• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โยคะสำหรับผู้มีปัญหาหลังและข้อ

กระดูกคออักเสบ หรือกระดูกคอเสื่อม
กระดูกคออักเสบหรือเสื่อมสามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ที่อายุระหว่าง 35 ถึง 70 ปี กระดูกคอและข้อต่อ บริเวณรอบๆของคนเราเสื่อมไปตามธรรมชาติ จะเร็วหรือช้าเท่านั้นเอง แต่ที่น่าสนใจก็คือ ไม่จำเป็นว่าทุกคนจะต้อง “ปวด” คอ บางคนที่ปวดคอ อาจเป็นอาการปวดรวมๆของกระดูกคอ กล้ามเนื้อ และอิริยาบถ (ที่ผิดท่า)

ข้อพึงระลึกก็คือ แม้เราไม่สามารถฟื้นคืนความเสื่อมของกระดูกให้คืนกลับมาดีเหมือนเดิมได้ แม้เราไม่สามารถหยุดความเสื่อมของกระดูกคอได้ แต่ผู้ป่วยสามารถควบคุมอาการ หรือลดอาการให้น้อยลงได้ด้วยการรักษาที่ถูกต้อง

กระดูกคอเสื่อมมิได้หมายถึง “ต้องใส่ปลอกคอ” ในความเป็นจริง ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ต้องอาศัยปลอกคอความเสื่อมของกระดูกคอไม่ใช่เรื่องความเสื่อมของตัวกระดูกหรือข้อเท่านั้น แต่มันเป็นความเสื่อมของร่างกายโดยรวมตามธรรมชาติ ดังนั้น การไม่ขยับคอจึงไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา ในทางตรงกันข้าม การไม่ใช้คอกลับจะทำให้กล้ามเนื้อรอบคอเสื่อม ทำให้อาการปวดแย่ลงไปอีก

กลยุทธ์ในการจัดการกับอาการกระดูกคอเสื่อม
- กินยาตามคำแนะนำแพทย์ โดยเฉพาะในช่วงที่กำลังปวด 
- พักผ่อนให้เพียงพอ ในช่วงที่กำลังปวด 
- ประคบต้นคอด้วยความร้อน เช่น ถุงน้ำร้อน แผ่นความร้อน (Heat pad) ฯลฯ ในช่วงสั้นๆ จะช่วยได้เป็นอย่างดี 
- ในบางกรณี อาจจำเป็นต้องอาศัย “การดึงคอ” (โดยแพทย์ผู้ชำนาญ) 
- ไม่กี่รายเท่านั้นที่ต้องใส่ปลอกคอ (ส่วนใหญ่คือพวกที่ปวดมากจริงๆ เพื่อหยุดการขยับเขยื้อนของกระดูกในช่วงนั้น) 
- ทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันด้วย “สติ” ด้วยการควบคุมอิริยาบถให้เป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสม 
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงและมีความยืดหยุ่น 
- ควรใช้หมอนรองศีรษะตอนนอน 1 ใบ 
- ตอนนั่ง ควรมีพนักหลังยันเต็มแผ่นหลัง ขยับเก้าอี้ให้ชิดโต๊ะที่สุด เพื่อป้องกันการโน้มตัวไปข้างหน้าเป็นเวลานานๆ 

                                 

      

 

ข้อมูลสื่อ

265-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 265
พฤษภาคม 2544
โยคะ
กวี คงภักดีพงษ์