• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ขิง : ยาดีที่โลกรู้จัก

ขิง : ยาดีที่โลกรู้จัก

ขิง มหาโอสถอันเก่าแก่ที่เอเชียโบราณรู้จักดี
ขิง (ginger) จัดว่าเป็นสมุนไพรและเครื่องเทศที่มีความสำคัญ และเก่าแก่ชนิดหนึ่งของโลก มีหลักฐานการใช้ยาวนานกว่า ๕,๐๐๐ ปี มีการใช้อย่างกว้างขวางในประเทศอินเดียและจีนสมัยโบราณ ซึ่งก็ยังไม่มีใครชี้ชัดว่าระหว่าง ๒ ประเทศนี้ใครใช้มาก่อนใคร มีบันทึกของหมอยาจีนชื่อเฉินหนงประมาณ ๓,๐๐๐ ปีก่อนคริสต์กาล กล่าวกันว่าเฉินหนงเป็นนักชิมเพื่อแยกรสของพืชสมุนไพรไว้หลายร้อยชนิด แต่สุดท้ายหมอยาสมุนไพรท่านนี้ก็เสียชีวิตจากการกินพืชพิษที่มีฤทธิ์ร้ายแรงมากชนิดหนึ่งเข้าไป แต่เคราะห์ดีที่ได้ดื่มขิงไว้ก่อน ในตำราของเฉินหนงระบุว่าขิงเป็นสมุนไพรที่ใช้แก้หวัด แก้ไข้ แก้หนาวสั่น แก้บาดทะยัก แก้โรคเรื้อน ดังนั้น จึงจัดว่าจีนเป็นชนชาติเก่าแก่ที่มีการใช้ประโยชน์จากขิงมายาวนาน แพทย์จีนโบราณจัดขิงเป็นพืชรส เผ็ดอุ่น มีฤทธิ์แก้หวัดเย็น ขับเหงื่อ บำรุงกระเพาะ แก้ปวดข้อ แก้ปัญหา เรื่องไต แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน ลดโคเลสเตอรอลที่สะสมในตับและหลอดเลือด ชาวบ้านทั่วไปของจีนจะรู้ดีว่าถ้าต้มขิงกับน้ำตาล อ้อย (หรือน้ำตาลทรายแดง) จะช่วยแก้หวัด ถ้าใช้ขิงสดปิดที่ขมับ ทั้ง ๒ ข้างจะช่วยแก้ปวดหัว และ ถ้าเอาขิงสดมาอมไว้ใต้ลิ้นจะช่วย แก้อาการกระวนกระวาย แก้คลื่นไส้ อาเจียนได้ดี

นอกจากนี้แล้วตั้งแต่โบราณกาลสาวชาวจีนจะรู้จักใช้ขิงเป็นอย่างดี โดยใช้ในการแก้ปวดประจำเดือน และนอกจากนี้ยังใช้ขิงในการแก้คลื่นไส้อาเจียนตอนแพ้ท้อง กะลาสีเรือชาวจีนโบราณก็ได้ประยุกต์เอาความรู้ของหญิงสาวเหล่านี้มาใช้ในการเดินเรือ โดย มีการเคี้ยวรากขิงเมื่อออกทะเลเวลา เมาคลื่นลม

ในตำรับเภสัชของสาธารณรัฐประชาชนจีน ปี พ.ศ.๒๕๒๘ ได้ บรรจุขิงเป็นยาสมุนไพรแห่งชาติตัวหนึ่ง ทั้งขิงสด ขิงแห้ง และทิงเจอร์ขิง แพทย์จีนโบราณจะใช้ประโยชน์จากขิงสดและขิงแห้งในแง่มุมที่ต่างกัน โดยจะใช้ขิงแห้งในภาวะที่ขาดหยาง ภาวะขาดหยาง คือภาวะที่ร่างกายมีอาการเย็น หนาวง่าย ทนต่อความเย็นได้น้อย การย่อยอาหารไม่ดี เป็นต้น ทั้งยังมีการใช้ขิงแก่ในคนไข้ปวดข้อรูมาติก

