• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การดูแลรักษาผู้ป่วยที่หมดหวัง (ตอนที่ ๓)

รายที่ ๒ : ผู้ป่วยหญิงอายุประมาณ ๔๐ ปี มาที่ห้องฉุกเฉินด้วยอาการหอบเหนื่อยมา ๑ วัน ผู้ป่วยเป็นคนไข้ ประจำที่ห้องฉุกเฉิน ในระยะหลังนี้มาบ่อย เพราะหอบเหนื่อย เป็นๆหายๆ ผู้ป่วยเป็นมะเร็งที่เต้านมเมื่อประมาณ ๘ ปีก่อน แต่ปฏิเสธการผ่าตัดเต้านมทิ้ง และเมื่อได้รับยาฆ่ามะเร็งก็ทนพิษของยาไม่ไหว คลื่นไส้ อาเจียนมาก รู้สึกเหมือนกำลังจะตายเวลาได้ยา หลังได้ยาไป ๒-๓ ครั้ง ก็ขอกลับบ้าน และไม่ยอมกลับมารักษาต่อ

หลังจากนั้น ผู้ป่วยก็ตระเวน ไปรักษากับหมอพระ หมอสมุนไพร หมอผี และหมออื่นๆ จนสุดท้ายไปรักษากับหมอทรงเจ้าที่สำนักเจ้าแม่กวนอิมแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ และได้ยาลูกกลอนมากินวันละประมาณ ๒๐ เม็ด ไปครั้งหนึ่งก็ได้ยามาห่อใหญ่ กินไปได้ ๒-๓ เดือน พอยาหมดก็ไปเอาใหม่ หมอทรงเจ้าไม่ได้คิดค่าตรวจและค่ายา แล้วแต่คนไข้จะบริจาคใส่กล่อง ตามแต่ศรัทธา มีคนไปหามากพอ สมควร
หมอ : “สวัสดีครับ เหนื่อยมาอีก หรือ”
คนไข้ : “สวัสดีหมอ ก็เหนื่อยน่ะซี ถึงต้องมาหาหมอ ไม่เหนื่อยก็ไม่มาหรอกค่ะ”
หมอ : “อ้าว ไม่ได้กินยาอยู่หรือ แล้วตอนนี้กินยาอะไรอยู่บ้าง”
คนไข้ : “ก็กินยาของเจ้าแม่กวนอิม น่ะแหละ กินอยู่อย่างเดียว และกินมาหลายปีแล้ว แต่ระยะนี้ชักไม่ค่อยไหวแล้วค่ะ เหนื่อยบ่อย ต้องมาให้หมอเจาะน้ำออกอีก” แม้ผู้ป่วยจะไปรักษากับหมอประเภทต่างๆมาหลายแห่ง และมะเร็งได้ลุกลามออกไป จนเต้านม แตกเป็นแผล ต่อมาต่อมน้ำเหลือง ใต้รักแร้และที่คอก็โตขึ้น แล้วต่อมา ได้ลุกลามเข้าปอดและโพรงเยื่อหุ้มปอด (ช่องปอด) ทำให้เกิดน้ำในช่องปอด พอน้ำมีจำนวนมากก็จะเบียดอัดปอดให้แฟบลง ทำให้หอบเหนื่อยมากขึ้น จึงต้องมาโรงพยาบาลเพื่อให้หมอเจาะเอาน้ำในช่องปอดออก เพื่อให้อาการหอบเหนื่อยดีขึ้น
หมอ : “ตกลง เดี๋ยวหมอจะเจาะ น้ำออกให้ แต่หมอก็ช่วยคุณได้เท่านั้นแหละนะ นอกจากคุณอยากจะให้หมอใส่ท่อยางเข้าไปในช่องปอด แล้วลองใส่ยาเข้าไปในช่องปอด ให้เยื่อหุ้มปอดมันอักเสบ แล้วจะได้เกิดพังผืดมายึดเยื่อหุ้มปอดชั้นนอก และชั้นในให้ติดกัน จะได้ไม่มีโพรง หรือช่องให้น้ำเกิดขึ้นได้อีก”
คนไข้ : “ทำอย่างนั้นแล้วมันเจ็บมากไหมล่ะคะ”
หมอ : “ก็ต้องเจ็บบ้าง เพราะต้องผ่าตัดใส่ท่อยางเข้าไปในช่องปอด เพื่อให้น้ำในช่องปอดมันออกมาจนหมดก่อน จึงจะใส่ยาเข้าไปได้ และเมื่อใส่ยาเข้าไปทำให้ช่องปอดอักเสบ อาการเจ็บในอกอาจจะกำเริบขึ้น และอาจจะมีไข้ขึ้นด้วย และคงจะต้องอยู่โรงพยาบาลอย่างน้อย ๔-๕ วัน”
คนไข้ : “ถ้าอย่างนั้นไม่เอาค่ะ ดิฉันอยู่มาตั้ง ๘ ปีแล้ว หมอคนเก่าเคยบอกว่าถ้าไม่ผ่าและใช้ยาฆ่ามะเร็ง คงอยู่ได้ไม่เกิน ๒ ปี นี่ดิฉันอยู่มาตั้ง ๘ ปีแล้ว นับว่าคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม ดิฉันไม่ขวนขวายจะทำอะไรอีกแล้วค่ะ ขออย่าให้ทรมานมากนักก็แล้วกัน จะตายเมื่อไหร่ก็ไม่ว่านะคุณหมอ คุณหมอช่วยเจาะเอาน้ำออกให้หน่อย ก็แล้วกันนะคะ”
หมอ :
“ตกลงครับ แล้วปกติคุณ อยู่บ้าน กินได้ นอนได้ และถ่ายได้เป็นปกติไหม”
คนไข้ : “กินได้ ถ่ายได้เป็นปกติค่ะ ถ้าไม่หอบเหนื่อยมาก ก็นอนหลับได้ดี เพราะไม่มีห่วง ไม่มีกังวลอะไรแล้ว ปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติค่ะ” ผู้ป่วยรายที่สองนี้ เป็น “โรคที่หมดหวัง” ที่พบได้บ่อยอีกโรคหนึ่ง คือ โรคมะเร็ง ที่ไม่สามารถรักษาให้ หายขาดได้ แม้ในปัจจุบันจะมีโรค มะเร็งหลายชนิดที่รักษาให้หายขาดได้ แม้แต่มะเร็งเต้านมบางชนิดก็ รักษาให้หายขาดได้ในระยะแรกๆ

