• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การดูแลรักษาผู้ป่วยที่หมดหวัง (ตอนที่ ๔)

อาจารย์ แพทย์ประจำบ้าน นักศึกษาแพทย์ และภรรยาคนไข้เดินกลับไปในหอผู้ป่วย และเข้าไปหาคนไข้

อาจารย์ : “คุณวิชัย หมอได้ดูผลการตรวจต่างๆแล้ว และได้คุยกับภรรยาของวิชัยด้วย วิชัยรู้ไหมว่า วิชัยเป็นโรคอะไร”
คนไข้ : “รู้ครับ และผมรู้ว่าเป็นโรคที่รักษาไม่หายด้วย แต่โชคดีที่ภรรยา และลูกผมไม่ได้ติดโรคไปจากผม”
อาจารย์ : “ดีมาก แล้ววิชัยคิดว่าที่วิชัยได้รับการรักษามา ๔-๕ เดือนนี้ วิชัยดีขึ้นบ้างไหม”
คนไข้ : “ไม่ดีขึ้นเลยครับ กลับจากโรงพยาบาลได้ไม่กี่วันก็ไม่สบายอีก เดี๋ยวก็เป็นไข้ ท้องเดิน เดี๋ยวก็ไอและหอบเหนื่อย เดี๋ยวก็ปวดศีรษะ เดี๋ยวก็ปวดท้อง ไม่มีวันไหนที่สบายเป็นปกติเลยครับ”
อาจารย์ :
“วิชัยก็รู้แล้วว่าโรคที่วิชัยเป็นอยู่ทำให้ภูมิต้านทานโรคในร่างกายมีน้อย จึงมีโรคแทรกได้เรื่อยๆ ทำให้เกิดอาการไม่สบายต่างๆ อาจารย์เจ้าของไข้ก็พยายามให้ยารักษาวิชัยอย่างเต็มที่ แต่มันก็ไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร เพราะโรคดั้งเดิมคือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือโรคเอดส์ที่วิชัยเป็นอยู่มันยังไม่มีทางรักษา ที่พยายามรักษากันอยู่เป็นการรักษาโรคแทรกเท่านั้น เมื่อรักษาโรคดั้งเดิมที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคแทรกไม่ได้ การรักษาจึงไม่ได้ผลเท่าที่ควร “วิชัยอยากให้หมอช่วยวิชัยอย่างไรบ้าง”
คนไข้ :
“คุณหมอช่วยฉีดยาให้ผม ตายเลยได้ไหมครับ”
อาจารย์ : “หมอทำอย่างนั้นไม่ได้หรอกวิชัย มันผิดกฎหมาย แต่หมอจะให้ยาคลายกังวล ยาแก้ปวด และยานอนหลับแก่วิชัย เพื่อลดความทุกข์ทรมานต่างๆ “ส่วนยาต่างๆที่วิชัยกินอยู่ตอนนี้ อาจจะงดไว้ก่อน เพราะอาการไม่สบายต่างๆ ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการแพ้ยาได้ วิชัยอยากให้หมอลองหยุดยารักษาโรคแทรก แล้วให้แต่ยาแก้ปวด ยานอนหลับ และยาบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนดูสัก ๒-๓ วันจะดีไหม”
คนไข้ : “ลองดูก็ดีครับ ที่รักษามา ๔ วันนี่ ผมรู้สึกจะทนไม่ไหวแล้วครับ”
อาจารย์ : “ตกลง เราจะลองอย่างนั้นดูก่อนนะ ภรรยาของคุณก็อยู่ที่นี่ด้วย เธอคงจะเข้าใจคำพูดของคุณแล้ว จริงไหมครับ”
ประโยคสุดท้ายอาจารย์หัน ไปถามภรรยาคนไข้ ซึ่งพยักหน้าตอบรับ อาจารย์จึงพาแพทย์ประจำบ้านและนักศึกษาแพทย์ออกจากหอผู้ป่วย กลับเข้าไปในห้องประชุมอีกครั้งหนึ่ง

