• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ต่อมลูกหมากโตโรคของความเสื่อมในชายสูงอายุ (เกือบทุกคน)

เมื่ออายุมากขึ้นร่างกายของคนเราก็จะค่อยๆ เสื่อมลงเป็นธรรมดา และบางครั้งก็อาจมีโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียน มากบ้าง น้อยบ้าง ตามสภาพร่างกายของแต่ละคน
ในผู้ชายเมื่ออายุมากขึ้น โรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้มีมากมายหลายโรค แต่ที่พบได้บ่อยและเป็นกันมาก คือโรคต่อมลูกหมากโต

สำหรับสมาชิกที่เขียนจดหมายถามถึงเรื่องต่อมลูกหมากโตมา อยากทราบว่าโรคนี้มีอาการอย่างไร และเป็นโรคที่อันตรายหรือไม่ ทางกองบรรณาธิการจึงได้ไปเรียนถามจากศาสตราจารย์นายแพทย์กฤษฎา รัตนโอฬาร แห่งหน่วยศัลยศาสตร์ ระบบทางเดินปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งท่านเป็นแพทย์ที่ทำหน้าที่รักษาผู้ป่วยโรคนี้โดยตรงค่ะ

ต่อมลูกหมากคืออะไร
ต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะ สืบพันธุ์อย่างหนึ่ง อยู่ใต้กระเพาะปัสสาวะ มีหน้าที่หลักคือผลิตน้ำอสุจิ การที่มนุษย์เราสามารถมีลูก มีหลาน ต่อเผ่าสืบพันธุ์กันได้ก็ เพราะต่อมลูกหมากนี่เอง

โรคของต่อมลูกหมาก
ตามปกติต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะที่ไม่ค่อยมีโรคภัยมาเบียดเบียน ยกเว้นในกรณีที่เมื่ออายุมากขึ้น ต่อมลูกหมากก็จะมีการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ คือ จะโตขึ้น มีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งเป็นความเสื่อมตามวัย เหมือนเช่นที่เรามีผิวหนังเหี่ยวย่น หรือผมหงอก ขาวนั่นเอง

โรคที่เกี่ยวกับต่อมลูกหมากมี หลายชนิด แต่ส่วนใหญ่ที่พบบ่อย คือ ต่อมลูกหมากอักเสบ และเนื้องอกของต่อมลูกหมาก ซึ่งเนื้องอก ที่ว่านี้แบ่งออกเป็น ๒ ชนิด คือ เนื้องอกชนิดธรรมดา และเนื้องอกชนิดร้ายแรง หรือมะเร็ง โดย ทั่วไป เมื่อพูดถึงโรคต่อมลูกหมากโต เรามักจะหมายถึงเนื้องอกชนิดธรรมดา
ในกรณีที่เป็นเนื้องอกชนิดธรรมดา เนื้องอกชนิดนี้จะไม่กลาย เป็นมะเร็ง เพราะเป็นคนละโรคกัน แต่ในบางคนอาจจะเกิดทั้งเนื้องอกธรรมดา และเนื้องอกชนิดร้ายแรง ขึ้นพร้อมๆ กันได้
ต่อมลูกหมากโตโดยปกติจะไม่สามารถคลำได้จากภายนอก จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อแพทย์ทำการตรวจ โดยการใช้มือล้วงทวารหนักเข้าไป จึงจะคลำได้และถึงแม้ต่อมลูก หมากจะมีการเปลี่ยนแปลงจริงตามวัย คือมีขนาดโตขึ้น แต่อาการของโรคกับขนาดจะไม่สัมพันธ์กันบางคนมีต่อมลูกหมากโตไม่มาก แต่อาการอาจจะเป็นมากได้ หรือบางคนอาจมีต่อมลูกหมากที่โตมาก แต่มีอาการเพียงเล็กน้อยก็เป็นได้ ทั้งนี้เพราะเหตุปัจจัยอื่นๆ อีกมาก มายที่เข้ามาเกี่ยวโยงด้วย

