• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปฏิรูปการเมืองกับสุขภาพ

ปฏิรูปการเมืองกับสุขภาพ
 

ขณะนี้เรื่องปฏิรูปการเมืองกำลังเป็นเรื่องใหญ่ ในวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๔๐ รัฐสภาก็จะลงมติว่ารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่เรียกกันว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ส.ส.ร. บ้าง รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนบ้าง วัตถุประสงค์ของการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่เพื่อให้มีการปฏิรูปการเมือง แล้วการปฏิรูปการเมืองกับสุขภาพเกี่ยวข้องกันอย่างไร


ขณะนี้สังคมไทยกำลังประสบกับวิกฤติทางเศรษฐกิจอย่างไม่เคยมีมาก่อน เงินหายไปจากประเทศ กิจการต่างๆ ต้องปิดตัวลง รวมทั้งบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ๕๘ แห่ง คนถูกออกจากงานจำนวนมาก คนใหม่หางานทำไม่ได้ เจ้าของบริษัทธุรกิจที่เคยมีเงินทองมากต้องไปขายแซนวิส คนที่เคยทำงานคอมพิวเตอร์ต้องไปขุดดิน หลายคนฆ่าตัวตาย ฯลฯ แสดงว่าสังคมป่วย การป่วย ก็คือ สุขภาพไม่ดี
สุขภาพดีนั้นหมายถึงสุขภาสะทั้งทางกาย ทางจิต และทางสังคม ซึ่งควรจะรวมถึงทางจิตวิญญาณด้วย สุขภาพจึงขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และการเมืองอย่างเป็นบูรณาการหรืออย่างเชื่อมโยงกัน สภาพทางเศรษฐกิจ การเมือง และศีลธรรม จึงเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมหรือขัดขวางสุขภาพอย่างสำคัญ


การที่จะดูว่าสุขภาพของเราดีหรือไม่ดี นอกจากดูว่าเราแข็งแรงดีไหม มีกำลังไหม อายุยืนไหม ปราศจากโรคไหม ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินไหม ก็ยังสามารถดูได้จากอย่างอื่นอีกมาก เช่น ช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างคนรวยกับคนจน ความรู้สึกสุขกายสุขใจ หรือทุกข์กายทุกข์ใจ วิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ วิกฤติการณ์ทางการเมืองย่อมเป็นดรรชนีวัดเรื่องสุขภาพได้เป็นอย่างดี ระบบอำนาจรัฐเป็นปัจจัยที่สำคัญที่กำหนดว่าสังคมจะดีหรือไม่ดี สุขภาพของผู้คนจะดีหรือไม่ดี ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช ก็ถือคติกันว่าถ้าพระมหากษัตริย์ไม่ทรงธรรม คือ ไม่มีทศพิธราชธรรม บ้านเมืองจะทุกข์เข็ญ ในสมัยประชาธิปไตย ผู้ถืออำนาจรัฐสูงสุด ก็คือ นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ซึ่งเรามักเรียกรวมๆ กันว่า “การเมือง” ถ้าการเมืองไม่ถูกต้องย่อมเกิดความทุกข์เข็ญในสังคม


ประเทศไทยควรจะดี แต่มีปัญหามากขึ้นๆ จนวิกฤติ ซึ่งคงจะต้องมาดูกันอย่างละเอียดว่าเป็นเพราะเหตุใดบ้าง เหตุหนึ่ง ก็คือ ระบบการเมืองไม่ดี การปฏิรูปการเมืองคือความพยายามที่จะแก้ไขปรับปรุงให้ระบบการเมืองดีขึ้น โดยหวังว่าการเมืองที่ดีขึ้นจะช่วยให้สังคมไทยอยู่เย็นเป็นสุข การอยู่เย็นเป็นสุขก็คือการมีสุขภาพดี การเมืองกับสุขภาพจึงเกี่ยวข้องกัน สุขภาพไม่ใช่เรื่องของมดหมอหยูกยาเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับความถูกต้องทั้งหมดประสานกัน ทั้งกาย ใจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความพยายามที่จะทำให้ทั้งหมดที่มักเรียกกันว่า “บ้านเมือง” ดีขึ้นนั้น เรียกว่าการเมือง การเมืองไม่ได้ แปลว่า ต้องสมัครผู้แทนราษฎรเท่านั้น แต่ประชาชนทุกคนควรสนใจและมีส่วนร่วมในการที่จะปรับปรุงให้บ้านเมืองดีขึ้น เรียกว่า “การเมืองของพลเมือง” ต่อเมื่อการเมืองของพลเมืองเข้มแข็ง การเมืองของนักการเมืองจึงจะดี ทำให้ประเทศมีศักดิ์ศรี ประชาชนเข้มแข็งและมีความสุข หรือสุขภาพดี
 

ข้อมูลสื่อ

222-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 222
ตุลาคม 2540
ศ.นพ.ประเวศ วะสี