ขิงสดจะใช้ในจุดมุ่งหมายที่ต้องการกำจัดพิษที่เกิดจากการติด เชื้อภายในร่างกายโดยการขับพิษออกมาทางเหงื่อ ขิงสดช่วยทำให้ร่างกายปรับสภาพในภาวะที่ร่างกาย มีอาการเย็นได้เช่นเดียวกับขิงแห้ง ขิงสดช่วยลดการคลื่นไส้อาเจียน โดยใช้ขิงสด ๓๐ กรัม (๓ ขีด) สับให้ละเอียดต้มดื่มแต่น้ำในขณะท้องว่าง นอกจากนี้ขิงยังช่วย กำจัดพิษโดยการเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ขิงสดยังช่วยขับเสมหะ โดยใช้ขิงสดคั้นเอาแต่น้ำประมาณครึ่งถ้วยผสมน้ำผึ้ง ๓๐ กรัม (๖ ช้อน) อุ่นให้ร้อนก่อนดื่ม และ นอกจากนี้ชาวจีนยังเชื่อว่าขิงช่วยแก้พิษจากหอยพิษ ดังนั้นอาหารจีนจำพวกปลาและอาหารทะเลจึงมักจะใส่ขิงลงไปด้วยเสมอ

ปัจจุบันจีนมีการศึกษาวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ของขิงพบว่าขิงแห้งช่วยให้กระเพาะอาหารแข็งแรง ทั้งขิงสดและขิงแห้งมีฤทธิ์ต้านการคลื่นไส้อาเจียน และในการศึกษาในห้องทดลองพบว่าขิงมีฤทธิ์แก้ปวด และต้านการอักเสบ ด้วย

อินเดียเป็นชาติหนึ่งที่มีการใช้สมุนไพรขิงอย่างแพร่หลาย การใช้ขิงแห้งและขิงสดไม่แตกต่างกัน โดยใช้ขิงในการทาถูนวดเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ใช้ขิงลดการอักเสบ แก้ปวด ลดอาการบวมน้ำ ใช้เป็นยากระตุ้นความอยากอาหาร เป็นยาช่วยย่อย ช่วย ขับลมในลำไส้ นอกจากนี้ขิงยังช่วยทำความสะอาดปากและคอ ช่วยระงับการคลื่นไส้อาเจียน ช่วยกระตุ้นความกำหนัด

ในตำรับยาทางอายุรเวทยังมีการใช้ขิงในการลดการบวมและการอักเสบของตับ คนพื้นเมืองอินเดียทั่วไปยังนิยมใช้น้ำคั้นจากขิง ผสมน้ำผึ้ง และน้ำคั้นจากกระเทียม รักษาอาการหอบหืด ทั้งยังมีการใช้ขิงผงแห้งละลายน้ำอุ่นทาที่หน้าผากรักษาอาการปวดหัว

ส่วนญี่ปุ่นได้มีการนำขิงมาใช้ ประโยชน์ประมาณคริสต์ศตวรรษ ที่ ๘ การใช้จะเหมือนๆ กับของจีน ปัจจุบันขิงดองดูเหมือนจะเป็นอาหาร ประจำชาติของญี่ปุ่นไปเสียแล้ว และมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับขิงใน ญี่ปุ่น พบว่าขิงมีฤทธิ์บำรุงหัวใจ ลดความดันเลือด ลดโคเลสเตอรอล

ในประเทศไทย มีการใช้ขิงอย่างกว้างขวางไม่แพ้ชาติอื่น โดย ใช้ขิงเป็นยาแก้กองลม บำรุงธาตุ  แก้ไอ บำรุงน้ำนม

ขิงสมุนไพรนานาชาติ
ขิงยังจัดว่าเป็นสมุนไพรนานาชาติอีกชนิดหนึ่งที่แพร่กระจายไปทั่วโลกมานาน มีหลักฐานว่าในประเทศตะวันตกมีการนำขิงไปใช้ประโยชน์ตั้งแต่มีการติดต่อค้าขาย จากทะเลแดงถึงอเล็กซานเดรีย ซึ่ง เป็นเมืองหลวงของประเทศอียิปต์โบราณ ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑ หมอชาวกรีกจะใช้ขิงช่วยย่อยอาหาร แก้คลื่นไส้อาเจียน และช่วยแก้พิษ กาเลนแพทย์ที่มีชื่อเสียงของกรีกได้มีการนำขิงมาใช้ในการรักษาอัมพาต โรคปวดปลายประสาท และโรคเกาต์

แพทย์ชาวอาหรับโบราณก็ใช้ ประโยชน์จากขิงคล้ายๆ กัน แต่ที่แตกต่างคือจะเน้นการใช้ขิงในการ กระตุ้นความกำหนัด (สรรพคุณนี้ อินเดียก็ใช้) ส่วนคนยุโรปโดยทั่วไปจะใช้ชาขิงในการช่วยย่อย ช่วยรักษาอาการท้องอืดจากการดื่มเหล้า ช่วยขับลม ทั้งยังใช้ในการรักษาโรคเกาต์ และกระตุ้นการ ไหลเวียนของเลือด
นักสมุนไพรรุ่นใหม่ของตะวันตกมักแนะนำให้ใช้ขิงในการช่วยย่อยอาหาร ช่วยในการไหลเวียนของเลือด แก้หวัด และลดอาการคลื่นไส้อาเจียนจากการเมารถ เมาเรือ เมาเครื่องบิน (motion sickness) รวมทั้งช่วยลดการคลื่นไส้อาเจียนจากการแพ้ท้องได้บ้างในคนท้อง

