• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไตหาย ขโมยกันได้ง่ายๆ จริงหรือ!

ไตหาย ขโมยกันได้ง่ายๆ จริงหรือ!


ข่าวคนไข้เสียชีวิตในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง แล้วพบว่ามีคนให้คนไข้เซนต์บริจาคไตเมื่อเสียชีวิต และมีการให้เงินตอบแทนแก่ญาติผู้เสียชีวิตด้วย เหมือนกับเป็นการซื้อขายอวัยวะ ข่าวนี้ก่อให้เกิดความรู้สึกหลากหลายกับผู้ได้รับทราบ ส่วนหนึ่งตื่นกลัวว่า หากตนเองเจ็บป่วยแล้ว ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอาจจะถูกขโมยไตได้ แม้ข่าวที่เกิดขึ้นจะมีมูล แต่ประชาชนในฐานะผู้บริโภคข่าวสารก็ไม่ควรจะตื่นกลัวกับข่าวนี้จนเกินไป แต่ควรจะตื่นตัวในการศึกษาหาความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องมากกว่า


เกี่ยวกับเรื่องนี้ ศาสตรจารย์แพทย์หญิงสุมาลี นิมมานนิตย์ หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และนายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ได้แสดงความคิดเห็นว่า ประชาชนทั่วไปไม่น่าจะต้องกลัวว่าจะมีการลักลอบเอาไตออก ในขณะที่ป่วยเป็นโรคจนต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล เพราะไตของผู้ที่ป่วยมากจนต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลไม่เหมาะที่จะใช้ปลูกถ่ายให้ผู้อื่น หากนำไปใช้จะเกิดอันตรายกับผู้รับได้ ซึ่งอาจจะเป็นมากจนถึงแก่ชีวิตได้ นอกจากนั้นแพทย์ก็ถูกอบรมมาว่า จะต้องให้ความสำคัญกับผู้ป่วยมากที่สุด ต้องให้ประโยชน์แก่ผู้ป่วยมากที่สุด เพราะฉะนั้นต้องทำให้ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยทุกคนที่มอบความไว้วางใจให้ดูแลชีวิตเขา


ผู้ป่วยที่ไตเหมาะสำหรับไปปลูกถ่ายให้ผู้อื่นส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางสมองและตายจากภาวะสมองตายตาม เกณฑ์การวินิจฉัยภาวะสมองตายของแพทยสภาจึงอยากให้ประชาชนและญาติผู้ป่วยเข้าใจ เพื่อจะได้ช่วยกันบริจาคไตดังกล่าวให้ผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายที่รอไตอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นการช่วยชีวิตผู้อื่น ซึ่งนับว่าเป็นการทำกุศลอย่างยิ่ง โดยปกติโรงพยาบาลต่างๆ จะระมัดระวังมากในการกระทำเหล่านี้ และจะไม่นำไตออกจากร่างกายผู้ป่วย จนกว่าจะวินิจฉัยว่า เกิดภาวะสมองตายตามเกณฑ์การวินิจฉัยภาวะสมองตายของแพทยสภาและต้องถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด สำหรับประเทศไทยนั้น วัฒนธรรมและศาสนาของเรา เชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษซึ่งก็เป็นอีกเกราะหนึ่งที่ป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำที่ไม่ถูกต้องขึ้น ส่วนการซื้อขายไตก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง และต้องช่วยกันสอดส่องดูแล เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นเป็นอันขาด


การซื้อขายไตนั้นองค์กรเกี่ยวกับการปลูกถ่ายไตทั่วโลกไม่ยอมรับ แต่ก็มีคนค้านและเห็นว่า น่าจะให้ทำได้เพราะจะทำให้ได้ไตมาช่วยผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายได้มากขึ้น ทำให้คนที่รอรับไตมีโอกาสได้ปลูกถ่ายไตมากขึ้น อันที่จริงประเด็นการซื้อขายอวัยวะนี้ต้องคิดวิเคราะห์ให้รอบคอบ เพราะมิฉะนั้นจะก่อให้เกิดปัญหากับสังคมอย่างมาก ทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาเพิ่มขึ้น ผู้ที่เสียเปรียบทางสังคมอยู่แล้วก็จะยิ่งเสียเปรียบในที่สุด อาจมีไตสำหรับปลูกถ่ายน้อยลงและเมื่อเอาเงินเป็นตัวตั้ง คุณภาพและผลการรักษาย่อมเลวลง เพราะไตจะได้กับผู้ที่ให้ราคาสูงกว่าแทนที่จะได้กับผู้ที่เนื้อเยื่อของผู้ให้และผู้รับเข้ากันได้ดีกว่า และยังมีปัญหาอื่นๆทั้งที่มองเห็นและยังมองไม่เห็นตามมามากมาย ประเทศที่ยากจนก็จะเสียเปรียบประเทศที่ร่ำรวย ในขณะนี้องค์กรต่างๆ ได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้วเห็นว่า การซื้อขายอวัยวะนั้นจะทำให้สังคมยิ่งแย่ลงไปกว่าที่เป็นอยู่ แม้แต่การซื้อขายเลือดก็ยังเป็นข้อห้ามในประเทศส่วนใหญ่ การให้อวัยวะแก่กัน ควรต้องเป็นการบริจาคที่บริสุทธิ์ เพื่อช่วยชีวิตผู้อื่น


สำหรับการปลูกถ่ายไตที่เรียกกันทั่วไปว่า การเปลี่ยนไตนั้น ในประเทศไทยไม่ได้ทำกันได้ทุกโรงพยาบาล แม้แต่โรงพยาบาลของรัฐก็ไม่ได้ทำกันทุกแห่ง การปลูกถ่ายไตต้องทำงานเป็นทีมซึ่งประกอบไปด้วยคณะแพทย์หลายคณะในสาขาวิชาแตกต่างกัน อายุรแพทย์โรคไตจะเป็นผู้ดูแลรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง และเป็นผู้วินิจฉัยว่า ผู้ป่วยคนไหนเหมาะสมที่จะได้รับการรักษาวิธีนี้ เมื่อได้ไตที่เหมาะสม อายุรแพทย์โรคไตต้องตรวจผู้รับไตอีกครั้งว่า สภาพร่างกายสามารถรับการผ่าตัดได้หรือไม่ จากนั้นทีมศัลยแพทย์จึงทำการผ่าตัดโดยมีวิสัญญีแพทย์เป็นผู้ให้ยาสลบ นอกจากนั้นในการปลูกถ่ายไตแต่ละครั้งยังต้องมีแพทย์จากธนาคารเลือดที่จะดูแลเกี่ยวกับหมู่เลือดแดงและเนื้อเยี่อของผู้ให้และผู้รับว่า เข้ากันได้หรือไม่ ต้องมีพยาบาลและผู้ประสานงานร่วมทำงานด้วย ดังนั้นการปลูกถ่ายไตแต่ละครั้งจึงเป็นเรื่องใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรมากมายหลายประเภทและที่ยังมิได้กล่าวถึงในกรณีที่เป็นการบริจาคไตจากผู้เสียชีวิต คือ ต้องมีประสาทศัลยแพทย์ และ/หรืออายุรแพทย์ด้านประสาทวิทยา เป็นผู้วินิจฉัยภาวะสมองตายอย่างแม่นยำและถูกต้องตามเกณฑ์ของแพทย์สภา โดยต้องมีแพทย์เซนต์อย่างน้อย ๓ คน


การรักษาด้วยการปลูกถ่ายไตนี้ไม่สามารถมีเส้น มีคิว หรือลัดคิวได้ ดังนั้นจึงไม่ต้องถามหาเส้นและคิว และไม่ใช่ของที่จะซื้อขายกันได้ แต่แพทย์จะดูว่าเนื้อเยื่อของไตที่ได้รับบริจาคมานั้นเข้ากับผู้ใดได้ดีที่สุด ผู้นั้นก็จะได้รับไตไปซึ่งทางโรงพยาบาลจะมีข้อมูลต่างๆของผู้ป่วยอยู่แล้ว ส่วนที่ว่าจะต้องรอไตนานเท่าใดนั้น ไม่สามารถบอกได้แน่นอน ขึ้นอยู่กับว่า เนื้อเยื่อของผู้ป่วยเข้ากับไตที่ได้รับมาได้หรือไม่ ผู้ป่วยบางคนรอแค่ ๑ สัปดาห์ก็ได้ไตแล้ว แต่บางคนรอนานต้อง ๑๐ ปีก็ยังไม่ได้
ในขณะนี้มีข้อมูลข่าวสารออกมามาก จำเป็นที่ประชาชนต้องพิจารณาและใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบก่อนที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียกับตัวเองและสังคม ขณะเดียวกันผู้ให้ข่าวสารข้อมูลก็ควรให้ข้อมูลตามจริงที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนและสังคม เพื่อประชาชนจะได้ตื่นตัวแทนการตื่นตระหนก

ทำไมต้องเปลี่ยนไต
สาเหตุที่ต้องเปลี่ยนไตก็เพราะว่า ไตเดิมทั้ง ๒ ข้างของผู้ป่วยไม่ทำงานแล้ว คือ มีภาวะไตวายเกิดขึ้น ไตทำงานได้น้อยกว่าร้อยละ ๑๐ ของสมรรถภาพเดิม ในกรณีนี้ไตจะต้องเสียทั้ง ๒ ข้าง เพราะถ้าไตข้างหนึ่งข้างใดยังทำงานได้เต็มที่ ผู้ป่วยจะอยู่ได้อย่างปกติ ไม่ต้องเอาไขของผู้อื่นมาปลูกถ่ายให้ อันที่จริงคำว่า เปลี่ยนไต เป็นคำพูดติดปากที่อาจทำให้เกิดการเข้าใจผิด กับคนทั่วไปได้มาก คำที่ถูกต้องคือ ปลูกถ่ายไต เพราะในทางปฏิบัติจะไม่มีการผ่าตัดเอาไตของผู้ป่วยเองออก ไตเดิมซึ่งฝ่อเล็กลงยังคงอยู่อย่างเดิม จะไม่มีการตัดไตเดิมออก นอกจากว่าไตนั้นมีปัญหาจากการติดเชื้อจึงจะเอาออก ส่วนไตใหม่ที่ได้มา ๑ ข้าง จะนำมาปลูกถ่ายที่ตรงบริเวณอุ้งเชิงกรานข้างใดข้างหนึ่ง ในสมัยก่อนเมื่อเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายแล้ว ผู้ป่วยจะเสียชีวิตหมด แต่สมัยนี้ความก็าวหน้าทางวิทยาการทางการแพทย์ทำให้สามารถยืดชีวิตผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ ออกไปได้ด้วยวิธีที่เรียกกันว่า การรักษาทดแทนไต หรือการฟอกเลือด หรือการล้างเอาของเสียออกทางช่องท้อง และวิธีสุดท้ายคือ การปลูกถ่ายไต

โรคที่ต้องการการรักษาด้ววิธีปลูกถ่ายไต
โรคไตมีหลายชนิดทั้งที่รู้สาเหตุและไม่รู้สาเหตุ บางชนิดก็หายเองได้ บางชนิดรักาาแล้วหายขาดหรือดีขึ้นจึงไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยการปลูกถ่ายไต โรคที่ต้องรักษาด้วยการปลูกถ่ายไตคือ โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย สาเหตุของโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ที่พบบ่อยที่สุดคือ โรคหลอดเลือดฝอยเล็กๆ ในเนื้อไตไม่ทำงาน ซึ่งเป็นการอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคและโรคอื่นๆ ที่พบได้คือ โรค เอสแอลอี โรคถงน้ำดีในไต โรคนิ่วของไตที่เป็นทั้ง ๒ ข้าง ที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่ต้น โรคความดันเลือดสูง และโรคเบาหวาน เป็นต้น

