• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แผ่นแปะช่วยวินิจฉัยโรคจิตเภท

แผ่นแปะช่วยวินิจฉัยโรคจิตเภท
 

โรคจิตเภทเป็นโรคจิตที่พบบ่อยที่สุด ส่วนใหญ่วินิจฉัยไม่ยากนัก แต่ก็มีอยู่บางส่วนที่ไม่ง่าย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีสถิติปัญญาเฉลียวฉลาดสามารถปกปิดอาการได้ดี แต่อาจจะไม่นานนักก็ได้ เพราะปัจจุบันมีการประดิษฐ์แผ่นแปะที่ช่วยวินิจฉัยโรคจิตเภทได้แล้ว แผ่นดังกล่าวเป็นผลงานของนักวิจัยชาวสก็อตครับ

ทฤษฏีพื้นฐานของแผ่นแปะนี้มาจากความรู้ที่ว่าเยื่อหุ้มเซลล์ของผู้ป่วยจิตเภทแตกต่างจากของคนปกติ ทำให้เวลาที่ผิวหนังถูกสารอนุพันธ์ของไนอะซิน (วิตามินบี) จะไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองให้เกิดการขยายตัวของหลอดเลือดเหมือนปกติ สิ่งที่นักวิจัยทำคือ นำเอาสารอนุพันธ์ของวิตามินบี (methylnicotinate) ความเข้มข้น ๐.๐๑ โมล/ลิตร ใส่พลาสเตอร์แล้วแปะท้องแขนอาสาสมัคร ทิ้งไว้เป็นเวลา ๕ นาที จากนั้นก็วัดรอยแดง (ที่เกิดจากหลอดเลือดขยายตัว) ว่าเป็นอย่างไร

อย่างที่เดาไว้คือ ในผู้ป่วยเกือบจะไม่เกิดหรือไม่เกิดรอยแดงเลย ส่วนในคนปกติจะเกิดรอยแดงให้เห็นได้ชัดเจน การวิจัยครั้งนี้ทำในอาสาสมัครที่เป็นโรคจิตเภท ๓๘ คน พร้อมกับคนปกติ ๒๒ คน คุณพอลลีน วอร์ด กับคณะที่โรงพยาบาล Craig Dunain แห่งเมือง Inverness กล่าวว่า การทดสอบนี้สามารถให้การวินิจฉัยโรคจิตเภทได้ถูกต้องถึงร้อยละ ๘๓ ซึ่งในอนาคตน่าจะพัฒนาแผ่นแปะจนเป็นที่พอใจได้

การทดสอบวิธีนี้นอกจากจะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยผู้ป่วยจิตเภทรายยากๆได้แล้ว ยังเป็นสิ่งยืนยันตอกย้ำให้ผู้ป่วยที่ไม่ยอมรับว่าตัวเองป่วยยอมรับการรักษาได้ด้วย กรณีนี้มักพบได้บ่อยๆ ในทางปฏิบัติ เพราะอย่างที่เราทราบ ผู้ป่วยเหล่านี้จะเสียความสามารถในการเข้าใจเลยไม่คิดว่าตัวเองป่วย

ข้อมูลสื่อ

228-004-1
นิตยสารหมอชาวบ้าน 228
เมษายน 2541
เรารักสุขภาพ