อาจารย์ : “การรักษาคนไข้ คือ การรักษาคน คนที่เป็นไข้ ไข้ซึ่งหมายถึงความไม่สบายต่างๆ ไม่ได้หมายความถึงไข้ตัวร้อนเพียงอย่างเดียว
“แต่ที่พวกเราชอบทำกันคือรักษาไข้ แต่ไม่ได้รักษาคน นั่นคือ เราชอบรักษาโรค แต่ไม่ชอบรักษาคน
“ชีวิตของคนประกอบขึ้นด้วยร่างกาย จิตใจ และความสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆรอบข้าง รวมทั้งสิ่งต่างๆในจักรวาล ทั้งที่เห็นได้ สัมผัสได้ และไม่รู้ไม่เห็น

“การรักษาคน และการรักษาชีวิต จึงไม่ใช่เพียงการรักษาโรคซึ่งเป็นส่วนเล็กๆส่วนหนึ่งที่ผ่านเข้ามา ในวงจรชีวิตเท่านั้น

“การรักษาคนและการรักษาชีวิตจึงไม่ใช่ของง่าย ต่างกับการรักษาโรคซึ่งง่าย พวกเราจึงชอบ รักษาโรคมากกว่ารักษาคน

“การพูดคุยกับคนไข้ และกับญาติของเขาเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการรักษาคนไข้ เพราะจะทำให้เราทราบความเดือดร้อน ความทุกข์ทรมาน และความเป็นอยู่ของเขา ของครอบครัว และสังคมของเขา รวมทั้งความต้องการของคนไข้และของญาติเขาด้วย เพื่อที่เราจะได้ให้การรักษาที่ตรงกับความต้องการของคนไข้และญาติเหมาะสมกับสภาวการณ์แห่งความเป็นอยู่ของเขา และช่วยให้เขาและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“คนเราทุกคนเกิด มาแล้วก็ต้องตายทุกคน ผมเองก็ต้องตาย ผมคิดว่า คงไม่มีใครในโลกที่อยากตายอย่างลำบาก ตายอย่างทุกข์ทรมาน ตายอย่างยืดเยื้อ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ จะตายก็ตายไม่ได้ จะเป็นก็เป็นไม่ได้ ต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ไปเรื่อยๆ จนกว่าหมอจะยอมหยุดการรักษาที่เพียงแต่ทำให้เขาจำเป็นต้องอยู่ต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้ทำให้เขาดีขึ้นจากความทุกข์ทรมานต่างๆ

“หรือพวกหมอคนใด อยากให้วาระสุดท้ายของชีวิตอยู่ในสภาพเช่นนั้น ยกมือขึ้นซิ” ทั้งแพทย์ประจำบ้านและนักศึกษาแพทย์ไม่มีใครยกมือ
 
นักศึกษาแพทย์ : “อาจารย์คะ ถ้าเราไม่ให้ยารักษาโรคแทรกแล้วเขาเกิดตายขึ้นมา ไม่ผิดกฎหมาย และไม่บาปหรือคะ”
อาจารย์ : “ถ้าคนไข้ตัดสินใจไม่รับการรักษา กฎหมายยังให้สิทธิ์แก่คนไข้ ยกเว้นในบางกรณีในอดีต เช่น สมัยก่อนใครเป็นโรคเรื้อนหรือวัณโรค มักจะถูกจับตัวไปรักษาในสถานที่(สถานกักกัน)สำหรับคนไข้เฉพาะโรคเหล่านั้น ในปัจจุบัน การกักกันคนไข้หรือบังคับให้คนไข้เข้ารับการรักษาในสถานที่ต่างๆจะมีน้อยมาก ยกเว้นในกรณีที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้อื่น เช่น เป็นโรคระบาดร้ายแรง เพ้อคลั่ง จะทำร้ายผู้อื่น(วิกลจริต) เป็นต้น