อาการของต่อมลูกหมากโต
อาการหลักๆ ของต่อมลูก หมากโตจะมี ๒ กลุ่ม คือ
๑. อาการจากการอุดตัน (obstructive symptom) อาการ หลักๆ ของผู้ป่วยกลุ่มนี้คือ ต้องเบ่ง ต้องรอนานกว่าจะปัสสาวะออก เมื่อปัสสาวะออกมาแล้วลักษณะปัสสาวะไม่ค่อยพุ่ง หรือพุ่งไม่แรงบางครั้งออกมาเป็นหยดๆ ในรายที่ ผู้ป่วยเป็นมาก อาจถึงขนาดปัสสาวะไม่ออกเลย
๒. อาการที่รบกวน (irritative symptom) คือ อาการที่เราจะรู้สึกได้ว่าไม่ค่อยปกตินักอย่าง เช่น คนส่วนใหญ่เมื่อนอนหลับไปแล้ว อาจตื่นมาเข้าห้องน้ำสัก ๑-๒ ครั้ง แต่ผู้ที่มีอาการของต่อมลูกหมากโตในกลุ่มนี้ จะตื่นมาปัสสาวะบ่อยครั้ง และปัสสาวะแล้วปัสสาวะอีกไม่หมดสักที เมื่อปวดปัสสาวะ จะต้องรีบเข้าห้องน้ำทันทีเพราะอั้นไม่อยู่ และถ้าเข้าห้องน้ำไม่ทัน ก็จะปัสสาวะราดได้

ปัสสาวะเป็นเลือด ไม่ใช่อาการหลักของต่อมลูกหมากโต แต่ว่าเนื้องอกของต่อมลูกหมากก็ทำให้ปัสสาวะเป็นเลือดได้ในบางกรณี คือถ้าต่อมลูกหมากมีอาการอักเสบ หรือว่าปัสสาวะคั่ง เมื่อต่อมลูกหมากบวมมากหรือคั่งมากๆ ก็จะมีเลือดออกได้ แต่ส่วนใหญ่ถ้าปัสสาวะออกมาเป็นเลือด ในการวินิจฉัยแยกโรคแพทย์จะนึกถึงโรคอื่นก่อน เพราะอาการดังกล่าวไม่ใช่อาการนำของโรคนี้

ต่อมลูกหมากโตพบในผู้ชายอายุเท่าใด
อาการของต่อมลูกหมากโต จะเริ่มปรากฏเมื่ออายุประมาณ  ๕๐-๖๐ ปี โดยที่ผู้ชายที่มีอายุ ๖๐ ปีขึ้นไปครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ ๕๐  จะเริ่มมีอาการชัดเจน เมื่อถึงอายุ๘๐ ปี ประมาณร้อยละ ๘๐-๙๐ของคนวัยนี้ จะมีอาการต่อมลูก หมากโต หรืออาจพูดได้ว่า ยิ่งอายุมากขึ้นเท่าใด โอกาสที่จะเป็นต่อมลูกหมากโตก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย
ความจริงโรคต่อมลูกหมากโตไม่ใช่เรื่องใหม่ จะว่าไปแล้วต่อมลูกหมากโตถือเป็นโรคชรา หรือ โรคสามัญชนิดหนึ่งที่ผู้สูงอายุสมัย ก่อนเป็นกันมาก และส่วนใหญ่ก็ยอมรับสภาพว่า คนแก่ คนสูงอายุ ต้องมีอาการขัดเบาเป็นธรรมดาจึง มีผู้ที่เป็นโรคนี้และไม่ได้ไปรักษาเป็นจำนวนมาก ในรายที่เป็นรุนแรง ผู้ป่วยจะเสียชีวิตด้วยภาวะแทรกซ้อนจากอาการไตวาย

ปัจจุบันความรู้ในการดูแลสุขภาพแพร่หลายไปสู่ประชาชนมากขึ้น ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มาพบแพทย์เร็วขึ้นเมื่อมีอาการผิดปกติ ดังนั้นโอกาสที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิตด้วยไตวายอย่างแต่ก่อนจึงน้อยลง ขณะเดียวกันประชาชนมีอายุที่ยืนยาวขึ้น จึงมีการพูดถึงโรคนี้กันมากขึ้นด้วยเช่นกัน เลยดูเหมือนกับว่าต่อมลูกหมากโตเป็นโรคที่เพิ่งจะเกิดขึ้นใหม่

ต่อมลูกหมากโตเป็นโรคอันตรายหรือไม่
ดังที่กล่าวไปแล้วว่า ถ้าอยู่ ถึงอายุ ๘๐-๙๐ ปี ส่วนใหญ่จะ เป็นโรคนี้กันแทบทุกคน ส่วนจะเป็นอันตรายหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลว่าใส่ใจดูแลสุขภาพของตนเองมากน้อยแค่ไหน เพราะ โรคนี้เป็นโรคที่ขึ้นอยู่กับตัวผู้ป่วย ว่ารู้สึกอย่างไรกับอาการที่เกิดขึ้น