แต่ผู้ป่วยรายนี้ปฏิเสธการผ่าตัดเต้านมที่เป็นมะเร็งทิ้งเมื่อ ๘ ปีก่อน และไม่สามารถทนพิษยาฆ่ามะเร็งได้เพราะมีอาการแพ้ยามาก จึงไม่ยอมรับยาฆ่ามะเร็งให้ครบจำนวนตามที่หมอสั่ง และหันไปรักษาด้วยยาสมุนไพร และวิธีการรักษาแบบอื่นๆ ซึ่งไม่ได้ผล จนได้พบกับวิธีรักษาแบบสุดท้าย ซึ่งในคนไข้รายนี้ นับว่าได้ผลพอสมควรนั่น คือ สามารถมีชีวิตยืนยาว มาได้ ๘ ปี อันอาจเนื่องมาจากยาลูกกลอนที่กินอยู่ และ/หรือพลังจิตอันเกิดจากศรัทธาในเจ้าแม่กวนอิม หรืออื่นๆแบบที่เราเรียกกันว่า “ลางเนื้อชอบลางยา” นั่นเอง

คนอื่นซึ่งเป็นโรคเดียวกันอาจจะไม่ได้ผลแบบเดียวกันก็ได้ โดยเฉพาะการรักษาโดยการใช้ยาหรืออาหารที่อ้างว่ามีฤทธิ์ครอบจักรวาล เช่น ยาลูกกลอน ‘น้ำผักปั่น’ ‘อาหาร ชีวจิต’ เป็นต้น

นั่นคือ ยาหรืออาหารเหล่านี้ จะมีผลดีหรือได้ผลดีในคนที่มีศรัทธา (ความเชื่อถือ)เป็นสำคัญ นั่นคือความศรัทธาหรือความเชื่อถือ เป็นอำนาจจิตอย่างหนึ่งที่อาจทำให้เกิดพลังในร่างกายที่จะทำลายหรือควบคุมโรคที่เป็นอยู่ในร่างกายของตนได้ เช่นเดียวกับการรักษาด้วย ‘พลังจักรวาล’ ‘น้ำมนต์’ หรืออื่นๆ

ผู้ที่จะได้ผลดีด้วยการรักษาแบบนี้ จึงต้องมีความเชื่อมั่น(ศรัทธา) อย่างมาก และมีกำลังใจที่กล้าแข็งที่จะช่วยตนเองให้พ้นจากโรคร้ายต่างๆ จึงจะพบกับความสำเร็จ ดังนั้น จึงมีน้อยรายที่ได้ผลด้วยการรักษาดังกล่าว

อนึ่ง วิธีการรักษาดังกล่าวข้างต้น เป็นวิธีการที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ว่าได้ผลแน่นอน การตัดสินใจจะใช้การรักษาดังกล่าวจึงควรกระทำด้วยความรอบคอบอย่างยิ่ง และควรจะกระทำต่อเมื่อตัดสินใจว่าจะไม่รักษาด้วยวิธีการที่ได้รับการพิสูจน์ว่าได้ผลค่อนข้างแน่นอน(แม้จะไม่เต็มร้อย ทั้งร้อย)แล้วเท่านั้น เพราะว่ากลัวการผ่าตัด กลัวการฉายแสง ทนต่อพิษ(ฤทธิ์ข้างเคียง)ของยาไม่ไหว หรืออื่นๆ ก็ควรจะลองรักษาด้วยวิธีที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ต่างๆได้

ในผู้ป่วยรายนี้ การรักษาด้วยยาลูกกลอนจากสำนักเจ้าแม่กวนอิมสำนักหนึ่ง(ซึ่งไม่เรียกร้องค่าตรวจรักษาและค่ายา) แล้วสามารถมีชีวิตยืนยาวมา ๘ ปี เพราะโรคลุกลามช้า ลง แต่ก็ลุกลามไปเรื่อยๆ จนขณะนี้ ผู้ป่วยอยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิต

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยมีความสุข เพราะผู้ป่วยกินได้ นอนได้ ถ่ายได้ ทำอะไรต่างๆได้ตามสมควร และที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ผู้ป่วยมีความสุข คือ ผู้ป่วยไม่กลัวตาย และยอมรับสภาพที่เป็นอยู่ด้วยความสงบ ไม่ตื่นเต้นกังวลจนทำให้เกิดความทุกข์ ทรมานเพิ่มขึ้น เมื่อมีอาการไม่สบาย ที่หมอจะช่วยบรรเทาให้ได้ ก็ไปหาหมอให้ช่วยบรรเทาอาการนั้น

