• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคภัยไข้เจ็บในสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ

โรคภัยไข้เจ็บในสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ

 
ในสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจมีความผันแปรในระบบบริการสุขภาพ โรงพยาบาลเอกชนใหญ่ๆ ที่ไปกู้เงินมาขยายกิจกการก็กำลังแฟบลง เพราะฟองสบู่ทางการแพทย์ก็แตกเหมือนกัน ประชาชนโดยทั่วไปมีเงินน้อยลง ถ้าต้องเจ็บป่วยก็จะยิ่งเสียเศรษฐกิจเข้าไปอีก

ในยามเงินน้อย ถ้าระวังรักษาสุขภาพไว้ให้ดี ไม่เจ็บป่วย ประหยัดเงินได้มากเท่าไร ก็เหมือนเรามีรายได้มากขึ้นเท่านั้น เด็กๆ อย่าให้ขาดวัคซีนอย่างที่ควรได้รับ จะได้ป้องกันโรคร้ายๆ ไปได้เยอะ รักษาความสะอาด อย่ากินอาหารหรือน้ำไม่สะอาด ก็จะป้องกันโรคปวดท้อง ท้องเดินไปได้มาก การออกกำลัง และการทำสมาธิก็จะช่วยป้องกันความเจ็บป่วย เป็นต้น ควรหาความรู้ที่จะทำตัวให้เป็นคนมีสุขภาพดีไว้ให้มากที่สุด จะได้ไม่ลำบาก

ความเจ็บไข้ได้ป่วยที่เป็นกันบ่อยๆ ไม่จำเป็นต้องไปหาหมอก็ต้องไป เสียเวลาและเสียเงิน ไปทำให้โรงพยาบาลแน่นเปล่าๆ อย่างเป็นหวัดไม่จำเป็นต้องไปหาหมอ เพราะมันหายเอง รักษาร่างกายให้อบอุ่น หรือเข้ากระโจมอบไอน้ำก็อาจจะหายเร็วขึ้น เป็นไข้หรือปวดศีรษะก็กินยาลดไข้ คัดจมูกก็กินยาแก้แพ้ (ดูคู่มือหมอชาวบ้าน) เวลาฝรั่งเป็นหวัดจะไม่ไปหาหมอ เพราะเขารู้ว่ามันหายเอง แต่คนไทยเป็นหวัดไปหาหมอ ไม่ว่าที่คลินิกหรือโรงพยาบาล โรคที่คนไข้ไทยไปหาหมอมากที่สุดก็คือเป็นหวัดเจ็บคอ ถ้าเป็นหวัดเจ็บคอไม่ต้องไปหาหมอได้จะลดภาระ และลดการเสียเงินไปได้มาก

ควรมียาเม็ด “ขมิ้นชัน” ไว้ประจำบ้าน โรคจุกเสียดปวดท้องตรงสิ้นปี่ใช้ยานี้ชะงัดมากทุกตำบลควรมีศูนย์แพทย์แผนไทย โดยให้บริการ ๓ อย่าง คือการนวดไทย การประคบด้วยสมุนไพร และการขายยาสมุนไพรที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผลดีสัก ๓๐-๔๐ ชนิด นี้ก็จะเป็นการประหยัดทั้งเงินของประชาชนและเงินของประเทศ ในยามวิกฤติถ้าคิดให้มาก ในที่สุดก็จะได้กำไร

ข้อมูลสื่อ

226-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 226
กุมภาพันธ์ 2541
ศ.นพ.ประเวศ วะสี