อาการของโรคไตวายเรื้อรัง
เมื่อเกิดภาวะไตวายเรื้อรัง ไตจะทำหน้าที่บกพร่อง ทำให้มีการคั่งของเกลือ กรด และน้ำในร่างกาย รวมทั้งของเสียที่เกิดจากการเผาผลาญอาหารโปรตีน นอกจากนั้นการสร้างฮอร์โมนบางชนิดก็จะผิดปกติด้วย อาการของโรคไตวายเรื้อรังมีหลายอย่าง อาทิเช่น คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ ขาดสมาธิในการทำงาน อ่อนเพลีย ซีดบวมที่หน้าและขา หายใจหอบลึก ชาปลายมือปลายเท้า เป็นตะคริว คันตามตัว ตามัว เลือดออกที่ผิวหนัง ตามไรฟัน และทางเดินอาหารระยะสุดท้าย ผู้ป่วยจะมีอาการซึง ชัก และหมดสติในที่สุด
อาการต่างๆที่กล่าวถึงอาจจะเกิดขึ้นทีละอย่างหรือพร้อมๆกันหลายอาการก็ได้ ขณะเดียวกัน อาการเหล่านี้ก็พบได้ในโรคอื่นๆด้วย ดังนั้นก่อนที่จะคิดว่าตัวเองเป็นโรคไตวายเรื้อรัง ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจเสียก่อน

ชีวิตหลังจากเปลี่ยนไต
โดยทั่วไปเมื่อได้รับการรักษาด้วยการฟอกเลือดหรือการล้างของเสียออกทางช่องท้องแล้ว ผู้ป่วยก็สามารถปฏิบัติภาระกิจในชีวิตประจำวันได้เกือบปกติ แต่อย่างไรก็ตาม ไตไม่ได้มีหน้าที่ขับของเสียและรักษาดุลย์น้ำ เกลือแร่และกรดด่างเท่านั้น ไตยังสร้างสารต่างๆ ที่จำเป็นต่อร่างกายรวมทั้งฮอร์โมนด้วย เพราะฉะนั้นการผ่าตัดเปลี่ยนไตจึงถือว่าเป็นการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไต ถ้าหากไตใหม่ทำงานได้ดีจะมีชีวิตเหมือนคนธรรมดาทุกอย่าง ไปไหนมาไหนได้ ทำงานหนักได้ กินอาหารได้เหมือนคนทั่วไป เพียงแต่ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์และต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ต้องกินยาสม่ำเสมอ เพราะว่าร่างกายของผู้ป่วยจะยังต่อต้านไตใหม่อยู่ตลอดเวลา แม้จะไม่รุนแรง จึงต้องได้รับยากดภูมิต้านทาน

ในปัจจุบันมียาที่มีประสิทธิภาพดีสามารถกดภูมิต้านทานไม่ให้ร่างกายต่อต้านไตใหม่แบบฉับพลันและรุนแรง จึงมักไม่เกิดการสูญเสียไตในระยะแรกหลังผ่าตัดอย่างในสมัยก่อน แต่ปฏิกริยาต่อต้านเล็กๆน้อยๆ อาจเกิดขึ้นเรื่อยๆ และอาจเป็นเรื้อรังโดยยังไม่มียาที่ได้ผล บางครั้งถึงแม้ผู้ป่วยจะดูแลตัวเองอย่างดีและได้รับการรักษาอย่างถูกต้องแล้วก็ตาม ร่างกายก็อาจปฏิเสธไตอย่างรุนแรงได้ หากเกิดกรณีเช่นนี้ก็ต้องผ่าตัดเอาไตออก มิฉะนั้นผู้ป่วยอาจเสียชีวิต เพราะฉะนั้นการปลูกถ่ายไตจึงไม่เหมือนกับการผ่าตัดอื่นๆ เพราะหลังผ่าตัดผู้ป่วยยังคงต้องได้รับการรักษาอย่างใกล้ชิด ผู้ป่วยจะลืมกินยาไม่ได้เด็ดขาด เพราะมีความเสี่ยงถึงตาย และหากร่างกายเกิดปฏิกริยาต่อต้านขึ้นมา ก็จะต้องใช้ยากดภูมิต้านทานที่มีราคาแพงมาก ดังนั้นความสำเร็จในการผ่าตัดปลูกถ่ายไต จึงขึ้นอยู่กับผู้ป่วยด้วย ผู้ป่วยจึงต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และมีวินัยในตัวเองอย่างมาก

ปลูกถ่ายไตแล้วจะมีชีวิตอยู่ได้นานเท่าใด
ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายไตจะมีชีวิตอยู่ได้นาน และแม้ไตใหม่จะไม่ทำงาน และเสียอย่างถาวรในที่สุด แต่ผู้ป่วยก็ยังมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการรักษาวิธีฟอกเลือดและล้างไต แล้วก็รอการปลูกถ่ายไตอีกได้ สำหรับอายุการทำงานของไตใหม่นั้น ร้อยละ ๑๘-๕๕ อยู่ได้นาน ๑๐ ปี ปัจจัยที่ทำให้อายุของไตใหม่อยู่ได้นานที่สำคัญคือ การเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อของผู้รับและผู้ให้ ทางการแพทย์พบว่า ไตที่เนื้อเยื่อของผู้ให้และผู้รับเข้ากันได้ดี จะอยู่นานกว่าที่เข้ากันไม่ดีประมาณ ๕-๑๐ ปี ดังนั้นการตรวจเนื้อเยื่ออย่างละเอียด และการคัดเลือกผู้ที่มีเนื้อเยื่อเข้ากันได้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ จึงมีความจำเป็นและสำคัญมาก หากเนื้อเยื่อเข้ากันได้ไม่ดี แม้ในระยะแรกไตจะทำงานได้ แต่อายุไตมักจะสั้น โอกาสที่ไตจะทำงานได้เกิน ๑๐ ปี มีไม่ถึงร้อยละ ๒๐ อย่างไรก็ตาม หากไตใหม่ทำงานได้เต็มที่ ผู้ป่วยจะมีชีวิตที่มีคุณภาพเหมือนคนปกติทั่วไป


ถ้าให้ไตคนอื่นไปข้างหนึ่งแล้วตัวเองจะเป็นอย่างไร
เรื่องนี้เป็นความวิตกกังวลของผู้ที่อยู่ในระหว่างการตัดสินใจที่จะบริจาคไตให้กับคนใกล้ชิดหรือผู้ที่อยากจะทราบข้อมูล ในปัจจุบันยังไม่ทราบแน่นอนว่า จะมีผลแทรกซ้อนในระยะยาวเกิดขึ้นหรือไม่ แต่จากการรวบรวมรายงานทางการแพทยืและการติดตามผล ไม่พบว่า ผู้ที่ให้ไตแก่ผู้อื่นแล้ว ๒๐ ปี หรือผู้ที่มีไตข้างเดียวเกิดโรคไตมากกว่าประชากรกลุ่มอื่น อย่างไรก็ตามผู้ให้ไตที่ยังมีชีวิตควรได้รับการตรวจความดันเลือด ปัสสาวะ และการทำงานของไตทุกๆปี


จริงหรือ...โรคไตเป็นโรคคนรวย
ถึงแม้ว่าสิทธิ์ในการรอรับไตใหม่จากผู้บริจาคจะเท่าเทียมกันระหว่างคนจนกับคนรวย(นั้นคือใครมีเนื้อเยื่อที่เข้ากันได้มากที่สุดก็ได้ไป) แต่ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดเปลี่ยนไตก็สูงมาก บางครั้งต้องใช้เงินเป็นแสนและในกรณีที่ภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะติดเชื้อ หรือร่างกายต่อต้านไตใหม่ ค่ายาหรือค่ารักษาก็จะยิ่งเพิ่มขึนไปอีก ในกรณีที่ร่างกายรับไตได้ดี ก็ยังต้องเสียค่ายาประมาณหมื่นบาทต่อเดือน


วิธีป้องกันไม่ให้เกิดภาวะไตวายเรื้อรัง
วิธีป้องกันคือ เมื่อทราบว่าเป็นโรคไต โรคความดันเลือดสูง โรคเบาหวาน ควรดูแลรักษาอย่างสม่ำเสมอเพื่อควบคุมความดันเลือดและระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ ซึ่งจะช่วยป้องกันการทำลายไตที่เกิดจากภาวะเหล่านี้ วิธีป้องกันที่สำคัญและได้ผลอีกอย่างหนึ่งคือ หลีกเลี่ยงการใช้ยาและการซื้อยากินเอง


 

ข้อมูลสื่อ

245-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 245
กันยายน 2542
ศ.พญ.สุมาลี นิมมานนิตย์