• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อาหารและวิถีชีวิต

อาหารและวิถีชีวิตคือปัจจัยสำคัญสำหรับการมีสุขภาพและการมี คุณภาพชีวิตที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราต้องการที่จะเป็นฝ่ายควบคุม กายและจิตของเรา การรักษาสมดุลของอาหารและวิถีชีวิตเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลย เพื่อพัฒนาความมีสติกำหนด รู้ภายใน โยคะแบ่งอาหารเป็น ๓ ประเภท ได้แก่

ทามาสิก
ได้แก่อาหารเก่าเก็บ ค้างคืน อาหารที่ผลิตเพื่อเก็บไว้กินเป็นเวลานานๆ รวมไปถึงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และกาแฟ อาหารดังกล่าวทำให้เราง่วงซึม สมองทึบ
 
ราชะสิก

ได้แก่อาหาร รสจัด เปรี้ยวจัด รวมถึงอาหารรสขม อาหารที่มีโปรตีนมาก เช่น เนื้อ ปลาและไข่ ก็จัดรวมอยู่ในอาหารกลุ่มนี้ด้วย อาหารดังกล่าวทำให้ร่างกายตื่นตัว อีกทั้งกระตุ้นความก้าวร้าวของอารมณ์

สัตตวิก
ได้แก่อาหารสดใหม่ รวมไปถึงอาหารที่ปลูกแบบไม่ใช้สารเคมี ไม่ใส่ปุ๋ย อาหารที่ไม่ปรุงรส ได้แก่ ผักสด ผลไม้สด เมล็ดธัญพืช พืชตระกูลถั่ว ซีรีล และนม อาหารดังกล่าวทำให้สมองปลอดโปร่ง มีปัญญา มีสมาธิ ทั้งยังให้พลังงาน เพิ่มความมีชีวิตชีวา ทำให้เรามีความปีติ รื่นรมย์ และสงบสุข

เราควรกินอาหารประเภท สัตตวิกควบคู่ไปกับการฝึกโยคะ ลองลดความหลากหลายของอาหารในแต่ละมื้อ ให้ตัวเราเองได้มีโอกาส ค้นพบว่าความสุขไม่ได้ขึ้นกับการกินอาหารอร่อยหลายๆอย่าง ลองควบคุมความอยากอาหาร โดยไม่สูญเสียความสมดุล

เราเริ่มจากการลดความหลาก หลายของอาหารรวมถึงลดปริมาณและความถี่ในการกินด้วย
ใน ๒-๓ สัปดาห์แรก อย่ากินของจุกจิกระหว่างมื้อ และเริ่มลดเครื่องดื่มที่ไม่เหมาะสม เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม เคร่งครัดกับการกินอาหารเพียงวันละ ๓ มื้อ (หรือแม้กระทั่ง ๒ มื้อ)
 
ตอนแรก เราอาจรู้สึกปวดหัว คลื่นไส้ ขาดสมาธิ นั่นเป็นเพราะร่างกายกำลังชะล้างสารพิษต่างๆที่สะสมอยู่ตามเนื้อเยื่อ แต่ก็ต้องระวัง ไม่ใช่กลายเป็นกินน้อยจนเกินไป ถ้าเรามีอาการเป็นลม อ่อนเพลีย ให้กลับไปกินอาหารแบบเดิม และปรึกษาแพทย์ เราอาจมีปัญหาเกี่ยวกับระดับน้ำตาลในเลือด

ช่วงขณะกินอาหารก็เป็นเรื่องสำคัญ โยคะถือว่าการกินอาหารเป็นพิธีกรรมชนิดหนึ่ง พยายามกินอาหารในที่เงียบๆ ท่ามกลางบรรยากาศที่ให้ความสงบทางใจ มีสติกำหนดรู้อยู่กับอาหารที่กำลังกิน ให้ร่างกายได้ทำการย่อยอย่างเต็มที่ ความเครียด การไม่ใส่ใจในการกิน (เช่น กินไปดูโทรทัศน์ไป) ล้วนไม่เป็นผลดีต่อการกิน

พื้นฐานความคิดเรื่องอาหารนี้เป็นพื้นฐานเดียวกันกับเรื่องวิถีชีวิต เป้าหมายรวมก็เพื่อจัดชีวิตให้มีระเบียบ ชีวิตที่สงบสุข ทำให้บรรยากาศรอบตัวเราสะอาด รื่นรมย์อย่างเรียบง่าย

ข้อมูลสื่อ

239-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 239
มีนาคม 2542
โยคะ