บางคนยอมรับสภาพที่มีอาการปัสสาวะบ่อย และถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาของคนแก่ จึงไม่รู้สึกเดือดร้อน ในขณะที่มีผู้สูงอายุบางคนรู้สึกว่าสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่ เป็น เรื่องรุนแรง หรือเป็นภาวะที่น่ารำคาญ ที่รบกวนวิถีชีวิตประจำวัน (ผู้สูงอายุสมัยใหม่จะมีวิถีชีวิตที่ ต้องอยู่นอกบ้าน หรือทำกิจกรรมนอกบ้านมาก เมื่อเทียบกับคนรุ่นก่อนที่มีชีวิตเรียบง่าย) ก็จะไปพบแพทย์เพื่อหาวิธีแก้ไขหรือบรรเทาอาการ

เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับความอดทน ของแต่ละคนซึ่งไม่เท่ากัน แต่บาง คนก็ปล่อยปละละเลยหรือฝืน ร่างกายจนมีอาการรุนแรง และเกิดโรคแทรกซ้อนที่อันตราย เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กรวยไตอักเสบ หรือภาวะไตวาย เป็นต้น ยิ่งถ้าผู้สูงอายุเป็นโรคอื่นๆ อยู่ก่อน แล้ว (เช่น เบาหวาน ความดันเลือด สูง ฯลฯ) ก็จะเป็นเหตุปัจจัยทำให้เกิดอันตรายจนถึงแก่ชีวิตได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่เมื่อเริ่มมีอาการเพียงเล็กน้อย

เมื่อไรควรไปพบแพทย์
สำหรับผู้ที่อายุ ๕๐ ปีขึ้นไป ถ้ามีอาการผิดปกติในระบบขับถ่ายปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะไม่ค่อยออก ต้องเบ่งหรือรอนานกว่าจะปัสสาวะออกมาได้ หรือปัสสาวะที่ออกมาไม่ค่อยพุ่ง บางครั้งออกมาเป็นหยดๆ หรือมีอาการปวดปัสสาวะบ่อย อั้นไม่อยู่ ถ่ายไม่สุด หรือถ่ายปัสสาวะเป็นเลือด ก็ควรหาเวลาไปพบแพทย์ เพื่อจะได้ปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้อง
และตามปกติเมื่อผู้สูงอายุ ไปตรวจสุขภาพประจำปี แพทย์ก็มักจะทำการตรวจต่อมลูกหมาก(โดยล้วงทวารหนัก) ให้ควบคู่กันไปด้วยอยู่แล้ว

แพทย์จะรักษาอย่างไร
เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์จะซักประวัติของผู้ป่วย ตรวจดูอาการหลักๆ ที่เป็นอยู่ และตรวจทางทวารหนัก หรือตรวจปัสสาวะ ซึ่งเป็นการตรวจในขั้นพื้นฐานตามปกติทั่วไป หรืออาจทำการเอกซเรย์ในกรณีที่สงสัยว่า ผู้ป่วยอาจจะเป็นนิ่วร่วมด้วย หรือบางรายอาจต้องมีการเจาะเลือดเพื่อตรวจให้แน่ใจว่าเนื้องอกที่เป็นนั้นมีแนวโน้มที่จะเป็นมะเร็งหรือไม่
การเจาะเลือดเพื่อตรวจหามะเร็งของต่อมลูกหมากนี้ ถ้าหากไม่มีข้อบ่งชี้หรือมีอาการที่น่าสงสัยจริงๆ แพทย์ส่วนใหญ่ (ในโรง พยาบาลของรัฐ) มักจะไม่ตรวจ  ให้เพราะการตรวจดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายสูง นอกจากนี้ ในประเทศไทยก็พบมะเร็งต่อมลูกหมากไม่มากนัก ซึ่งไม่เหมือนกับประเทศทางตะวันตก

การรักษาอาการต่อมลูก หมากโต ในกรณีที่เป็นเนื้องอกชนิดธรรมดา มี ๓ วิธี คือ
๑. เฝ้าดูอาการอย่างระมัด ระวังใกล้ชิด (watchful waiting) สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการ แต่อาการยังไม่ซับซ้อนรุนแรง หรือ รบกวนวิถีชีวิตประจำวันมากนักนอกจากอาการปัสสาวะบ่อย หรือ ปัสสาวะไม่พุ่ง โดยที่แพทย์ตรวจดูแล้วว่า ไตของผู้ป่วยยังคงเป็นปกติ ไม่มีอาการติดเชื้อ ไม่มีอาการอักเสบ และแน่ใจว่าผู้ป่วยไม่ได้เป็นมะเร็ง ก็จะยังไม่ให้การรักษาใดๆ เพียงแต่เฝ้าดูอาการอย่างเดียว
๒. การรักษาด้วยยา (medical treatment) เมื่อผู้ป่วยเริ่มมีอาการมากยิ่งขึ้น แต่เดิมการรักษาจะมีอยู่ ๒ วิธี คือ ไม่ทำอะไร เลย กับอีกวิธีคือ การผ่าตัดจน เมื่อประมาณ ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมาได้มีการค้นพบยารักษาอาการ ต่อมลูกหมากโต ดังนั้น ในกลุ่มที่ไม่มีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดอย่างเพียงพอ หรือว่าอาการมีมากกว่าที่จะเฝ้าดูเฉยๆ โดยไม่ทำอะไรเลย แพทย์ก็จะให้ยากับผู้ป่วยกลุ่มนี้ ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการของผู้ป่วย ได้มากทีเดียว
๓. การผ่าตัด (surgical treatment) เมื่อเกินระยะเฝ้าดูไป แล้ว หรือว่ากินยาแล้วอาการก็ยังไม่ดีขึ้น และผู้ป่วยมีอาการบ่งชี้ ในการผ่าตัด แพทย์จึงจะเลือกใช้ วิธีนี้เป็นวิธีสุดท้าย โดยผู้ป่วยต้องมีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน ดังต่อไปนี้คือ
หนึ่ง ปัสสาวะไม่ออกซ้ำซากแต่เดิมเมื่อผู้ป่วยปัสสาวะไม่ออก แล้วมาโรงพยาบาล แพทย์จะทำการสวนปัสสาวะ แล้วทำการผ่าตัดเลย ปัจจุบันแพทย์จะสวนปัสสาวะให้ผู้ป่วย แล้วให้ยาไปกินดูก่อนซึ่งส่วนใหญ่ก็สามารถปัสสาวะได้ตามปกติ แต่หากอาการปัสสาวะ ไม่ออกเป็นซ้ำแล้วซ้ำอีกทุกเดือน แม้จะได้สวนปัสสาวะ และกินยาแล้ว ก็ต้องใช้วิธีผ่าตัด
สอง มีการติดเชื้อบ่อยๆ ตาม ปกติเมื่อต่อมลูกหมากโต ผู้ป่วยจะปัสสาวะออกไม่หมด (มีการคั่งค้าง)จะทำให้มีการติดเชื้อ และเกิดการอักเสบในระบบทางเดินปัสสาวะได้ง่าย หากกินยารักษาแล้วไม่ได้ผลก็ต้องทำการผ่าตัด
สาม มีอาการไตเสื่อม ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนจากการที่ต่อมลูกหมากโตเป็นเวลานานๆ ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง จึงทำให้ไตเสื่อมได้
สี่ มีนิ่วในกระเพาะปัสสาวะเมื่อปัสสาวะมีการตกค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดเป็นนิ่วขึ้นได้ ก็ต้องผ่าตัดต่อมลูกหมากพร้อมเอานิ่วออก
ห้า มีเลือดออกบ่อยๆ หรือ ปัสสาวะมีเลือดปน ซึ่งอาการดังกล่าวเป็นข้อบ่งชี้ที่สมควรให้การรักษาด้วยการผ่าตัด

กล่าวโดยสรุป การรักษาอาการต่อมลูกหมากโตมี ๓ วิธี คือ เฝ้าดู กินยา และผ่าตัด แล้วแต่ว่า ผู้ป่วยจะมีข้อบ่งชี้อะไร ซึ่งถ้าหากมีอาการเพียงเล็กน้อย ก็อาจจะแค่เฝ้าดูแต่ถ้ามีอาการสุดโต่งไปอีกทางหนึ่ง คือมีข้อบ่งชี้ชัดเจนก็ต้องผ่าตัด ส่วนผู้ที่มีอาการมากกว่าจะเฝ้าดูเฉยๆ แต่ไม่มีข้อบ่งชี้ เพียงพอว่าจะต้องผ่าตัดก็จะรักษาด้วยยา

บางคนอาจสงสัยว่า ทำไมแพทย์ไม่ผ่าตัดไปเสียเลยจะได้ หมดปัญหา แต่ความจริงแล้วเรื่องการผ่าตัดใหญ่ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อย่างที่คนทั่วไปคิดกัน โดยเฉพาะ อย่างยิ่งเรื่องต่อมลูกหมากโตที่ผู้ป่วยเป็นคนสูงอายุ ถ้าหากทำการผ่าตัดโดยไม่มีข้อบ่งชี้พอเพียงผลที่ได้จะไม่คุ้มกับที่เสีย

ดังนั้น แพทย์จะต้องคำนึง ถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดรอบคอบ เช่น ๑) ความสมบูรณ์ของร่างกายของผู้ป่วย ที่จะต้องดี พอสมควร

๒) โรคประจำตัวของผู้สูงอายุซึ่งเป็นกันมาก อย่างเช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง โรคหัวใจ ฯลฯ ที่มีผลต่อการผ่าตัด 

๓) ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ จากการดมยาสลบ หรือการผ่าตัดซึ่งถ้าไม่มีความจำเป็นจริงๆ การไม่ต้องผ่าตัดเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว

๔) สถานที่หรือแพทย์เฉพาะทาง คือ ศัลยแพทย์เกี่ยวกับระบบทาง เดินปัสสาวะยังมีน้อยมาก (ประมาณ ๒๐๐-๓๐๐ คน ทั้งประเทศ) เมื่อเทียบกับจำนวนคนไข้ทั้งหมด

อ่านมาถึงบรรทัดนี้คงหายข้องใจกันแล้วว่า ทำไมแพทย์จึงไม่ใช้วิธีผ่าตัดรักษาโรคนี้กับทุกคน เพราะแท้ที่จริงแล้วการไม่ต้องขึ้นเขียง เข้าห้องผ่าตัด นับเป็นลาภอันประเสริฐอย่างหนึ่งในชีวิต

วิธีป้องกันไม่ให้เป็นโรคนี้
ต่อมลูกหมากโตไม่ใช่โรคติดเชื้อ ที่กินยาฆ่าเชื้อแล้วอาการก็หายไปได้ แต่ต่อมลูกหมากโต เป็นสภาพความเสื่อมของร่างกายตามธรรมชาติ ที่ยิ่งอายุมากขึ้นเท่าใด โอกาสที่จะเป็นโรคนี้ก็เพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว เพราะฉะนั้นเราจึงไม่สามารถที่จะป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นได้

วิธีที่ดีที่สุดที่พอจะทำได้ คือ เมื่อมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อขอคำแนะนำหรือรับการรักษาอย่างถูกต้อง ก็จะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ชายวัยทอง< มีความสุขตามอัตภาพจนถึงวาระสุดท้าย

อาหารเสริมในความเห็นของแพทย์ศาสตราจารย์นายแพทย์กฤษฎา รัตนโอฬาร หน่วยศัลยศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

ปัจจุบันมีการโฆษณากันมากว่า แร่ธาตุสังกะสี หรือเซเรเนียม จะช่วยป้องกันเรื่องต่อมลูกหมากโตได้ ซึ่งเรื่องนี้นายแพทย์กฤษฎา รัตนโอฬาร ได้ให้ความเห็นว่า
" ใครอยากจะกินก็กินไปเถอะ ถ้ามันไม่เป็นอันตราย จริงๆ แล้วหมอส่วนใหญ่จะไม่ค่อยเชื่อเรื่องนี้หรอก ว่ากินแร่ธาตุตัวนั้นแล้วจะไม่เป็นต่อมลูกหมากโต ผมไม่กล้ายืนยัน เพราะไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนและการวิจัยก็ยังสรุปไม่ได้แน่นอน

แต่ในกรณีของมะเร็งต่อมลูกหมากค่อนข้างจะชัดเจนว่าอาหารน่าจะมีส่วน ซึ่งได้มีการศึกษาวิจัยในกลุ่มคนชาติต่างๆ พบว่าอุบัติการณ์ของการเกิดโรคนี้แตกต่างกัน เช่น ฝรั่งหรือคน ทางตะวันตกจะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากกันมาก ซึ่งอาจ มีปัจจัยสำคัญเกี่ยวข้องกับการเป็นประเทศอุตสาหกรรม หรือประเภทของอาหารในชีวิตประจำวัน ในขณะที่คนทางเอเชียจะเป็นโรคนี้น้อยกว่า

ที่น่าสนใจคือ เคยมีรายงานว่าคนญี่ปุ่นเป็นมะเร็งที่ต่อมลูกหมากน้อยมากถ้าอยู่ในญี่ปุ่น แต่ถ้าคน ญี่ปุ่นอพยพไปอยู่สหรัฐอเมริกาและเติบโตในสหรัฐอเมริกา ก็จะมีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากพอๆ กับคนอเมริกา หรือฝรั่งผิวขาว นั่นแสดงว่าอาหารน่าจะมีส่วนอย่างมาก"

ข้อมูลสื่อ

282-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 282
ตุลาคม 2545
ธารดาว ทองแก้ว