ปัจจุบันตลาดสมุนไพรในประเทศตะวันตกมีผลิตภัณฑ์ขิงอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งในรูปแบบของแคปซูล ขิงแห้งป่น ชาขิง และทิงเจอร์

การปลูกขิง
จากสรรพคุณร้อยแปด และอาหารอันโอชะที่มีขิงเป็นส่วนผสม คงมีบางคนอยากจะปลูกขิงไว้ใช้ที่บ้าน หากสนใจที่จะปลูกขิงก็สามารถปลูกได้เอง โดยใช้เหง้าแก่ (อาจจะขอเหง้าแก่จากคนข้างบ้านหรือ คนรู้จักที่สามารถเอื้อเฟื้อให้ได้) ใช้เหง้าที่เตรียมมาปลูกลงในดินที่เตรียมไว้  ดินที่ใช้ปลูกก็ควรเป็นดินเหนียวปนทราย โดยยกดินเป็นร่องให้ห่างกัน ๓๐ เซนติเมตร ปลูกห่างกันประมาณ ๒๐ เซนติเมตร ลึกประมาณ ๕-๑๐ เซนติเมตร ขิงชอบที่ชุ่มชื้นระบายน้ำได้ดี ไม่จำเป็นต้องรดน้ำบ่อยๆ แค่ วันละครั้งก็เพียงพอ เพราะถ้ารดน้ำมากๆ ดินระบายน้ำไม่ทัน ขิงไม่ชอบน้ำขังแฉะ จะทำให้รากขิงเน่า ขิงชอบแสงแดดพอควร ฤดูกาลที่เหมาะสม ประมาณเดือนมีนาคม-พฤษภาคม
ชื่อวิทยาศาสตร์  Zingiber officinale Rosc. วงศ์ Zingi-   beraceae
ชื่อพื้นเมือง ขิงเผือก (เชียงใหม่) ขิงแดง ขิงแกลง (จันทบุรี) สะแอ (แม่ฮ่องสอน)

แนวโน้มของการใช้ประโยชน์จากขิงทางยา
ปัจจุบันขิงเป็นสมุนไพรชนิด หนึ่งที่มีการศึกษาวิจัยและใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง เช่น ทางด้านของการช่วยย่อยอาหาร ช่วยในด้านการไหลเวียนของเลือด ช่วย ลดความดันเลือด ช่วยลดโคเลสเตอรอล ช่วยลดการอักเสบ ช่วยแก้ปวด ช่วยแก้คลื่นไส้อาเจียน  ซึ่งมีแนวโน้มว่าขิงจะสามารถใช้ประโยชน์ทางยาได้ดังนี้
แก้หวัด
การศึกษาในปัจจุบันพบว่า ขิงสามารถฆ่าไวรัสที่ทำให้เกิดหวัดได้ ในประเทศอินเดียรายงานว่า การใช้ขิงจะไปช่วยเพิ่มระบบการทำงานของภูมิคุ้มกันของร่างกาย การศึกษานี้สนับสนุนการใช้ขิงของคนโบราณในการแก้หวัดและโรคติดเชื้ออื่นๆ
ช่วยย่อย
ขิงยังมีประโยชน์ต่อท้องมากมาย ผู้คนสมัยนี้นั่งอยู่แต่ในห้องทำงาน มีเครื่องอำนวยความสะดวกครบครัน ไม่จำเป็นต้องเดิน เหินให้เมื่อย ท้องไส้ก็พลอยไม่ได้ เคลื่อนไหวไปด้วย กินอาหารเข้า ไปนิดๆ หน่อยๆ ก็ไม่ค่อยย่อยแล้ว แต่ถ้าดื่มน้ำขิงทุกวันอาการอึดอัดแน่นท้องก็จะหายไป มีการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกาว่า ขิงช่วย ย่อยโปรตีนได้ดี ขิงยังต้านการบีบตัวของกล้ามเนื้อในทางเดินอาหาร จึงป้องกันการปวดเกร็ง ที่กล้ามเนื้อท้อง ทำให้กล้ามเนื้อเหล่านี้คลายตัว ขิงมีสารคล้าย  กับเอนไซม์ที่ย่อยอาหารที่มีอยู่ในร่างกายมนุษย์ เภสัชตำรับของประเทศเยอรมนียอมรับว่าขิงเป็นยาช่วยย่อยอาหาร วันไหนที่กระ-เพาะอาหารต้องรับบทหนัก กินอาหารจำพวกเนื้อสัตว์เข้าไปมากๆ ก็ให้รีบดื่มน้ำขิงตาม รับรองว่าอาการอึดอัดแน่นท้องจะหายไป
แก้คลื่นไส้อาเจียน
สรรพคุณที่ดีอีกอย่างของ ขิงคือ แก้คลื่นไส้อาเจียน ยืนยันว่าภูมิปัญญาจีนนั้นถูกต้องในการใช้ขิงแก้คลื่นไส้อาเจียนจากการ  แพ้ท้อง และจากการเมาเรือ โดย ปัจจุบันการศึกษาพบว่าขิงสามารถ ลดความรุนแรงและความถี่ในการ เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนจากการเมารถเมาเรือ และแพ้ท้อง แล้วยังได้ผลบ้างในการคลื่นไส้อาเจียน หลังการผ่าตัด และการใช้เคมีบำบัด โดยมีรายงานการศึกษา ๒ ชิ้น ที่ ศึกษาถึงประสิทธิภาพของขิงในการป้องกันอาการเมารถเมาเรือ

การศึกษาแรกศึกษาในทหาร เรือในประเทศเดนมาร์ก ๘๐ คน พบว่า ๔๐ คนที่กินขิงผง ๑ กรัม ก่อนออกเดินเรือ ไม่มีคนที่เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนเลย ส่วนคนที่ไม่ได้กินขิงผงมี ๕ คนที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียน 
ในการศึกษาที่ ๒ การศึกษา ในนักท่องเที่ยวชาวนอร์เวย์ที่ท่องเที่ยวทางเรือ พบว่าร้อยละ ๘๐ ของนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้กินยา อะไรเลยมีอาการเมาเรือ แต่กลุ่มที่กินขิงผงก่อนออกเดินทาง ๔ ชั่วโมงมีอาการคลื่นไส้อาเจียนน้อยกว่าร้อยละ ๑๐
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาถึงการใช้ขิงในการแก้เมารถเมาเรือเปรียบเทียบกับยาแก้เมารถเมาเรือ แผนปัจจุบัน คือ ไดเมนไฮดริเนต (dimenhydrinate) โดยให้อาสาสมัครกลุ่มหนึ่งกินขิงผง ๙๔๐ มิลลิกรัม ส่วนอีกกลุ่มกินไดเมน-ไฮดริเนต ๑๐๐ มิลลิกรัม แล้วนำอาสาสมัครมานั่งเก้าอี้หมุนที่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ที่สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียนได้ แล้วเก้าอี้จะหยุดหมุน
เมื่ออาสาสมัครเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน จากการศึกษาพบว่ากลุ่ม อาสาสมัครที่กินขิงสามารถนั่งอยู่บน เก้าอี้หมุนได้นานกว่าร้อยละ ๕๗ จากการวิจัยนี้ นักวิจัยจึงแนะนำว่าการกินขิงแคปซูล ชาขิง หรือน้ำขิง จะช่วยป้องกันอาการคลื่นไส้ อาเจียนจากการเมารถเมาเรือได้

เภสัชตำรับของประเทศเยอรมนี แนะนำให้ใช้ขิงสำหรับการป้องกันและรักษาอาการคลื่นไส้อาเจียนจากการเมารถเมาเรือ
มีการศึกษาของนักวิจัยชาวเดนมาร์ก ในการใช้ขิงแก้แพ้ท้อง โดยทำการศึกษาในหญิงที่มีครรภ์ ๓๐ คน โดยแบ่งเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้ขิง ๔ วันแล้วเปลี่ยนไปให้ยาหลอก ๔ วัน ส่วนอีกกลุ่ม ให้ยาหลอก ๔ วันแล้วเปลี่ยนไปให้ขิง ๔ วัน โดยผู้ป่วยไม่ทราบว่า ตนได้กินขิงหรือยาหลอก พบว่าร้อยละ  ๗๐ ของหญิงมีครรภ์มีอาการแพ้ท้องเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเวลาที่กินขิง ผู้วิจัยจึงแนะนำให้หญิงที่แพ้ท้องกินขิงเป็นยาแก้แพ้ท้องแทนยาแก้แพ้ ท้องชนิดอื่นๆ เนื่องจากขิงมีความ ปลอดภัยกว่า แต่อย่างไรก็ตาม ขิงเป็นยาร้อนซึ่งในทางการแพทย์ตะวันออกเชื่อว่ายาร้อนทำให้มีประจำเดือน จึงมีความเป็นห่วงกันว่าขิงอาจจะทำให้แท้งได้หรือไม่ ซึ่งมีรายงานว่าขิงจะมีผลต่อมดลูก หรือไม่นั้นขึ้นกับปริมาณที่กิน แต่ ในปัจจุบันยังไม่พบรายงานการแท้งจากการกินขิง