รายที่ ๓ : ชายไทยอายุ ๓๕ ปี รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเพราะมีอาการเหนื่อยหอบและมีไข้ก่อนมาโรงพยาบาล ๒ วัน ขณะนี้นอนพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลมา ๔ วันแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น ในการตรวจเยี่ยมคนไข้ตอนเช้าวันที่ ๕
แพทย์ประจำบ้าน : “ผู้ป่วยรายนี้เป็นโรคเอดส์ มาอยู่โรงพยาบาลหลายครั้ง เพราะโรคแทรกซ้อนต่างๆ ก่อนมาโรงพยาบาลครั้งนี้ กินยารักษาวัณโรคอยู่ ๔ ชนิด ครั้งนี้มาด้วยอาการไข้ ไอ และหอบเหนื่อยมาก เอกซเรย์เห็นปอดส่วนล่างเป็น ฝ้าทั้ง ๒ ข้าง เข้าใจว่าจะติดเชื้อโรค อีกชนิดหนึ่งซ้ำเติมเข้าไป ได้ให้ยารักษาเชื้อชนิดนี้เพิ่มเติมเข้าไป แต่คนไข้ยังไอและหอบเหนื่อยครับ”
อาจารย์ : “แล้วทำไมคนไข้ถึงไม่ดีขึ้นล่ะ”
แพทย์ประจำบ้าน : “ไม่ทราบครับ ไข้ทำท่าจะลดลงแล้ว แต่อาการไอและเหนื่อยหอบ ยังเหมือนเดิมครับ”
อาจารย์ : “แล้วอาจารย์เจ้าของไข้ ว่าอย่างไรบ้าง ไม่แนะนำให้หมอเพิ่มยาหรือวิธีการรักษาอื่นๆหรือ”
แพทย์ประจำบ้าน : “อาจารย์ไม่ได้บอกครับ” อาจารย์แพทย์หันไปหาคนไข้
อาจารย์ : “สวัสดีครับคุณวิชัย ผม ชื่อหมอปิยะ คุณมาอยู่โรงพยาบาลหลายวันแล้ว รู้สึกดีขึ้นไหม”
คนไข้ : “ยังไม่ดีขึ้นเลยคุณหมอ ยังไอและเหนื่อย แต่ไข้ลดลงบ้าง”
อาจารย์ : คุณกินข้าวได้ไหม”
คนไข้ : “กินเกือบไม่ได้เลย”
อาจารย์ : “ทำไมล่ะ อาหารไม่อร่อย หรือมีสาเหตุอื่นๆ”
คนไข้ : “อาหารมันเย็นชืดและก็ไม่อร่อยด้วย แต่คงเป็นเพราะผมเบื่ออาหาร และรู้สึกคลื่นไส้ ผะอืด-ผะอมมากกว่าครับ” อาจารย์ : “อาหารโรงพยาบาลที่ทำสำหรับคนไข้จำนวนมากๆ ก็มักจะเป็นอย่างนี้ กว่าจะเข็นจากห้องครัวขึ้นมาบนตึก และกว่าจะแจกจ่ายแก่คนไข้ มันก็มักจะเย็นชืดและไม่อร่อยแล้ว คุณให้ญาติซื้ออะไรที่คุณอยากกินมาให้เพิ่มเติมบ้างหรือซื้อน้ำปลา พริก มะนาว น้ำตาลมาเก็บไว้บ้าง อาจจะช่วยให้รสชาติอาหารดีขึ้น “ส่วนเรื่องอาการคลื่นไส้ ผะอืด-ผะอม เดี๋ยวหมอจะสั่งยาให้คุณกิน ยานี้ก่อนอาหาร จะได้ลดอาการคลื่นไส้ และอาการผะอืดผะอมลง แล้วอาการขับถ่ายของคุณเป็นอย่างไรบ้าง”
คนไข้ : “ไม่ถ่ายมา ๓ วันแล้วครับ คงเพราะผมกินน้อยเลยไม่มีอุจจาระครับ”
อาจารย์ : “แล้วคุณนอนหลับสนิทไหม”
คนไข้ : “ไม่ค่อยหลับมาสัปดาห์กว่าแล้วครับ มาอยู่โรงพยาบาลยิ่งไม่หลับใหญ่ เพราะคนไข้ส่งเสียงร้องบ้าง พยาบาลมาวัดปรอทและความดันบ้าง และผมก็ตื่นง่ายอยู่แล้ว”
อาจารย์ : “เดี๋ยวผมขอดูผลเลือด เอกซเรย์ และผลการตรวจอื่นๆของคุณก่อน แล้วจะมาคุยกับคุณอีก”
อาจารย์ แพทย์ประจำบ้าน และนักศึกษาแพทย์ ได้เข้าไปในห้องประชุมข้างหอผู้ป่วย เพื่อพูดคุยกัน
อาจารย์ : “ทำไมหมอถึงปล่อยให้คนไข้กินอาหารไม่ได้ ถ่ายอุจจาระไม่ได้ และนอนไม่หลับ ตั้งแต่เข้ามาอยู่โรงพยาบาลล่ะ” แพทย์ประจำบ้าน : “ผมขอโทษครับ เรามัวแต่ห่วงเรื่องอาการไข้ ไอ และหอบ จึงลืมสนใจเรื่องเหล่านั้นครับ”
อาจารย์ : “ที่จริง เวลาดูคนไข้ทุกเช้า ต้องถามคนไข้เรื่องกิน-นอน-ถ่ายเสมอ เพราะถ้าคนไข้กินได้ นอนได้ และถ่ายได้ตามปกติ แสดงว่าเขากำลังดีขึ้นหรือดีขึ้นแล้ว แม้ไข้จะไม่ลดหรืออาการไอและหอบยังไม่ดีขึ้น เพราะฉะนั้น หมอรีบจัดการให้คนไข้กินได้ นอนได้ และถ่ายได้ ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาก็ต้องใช้ แล้วทำไมคนไข้นอนไม่หลับล่ะ”
แพทย์ประจำบ้าน : “ก็เมื่อกี้คนไข้บอกว่า หนวกหูคนไข้คนอื่นและพยาบาล ไปวัดปรอทและวัดความดันเลือด เขาเลยไม่หลับครับ”
อาจารย์ : “หมอคิดว่ามีเท่านั้นหรือเพราะเมื่อตอนอยู่บ้านก่อนมาโรงพยาบาล เขาก็ไม่ค่อยหลับอยู่แล้ว”
แพทย์ประจำบ้าน : “ครับ ก็เขาบอกว่าเขาเป็นคนตื่นง่ายนี่ครับ”
อาจารย์ : “แล้วถ้าหมอเป็นโรคแบบที่เขาเป็น หมอจะนอนหลับไหม”
แพทย์ประจำบ้าน : “คงไม่หลับครับ”
อาจารย์ : “ถูกต้อง คนที่เป็นโรคร้ายแรงหรือโรคที่ยังไม่มีทาง รักษาย่อมมีความกังวลและซึมเศร้า ความกังวลและซึมเศร้าจะทำให้หลับยาก หลับไม่สนิทหรือหลับๆตื่นๆ เราจึงควรให้ยาคลายกังวล และยาแก้ซึมเศร้าและถ้าผู้ป่วยยังไม่หลับ ก็ต้องให้ยานอนหลับด้วย และอย่าลืมให้ยาแก้คลื่นไส้และยาระบายด้วย”
แพทย์ประจำบ้าน : “ครับ”
อาจารย์ : “แล้วครอบครัวของผู้ป่วยเป็นอย่างไร พ่อบ้านป่วยแล้ว ใครหาเลี้ยงเมียและลูก”
แพทย์ประจำบ้าน : “ไม่ทราบครับ”
อาจารย์ : “ไหน ลองไปดูข้างนอกว่าญาติคนไข้อยู่ไหม ถ้าอยู่พามาด้วย” แพทย์ประจำบ้านออกไปสักพัก ก็กลับเข้ามาพร้อมกับหญิงอายุประมาณ ๓๐ ปี
อาจารย์ : “สวัสดีครับ เชิญนั่งสิครับ คุณเป็นอะไรกับคุณวิชัยครับ”
หญิง : “เป็นภรรยาค่ะ”
อาจารย์ : “พวกเรากำลังคุยกันถึงอาการเจ็บป่วยของคุณวิชัย และเราอยากรู้ว่าเวลาที่คุณวิชัยอยู่บ้าน มีอาการเป็นอย่างไรบ้าง คุณแต่งงาน กับคุณวิชัยมานานเท่าไหร่แล้วครับ”
หญิง : “แต่งมานานแล้วค่ะ อยู่บ้านเขาก็มีอาการคล้ายๆกับที่นี่ค่ะ คืออ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย กินไม่ค่อยได้ค่ะ”
อาจารย์ : “คุณมีลูกด้วยกันหรือเปล่าครับ แล้วลูกเป็นอย่างไรบ้าง”
หญิง : “ลูกคนโตอายุ ๑๐ ขวบ แล้วค่ะ ตอนนี้เอาไปฝากไว้ที่พ่อแม่ของหนูให้ช่วยดูแล เพราะแกพอช่วยตัวเองได้แล้ว ส่วนคนเล็กอายุ ๗ ขวบ ยังอยู่ด้วยกันค่ะ”
อาจารย์ : “แล้วตอนนี้ ใครหาเลี้ยงครอบครัวครับ”
หญิง : “หนูเองค่ะ ตั้งแต่เขาไม่สบายมากมา ๔-๕ เดือนนี้ เขาไปทำงานไม่ไหว เลยลาออกจากงาน หนูจึงพยายามทำข้าวแกงขายตอนเที่ยง และตอนเย็นค่ะ”
อาจารย์ : “แล้วพอใช้ไหม ต้องเป็นหนี้เป็นสินหรือเปล่า” ภรรยาคนไข้เริ่มตาแดงๆและร้องไห้
หญิง : “ไม่ค่อยพอใช้หรอกค่ะ เพราะค่ายาของเขาแพงมาก บางครั้งเป็นหมื่นบาท ช่วงหลังนี้เลยต้องให้คุณหมอช่วยค่ายาเป็นส่วนใหญ่ ยังเป็นหนี้อยู่ ๔-๕ หมื่นบาทค่ะ”
อาจารย์ : “แล้วคุณรู้หรือเปล่าว่า คุณวิชัยเป็นโรคอะไร”
หญิง : “รู้ค่ะ”
อาจารย์ : “แล้วคุณและลูกเป็นโรคด้วยหรือเปล่า”
หญิง : “หนูและลูกตรวจเลือดแล้วค่ะ หมอว่าไม่เป็นค่ะ”
อาจารย์ : “นับว่ายังโชคดีนะ แล้วคุณวิชัยพูดถึงเรื่องโรคของเขาอย่างไร บ้าง”
หญิง : “เขาก็บ่นบ่อยๆค่ะว่า อยู่ไปก็ทรมานและเป็นภาระแก่หนูและลูกๆอยากจะตายก็ไม่ตายสักที”
อาจารย์ : “หมอเห็นใจทั้งหนูและคุณวิชัย หนูก็รู้อยู่แล้วว่าโรคเอดส์นี้ยังไม่มียารักษาให้หายได้ และที่เรารักษาคุณวิชัยตอนนี้ เป็นการรักษาโรคแทรกของเขาเท่านั้น เช่น วัณโรค โรคปอดอักเสบจากเชื้อโรคอื่น ซึ่งแต่ละโรคที่เป็นอยู่ก็ต้องกินยาหลายชนิดและต้องกินกันนานๆหลายเดือน
“ยิ่งภูมิต้านทานเชื้อโรคมีน้อยเท่าไหร่ โรคแทรกก็มีมากขึ้นและหายยากขึ้นเท่านั้น
“เมื่อกินยามากๆก็ทำให้เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย และแพ้ยาเพิ่มขึ้นและพูดกันตรงๆแล้ว หมอก็ยังไม่แน่ใจว่ากินยาตั้งเยอะแยะอย่างนี้แล้ว คุณวิชัยจะอยู่ไปได้อีกนานเท่าไร คุณคิดว่าหมอควรจะทำอะไรอีกไหม” ภรรยาคนไข้ซับน้ำตาเพิ่มขึ้น
หญิง : “หนูก็ไม่ทราบค่ะ แต่ไม่อยากให้เขาทรมานนานนัก”
อาจารย์ : “คุณคิดว่าที่เขารักษามา ๔-๕ เดือนนั่นเขาดีขึ้นบ้างไหม”
หญิง : “ไม่ดีขึ้นเลยค่ะ รู้สึกทรุดลงเรื่อยๆ ออกจากโรงพยาบาลได้ไม่กี่วันก็ต้องกลับเข้ามาอีกเวลามีอาการมากๆทีไร รู้สึกเขาทรมานมากค่ะ หนูสงสารเขาจัง แต่ก็ไม่รู้จะช่วยเขาอย่างไร นอกจากพามาโรงพยาบาล”
อาจารย์ : “แล้าถ้าหมอหยุดยาที่ให้รักษาโรคแทรกเหล่านี้อยู่ เพื่อให้เขาจากไปเองตามธรรมชาติ จะได้ทรมานน้อยลงและสั้นลง หนูคิดว่าจะดีไหม”
หญิง : “ไม่ทราบค่ะ หนูไม่กล้าตัดสินใจ”
อาจารย์ : “ถ้าหนูไม่กล้าตัดสินใจ จะให้หมอลองคุยกับคนไข้ดูจะดีไหม”
หญิง : “รอถามพี่สาวเขาก่อนดีไหมคะ”
อาจารย์ : “พี่สาวเขาเคยช่วยเหลือจุนเจือเขาหรือ”
หญิง : “ไม่เคยค่ะ”
อาจารย์ : “ถ้าอย่างนั้น ไปถามแล้วจะช่วยอะไรหนูและคนไข้ได้ เพราะคนที่ได้รับความทุกข์ทรมานคือหนูและคนไข้ คนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องจะไปรับรู้ถึงความทุกข์ทรมานเหล่านี้ได้อย่างไร”
หญิง : “ถ้าอย่างนั้น คุณหมอลองคุยกับเขาดูก็ได้ค่ะ”

ข้อมูลสื่อ

238-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 238
กุมภาพันธ์ 2542