• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

รู้จักใช้ยาแบบพอเพียง

เมื่อเร็วๆนี้ ได้อ่านพบรายงานผลการศึกษาวิจัยของคณะแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกาชิ้นหนึ่ง พบว่า คนที่เป็นไข้หวัดใหญ่กลุ่มที่กินยาลดไข้จะหายช้ากว่ากลุ่มที่ไม่ได้กินยาลดไข้
ข้อนี้ดูเหมือนจะตรงกันข้ามกับความรู้สึกของคนทั่วไปว่า การกินยาน่าจะดีกว่าไม่กินยา เนื่องเพราะพวกเราส่วนใหญ่มักจะเชื่อใน “ความวิเศษ” ของยา

เวลาไม่สบายไปหาหมอ จะต้องได้ยาทีละหลายๆตัว หากหมอจ่ายยาให้เพียง 1 ถึง 2 ตัว ก็ไม่ศรัทธา บางครั้งจึงพบว่า คนไข้จะตระเวณหาหมอวันละ 2 ถึง 3 แห่ง บางคนก็จะเก็บตุนยาไว้ 5 ถึง 10 ซอง ซึ่งบางซองก็เป็นยาชนิดเดียวกัน อาจกินซ้ำซ้อนจนได้ยาเกินขนาด เป็นอันตรายได้

ความจริงโรคหลายชนิดเป็นโรคที่หายได้เองตามธรรมชาติ อย่างเช่น ไข้หวัดใหญ่ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้รักษาโดยตรง เพียงแต่รู้จักดูแลปฏิบัติตนให้ถูกต้อง และให้ยาแก้ไข้กินเป็นครั้งคราว ส่วนมากจะหายได้ภายใน 3 ถึง 4 วัน

ยาแก้ไข้ที่ใช้นั้นก็เป็นเพียงยาบรรเทาอาการ ไม่ใช่ยาจำเป็น
การวิจัยชิ้นดังกล่าวให้คำตอบว่า สำหรับไข้หวัดใหญ่แล้ว การไม่ใช้ยากลับหายเร็วกว่าใช้ยา
คำตอบนี้สอดคล้องกับความรู้ทางการแพทย์ที่ว่า อาการไข้ (ตัวร้อน) เป็นกลไกธรรมชาติบำบัดของร่างกาย กล่าวคือเชื้อโรคจะเจริญแพร่พันธุ์ได้ดีที่อุณหภูมิปกติของร่างกาย 37 องศาเซลเซียส) เมื่อถูกเชื้อโรครุมเร้า ร่างกายจะปรับให้มีอุณหภูมิสูงขึ้น (เป็นไข้) เพื่อทำให้เชื้อโรคไม่สามารถแพร่พันธุ์ ร่างกายก็จะสามารถขจัดเชื้อโรคได้ง่ายขึ้น

อาการไข้จึงเป็นคุณต่อคนเรา
แต่เรามักจะเพ่งโทษอาการไข้ เพราะทำให้รู้สึกไม่สบายจึงนิยมใช้ยาบรรเทาอาการที่เกิดขึ้น
แทบกล่าวได้ว่า การใช้ยารักษาโรคของเราส่วนใหญ่เป็นการบรรเทาอาการ ซึ่งไม่ใช่เรื่องจำเป็น มิหนำซ้ำอาจทำให้โรคหายช้า หรือเกิดผลแทรกซ้อนต่างๆ ทั้งจากตัวโรคเองและจากยาที่ใช้ได้

อาทิเช่น คนที่เป็นโรคปวดเข่าจากข้อเสื่อม ซึ่งไม่มีวิธีการรักษาโตยตรง มักจะกินยาแก้ปวดข้อ จนกลายเป็นโรคกระเพาะรุนแรง หรือรับพิษจากยาสตีรอยด์ (ที่มีอยู่ในยาชุด ยาซอง) ทั้งๆที่อาการปวดเข่าเป็นสัญญาณเตือนให้คนไข้หาทางพักการใช้เข่า มิควรกินยาระงับปวดจนทำให้มีการฝืนการใช้ข้อเข่ามากขึ้น
 
คนที่มีอาการท้องเดิน หากกินยาระงับการขับเคลื่อนตัวของลำไส้ เพื่อให้หยุดถ่าย ก็อาจจะทำให้เชื้อโรคหรือสารพิษถูกกักอยู่ในลำไส้นานขึ้น ทำให้โรคหายช้ากว่าการปลอ่ยให้เป็นไปตามกลไกธรรมชาติ ท่านที่สนใจในเรื่องนี้ ขอแนะนำให้อ่านเพิ่มเติมในคอลัมน์ “พูดจาภาษายา” ฉบับนี้ได้เลยครับ

ข้อมูลสื่อ

265-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 265
พฤษภาคม 2544
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