• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โยคะ กับ ความอ้วน (๒)

คราวที่แล้ว เราได้คุยกันไปถึงเทคนิคโยคะ ที่เน้นถึงการศึกษา ทำความเข้าใจตนเอง ซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำคัญยิ่งในการที่เราจะดูแลตนเอง ไม่ว่าในแง่มุมใด ทางกาย ทางจิต รวมทั้งการลดความอ้วน พูดง่ายๆ ก็คือว่า เราจะจัดการตนเองได้อย่างไร ถ้าเรายังไม่รู้เลยว่า ในตัวเราเองนั้น อะไรเป็นอะไร

ความอ้วนสัมพันธ์โดยตรงกับอาหาร ดังนั้นเวลาทำความเข้าใจตนเองต่อเรื่องความอ้วน เราก็จะพิจารณากันที่ระบบย่อยอาหาร รวมถึงการดูดซึม สารอาหารด้วย

เมื่อเอ่ยถึงระบบย่อยอาหาร หลายคนมักนึก ถึงกระเพาะอาหารเป็นสิ่งแรก กระเพาะอาหารของมนุษย์ทำงานโดยอัตโนมัติ กล่าวคือ นอกเหนือการ ควบคุมของตัวเอง ทำให้คนเป็นจำนวนมาก เชื่อว่า เราไม่สามารถควบคุมเรื่องความอ้วนได้ ใครก็ตามที่ เชื่อเช่นนี้ ก็ยากที่จะควบคุมความอ้วนของตนเองได้ เพราะเริ่มต้นก็แพ้เสียแล้ว

ระบบย่อยอาหารเริ่มต้นที่ปากต่างหาก อวัยวะ ส่วนแรกในระบบย่อยอาหารของมนุษย์คือฟัน และการย่อยอาหารส่วนแรกของการกินอาหารคือการเคี้ยว โชคดีเสียนี่กระไรที่การเคี้ยวอยู่ในระบบประสาท ควบคุมได้
การเคี้ยวมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อระบบ ย่อยอาหาร การเคี้ยวที่ดี การเคี้ยวอย่างเหมาะสม เอื้อต่อการทำงานของระบบย่อยอาหาร เอื้อต่อสุขภาพตนเอง และเอื้อต่อการควบคุมความอ้วน

ก่อนที่จะกล่าวถึงการเคี้ยวที่เหมาะสม ลองมาพิจารณาการเคี้ยวที่ไม่เหมาะสมกันก่อนก็แล้วกัน ทุกวันนี้การกินอาหารของมนุษย์เปลี่ยนรูปแบบไปมาก ในสมัยโบราณการหาอาหารประกอบด้วยกระ-บวนการต่างๆ มากมาย ทั้งกสิกรรม ทั้งการล่า กว่า จะได้กินแต่ละมื้อนั้นยากลำบาก ทำให้ผู้กินมีความประณีต พิถีพิถันในการกิน แต่ในทุกวันนี้ การกินอาหารเป็นเรื่องที่สะดวกสบาย จนผู้กินจำนวนมากไม่ใส่ใจการกินแต่อย่างใด หลายคนกินอาหารไป อ่านหนังสือไป บ้างกินไปคุยไป บางคนเร่งรีบมาก กินอาหารด้วยความเร็ว เพื่อไปทำธุระอื่น ลักษณะการกินเหล่านี้ส่งผลต่อระบบย่อยอาหารก็คือ ขาดการเคี้ยวที่เหมาะสม

ดังนั้น เทคนิคโยคะที่แนะนำเพื่อจัดการกับความอ้วนฉบับนี้ก็คือ การมีสติรู้อยู่กับการเคี้ยวอาหาร และการเคี้ยวอาหารด้วยจำนวนครั้งที่เพียง พอ กล่าวคือ ในอาหาร ๑ คำ ให้เคี้ยวอย่างน้อย ๓๐ ครั้ง ก่อนที่จะกลืนลงสู่กระเพาะอาหาร
การเคี้ยวอาหาร ๓๐ ครั้งต่อคำ เป็นการให้เวลาเพียงพอที่จะทำให้อาหารคำนั้น ถูกบด ฉีก จน ละเอียดในปากก่อนจะกลืน ตามหน้าที่ของปากและ ฟัน (อย่าลืมว่ากระเพาะอาหารไม่มีฟันที่จะบดฉีกอาหาร) คนที่ไม่นิยมการนับ ให้ใช้หลักว่า อาหารที่ อยู่ในปากนั้นต้องถูกเคี้ยวจนทั้งหมดมีลักษณะเป็นของเหลวเสียก่อนที่จะกลืน มิใช่กลืนอาหารทั้งที่มัน ยังมีลักษณะเป็นเม็ดข้าว เป็นชิ้นผัก หรือเป็นชิ้นเนื้อ อยู่เลย
การเคี้ยวจนอาหารเป็นของเหลว ช่วยจำกัดปริมาณน้ำขณะกินให้พอดี ไม่มากเกินความจำเป็น ของร่างกาย ซึ่งไปลดทอนประสิทธิภาพในการย่อยอาหาร

ที่สำคัญมาก การเคี้ยวอาหารอย่างน้อย ๓๐ ครั้งต่อคำ ทำให้น้ำลายมีเวลาทำหน้าที่หลักของมัน คือย่อยอาหารจำพวกแป้งได้อย่างเพียงพอ การเคี้ยว นานครั้งนี้ ทำให้ร่างกายดูดซึมคาร์โบไฮเดรตได้เร็ว ขึ้น ส่งผลให้เรารู้สึกอิ่มได้เร็วขึ้น เป็นการยับยั้งไม่ให้ กินอาหารมากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ ซึ่งเป็น อันตรายอย่างยิ่งต่อความอ้วน

มาถึงตรงนี้ บางคนอาจมีคำถามว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น เราเคี้ยวอาหารมากกว่าคำละ ๓๐ ครั้ง ได้หรือไม่ คำตอบคือ ได้เลย และยิ่งเคี้ยวมากเท่าใด ยิ่งดีต่อตนเองมากเท่านั้น ลองดูตารางข้างล่างนี้
เราขอย้ำว่า การปฏิบัติโยคะไม่ใช่อิทธิฤทธิ์ ไม่ใช่เรื่องเร้นลับพิสดาร ในทางตรงกันข้าม การ   ฝึกโยคะคือ วิถีปกติแห่งความเป็นมนุษย์ โดยทำอย่างไรให้วิถีนั้นเป็นไปอย่างมีสติ เป็นไปอย่างรู้ เท่าทันธรรมชาติ (ธรรมชาติของระบบย่อยอาหาร ธรรมชาติของอาหาร) เป็นไปอย่างสมดุล และความยากของโยคะมิได้อยู่ที่การดัดร่างกายให้ดูพิลึก  แต่อยู่ที่การฝึกให้สติรวม รู้อยู่ตลอดเวลา การมี สติขณะที่ฝึกท่าโยคะนั้นเป็นสิ่งสำคัญ แต่สำหรับ กรณีของการใช้เทคนิคโยคะมาจัดการความอ้วนนั้น การมีสติรู้ขณะที่เคี้ยวอาหารสำคัญกว่า สำคัญกว่ามาก

ดังนั้น การฝึกโยคะที่ถูกต้อง คือ การมีความเข้าใจถูกต้อง (ย้อนกลับไปเทคนิค สวัสดิยายะ ของ คราวที่แล้ว) ประกอบกับการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ จนเป็นนิสัย เมื่อเราเข้าใจตามนี้ เราก็จะพบว่า ในเบื้องต้น เหตุที่จะชี้ขาดความสำเร็จของการควบคุม ตนเอง การจัดการความอ้วนจึงอยู่ที่ตนเองและตนเองเท่านั้น หาได้อยู่ที่อาสนะท่าใด ยาขนานใด คุณหมอท่านใด หรือคลินิกใดไม่

ข้อมูลสื่อ

285-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 285
มกราคม 2546
โยคะ
กวี คงภักดีพงษ์