• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ใช้ "ช้อนกลาง" และ "ล้างมือ" ป้องกันโรคได้

การป้องกัน คือการรักษาที่ดีที่สุด
 ในสุขบัญญัติแห่งชาติว่าด้วยเรื่องสุขภาพ ๑๐ ประการ
มีการพูดถึง "ล้างมือให้สะอาดก่อนกินอาหารและหลังการขับถ่าย"

ทำไมต้อง "ล้างมือ"
ช่วงเวลาวันหนึ่งๆ มือของคนเราทำกิจกรรมต่างๆ มากมาย อาจเป็นสาเหตุทำให้มือสกปรกและเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค ไม่ว่าจะเป็นการหยิบจับดินสอหรือปากกาเพื่อเขียนหนังสือ เป็นต้น

มือนำเชื้อโรคอะไรได้บ้าง
๑. พยาธิต่างๆ
ใครก็ตามที่มีพยาธิอยู่ในร่างกาย ไข่พยาธิจะปนเปื้อนมาในอุจจาระ เมื่อสัมผัสกับอุจจาระแล้วไปสัมผัสกับอาหาร อาหารนั้นก็จะถูกปนเปื้อนและติดต่อไปยังผู้ที่กินอาหารนั้นได้ หรือถ้าผู้นั้นใช้มือหยิบอาหารเข้าปาก ก็จะทำให้ได้รับไข่พยาธิซ้ำลงไปอีก
๒. แบคทีเรีย
เชื้อชนิดนี้มักอยู่บริเวณแผล ฝี หนอง และตามจมูก หากนิ้วมือเป็นแผลมีฝีหนอง แล้วใช้มือสัมผัสอาหาร ก็อาจทำให้เกิดการปนเปื้อนลงสู่อาหารได้ หรือการใช้มือจับ หรือสัมผัสฝี หนอง รวมทั้งแคะจมูก เชื้อนี้ก็จะติดมากับมือ
๓. เชื้อโรคอื่นๆ
บรรดาเชื้อโรคที่สามารถแพร่กระจายโดยอุจจาระ ได้แก่ เชื้ออหิวาตกโรค ไข้ไทฟอยด์ เมื่อใช้มือสัมผัส   อุจจาระ อาจทำให้เชื้อโรคปนเปื้อนสู่อาหาร เกิดการระบาดของโรคสู่ผู้อื่น

ดังนั้น วิธีการป้องกันโรคต่างๆ ก็คือ การล้างมือที่สะอาด ก่อนหยิบจับอาหาร หรือหลังจากจับสิ่งสกปรกต่างๆ

การล้างมือ ๗ ขั้นตอน
หลังใช้ห้องน้ำห้องส้วม หลังสัมผัสสิ่งสกปรก ก่อนเตรียมปรุงอาหาร ก่อนกินอาหาร จะต้องล้างมือด้วยน้ำและสบู่ ทุกขั้นตอนทำ ๕ ครั้ง สลับกันทั้ง ๒ ข้าง ดังต่อไปนี้
๑. ฝ่ามือถูกัน

                                                  

๒. 
ฝ่ามือถูหลังมือและนิ้วถูซอกนิ้ว
๓. ฝ่ามือถูฝ่ามือและนิ้วถูซอกนิ้ว

                                                 

๔. 
หลังนิ้วมือถูฝ่ามือ

                                                 

๕. 
ถูนิ้วหัวแม่มือโดยรอบด้วยฝ่ามือ

                                                  

๖. 
ปลายนิ้วหัวแม่มือถูขวางฝ่ามือ

                                                  

๗. 
ถูรอบข้อมือ

                                                 

การล้างมือที่ถูกสุขลักษณะสามารถป้องกันโรคในตนเองและผู้อื่น

ทำไมต้องใช้ "ช้อนกลาง"
จากการสำรวจสภาวะอาหารและโภชนาการของประเทศไทย ปี พ.ศ. ๒๕๔๖ พบว่ามีครอบครัวที่ใช้ช้อนกลางอย่างถูกต้องเพียงร้อยละ  ๔๓.๔ เท่านั้น

ในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ มีการสำรวจร้านอาหาร พบว่าไม่มีการเสิร์ฟช้อนกลางให้แก่ลูกค้ามากถึงร้อยละ ๓๑.๕  ส่วนที่มีการเสิร์ฟหรือมีไว้ประจำโต๊ะ รวมทั้งไว้บริการตนเอง รวมร้อยละ ๖๘.๕

จากข้อมูลพบว่า ร้านอาหารและ  ผู้บริโภคละเลย การใช้ช้อนกลางตักอาหาร มีสาเหตุมาจากขาดความรู้ ไม่คุ้นเคยในการใช้ เพราะหลายคนกลัวถูกมองว่าการใช้ช้อนกลางตักอาหารกับเพื่อนฝูงทำให้ขาดความสนิทสนมกันในกลุ่ม
เพียงแค่กินอาหารร่วมกันก็ติดโรคได้ ถ้าไม่ใช้ช้อนกลาง

มีโรคติดต่อหลายชนิดที่ติดผ่านทางน้ำลาย จะมีโอกาสเสี่ยงในการ    ได้รับเชื้อโรคที่ออกมา เช่น คอตีบ วัณโรค โปลิโอ คางทูม ไวรัสตับอักเสบชนิดบี ไข้หวัดใหญ่ รวมทั้งเสี่ยงกับโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่พบในน้ำลายอื่นๆ