“ดังนั้น ถ้าคนไข้ไม่สมัครใจ ที่จะมารับการรักษาหรือไม่สมัครใจที่จะอยู่ในโรงพยาบาลต่อไปอีก แพทย์และพยาบาลจะไปบังคับเขาไม่ได้ อันที่จริงถึงเราจะให้ยาคนไข้กลับบ้าน ถ้าคนไข้ไม่กิน เราก็คงไม่รู้ หรือถึงรู้ก็คงไม่รู้ว่าจะบังคับเขาอย่างไร การรักษาพยาบาลจึงขึ้นกับความต้องการและความตั้งใจที่จะรักษาตัวเองของผู้ป่วยเป็นสำคัญ

“เรื่องผิดกฎหมายจึงไม่ผิดถ้าเป็นความสมัครใจของผู้ป่วย ส่วนเรื่องบาปบุญคุณโทษนั้นขึ้นอยู่กับจิตใจของหมอเป็นสำคัญ
“ถ้าหมอไม่อยากให้ใครมาทำ(มารักษา)หมอเช่นนั้น แต่แล้วหมอกลับนำวิธีการเช่นนั้นไปใช้กับผู้ป่วย ความขัดแย้งจะเกิดขึ้นในจิตใจของหมอ และนั่นก็คือบาป

“วิธีดีที่สุดคือ หมอต้องบอกข้อเท็จจริงทั้งหมดเท่าที่หมอรู้ให้คนไข้และญาติรู้ด้วย เช่น หมอรู้ว่าถึง รักษาต่อไปก็ได้ผลเพียงแค่นี้ ไม่สามารถทำให้เขาหายจากโรคเอดส์ และโรคแทรกซ้อนที่เป็นอยู่ และที่จะมีมาใหม่ได้อย่างสมบูรณ์ ก็ต้องเล่าให้คนไข้ฟังตามที่หมอรู้หมอเข้าใจ รวมทั้งค่าใช้จ่ายและความทุกข์ทรมานต่างๆจากพิษ(ฤทธิ์ข้างเคียง)ของยา และการรักษา

“เมื่อคนไข้และญาติได้รับทราบข้อเท็จจริงทั้งหมดแล้ว การตัดสินใจจะรักษาหรือไม่ จึงเป็นสิทธิ์ของคนไข้และญาติ และจะทำให้หมอไม่ต้องรับผิดทางกฎหมายและทางจิตใจต่อไป

“แต่ถ้าหมอถือสิทธิ์ตัดสินใจในสิ่งต่างๆแทนคนไข้ หมอก็ต้องรับผิดชอบ และคนไข้อาจฟ้องร้องหมอได้ว่าให้การรักษาโดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้เขาต้องลำบากเดือดร้อนหรืออื่นๆ ซึ่งพบมากในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่คนไข้และทนายความมักฉวยโอกาสฟ้องร้อง หมอที่ให้การรักษาพยาบาล โดยไม่ได้ให้ข้อเท็จจริงทั้งหมดแก่คนไข้ และให้คนไข้เซ็นชื่ออนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรก่อน ซึ่งผมไม่อยากให้เหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้นในเมืองไทย แต่ถ้าเรายังชอบถือสิทธิ์ให้การรักษาพยาบาล ตามความพอใจของเรา (โดยไม่ได้ถามความเห็นของคนไข้) แล้ว อีกไม่นานเราคงจะตกที่นั่งลำบากเช่นเดียวกัน”

ตัวอย่างคนไข้รายที่ ๓ จึงเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนอีกอย่างหนึ่งสำหรับภาวะหมดหวังในการรักษาให้ดีขึ้น แม้ว่าคนไข้จะยังรู้ตัวดีอยู่ และโรคก็ยังพอรักษาได้ แต่ความยากจนและสภาพทางสังคมของคนไข้และของประเทศไทย ทำให้ไม่สามารถให้การรักษาได้เต็มที่ การรักษาอย่างครึ่งๆกลางๆ(รักษาแต่โรคแทรก โดยไม่สามารถรักษาโรคเอดส์ ไม่สามารถรักษาภาวะ ขาดอาหารและการขาดการดูแล อันเป็นผลจากความยากจนของครอบครัวและสังคม) จึงเป็นเพียงการยืดระยะเวลาแห่งความทุกข์ทรมานก่อนถึงวาระสุดท้ายเท่านั้น

ข้อมูลสื่อ

239-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 239
มีนาคม 2542