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาใน ประเทศสหรัฐอเมริกาถึงประสิทธิภาพของขิงในการลดอาการคลื่นไส้ อาเจียนหลังผ่าตัด การใช้ยาแก้อาเจียนแผนปัจจุบันในผู้ป่วยกลุ่ม นี้เป็นปัญหาสำคัญในวงการแพทย์ ยุคปัจจุบัน ถึงแม้จะมีการให้ยาแก้อาเจียนแก่คนไข้ก่อนผ่าตัด  แต่ก็มีคนไข้ถึงร้อยละ ๓๐ ที่ยัง คงมีอาการคลื่นไส้อาเจียน และผล ข้างเคียงจากยาก็เป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์สำหรับคนไข้และแพทย์
การศึกษาโดยมีการคัดเลือก กลุ่มผู้ป่วยเข้ารับการศึกษาแบบสุ่ม (randomization) มีจำนวนทั้งสิ้น ๖๐ คน แบ่งคนไข้ออกเป็น ๒ กลุ่มโดยวิธีสุ่มเช่นกัน กลุ่มแรกได้รับน้ำขิง ที่ปรุงจากเหง้าขิง ๕ กรัม กลุ่มที่ ๒ ได้รับยาแก้อาเจียน เมโทโคลพราไมด์ (metoclopra-mide) ขนาด ๑๐ มิลลิกรัม คน ไข้และผู้ที่ให้ยาไม่ทราบว่ายาที่ตนให้หรือได้รับเป็นขิงหรือยาเมโท-โคลพราไมด์ โดยให้ผู้ป่วยกินก่อน ผ่าตัด ผลการศึกษาพบว่า ในกลุ่ม ผู้ป่วยที่ดื่มน้ำขิงจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนน้อยกว่าในกลุ่มที่ได้รับยา แก้อาเจียน (พบว่าขิงมีสารสำคัญชนิดหนึ่ง ซึ่งออกฤทธิ์ต้านการคลื่นไส้อาเจียน) ถึงแม้ว่าผลการรักษาในทั้ง ๒ กลุ่ม (กลุ่มที่ได้รับ ขิงและยาแก้อาเจียนแผนปัจจุบัน) จะยังไม่เป็นที่น่าพอใจ แต่การใช้ขิงเพื่อป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียน หลังผ่าตัดก็ยังคงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เนื่องจากในกลุ่มคนไข้ที่ใช้ขิงไม่พบรายงานการเกิดอาการอันไม่พึงประสงค์
นอกจากนี้หมอที่ใช้เคมีบำบัด (ในการรักษาโรคมะเร็ง) ยังแนะนำ ว่าอาจใช้ขิงในการป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียนจากการใช้เคมีบำบัดได้ด้วย
โรคหัวใจและหลอดเลือด
ขิงจะไปมีผลต่อ ๒ ปัจจัยที่มีผลต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ปัจจัยแรกคือการเผาผลาญโคเลส-เตอรอล อีกปัจจัยหนึ่งคือการทำ งานของเกล็ดเลือด ในส่วนที่เกี่ยว กับโคเลสเตอรอลนั้น ขิงไปยับยั้งการเกิดออกซิเดชันของแอลดีแอล (LDL) ซึ่งเป็นโคเลสเตอรอลตัว ร้าย เพราะถ้าเจ้าแอลดีแอลเกิดออกซิเดชันแล้วจะไปกระตุ้นให้เกิด ลิ่มเลือดได้ง่าย ทำให้หลอดเลือดมีสิทธิอุดตันได้ง่ายเช่นกัน มีการศึกษาในหนู โดยให้หนูกินขิงวันละ ๑ ช้อนชาทุกวัน จะไปเพิ่มการเปลี่ยนแปลงของโคเลสเตอรอลให้ เป็นกรดน้ำดีแล้วขับออกทางอุจจาระ ผลต่อเกล็ดเลือดพบว่าขิงยับยั้งเอนไซม์ที่เป็นตัวสร้างสารทรอม-โบเซน (thromboxane) ซึ่ง ทรอมโบเซนตัวนี้จะถูกปล่อยออก มาจากเกล็ดเลือด และมีผลต่อการแข็งตัวของเลือด ปัจจุบันแม้ยังไม่พบว่าต้องกินขิงในปริมาณที่เท่าใดจึงจะช่วยในการป้องกันหลอดเลือดโรคหัวใจอุดตันได้ แต่ ก็มีรายงานว่าผู้ที่กินขิงร่วมกับอาหาร สุขภาพสามารถป้องกันการเกิดโรค หลอดเลือดหัวใจอุดตันได้ และ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าขิงสามารถ ลดความดันเลือดได้ด้วย
โรคแผลในกระเพาะอาหาร
มีการวิจัยว่าการที่ชาวจีนเชื่อว่าขิงรักษาโรคกระเพาะอาหารได้นั้น มีผลจากการทดลองในสัตว์ทดลอง โดยใช้สารที่กระตุ้นให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร พบว่ากลุ่มที่ได้รับ ขิงก่อนให้สารกระตุ้นการเกิดแผลจะสามารถป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ นอกจากนี้ยังพบว่า ขิงสามารถลดการหลั่งของ กรดในกระเพาะอาหาร และลดการ บีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบ ทั้งยังช่วยลดอาการแน่น อืด เฟ้อ เนื่อง จากน้ำมันหอมระเหยที่มีอยู่ในขิง
แม้ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษา ในคนว่าขิงสามารถรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหารได้หรือไม่ แต่มีการศึกษาในคนไข้ ๑๐ รายพบว่าขิงสามารถลดอาการต่างๆที่เกิดจากโรคกระเพาะอาหารได้ แต่อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่ามีบางราย ที่กินขิงเกิดอาการจุกเสียดแน่นได้
แก้ปวดข้อ
ปัจจุบันค้นพบว่ามีสารที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบอยู่ในขิง ซึ่งสนับสนุนการใช้ของคนโบราณในการใช้ขิงแก้ปวดข้อ ปวดเข่า
มีการทดลองในหนูพบว่าฤทธิ์ ลดการปวดและอักเสบของยาที่สกัด จากขิงและข่า เมื่อเปรียบเทียบกับ ยาไอบูโพรเฟน (ซึ่งเป็นยาแก้ข้ออักเสบ) แล้วให้ผลใกล้เคียงกัน
ในประเทศไทย นายแพทย์อุดม วิศิษฎสุนทร ได้ศึกษาใน คนไข้โรคข้อเสื่อม ๒๐ ราย เป็น เวลา ๔ สัปดาห์ โดยให้ยาสกัดจากขิงและข่า ๕๑๐ มิลลิกรัม ต่อ วัน คนไข้ ๑๔ รายตอบว่ายานี้ใช้ ได้ผลดี ๓ รายตอบว่าประทับใจต่อการใช้ยานี้มาก ส่วนอีก ๓ ราย ที่ข้อเข่าเสื่อมมาก ตอบว่าไม่มีประโยชน์ใดๆ
นายแพทย์เสก อักษรานุ-เคราะห์ และแพทย์หญิงจริยา บุญหงษ์ ได้ศึกษาคนไข้ ๔๐ ราย เปรียบเทียบผลการรักษาโรคข้อเข่า เสื่อมโดยใช้ยาไดโคลฟีแน็กกับยาที่สกัดจากขิงและข่านาน ๓ เดือน พบว่าผลการรักษาไม่แตกต่างกัน และไม่พบผลข้างเคียงจากการใช้ยาสกัดจากขิงและข่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลต่อระบบทางเดินอาหาร
ผลข้างเคียงจากการใช้ยาที่สกัดจากขิงและข่าที่อาจพบได้คือ อาการเรอและแน่นท้องบ้าง แต่ไม่พบภาวะพิษต่ออวัยวะอื่น และ ถึงแม้ว่าจะออกฤทธิ์ช้ากว่ายาแผน ปัจจุบันบ้าง แต่ก็มีฤทธิ์ในการช่วย ป้องกันการเสื่อมสลายของกระดูก อ่อนด้วย
แก้ปวดประจำเดือน
ขิงจะช่วยคลายกล้ามเนื้อเรียบ ทั้งในมดลูกและทางเดินอาหาร  ดังนั้น ขิงจึงช่วยในการบรรเทาอาการปวดประจำเดือน
ต้านอนุมูลอิสระช่วยชะลอความชราของเซลล์
ปัจจุบันค้นพบว่าขิงมีสารที่สามารถต้านอนุมูลอิสระอย่างแรง ซึ่งสามารถกินเป็นอาหารเสริมสุขภาพเพื่อชะลอความชราของเซลล์ต่างๆ ในร่างกายได้ (เป็นที่ทราบกันดีว่า ถ้าร่างกายมีอนุมูลอิสระมากเกินไป (เช่น มีการเผาผลาญภายในร่างกายมาก ได้รับแสงแดด ควันบุหรี่ มลพิษ) อาจ ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจและสมองตีบ มะเร็ง ต้อกระจก ข้อเสื่อมก่อนวัยอันควร)

ปัจจุบันในตลาดต่างประเทศ มีการผลิตขิงเป็นอาหารเสริมสุขภาพจำหน่าย

ตำรับยาจากขิง
๑. ขิงแก้หวัดแก้ไอ
ใช้เหง้าขิงสดอายุ ๑๑-๑๒ เดือน ขนาดเท่าหัวแม่มือ หนักประมาณ ๕ กรัม ทุบให้แตก  แล้วต้มเอาน้ำมาดื่ม ถ้ามีอาการไอร่วมด้วยก็อาจผสมน้ำผึ้งในน้ำขิง  หรืออาจเหยาะเกลือลงในน้ำขิงเล็กน้อยหากมีอาการไอร่วมกับเสมหะ เกลือจะทำให้ระคายคอและขับเสมหะที่ติดในลำคอออกมา จิบน้ำขิง  บ่อยๆ แทนน้ำ รับรองอาการหวัดหายเป็นปลิดทิ้ง
๒.ขิงแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ จุก เสียดแน่น แก้ปวดท้อง
นำขิง ๓๐ กรัม ชงกับน้ำเดือด ๕๐๐ มิลลิลิตร แช่ทิ้งไว้ ๑ ชั่วโมง ดื่มครั้งละ ๒ ช้อนโต๊ะ (๖๐ มิลลิลิตร)
๓. ขิงแก้ไอ
ใช้เหง้าสดประมาณ ๖๐ กรัม น้ำตาลทรายแดง ๓๐ กรัม ใส่น้ำ     ๓ แก้ว นำไปต้มเคี่ยวให้เหลือครึ่งแก้ว แล้วจิบตอนอุ่นๆ หรือใช้ฝนกับมะนาวแทรกเกลือใช้กวาดคอหรือจิบบ่อยๆ ในกรณีที่ต้องการใช้   ขับเสมหะ คั้นน้ำขิงสดประมาณครึ่งถ้วย ผสมน้ำผึ้ง ๓๐ กรัม อุ่นให้ ร้อนก่อนดื่ม ส่วนในรายที่ไอเรื้อรัง ใช้น้ำผึ้งประมาณ ๕๐๐ กรัม   น้ำคั้นจากเหง้าสดประมาณ ๑ ลิตรนำมาผสมกันแล้วเคี่ยวในกระทะทองเหลือง (ถ้าไม่มีอาจใช้กระทะสแตนเลสที่ทนกรดทนด่างได้ แต่  ไม่ควรใช้กระทะเหล็ก) จนน้ำระเหยไปหมดจึงนำมาปั้นเป็นลูกกลอนเท่าเม็ดลูกพุทราจีน ให้อมกินครั้งละ ๑ เม็ด วันละ ๓ ครั้ง
๔.ทาปวดข้อ
ใช้น้ำคั้นจากเหง้าสด ผสมกาวหนังวัว เคี่ยวให้ข้น นำไป พอกบริเวณที่ปวด หรือใช้เหง้าสดย่างไปตำ ผสมน้ำมัน มะพร้าวใช้ทาบริเวณที่ปวด
๕. แก้คลื่นไส้ อาเจียน
ขิงสด ๓๐ กรัมสับให้ละเอียด  ต้มดื่มขณะท้องว่าง

๖.แก้ปวดประจำเดือน
ขิงแห้ง ๓๐ กรัม น้ำตาลอ้อย (หรือน้ำตาลทรายแดง) ๓๐ กรัม ต้มน้ำดื่ม
๗.เด็กเป็นหวัดเย็น
เอาขิงสดและรากฝอยต้นหอมตำรวมกัน เอาผ้าห่อคั้นเอา แต่น้ำทาที่คอ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หน้าอก และหลังของเด็ก
๘. ผมร่วงหัวล้าน
ใช้เหง้าสด นำไปผิงไฟให้อุ่น ตำพอกบริเวณที่ผมร่วง วันละ ๒ ครั้ง สัก ๓ วัน ถ้าเห็นว่า ดีขึ้นอาจจะใช้พอกต่อไปจน กว่าผมจะขึ้น