มีโรคที่ติดต่อผ่านทางอาหารและน้ำเป็นสื่อได้ เช่น ไวรัสตับอักเสบชนิดเอ

เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคที่อาจ   ปนเปื้อนมากับน้ำลายของผู้ที่กินอาหารร่วมกัน จึงควรใช้ช้อนกลางตักแบ่งอาหารจากสำรับกับข้าวมาใส่จานตนเอง
    
ช้อนกลาง "กำแพงกั้นเชื้อโรค"
ช้อนกลางคือ ช้อนที่อยู่บนอาหารแต่ละจาน หรือแต่ละถ้วย แล้วผู้ที่กินอาหารใช้ช้อนกลางตักอาหารที่จะกินไปไว้ในภาชนะของตนเองก่อน ไม่ใช่การนำ "ช้อนกลาง" ตักอาหารใส่ปากตนเอง

ช้อนกลางเปรียบเสมือน "กำแพงกั้นเชื้อโรค" ไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย และการใช้ช้อนกลางช่วยลดการปนเปื้อนเชื้อโรคจากน้ำลายลงสู่อาหาร ทำให้อาหารบูดเสียได้ช้าลง หรืออาจจะไม่บูดเสียเลย

นอกจากนี้ ช้อนกลางช่วยลดความรังเกียจในการใช้อุปกรณ์ร่วมกันด้วย ถือเป็นมารยาททางสังคมที่ดีอีกอย่างหนึ่ง

การใช้ช้อนกลางเป็นเรื่องของพฤติกรรมการกินที่ถูกสุขลักษณะ เหมาะสำหรับการกินอาหารร่วมกันหลายคน ทั้งในครัวเรือนของตนเอง และ/หรือผู้อื่นตามงานเลี้ยง ภัตตาคาร ร้านอาหารต่างๆ 
    
วิธีการใช้ "ช้อนกลาง"
เนื่องจากมีบางคนอาจไม่คุ้นเคยกับการใช้ช้อนกลาง  มีข้อแนะนำดังนี้
๑. เตรียมช้อนสะอาด หรืออุปกรณ์ที่เหมาะกับชนิดของอาหารให้ครบตามจำนวนชนิดของอาหารที่จะกินอย่างน้อย ๑ คันต่ออาหาร ๑ ชนิด
๒. ใช้ช้อนกลางที่เตรียมไว้ตักอาหารในสำรับอาหาร (กับข้าว) มาใส่ที่จานข้าว หรือถ้วยแบ่งของตนเอง
๓. ห้ามใช้ช้อนกลางตักอาหารในสำรับเข้าปากโดยตรง

รูปแบบและประเภท "ช้อนกลาง"
ช้อนกลางควรมีด้ามยาวที่เหมาะสม พ้นขอบภาชนะ หยิบจับสะดวก ใช้งานได้สะดวกตามประเภทชนิดของอาหาร
๑. ช้อนกลางชามแกง ต้ม นึ่ง
๒. ช้อนกลางจานผัด ทอด ย่าง
๓. ช้อนกลางอาหารเส้น
๔. ช้อนกลางเครื่องปรุงรส

ลักษณะที่ดีของ "ช้อนกลาง"
ช้อนที่นำมาใช้สำหรับเป็นช้อนกลาง ควรมีลักษณะ ดังนี้
๑. ช้อนกลางต้องทำด้วยวัสดุที่คงทน แข็งแรง ไม่แตกหัก เช่น สแตนเลส
๒. ต้องทำด้วยวัสดุที่ไม่เป็นพิษ หรือก่อให้เกิดพิษ หรือมีสีเคลือบที่หลุดลอกออกได้ง่าย เมื่อถูกความร้อน ความเปรี้ยว และเค็มของอาหาร เช่น ช้อนสังกะสีเคลือบ ตะเกียบเคลือบสี
๓. รูปแบบ/รูปทรง
- ทำความสะอาดได้ง่าย ไม่มีซอกมุม หรือรอยต่อที่ทำความสะอาดได้ยาก สามารถใช้ได้เหมาะสมกับชนิดและประเภทของอาหาร
- บริเวณด้ามจับต้องไม่มีโอกาสสัมผัสกับอาหารได้ง่าย เช่น ด้ามไม่สั้นเกินไป เมื่อวางบนภาชนะต้องพ้นขอบภาชนะ ไม่ล่วงหล่นลงไปในอาหาร (ส่วนที่ตักอาหารจะมีขนาด/ลักษณะที่ไม่เหมาะที่จะตักอาหารเข้าปากโดยตรง)

การล้างมือและการใช้ช้อนกลาง เป็นสุขนิสัยส่วนบุคคล ที่ปฏิบัติได้แล้ว นอกจากจะส่งผลดีต่อสุขภาพของตนเอง ยังส่งผลต่อสุขภาพของคนใกล้ชิดอีกด้วย

หันมาใช้ "ช้อนกลาง" ในการกินอาหารทุกครั้ง และ "ล้างมือ" เพื่อสุขภาพที่ดีกันเถอะ 

ขอขอบคุณที่เอื้อเฟื้อข้อมูล
๑. กองสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
๒. ศูนย์ควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

    

 

ข้อมูลสื่อ

322-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 322
กุมภาพันธ์ 2549
บทความพิเศษ
คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล