• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โยคะกับความอ้วน

คำถามที่ได้รับบ่อยที่สุดในชั้นเรียนโยคะ คือ โยคะลดความอ้วนได้ไหม ?

ผู้ถามน้อยคนที่อ้วนมาก ผู้ถามบางคนแค่ท้วม ๆ แต่ที่น่าแปลกใจคือ กลุ่มผู้ที่ถามคำถามนี้มากกลับไม่ใช่คนอ้วน ผู้ถามกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงอายุประมาณ ๓๕ ปีขึ้นไป เป็นคนที่สมส่วนทั้งนั้น คือ ความสูงกับน้ำหนักสัมพันธ์กันตามเกณท์ปกติ บ้างลงพุง ( เล็กน้อย ) บ้างมีท้องแขนใหญ่ ( กว่าปกตินิดเดียว ) ซึ่งเมื่อพวกเขาพิจารณา “ อวัยวะ “ เหล่านี้โดย นำไปเปรียบเทียบกับ “ นางแบบอาชีพ “ ที่เห็นตามหน้านิตยสาร หรือโทรทัศน์ ( ซึ่งส่วนใหญ่อายุไม่เกิน ๒๕ ) แล้วก็สรุปว่า ตนเป็นคนอ้วน
นักเรียนกลุ่ม เป็นนี้กังวลว่าตัวเองอ้วนมากกว่า

โรคอ้วนกับโรคกังวลว่าตัวเองเป็นคนอ้วน เป็นคนละเรื่องกัน
วิธีการของโยคะต่อโรคกังวลว่าตนเองอ้วนที่ได้ผล “ ทันที “ ไม่ต้องอดอาหาร และใช้เวลาเพียง ๓ ๑/๒ ชั่วโมงเท่านั้น ใช้เงิน ๑๕,๐๐๐ บาท นั่นคือ ให้นั่งเครื่องบินไปอินเดีย ทันที่ที่คุณก้าวลงจากเครื่องบิน มองไปยังผู้หญิงชาวอินเดีย คุณจะกลายเป็นคนผอมในพริบตา เพราะทั้งหน้าท้อง ต้นแขนที่คุณกังวลนักกังวลหนาจะกลายเป็นเรื่องขี้ปะติ๋วไปเลย ที่ว่ามาข้างต้นนี้ก็เพื่อจะนำเสนอว่า สาเหตุของโรคกังวลว่าตนเองเป็นคนอ้วนเกิดจากการเปรียบเทียบทางใจของเราเท่านั้น
อย่าขี่ช้างจับตั๊กแตน
คอลัมน์นี้พยายามนำเสนอแก่นของโยคะ เราย้ำมาตลอดว่า โยคะ คือศาสตร์ที่ว่าด้วยวิถีชีวิตอย่างเป็นองค์รวม การปฏิบัติโยคะ ก็คือ การฝึกฝนตนเอง การสร้างวินัยในตนเอง เป้าหมายหลักของโยคะ คือ การพัฒนาศักยภาพของตนเองไปสู่ศักยภาพสูงสุดเพื่อคลี่คลายปัญหาทั้งหลายทั้งปวง จิตต่างหากคือตัวการสำคัญที่โยคะอยากจะจัดการควบคุม

ในขณะฝึกปฏิบัติโยคะ แน่นอนว่ากายเป็นองค์ประกอบพื้นฐานให้จิตใจทำงาน ก็ได้รับการจัดการควบคุมไปด้วย แต่เราต้องตระหนักว่า เรากำลังมุ่งฝึกจิตเป็นสำคัญ โดยประโยชน์ที่เกิดกับกายนั้นเป็นเพียง “ผลพลอยได้ “ หาใช่เป้าหมายไม่ เราขออนุญาตเปรียบเทียบคนที่ฝึกโยคะเพื่อหวังลดไขมันส่วนเกินของหน้าท้องนั้นคือการ ขี่ช้างจับตั๊กแตน

โยคะเป็นศาสตร์อันยิ่งใหญ่เปรียบได้ดั่งพระยาช้างสาร ช้างตัวนี้เอาไว้รบทัพจับศึก ซึ่งก็คือการต่อกรกับจิตของเรานั้นเอง ซึ่งผู้ที่ขี่ช้างโดยไม่หวังออกรบ (กับจิต ) กลับเพียงขี่มันไปทำเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ( กำจัดไขมันหน้าท้อง ) ก็คือไปจับตั๊กแตนเท่านั้น

ทั้งนี้ทั้งนั้น หาได้ต้องการจะตำหนิให้เสียกำลังใจแต่อย่างใดไม่ เราเองก็ชื่นชมคนที่ฝึกโยคะและปรารถนาที่จะเห็นประชาชนไทยฝึกโยคะกันอย่างสม่ำเสมอโดยทั่วหน้า เพียงแต่เราอยากจะเน้นย้ำถึงข้อเท็จจริงของโยคะ ย้ำถึงประโยชน์อันแท้จริงของศาสตร์นี้ เพื่อเอื้อให้ผู้ปฏิบัติได้รับผลตามที่ควรจะเป็นอย่างเต็มที่นั้นเอง
และแน่นอนโยคะประกอบด้วยเทคนิคอันหลากหลายที่จะดูแล ใจ- กาย รวมทั้งความอ้วนของเราได้

เทคนิคที่ ๑ การศึกษาตนเอง สวัสดิยายะ ( Svadhyaya )

เสน่ห์ของโยคะคือ การพาเราไปสู่เป้าหมายสูงสุดของความเป็นมนุษย์ ( คือการหลุดพ้น ) อย่างเป็นขั้นตอน อย่างเป็นรูปธรรมและง่าย แม้โยคะต้องการที่จะควบคุมจิต – กายของตน แต่ก็แนะนำผู้ปฏิบัติให้เริ่มต้นจากพื้นฐาน ทราบหรือไม่ว่าก่อนการฝึกท่าโยคะเราควรศึกษาตนเอง ซึ่งระบุเป็น ๑ ใน ๕ ข้อควรปฏิบัติ ของมรรคที่ ๒ แห่งโยคะ ( ท่าโยคะอาสนะนั้นอยู่ในมรรคที่ ๓ )

โยคีผู้ปฏิบัติโยคะนั้นต้องหมั่นศึกษาตนเอง และควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตนเอง กล่าวคือ ต้องมีความเข้าใจว่ากลไกลอวัยวะระบบต่างๆ ภายในร่างกายของเราทำงานอย่างไร ตำราระบุว่าต้องมี ความรู้เหล่านี้ก่อนอายุ ๓๐ ปีด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตามผู้ที่เพิ่งมาเริ่มสนใจโยคะเอาตอนอายุมากก็ไม่สายเกินไปที่จะหันมาใส่ใจศึกษารู้จักตนเอง

หัวใจสำคัญของการศึกษาตนเองน่าจะเป็นทัศนคติของเราต่อการเข้าใจตนเอง โลกทุกวันนี้วิทยากสนทางการแพทย์เจริญรุดหน้าไปอย่างมหาศาลจนทำให้ประชาชนทั่วไป “ละเลย “ ไม่ใส่ใจตนเองผลักภารกิจเกี่ยวกับสุขภาพของตนเองไปไว้ในมือหมอล้วน ๆ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็พึ่งหมอ หากพิจารณาให้ดีเราจะพบว่าการดูแลตนเองเป็นหน้าที่ของตนเองโดยแท้ จะมีใครรู้จักเราดีเท่าเรา จะมีใครรู้ว่าเรากำลังรู้สึกอย่างไรดีเท่าเรา หมอนั้นควรจะมีเอาไว้ใช้ในยามเหนือบ่ากว่าแรงจริงๆ เท่านั้น

ดังนั้น การปฏิบัติโยคะ ที่ฝากสำหรับฉบับนี้คือ หมั่นใส่ใจในตนเอง หมั่นศึกษาทำความเข้าใจในระบบอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายของเราเอง ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับความอ้วนควรศึกษาหาความรู้ต่างๆที่มีอยู่มากมาย เช่น หนังสือ รายการสารคดีทางโทรทัศน์ ทางวิทยุ นิตยสาร เป็นต้น ( การอ่านหมอชาวบ้านก็เป็นสวัสดิยายะอย่างหนึ่ง ) ศึกษาหัวข้อโดยตรง เช่น โรคอ้วน ระบบย่อยอาหาร รวมถึงหัวข้ออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคุณค่าอาหารเป็นต้น หมั่นตั้งคำถามเพื่อจะลองหาคำตอบ เช่น เรากินอาหารเข้าไปทำไม อาหารจะเสริมสร้างร่างกายของเราได้อย่างไร ทำไมเราถึงหิว ความหิวมีกี่ชนิด หิวหลอกป็นอย่างไร อะไรทำให้เรากินทั้งๆ ที่ไม่ได้หิว เป็นต้น

ไม่เพียงศึกษาทฤษฐีเท่านั้น การปฏิบัติก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง คือ เรียนรู้ตนเอง “ด้วยตนเอง “ แม้ตำราความรู้ต่างๆ ภายนอกมีอยู่มากมาย แต่โยคี ( ผู้ฝึกโยคะ ) ต้องไม่ละเลยในการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงของตนเอง ซึ่งถือว่าเป็นความรู้อันแท้จริง

เมื่อเรารับรู้ข้อมูลจากภายนอกแล้วก็นำมาเทียบเคียง เปรียบเทียบกับตัวเราจริง ๆ วิเคราะห์พิจารณาจนเกิด “ ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ “ หรือที่เราเรียกว่า “ ปัญญารู้เห็นตามที่เป็นจริง “ ดังที่ระบุอยู่ในตำราโยคะสูตร บทที่ ๒ โศลกที่ ๔๔ ดังนี้

Svadhyaya ista devata asmprayogah PYS II : 44 แปลว่า ด้วยการหมั่นศึกษาตนเองก็กระจ่างชัดต่อความจริงแท้ภายในตนเอง

อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาตน ในการแก้ปัญหาต่างๆ ของตนเอง รวมทั้งโรคอ้วน
คราวหน้ามาว่าเรื่อง “ เทคนิคการเคี้ยว “กัน

                                                                                    ( ยังมีต่อ )

 

ข้อมูลสื่อ

284-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 284
ธันวาคม 2545
โยคะ
กวี คงภักดีพงษ์