ข้อควรรู้-ข้อควรระวัง
 ๑. หญิงมีครรภ์ไม่ควรกินมาก เพราะในทางการแพทย์ตะวันออกจัดว่าขิงเป็นยาร้อน การแพทย์ตะวันออกเชื่อว่าการกินยาร้อนมากเกินไปอาจทำให้แท้งได้ เช่น คนสมัยก่อนจะใช้ขิง ดีปลี กระเทียม ดองเหล้าเป็นยาขับประจำเดือน
 ๒. การต้มน้ำขิงด้วยความร้อนจะทำให้สารสำคัญบางอย่างที่ออกฤทธิ์รักษาอาการปวดข้อสลายตัวไปได้
 ๓. ถ้าใช้น้ำสกัดจากขิงที่เข้มข้นมากๆ แทนที่จะช่วยแก้อาการท้องอืดเฟ้อ จุกเสียด จะมีฤทธิ์ตรงข้ามคือไประงับการบีบตัวของลำไส้จนอาจถึงกับหยุดบีบตัวไปเลย
 ๔. เคล็ดลับในการต้มน้ำขิงให้หอมอร่อย คือ ให้ใช้เวลาต้มสั้นๆ ไม่เกิน ๒-๕ นาที เพราะกลิ่นของขิงจะหายไปหมดหากตั้งไฟนาน
 ๕. คนที่เป็น" หวัดเย็น " คือ รู้สึกหนาว มีไข้ต่ำ ไม่ค่อยมีเหงื่อ เสมหะเหลวใส ลองดื่มน้ำขิงต้มร้อนควันฉุย จะช่วยให้อาการดีขึ้น
 ๖. คนที่เป็น" หวัดร้อน " คือ มีอาการปวดหัว ตัวร้อน เหงื่อออก คอแห้ง เจ็บคอ เสมหะเหนียวข้น สีออกเหลืองนั้น ขิงไม่เพียงช่วยไม่ได้ แต่ยังอาจทำให้อาการทรุดลงด้วย
 ๗. การกินให้ปลอดภัย ควรซื้อแบบเป็นแง่งจะดีกว่าแบบซอยมาให้แล้ว เพราะเสี่ยงกับการได้รับสารฟอกขาวจำพวกซัลไฟต์ แต่ถ้าจำเป็นให้เลือกซื้อ ขิงซอยที่มีสีขาวอมชมพูเล็กน้อย จะปลอดภัยกว่าสีขาวซีดหรือเหลืองจัด
 ๘. ไม่ควรใช้ขิงในผู้ที่มีนิ่วในถุงน้ำดี เนื่องจากขิงมีฤทธิ์ขับน้ำดี ถ้าหากจะใช้ขิงจึงควรระมัดระวังในการใช้และอยู่ในความดูแลของแพทย์
 ๙. การใช้ขิงในขนาดสูง อาจเพิ่มฤทธิ์การรักษาของยาละลายลิ่มเลือด ดังนั้นผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการจับตัวของเกล็ดเลือด ควรระมัดระวังการ   กินขิง และควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
 ๑๐. การกินขิงในขนาดสูง อาจเกิดอาการหัวใจเต้นไม่ปกติ เนื่องจากฤทธิ์การกดประสาทส่วนกลางของขิง
 ๑๑. ขิงอาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ จึงควรระมัดระวังการใช้ในคนที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร

ข้อมูลอ้างอิง
๑. วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. พจนานุกรมสมุนไพรไทย.
๒. วีรชัย มาศฉมาดล. ผัก อาหารก็เป็นยาได้.
๓. ธีระ ฤทธิรอด, ประภาวดี พัวไพโรจน์, ศุภชัย ติยวรนันท์. ยาสกัดจากขิงและข่า : ทางเลือกใหม่ของการรักษาข้อเข่าเสื่อม. วารสารคลินิก. ธันวาคม ๒๕๔๔.
๔. คณะทำงานโครงการหนูรักผักสีเขียว สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย. มหัศจรรย์ผัก ๑๐๘. พิมพ์ครั้งที่ ๒. มีนาคม ๒๕๔๑.
๕. Herbs for Health. มกราคม/กุมภาพันธ์ ๒๐๐๑.
๖. Jill Norman. The complete book of spices : a practical guide to  spices & aromatic seeds.
๗. Michael Castleman. The new healing herbs : The classic guide to naturežbest medicines.
๘. Mirlam Polunin, Christopher Robbins. The Natural Pharmacy : an  encyclopedic illustrated guide to medicines from nature.
๙. Mark Stengler. The natural physician : your health guide for  common ailments.

 

 

 

 

ข้อมูลสื่อ

283-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 283
พฤศจิกายน 2545
ภกญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร