ ก็ต้องใช้วิธีการเพาะเมล็ดเท่านั้น

ในอดีตบ้านเรือนของคนไทยในชนบทมักเป็นทรงไทยใต้ถุนสูง และมีบริเวณลานบ้านที่ปลูกต้นไม้เอาไว้หลากหลายชนิด น่าเสียดายที่ปัจจุบันแม้คนไทยจะมีพื้นที่บ้านพอสมควร แต่ความสนใจปลูกต้นไม้มีน้อยลง มักจะเน้นความสำคัญของตัวบ้านมากกว่าบริเวณสิ่งแวดล้อมรอบๆ บ้าน จึงทำให้บ้านของคนไทย ในปัจจุบันไม่ร่มรื่น ขาดบรรยากาศอันเป็นเอกลักษณ์ของบ้านไทยที่เป็นเสน่ห์ดึงดูดผู้อยู่อาศัยและผู้เยี่ยมเยือน ให้ระลึกถึงอยู่เสมอ หากผู้อ่านปลูกเล็บมือนางไว้สักต้นในบริเวณบ้าน ไม่ว่าเป็นซุ้มประตู ที่รั้วบ้าน หรือศาลานั่งเล่น เมื่อเล็บมือนางเติบโตพอจนให้ร่มเงา และดอกแล้ว ความรู้สึกว่าบ้านเป็นสถานที่พิเศษ และคำกล่าวที่ว่า "ไม่ มีที่ไหนเหมือนบ้าน" ก็จะเกิดขึ้น เช่นเดียวกับเมื่อผู้เขียนกลับถึงที่ทำการมูลนิธิข้าวขวัญ เมื่อกลางดึก คืนต้นเดือนมีนาคมนั่นเอง

ข้อมูลสื่อ

252-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 252
เมษายน 2543
อื่น ๆ
เดชา ศิริภัทร